ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เปิดหลักเกณฑ์การวัด WEF ไทยอยู่ตรงไหน ดีกว่าเดิมเล็กน้อย ช้ากว่าเพื่อนอาเซียนตรงไหน จากปี 2549-ปัจจุบัน ไทยพัฒนาถอยหลังอย่างไร

เปิดหลักเกณฑ์การวัด WEF ไทยอยู่ตรงไหน ดีกว่าเดิมเล็กน้อย ช้ากว่าเพื่อนอาเซียนตรงไหน จากปี 2549-ปัจจุบัน ไทยพัฒนาถอยหลังอย่างไร

26 ตุลาคม 2013


หากย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลก ประจำปี 2556-2557 ระบุไทยอยู่อันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก (บางแห่งเรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจ” (Economy) เพราะมิได้เป็นประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ) สูงขึ้นจากอันดับที่ 38 จาก 144 ประเทศในปี 2555 ที่ผ่านมา โดย 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เยอรมนี และสหรัฐฯ

เพื่อให้ทราบถึงเกณฑ์การพิจารณาของ WEF ที่นำเสนอขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบ โดยแสดงให้เห็นขีดความสามารถและผลประกอบการของประเทศในการสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบการ ทำให้เข้าใจถึงจุดเด่นและจุดอ่อนของแต่ละประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาแบ่งเป็น 3 กลุ่มปัจจัยใหญ่ๆ ซึ่งประกอบด้วย 12 เสาหลัก ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ สถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจมหภาค

2. ปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ประกอบด้วย 6 เสาหลัก ได้แก่ สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน การพัฒนาตลาดการเงิน และความพร้อมด้านเทคโนโลยี

3. ปัจจัยนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ (Innovation and Sophistication Factors) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ขนาดของตลาด ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ และนวัตกรรม

นอกจากนี้ WEF ยังแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับของการพัฒนาประเทศ (Stage of Development) ซึ่งพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากร (GDP per capita) และกำหนดน้ำหนักสำหรับการประเมินปัจจัยต่างๆ แตกต่างกันไปตามระดับของการพัฒนาประเทศ ดังนี้

1. ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยการผลิต (Factor-driven Stage) เป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP per capita ต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

2. ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิต (Efficiency-driven Stage) เป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP per capita ประมาณ 3,000-8,999 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้

3. ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิต (Innovation-driven Stage) เป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP per capita มากกว่า 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศที่มี GDP per capita อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างกลุ่มที่ 1 และ 2 หรือกลุ่มที่ 2 และ 3 จะถูกเรียกว่า ประเทศที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transition) และ ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดของ WEF ได้มาจาก 2 แหล่ง คือ ข้อมูลสถิติ และข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร โดยให้น้ำหนักความคิดเห็นของผู้บริหารมากกว่าสถิติในสัดส่วน 70:30

ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันแบบทรงๆ

ไทยพัฒนาแบบทรงๆ

ผลการจัดอันดับในปี 2556 ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมอยู่อันดับที่ 37 สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย จากอันดับที่ 38 ในปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ระดับคะแนนที่ได้ในปีนี้เท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 4.5 โดยประเทศไทยได้คะแนนในแต่ละปัจจัยที่นำมาใช้พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

ปัจจัยปัญหาของไทย

อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศไทย

อันดับของประเทศไทยในปี 2556 เทียบกับปี 2555 ได้ดังนี้

1. ปัจจัยพื้นฐาน ไทยอยู่ในอันดับที่ 49 ลดลงจากอันดับที่ 45 ในปี 2555 ในปัจจัยกลุ่มนี้ ไทยได้อันดับต่ำลงจากปีที่ผ่านมาทั้งหมด กล่าวคือ สถาบัน (Institutions) ได้อันดับ 78 จากเดิม 77, โครงสร้างพื้นฐานได้อันดับ 47 จากเดิม 46 และเศรษฐกิจมหภาคได้อันดับ 31 จากเดิม 27

2. ปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 สูงขึ้นจากเดิมซึ่งอยู่อันดับที่ 47 ในกลุ่มนี้ ไทยได้อันดับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาใน 3 ด้าน กล่าวคือ ประสิทธิภาพของตลาดสินค้าอยู่อันดับที่ 34 สูงขึ้นจากเดิมที่อันดับที่ 37, ประสิทธิภาพของตลาดแรงงานอันดับที่ 62 สูงขึ้นจากอันดับที่ 76 และความพร้อมด้านเทคโนโลยีอันดับที่ 78 สูงขึ้นจากอันดับ 84 ส่วนอีก 3 ด้านที่มีอันดับลดลง ได้แก่ สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่อันดับที่ 81 จากเดิม 78, การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรมอันดับที่ 66 จากเดิม 60 และการพัฒนาตลาดการเงินอันดับที่ 32 จากเดิม 43 ส่วนขนาดของตลาด ซึ่งไทยมีความได้เปรียบและอยู่ที่อันดับ 22 ในปี 2555 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและคงอยู่ในอันดับเดิมในปีนี้

3. ปัจจัยนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ ไทยอยู่ในอันดับที่ 52 สูงขึ้นเล็กน้อยจากอันดับที่ 55 ในปีที่ผ่านมา ในกลุ่มนี้ ไทยได้อันดับสูงขึ้นใน 2 เสาหลักคือ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและนวัตกรรม ซึ่งขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 40 และ 66 จากเดิม 46 และ 68

จากปี 2549-ปัจจุบัน ไทยพัฒนาถอยหลัง

ภาพนิ่ง4 (4)

จะเห็นว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอย จากอันดับที่ 35 ในปี 2549 เป็นอันดับที่ 37 ในปี 2556 โดยเฉพาะปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจถดถอยลงถึง 16 อันดับ จากอันดับที่ 36 ในปี 2549 ลดลงอยู่อันดับที่ 52 ในปี 2556 นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย สถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจมหภาค และสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดลงถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 38 ในปี 2549 ลงมาที่อันดับที่ 49 ในปี 2556 ส่วนปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพเป็นกลุ่มปัจจัยเดียวที่ไทยมีระดับการพัฒนาดีขึ้น จากอันดับที่ 43 ในปี 2549 เป็นอันดับที่ 40 ในปี 2556 แต่ก็ถือเป็นการพัฒนาถอยหลัง เพราะไทยเคยอยู่อันดับที่ 29 ในปี 2550 โดยในกลุ่มปัจจัยนี้ ข้อได้เปรียบของไทยคือ ขนาดของตลาด ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีขีดความสามารถสูงสุดในอาเซียนและสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสวิสเซอร์แลนด์ มีความเสียเปรียบในเรื่องนี้

ในอาเซียน ไทยพัฒนาช้ากว่าอินโดนีเซีย และห่างไกลสิงคโปร์

ไทยพัฒนาช้ากว่าอาเซี่ยน

เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยเป็นอันดับที่ 4 จาก 10 ประเทศ และมีพัฒนาการช้ากว่าหลายประเทศที่ไต่อันดับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ตามติดไทยมาอยู่อันดับที่ 38 ในปีนี้ไต่ขึ้นมา 12 อันดับ จากอันดับที่ 50 ในปี 2555 และเวียดนามไต่อันดับจาก 65 ในปีที่ผ่านมาเป็นอันดับที่ 59 ในปีนี้ ขณะที่ สปป.ลาว เพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปีนี้พร้อมพม่า แต่ สปป.ลาว ได้อันดับที่ 81 สูงกว่ากัมพูชา ซึ่งอยู่อันดับที่ 88 ในปีนี้

ในอาเซียน ไทยยังเป็นรองสิงคโปร์อยู่มาก โดยสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 2 เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันในปี 2555-2556 ต่อมาคือมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 24 ในปี 2556 ไต่อันดับขึ้นมาจากอันดับที่ 25 ในปี 2555 และบรูไน อยู่อันดับที่ 26 ไต่อันดับขึ้นมาจากอันดับที่ 28 ในปี 2555

ระดับการพัฒนาของอาเซี่ยน

จากการจัดระดับของการพัฒนาประเทศของ WEF ไทยและอินโดนีเซียอยู่ในขั้นที่ 2 คือ ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิต ขณะที่สิงคโปร์อยู่ขั้น 3 คือ ประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และมาเลเซียกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากขั้นที่ 2 ไปขั้นที่ 3 ส่วนประเทศในขั้นที่ 1 ซึ่งขับเคลื่อนโดยปัจจัยการผลิต มีจำนวนเกือบครึ่งของอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า โดยมีบรูไนเป็นประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากขั้นที่ 1 ไปสู่ขั้นที่ 2 ซึ่งบรูไนมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าไทย โดยอยู่อันดับที่ 26 ในปีนี้ ด้วยความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจมหภาค สถาบัน (Institutions) ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม และความพร้อมด้านเทคโนโลยี

เมื่อเจาะลึกในแต่ละปัจจัย จะพบข้อสังเกตดังนี้

1. ปัจจัยพื้นฐาน สิงคโปร์เป็นที่ 1 ในอาเซียนในด้านสถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน และสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาด้วยบรูไนและมาเลเซีย โดยบรูไนเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนในด้านสถาบัน (Institutions) และสุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน ส่วนมาเลเซียเป็นอันดับที่ 2 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนไทยรั้งอันดับ 4 ของอาเซียนในด้านเศรษฐกิจมหภาค อันดับ 5 ในด้านสถาบัน (Institutions) อันดับ 6 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอันดับ 7 ในด้านสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ สปป.ลาว และพม่า เพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ สปป.ลาว มีอันดับดีกว่าประเทศไทยใน 2 เสาหลัก ได้แก่ ด้านสถาบัน (Institutions) และด้านสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปัจจัยกลุ่มนี้ ไทยทำคะแนนสูงสุดได้เพียงอันดับที่ 3 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

2. ปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียนใน 5 จาก 6 ด้าน กล่าวคือ ในด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน การพัฒนาตลาดการเงิน และความพร้อมด้านเทคโนโลยี ส่วนด้านสุดท้าย คือ ขนาดของตลาด สิงคโปร์มีความเสียเปรียบและได้คะแนนเป็นอันดับที่ 5 รองจากอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากขนาดของตลาด ในปัจจัยกลุ่มนี้ไทยได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ใน 2 ด้าน คือ ประสิทธิภาพของตลาดสินค้าและการพัฒนาตลาดการเงิน และได้อันดับที่ 5, 6 และ 7 ในด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และประสิทธิภาพของตลาดแรงงานตามลำดับ

3. ปัจจัยนวัตกรรมและความซับซ้อน สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ในด้านศักยภาพทางธุรกิจและนวัตกรรม ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 4 ในด้านศักยภาพทางธุรกิจ และอันดับที่ 5 ในด้านนวัตกรรม

ขีดความสามารถในการแข่งขัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยในกลุ่มปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ และอยู่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มปัจจัยนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ โดยมีคะแนนสูงกว่าฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และพม่าในทุกกลุ่มปัจจัย แต่เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันตามติดประเทศไทยมาอยู่อันดับที่ 38 ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 37 ในปี 2556 นี้ จะพบว่า อินโดนีเซียมีคะแนนสูงกว่าไทยใน 2 กลุ่มปัจจัย ทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ ไทยได้คะแนนสูงกว่าเฉพาะในกลุ่มปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มปัจจัยนี้ อินโดนีเซียก็ยังแซงหน้าไทยในด้านขนาดของตลาดและเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน รวมทั้งได้คะแนนสูงกว่าในด้านความพร้อมด้านเทคโนโลยีและด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ไทยมีเพียงความได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน และการพัฒนาตลาดการเงิน

จุดอ่อนของประเทศไทย

รายงานของ WEF ระบุว่า ในปี 2556 ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 148 ประเทศทั่วโลก ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมาเพียง 1 อันดับ โดยความท้าทายของการพัฒนาสถาบันด้านเศรษฐกิจของไทยคือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบาย ระบบราชการที่ล่าช้า ระบบเศรษฐกิจอุปถัมภ์และปัญหาคอรัปชันที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญายังไม่น่าเชื่อถือและไม่มีความชัดเจน ตลอดจนอุปสรรคสำคัญด้านสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะที่การศึกษาขั้นสูงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศนอกทวีปแอฟริกาที่มีการติดเชื้อ HIV สูงที่สุด

อีกปัญหาหนึ่งของการยกระดับประสิทธิภาพ คือ ความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือ คนไทยจำนวนเพียง 1 ใน 4 ของประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังมีจำนวนน้อย อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยภาคธุรกิจที่มีปัญหา

จุดแข็งของประเทศไทย

WEF ระบุว่า จุดแข็งของไทย ได้แก่ เศรษฐกิจมหภาค ซึ่งไทยได้คะแนนสูงสุดในบรรดา 12 ปัจจัย เป็นผลจากสถานการณ์ด้านการคลังที่ดี อัตราการออม และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3 และอัตราหนี้ดีต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 44 ในปี 2555 ซึ่งค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ ไทยยังมีการพัฒนาของตลาดการเงินและประสิทธิภาพของตลาดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นถึง 17 และ 10 อันดับตามลำดับ ประเทศไทยจึงมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก อันเป็นผลสำคัญมาจากการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลประเทศไทยในรายงานของ WEF ไทยมีประชากรทั้งสิ้น 69.5 ล้านคน มี GDP คิดเป็น 365.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 5,678 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 0.78% ของโลก