ThaiPublica > สู่อาเซียน > เยาวชนอาเซียนมุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning รักษาขีดความสามารถในโลกยุคใหม่ เวียดนามนำหน้าเชื่อต้องพัฒนาทักษะต่อเนื่อง

เยาวชนอาเซียนมุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning รักษาขีดความสามารถในโลกยุคใหม่ เวียดนามนำหน้าเชื่อต้องพัฒนาทักษะต่อเนื่อง

18 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/reports/asean-youth-technology-skills-and-the-future-of-work

เยาวชนในอาเซียนมุ่งมั่นกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ lifelong learning เพื่อรักษาความสามารถในโลกยุคใหม่ เพราะเข้าใจดีว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน รวมทั้งยังให้คุณค่ากับการพัฒนาทักษะ และมีแนวคิดเรื่องการเติบโต

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum – WEF) เผยผลสำรวจเยาวชนอาเซียนอายุตั้งแต่ 15-35 ปีจำนวน 56,000 คน ใน 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อดูว่าเยาวชนอาเซียนมีมุมมองต่อเทคโนโลยีและงานในอนาคตอย่างไร รวมทั้งเพื่อทำความเข้าใจถึงมุมมอง การจัดลำดับความสำคัญ และข้อกังวลของเยาวชนอาเซียน

ปี 2019 การสำรวจได้ครอบคลุมถึงทัศนคติด้านการทำงานและทักษะรวมทั้งผลกระทบของเทคโนโลยีต่องานในอนาคต

การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจผ่านระบบออนไลน์ในเดือนกรกฎาคม โดยความร่วมมือของพันธมิตรคือ Sea บริษัทในสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้บริโภคด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ อีคอมเมิร์ซ และบริการการเงินดิจิทัลในชื่อของ Garena, Shopee และ AirPay ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ที่เข้าเว็บไซต์ Shopee และ Garena จะได้รับคำเชิญให้ร่วมตอบแบบสอบถาม แต่จะคัดเลือกคำตอบจากผู้ที่อยู่ในวัย 15-35 ปีเท่านั้น

WEF เปิดผลสำรวจนี้ไว้ใน รายงาน เรื่อง ASEAN Youth: Technology, Skills and the Future of Work จากผลสำรวจ ASEAN Youth Survey 2019 ไว้ดังนี้

  • เยาวชนในอาเซียนมุ่งมั่นกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ lifelong learning และมีแนวคิดเรื่องการเติบโต เพราะเยาวชนอาเซียนเข้าใจดีว่า เทคโนโลยีจะมีผลมากมายต่อตลาดงานจึงให้คุณค่ากับการพัฒนาทักษะ
  • เยาวชนอาเซียนตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากและความท้าทายที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จะมีผลต่อโอกาสการทำงาน โดย 9.2% ของเยาวชนที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าทักษะที่มีในขณะนี้ล้าสมัยไปแล้ว ขณะที่ 52.4% เชื่อว่าจะต้องยกระดับทักษะอย่างต่อเนื่อง และมีเพียง 20% ที่เห็นว่าทักษะความสามารถในปัจจุบันยังคงใช้ได้อีก 5-10 ปีกว่าจะต้องเรียนรู้กันใหม่

  • Lifelong Learning สร้างทักษะรับ Digital Future (ตอน 1): กำหนดเส้นทางอาชีพ
  • Lifelong Learning สร้างทักษะอนาคต รับ Digital Future (ตอน 2): Re-skill ฝึกฝนตลอดเวลา
  • SEAC Reframe ระบบการเรียนรู้ใหม่ “Lifelong Learning Ecosystem” – เปิดตัว “4Line Learning โมเดลแรก “YourNextU”
  • ความเห็นในด้านนี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเยาวชนไทยเชื่อมั่นมากที่สุดว่าทักษะปัจจุบันยังคงใช้ได้อีกนาน ขณะที่เยาวชนเวียดนามมีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มเยาวชนทั้งหมดที่เห็นว่า จะต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป

    ผลการสำรวจที่ได้นี้สะท้อนถึงแนวทางที่ดีในหมู่เยาวชนอาเซียนในการมีแนวคิดเรื่องการเติบโต และความต้องการที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตในสถานที่ได้รับการศึกษาและการฝึกฝนอบรมเฉพาะในช่วงแรกของชีวิต

    การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงยังสะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับงานอีกด้วย โดยเยาวชนอาเซียนระบุว่า เหตุผลแรกของการเปลี่ยนงานคือต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ อีกทั้ง 5.7% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามยังให้ข้อมูลว่า ตกงานเพราะทักษะและความสามารถที่มีอยู่นั้นใช้ไม่ได้กับงานที่ทำอีกแล้ว รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทน

    อย่างไรก็ตาม แม้เยาวชนอาเซียนให้คุณค่าสูงกับการพัฒนาทักษะและการฝึกฝนอบรม แต่ก็ให้ข้อมูลว่าโอกาสการฝึกฝนจากการทำงานจริงมีจำกัด โดยมีเพียง 14.1% ของเยาวชนที่ระบุว่าได้เรียนรู้ทักษะสำคัญจากการปฏิบัติงานจริง

  • เยาวชนที่ทำงานกับบริษัทข้ามชาติระบุว่า มีโอกาสเรียนรู้ทักษะสำคัญจากการปฏิบัติงานจริงมากกว่าการทำงานกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมหรือธุรกิจครอบครัว
  • เยาวชนอาเซียนยังให้ความสำคัญกับการฝึกงาน โดย 81.4% เชื่อว่าการฝึกงานมีความสำคัญเท่าเทียมกันหรืออาจจะมากกว่าการฝึกฝนในสถานศึกษาทั้งการศึกษาแบบดั้งเดิมหรือการศึกษาที่เป็นทางการ

    รายงาน WEF ระบุว่า สำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพื่อที่จะได้แรงงานที่มีคุณภาพและยังเป็นข้อได้เปรียบในการดึงคนมาร่วมงานด้วย

  • เยาวชนอาเซียนต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือทำงานกับบริษัทข้ามชาติชั้นนำ แต่ไม่สนใจ SME
  • เมื่อถามว่าองค์กรแบบไหนที่ต้องการจะทำงานด้วยในปัจจุบัน และธุกริจไหนที่ต้องการจะทำงานด้วยในอนาคต เยาวชนอาเซียนให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมากว่า ต้องการที่จะเริ่มต้นธุรกิจ รวมทั้งต้องการทำงานกับบริษัทข้ามชาติชั้นนำ โดย 31.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าต้องการที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัปในอนาคต ขณะที่ 33.1% ต้องการเริ่มประกอบธุรกิจ

    8.6% ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามต้องการทำงานกับบริษัทข้ามชาติในช่วงนี้ ขณะที่ 18.8% ต้องการที่จะทำงานกับบริษัทข้ามชาติในอนาคต

    รายงานระบุว่า ผลสำรวจเห็นได้บางประเภทธุรกิจได้รับนิยมอย่างมากจากเยาวชน แต่มีบางประเภทที่ได้รับความสนใจน้อย ได้แก่ ธุรกิจ SME แบบเดิม ซึ่งจัดว่าเป็นกระดูกสันหลังของตลาดแรงงานอาเซียน ดังนั้นบริษัทขนาดเล็กอาจจะประสบกับปัญหาในการหาแรงงาน

    ทั้งนี้ 18.3% ของเยาวชนที่ระบุว่าต้องการทำงานกับ SME ในช่วงนี้ แต่มีเพียง 7.5% เท่านั้นที่ตอบว่าต้องการจะทำงานกับ SME ในอนาคต

    ปัจจุบัน 42.8% ของเยาวชนทำงานกับธุรกิจ SME ธุรกิจครอบครัว หรือบริษัทในประเทศขนาดใหญ่ แต่มีเพียง 28.3% ที่ต้องการทำงานธุรกิจเหล่านี้ในอนาคต

  • เยาวชนอาเซียนสนใจงานในภาคเทคโนโลยีและสนใจภาคธุรกิจแบบเดิมน้อย
  • เมื่อถามว่าภาคเศรษฐกิจไหนที่ต้องการจะทำงานด้วย เยาวชนอาเซียนเลือกบริษัทเทคโนโลยี ขณะที่ให้ความสนใจในภาคธุรกิจอื่นน้อย โดยมี 7% ของเยาวชนทำงานกับธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ แต่ 16% ต้องการทำงานทำงานกับธุรกิจเทคโนโลยีในอนาคต

    คำตอบนี้อาจจะสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจอื่น และอาจจะทำให้การจัดหาแรงงานวัยหนุ่มสาวมาทำงานด้วยยากมากขึ้นในอนาคต เช่น ภาคการผลิต ที่มี 15% ของเยาวชนทำงานอยู่ในปัจจุบัน แต่มี 12% ระบุว่าต้องการที่จะทำงานในภาคการผลิตในอนาคต ส่วนภาคก่อสร้างมีเยาวชนทำงานอยู่ราว 4% แต่มีเพียง 2% ที่ระบุว่าต้องการทำงานในภาคก่อสร้างในอนาคต

    ที่เห็นได้ชัดในภาคการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อคุณภาพแรงงานป้อนเศรษฐกิจ ก็ประสบกับความต้องการที่ลดลงจากเยาวชนอาเซียน เพราะมี 8% เท่านั้นทำงานในภาคการศึกษาปัจจุบัน แต่ความต้องการที่จะทำงานกับภาคการศึกษาในอนาคตลดมี 5% เท่านั้น

    โดยเฉพาะในอินโดนีเซียความต้องการที่ทำงานในภาคการศึกษาลดลง จาก 10.2% มาที่ 6.1%

  • เยาวชนอาเซียนให้คุณค่ากับทักษะด้านอารมณ์ (soft skills)มากกว่าทักษะด้านความรู้ (hard skills) และเชื่อว่าพวกเขามีความสามารถด้าน soft skills มากกว่า
  • เมื่อถามว่า ทักษะด้านไหนที่คิดว่ามีคุณค่าในอนาคต เยาวชนอาเซียนให้คุณค่ากับทักษะด้านอารมณ์ เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ความยืดหยุ่นในการรับมือ และความสามารถในการปรับตัว มากกว่า ทักษะด้านความรู้ ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM

    ทักษะสำคัญ 3 ด้านที่เยาวชนอาเซียนเห็นว่ามีความสำคัญ คือ หนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สอง ทักษะด้านภาษา และสาม ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เช่น โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ ส่วนทักษะที่เยาวชนอาเซียนเห็นว่ามีความสำคัญน้อยมากคือ การวิเคราะห์ข้อมูล คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

    ในการประเมินความสามารถในด้านต่างๆ มี 3 ใน 4 ทักษะที่เยาวชนอาเซียนเห็นว่ายังเป็นจุดอ่อนในด้าน STEM โดยระบุว่ามีความสามารถต่ำมากในการออกแบบเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม ซอฟต์แวร์ ตามมาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่เห็นว่าทักษะเหล่านี้มีความสำคัญ

    ทักษะที่เยาวชนอาเซียนให้ความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และดูเหมือนว่าภาคธุรกิจสำคัญในประเทศซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะมีผลต่อการพิจารณาของเยาวชนในอาเซียน

    เยาวชนไทยให้ความสำคัญกับทักษะความฉลาดทางอารมณ์และการสื่อสารมากกว่าด้านอื่น ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความสำคัญของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่มีต่อเศรษฐกิจ ขณะที่เยาวชนฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับทักษะออกแบบเทคโนโลยี และการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะฟิลิปปินส์มีความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมรับจ้างบริหารธุรกิจ (business process outsourcing industry) ส่วนเยาวชนสิงคโปร์ให้น้ำหนักกับการคิดเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าสูงขึ้น

    รายงาน WEF ระบุว่า การให้คุณค่ากับทักษะด้านภาษาของเยาวชนอาเซียนยังสอดคล้องกับผลสำรวจของ WEF ที่พบว่า 53.6% ของคนรุ่นหนุ่มสาวในอาเซียนสนใจที่จำทำงานในต่างประเทศอย่างมากในอีก 3 ปีข้างหน้า

    ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในประเทศอื่นถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการยกระดับทักษะในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

    การที่เยาวชนอาเซียนระบุว่าต้องการทำงานในภาคธุรกิจเทคโนโลยี และมองเห็นถึงจุดอ่อนด้าน STEM ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงงานที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม งานบางด้านในบริษัทเทคโนโลยีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านเทคนิค การพัฒนาธุรกิจ การตลาดหรือด้านอื่น ก็ยังต้องการทักษะด้านอารมณ์มากกว่าทักษะด้านความรู้

    นอกจากนี้ ผลสำรวจที่ว่าเยาวชนอาเซียนต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการ ก็แสดงให้เห็นว่าเยาวชนจำนวนมากต้องการที่จะเป็นผู้ค้ารายเล็กรายย่อย ด้วยการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ระบบการชำระเงินออนไลน์ และโซเชียลมีเดียในธุรกิจ

    การเป็นผู้ประกอบการไม่ได้หมายความต้องพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ซึ่งใช้ความรู้ด้าน STEM เป็นสำคัญ แต่ในทางกลับกันอาจจะเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กในที่ใดของประเทศและค้าขายผ่านเทคโนโลยีไปหลายภูมิภาคหรือทั่วโลก ทักษะด้านอารมณ์กับความรู้ด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลก็จะช่วยให้บรรลุความต้องการ