ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุใดเราจึงไม่ควรใส่ใจการจัดอันดับด้านการศึกษาของ World Economic Forum ให้มากเกินไปนัก (ตอนที่ 1)

เหตุใดเราจึงไม่ควรใส่ใจการจัดอันดับด้านการศึกษาของ World Economic Forum ให้มากเกินไปนัก (ตอนที่ 1)

2 ตุลาคม 2014


ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจเขียนเพื่อแสดงความเห็นต่อรายงานประจำปีขององค์กร World Economic Forumโดยเน้นเฉพาะ “การตีความการจัดอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทย” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการทำให้เกิดวาทกรรมว่าคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอยู่ในอันดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซียน (หรืออันดับใกล้เคียงกันในปี 2557) ซึ่งได้รับการตอบสนองจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการศึกษา สื่อสารมวลชน สาธารณชนทั่วไป 1 แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางท่านออกมาท้วงติงถึงวิธีการจัดอันดับของ WEF อยู่บ้าง2 แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากสังคมไทยมากนัก

สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่พอใจของภาคประชาสังคมที่มีต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ประกอบกับการขาดการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ต่อประเด็นนี้อย่างจริงจัง หลังจากนั้น กระแสที่ว่าการศึกษาไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของอาเซียนดูจะซาลงไปสักพัก

ที่มาภาพ : http://images.businessweek.com/ss/09/02/0205_davos/image/intro.jpg
ที่มาภาพ : http://images.businessweek.com/ss/09/02/0205_davos/image/intro.jpg
จนกระทั่งในปีล่าสุดนี้ (กันยายน 2557) WEF ได้ออกรายงานประจำปีมาอีกครั้งและก็เกิดการสร้างวาทกรรมลักษณะเดิมขึ้นมาอีก3 จนถึงขนาดที่มีการนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้อ้างอิงประกอบในการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการงบประมาณ หรือกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือเขียนเอาไว้ในเอกสารประกอบสำหรับกลุ่มปฏิรูปการศึกษาต่างๆ ผู้เขียนในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง จึงเห็นว่าสมควรที่จะเขียนบทความนี้ขึ้นมา และเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคมไทย เพื่อจะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดต่อไปในอนาคต

สำหรับบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งจะเป็นการพูดถึงวิธีการสำรวจและการจัดอันดับการศึกษาของ WEF รวมไปถึงจุดบกพร่องของกระบวนการสำรวจความคิดเห็น อันนำไปสู่การคิดคะแนนและการจัดอันดับต่างๆ ส่วนในตอนที่สองจะวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ของการจัดอันดับการศึกษาของ WEF ที่ออกมา และจะแสดงให้เห็นว่ามีความแปลกประหลาดอย่างไรบ้างที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง และสุดท้ายคนไทยผู้บริโภคสื่อควรมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

รายงาน WEF คืออะไร?

องค์กร World Economic Forum(WEF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดทำรายงานประจำปีด้านการแข่งขันของประเทศต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยสร้างดัชนีด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ชื่อ Global Competitiveness Index (GCI) เพื่อเป็นตัววัดระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยคำนวณมาจากดัชนีพื้นฐานหลายด้าน เช่น ความเข้มแข็งของระบบกรรมสิทธิ์ คุณภาพของสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟ โรงพยาบาล ดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น ระดับการออมของประเทศ หนี้สินภาครัฐ ระดับการจัดอันดับเครดิตของประเทศ สมดุลงบประมาณของประเทศ ระยะเวลาในการขอจดทะเบียนธุรกิจ เป็นต้น โดยดัชนีพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้สามารถจำแนกอย่างกว้างๆ ได้เป็นสองลักษณะ คือ

1. ข้อมูลตัวเลขสถิติพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ (Basic Statistics)

2. ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในภาคส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ (Opinion Survey)

ข้อมูลจากทั้งสองแหล่งที่มาจำนวน 114 ตัว จะถูกนำไปใช้สร้างดัชนี Global Competitiveness Index (CGI) โดยมีการแบ่งตัวชี้วัดจำนวน 114 ตัวนี้ออกเป็น 12 กลุ่มเสาหลัก (pillar) และทำการคำนวณน้ำหนักของดัชนีกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับรายละเอียดของการวิเคราะห์การจัดทำรายงานของ WEF นอกจากสามารถอ่านได้จาก ต้นฉบับแล้ว ยังสามารถอ่านบทวิเคราะห์ที่มีผู้เขียนเป็นภาษาไทยเอาไว้อย่างละเอียดได้ตามลิงค์ข้างล่าง 4

การสำรวจคุณภาพการศึกษาแบบ WEF ทำอย่างไร?

เนื่องจากการศึกษาของประเทศเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันของประเทศ องค์กร WEF จึงได้ทำการวัดคุณภาพของการศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อนำไปใช้จัดทำ Global Competitiveness Index (GCI) โดยดัชนีด้านการศึกษาที่สำคัญมีทั้งหมด 8 ตัว (จาก 114 ตัว) มีที่มาจากคำถามดังต่อไปนี้

1. จงประเมินคุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศของท่าน (ประเมินคุณภาพของประถมศึกษา)

2.ระบบการศึกษาในประเทศของท่านตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันได้ดีเพียงใด (ประเมินคุณภาพระบบการศึกษาที่มีต่อการทำงาน)

3. จงประเมินคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในประเทศของท่าน (คุณภาพของการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์)

4. จงประเมินคุณภาพของโรงเรียนบริหารธุรกิจในประเทศของท่าน (คุณภาพของโรงเรียนบริหารธุรกิจ)

5. โรงเรียนในประเทศของท่านมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากน้อยเพียงใด (การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน)

โดยในต่อละข้อจะให้ผู้ตอบเลือกคะแนนจาก 1-7 ตามความพอใจหรือทัศนคติต่อประเด็นคำถามนั้น (1-แย่มากหรือไม่ดีเลย 7-ยอดเยี่ยมหรือดีเป็นอย่างยิ่ง) สำหรับการสำรวจความคิดเห็น (Opinion Survey) ในกรณีของประเทศไทย จะทำการสุ่มจากผู้ทำงานในสถานประกอบการในหลายภาคส่วนอุตสาหกรรมที่มีขนาดต่างๆ กัน (ในปี 2557 มีผู้ตอบจำนวน 101 คน, ในปี 2556 จำนวน 86 คน โดยการคำนวณค่า CGI แต่ละรอบจะนำผลจากทั้งสองปีล่าสุดมาพิจารณาร่วมกัน) โดยให้กรอกคะแนนผ่านทางระบบออนไลน์ หรือทางช่องทางอื่นๆ และนำค่าเฉลี่ยของคะแนนในแต่ละข้อมาสร้างเป็นค่าดัชนีของประเทศ

นอกจากส่วนของแบบสอบถามออนไลน์แล้ว ในหัวข้อด้านการศึกษายังมีการใช้สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งยูเนสโก (UNESCO Institute of Statistics) 3 ตัว เพื่อนำไปใช้คำนวณค่าดัชนี CGI คือ 1. อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา 2. อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา 3. อัตราการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตาม การให้น้ำหนักของคำถามแต่ละข้อนั้นแตกต่างกันไป บางประเด็นก็มีน้ำหนักสูงกว่าประเด็นอื่น ซึ่งทาง WEF ไม่ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนนักถึงหลักการและเหตุผลที่มีการให้ค่าน้ำหนักต่อปัจจัยเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ผู้เขียนได้ลองนำคำถามเหล่านี้มาแสดงค่าคะแนนเฉลี่ยและสัดส่วนน้ำหนักในการนำไปคิดค่าดัชนีการแข่งขันของประเทศในกรณีของไทย (ดูตาราง)

WEF-1

WEF-2คำถามและสถิติที่ใช้ใน

WEF-3

ข้อมูลที่ว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ของอาเซียนนั้นเอามาจากไหน?

ที่ว่ากันว่า การศึกษาของประเทศไทยในด้านประถมศึกษา ด้านอุดมศึกษา หรือคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ล้วนเอามาจากการคำนวณค่าเฉลี่ยของคะแนนข้างต้นที่ผู้ประกอบการต้องตอบคำถามและให้คะแนนนั่นเอง (ตารางที่ 1 ส่วนที่ 1) ซึ่งประกอบด้วยสามคำถามคือ “ความคิดเห็น” ต่อคุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษา คุณภาพของระบบการศึกษาต่อการตอบสนองทางเศรษฐกิจ (หรือบางคนอาจตีความว่าเป็นคุณภาพมหาวิทยาลัย) และคุณภาพของการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ไม่ดีนักเทียบกับประเทศในอาเซียน คืออยู่ในอันดับ 6, 6 และ 5 จาก 9 ประเทศอาเซียน ตามลำดับ (ในปีนี้ ประเทศบรูไนไม่ถูกนำมาจัดลำดับของ WEF เนื่องจากมีปัญหาการจัดเก็บข้อมูล)

จุดอ่อนของการสำรวจทัศนคติในแบบ WEF

การสำรวจทัศนคติหรือความเห็นแบบให้คะแนนลำดับขั้น 1-7 อาจจะสามารถบอกได้ถึง ความคิดเห็น ความพึงพอใจ การรับรู้ (Perception) ทัศนคติ ของผู้ที่ทำการตอบแบบสอบถามในประเด็นต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้มิอาจบอกได้ว่าคะแนน 1-7 ของผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคน แต่ละประเทศ มีความหมายว่าอย่างไร หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร เช่น คะแนน 5 ของผู้ตอบชาวเกาหลีใต้ อาจจะไม่เหมือนกับคะแนน 5 ของชาวเอธิโอเปีย ก็เป็นได้ (ประเทศเกาหลีใต้กับเอธิโอเปียมีผลคะแนนจากการสำรวจทางการอุดมศึกษาใกล้เคียงกัน) หรือคะแนนเฉลี่ยของผู้ที่ให้คะแนน 4 ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็อาจจะต่างจากคะแนน 4 ของประเทศลาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายและไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะนำเอาคะแนนลักษณะนี้มาใช้จัดเรียงเป็นลำดับคะแนน โดยเฉพาะหากมีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของผลสำรวจคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ได้รับแบบสำรวจในลักษณะนี้บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจจะตอบหรือคิดใคร่ครวญอย่างจริงๆ จังๆ อาจจะเป็นการทำให้เสร็จๆ ไปเท่านั้นเอง (ท่านที่เคยมีประสบการณ์ในการทำแบบสอบถามต่างๆ คงจะพอทราบดี)

นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่วิธีการสำรวจความคิดเห็นของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น วิธีการสำรวจแบบออนไลน์ หรือการพูดคุยสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ตอบแบบสอบถามบนกระดาษ ความแตกต่างของวิธีการย่อมส่งผลต่อคุณภาพหรือความตั้งใจในการตอบที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ เป็นประเด็นที่ส่งผลต่อความสม่ำเสมอของการเก็บข้อมูลและความสามารถในการเปรียบเทียบได้เช่นกัน (เช่น คนที่ตอบคำถามผ่านการสัมภาษณ์อาจจะมีความตั้งใจในการตอบมากกว่าคนที่นั่งทำแบบทดสอบผ่านทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน) ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ใช้การสำรวจแบบออนไลน์เกือบทั้งหมด ในขณะที่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ เดนมาร์ก อิตาลี ใช้การสำรวจแบบออนไลน์แค่ 1%

ประเด็นสำคัญคือ คะแนนเฉลี่ยจากการตอบแบบสอบถามเชิงสเกลเช่นนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในการจัดอันดับของประเทศ เนื่องจากไม่สามารถเปรียบเทียบอะไรได้มากนัก กรณีที่อาจพอทำได้คือการเปรียบเทียบภายในประเทศ ซึ่งสามารถบอกได้ว่ากลุ่มตัวอย่างในประเทศต่างๆ มีความเห็นต่อการศึกษาของประเทศตนเองอยู่ในระดับไหน เช่น ผู้ตอบชาวไทยเห็นว่าคุณภาพของการศึกษาในระดับประถมศึกษาในประเทศไทย (ให้คะแนนเฉลี่ย 3.6) มีความน่าพอใจสูงกว่าคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีต่อการตอบสนองต่อเศรษฐกิจ (ให้คะแนนเฉลี่ย 3.4) แต่ทั้งนี้ไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบข้ามประเทศได้

อ้างอิง

1.การศึกษาไทย รั้งท้ายในอาเซียน (ข่าวข้น คนเนชั่น, 3 กันยายน 2556)
ศธ.ช็อก! WEF จัดอันดับการศึกษา “ไทย” คุณภาพต่ำ ตามก้น “เขมร-เวียดนาม” (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 3 กันยายน 2556)
สพฐ. เร่งยกระดับการศึกษาหลัง WEF จัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน(มติชนออนไลน์ 4 กันยายน 2556)
Shock results in many tests show urgent need to fix root problems (The Nation, 9 September 2013)

2.รายการคมชัดลึก ตอน “ศึกษาการศึกษา?” (วันที่ 4 กันยายน 2556) ผู้เขียนและ ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ได้อภิปรายในประเด็นการจัดอันดับการศึกษาของ WEF ผู้เขียนได้เสนอข้อมูลว่าการจัดการศึกษาของ WEF เป็นเพียงการสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการต่อการศึกษาของประเทศ ไม่ได้เป็นการบอกถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศนั้นๆ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอย่างแท้จริง
Chula lecturer rejects WEF education report (Bangkok Post, 5 September 2013)
คุณภาพการศึกษาไทย “แย่” แต่ไม่ถึงกับ “ห่วย”(เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, กรุงเทพธุรกิจ 6 กันยายน 2556)
นักวิชาการชี้รายงานการศึกษาไทยรั้งท้ายคลาดเคลื่อน (ไทยรัฐออนไลน์ 18 กันยายน 2556)

3.อันดับมหา’ลัยไทยสุดห่วย WEF ให้แทบรั้งท้ายอาเซียน จ่อชง รมต.ศึกษาฯ ดันงบวิจัย-ปรับเกณฑ์ประเมิน สมศ. (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 8 กันยายน 2557)
การศึกษาไทยดิ่ง “ลาว-เขมร” แซง “อดีตเลขาฯ สกอ. ยอมรับไทยแพ้ลาวแล้ว หลังเวิลด์อีโคโนมิกฯ เผยการศึกษาไทย อยู่อันดับท้ายๆ ในอาเซียน” (มติชนออนไลน์ 8 กันยายน 2557)
การศึกษาไทยถดถอย 9 อันดับรั้งท้าย ‘ลาว’ (คมชัดลึก, 15 กันยายน 57)
Can new minister focus on longer term goals? (The Nation, 22 September 2014)

4.บทวิเคราะห์การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประจําปี 2012-2013 โดย World Economic Forum: WEF (โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
ผลการวิเคราะห์ตัวชี้วัดและแนวทางการจัดการจุดอ่อนของประเทศไทยจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดย WEF และ IMD (โดยสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)