ThaiPublica > เกาะกระแส > รายรับ-รายจ่าย “หอศิลปฯ กรุงเทพฯ” กับการดำรงอยู่ของ bacc “หอศิลปฯ ประชาชน”

รายรับ-รายจ่าย “หอศิลปฯ กรุงเทพฯ” กับการดำรงอยู่ของ bacc “หอศิลปฯ ประชาชน”

18 ตุลาคม 2018


สถานการณ์ปัญหางบประมาณของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc หรือหอศิลปฯ ) ยังไม่ถือว่านิ่งนอนใจได้ แม้หอศิลปฯ จะระบุว่ากรุงเทพมหานคร ( กทม. ) รับปากจ่ายค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) ปีงบประมาณ 2561 และ 2562 ให้แล้วก็ตาม เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบ เช่น ค่าจัดนิทรรศการ กิจกรรม กิจกรรมการศึกษา ค่าซ่อมแซมอาคาร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปฯ กรุงเทพฯ กล่าวกับไทยพับลิก้าก่อนหน้านี้ว่า หลังจากไปประชุมกับคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิหอศิลปฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ในฐานรองประธานกรรมการที่ปรึกษาหอศิลปฯ   กทม. รับเรื่องว่าจะไปหาวิธีช่วย โดยขอเวลา 2 สัปดาห์นับจากวันประชุม

ปมปัญหา

กทม. เป็นเจ้าของพื้นที่และอาคารหอศิลปฯ ตรงสี่แยกปทุมวัน โดยพื้นที่ดังกล่าวเปิดให้บริการประชาชนด้านมิติศิลปวัฒนธรรม ตามวัตถุประสงค์ที่ กทม. วางไว้ ซึ่งนับตั้งแต่หอศิลปฯ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2551 ได้รับงบประมาณอุดหนุนจาก กทม. ในการบริหารจัดการอาคารหอศิลปฯ และกิจกรรมมาต่อเนื่อง

ต่อมานับตั้งแต่ปี 2554 กทม. ทำสัญญาโอนสิทธิให้มูลนิธิหอศิลปฯ เข้ามาดูแลบริหารงาน กทม. ยังเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลักมาโดยตลอด ทั้งยังมอบนโยบายให้มูลนิธิฯ ระดมทุนและจัดหารายได้ควบควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

จนกระทั่งปีงบประมาณ 2561 หอศิลปฯ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก กทม. อย่างที่เคยเป็นมาตลอด โดย กทม. อ้างว่าอาจผิดสัญญาโอนสิทธิ์ข้อที่ 8 ที่ระบุว่าหอศิลปฯ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และภาษีด้วยตนเอง ทำให้ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณปี 2562 ได้

นอกจากนี้ สภา กทม. ได้แปรงบของหอศิลปฯ ไปที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ในรูปแบบรายจ่ายอื่นๆ ซึ่ง สวท. ก็ไม่ได้เบิกจ่ายงบให้หอศิลปฯ เพราะเกรงว่าจะผิดสัญญาโอนสิทธิ์ข้อ 8 ทำให้หอศิลปฯ ประสบกับวิกฤติปัญหางบประมาณตามที่เป็นข่าว

เปิดรายรับ-รายจ่าย หอศิลปฯ

จากข้อมูลสถิติบางส่วนของการดำเนินงานปี 2560 หอศิลปฯ กรุงเทพฯ มีรายรับทั้งสิ้น 85 ล้านบาท แยกเป็น 1. ได้รับการจัดสรรจาก กทม. จำนวน 45 ล้านบาท (53%) และ 2. มูลนิธิหอศิลปฯ กรุงเทพฯ หาได้เองอีกประมาณ 40 ล้านบาท (47%) โดยได้มาจากการบริหารพื้นที่ 24% การสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ 16%  จากการบริจาคและ bacc shop 7%

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาหอศิลปฯ ใช้งบประมาณในการจัดนิทรรศการและกิจกรรมเป็นเงินประมาณ 20.3 ล้านบาท  ค่าไฟต่อเดือนประมาณ 720,000 บาท ส่วนค่าน้ำต่อเดือนคิดเป็นเงินประมาณ 25,000 บาท

นอกจากนี้ยังระบุว่ามีรายจ่ายอื่นๆ ประกอบด้วย ค่ารักษาความปลอดภัย, ค่ารักษาความสะอาด, ค่าบริหารอุปกรณ์  ค่าอุปกรณ์นิทรรศการและสำนักงาน, ค่าบริหารอาคารและซ่อมบำรุงอาคาร, ค่าทรัพยากรสารสนเทศ และค่าพัฒนาจดหมายเหตุดิจิทัล ซึ่งผู้อำนวยการหอศิลปฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ปีที่แล้วได้ใช้เงินไปประมาณ 70 ล้านบาท  ส่วนเงินที่เหลือเก็บสะสมไว้ใช้ปีถัดไป

ที่มาภาพ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวนการหอศิลปฯ บอกกับไทยพับลิก้าว่า แม้หอศิลปฯ ยังมีเงินสะสมเหลือเก็บ แต่ก็ไม่มาก คาดว่าสามารถใช้ทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ถึงแค่กลางปีหน้าเท่านั้น ส่วนงบปี 2561 ที่จบไปแล้ว กทม. จะจ่ายแค่ค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น

“คนมักจะมองว่าพอได้ค่าน้ำค่าไฟแล้ว เป็นการแก้ปัญหาแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ อย่างงบประมาณปี 2562 ผมต้องเรียนว่าเราส่งเรื่องขอไปทาง กทม. ทั้งหมด 53 ล้านบาท เป็นค่าน้ำค่าไฟประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 15% เท่านั้นเอง แต่ยังมีค่าจัดนิทรรศการ ค่าจัดกิจกรรมศิลปะแขนงอื่นๆ ละครเวที ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ค่าจัดกิจกรรมการศึกษาประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งเราก็ทำให้กับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ด้วย ฉะนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบ รวมถึงค่าซ่อมแซมอาคารสถานที่ ซึ่งหลังจากแถลงข่าวออกไป คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จริงๆ ว่าเรามีปัญหา นึกว่าได้ค่าน้ำค่าไฟแล้วเข้าใจว่าปัญหาจบลงแล้ว” ผอ.หอศิลปฯ กล่าว

ผลกระทบที่หอศิลปฯ ได้รับ

ผลกระทบจากการถูกตัดงบ ทำให้หอศิลปฯ ต้องหาวิธีการแก้ไขเฉพาะหน้า ออกมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อให้ดำเนินงานต่อไปได้  ผอ.หอศิลปฯ กล่าวว่า เวลานี้หอศิลปฯ จะเลือกทำเฉพาะงานที่มีคนช่วยสนับสนุนไปก่อน ทว่ายังมีอีกหลายงานยังไม่มีผู้สนับสนุน จึงไม่มีข้อสรุปสุดท้ายว่าจะจัดกิจกรรมเหล่านั้นหรือไม่

ส่วนแผนงานในปีหน้า ผอ.หอศิลปฯ ระบุว่าได้วางแผนรองรับไว้แล้ว โดยจะเน้นการปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด เช่น การจัดกลุ่มกิจกรรมใหม่ ยกตัวอย่างกิจกรรมสำหรับวันเด็กที่เคยมีแค่วันเดียว ได้เปลี่ยนใหม่เป็นให้เด็กๆมาหอศิลปฯ ทุกวันเสาร์ที่สองของทุกเดือน มีกิจกรรมสำหรับเด็กตลอดทั้งปี แต่ใช้งบประมาณเท่าเดิม

นอกจากนี้ยังหาพาร์ทเนอร์มาร่วมงานด้วยกันมากขึ้นผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการศึกษา เช่น คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  คณะวิทยาการการเรียนรู้ฯ ศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จะจัดนิทรรศการ 2 งานในปีหน้ากับหอศิลปฯ

“เวลาเงินน้อยก็ต้องใช้เงินให้น้อยที่สุด  และต้องพยายามหาเงินเข้ามาให้มากที่สุด รวมทั้งมีการให้พนักงานหมุนเวียนกันไปช่วยทำงาน แต่ไม่มีนโยบายเลย์ออฟคนออก ทุกคนจะทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ายังเป็นหอศิลปฯ ของประชาชนอยู่  ถึงแม้จะมีปัญหาก็ตาม” ผอ.หอศิลปฯ กล่าว

นายชาญยุทธ มนูญวิริยะกุล คณะทำงานหอศิลปะฯฝ่ายอำนวยการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนเข้าใจว่าหอศิลปฯ เป็นปกติแล้ว เข้ามาในอาคารแอร์ยังเย็น ไฟยังสว่าง มีกิจกรรมเต็มทุกพื้นที่ ผนวกกับ กทม. บอกว่าจะจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ แต่จริงๆ แล้วยังมีผลกระทบที่ยังมองไม่เห็นที่จะตามมาอีกหลายส่วน

เช่น เรื่องการจัดนิทรรศการ มีทั้งที่หอศิลปฯ ทำเองและทำร่วมกับคนอื่น ซึ่งในส่วนของการทำเองใช้เงินหอศิลปฯ ทั้งหมด วางแผนล่วงหน้ากัน 2-3 ปี จึงอาจยังไม่เห็นผลกระทบตอนนี้ เนื่องจากวางแผนมาแล้ว เตรียมงบประมาณไว้แล้ว แต่งบประมาณปี 2562 ที่ขอไปแล้วยังไม่มา เริ่มส่งผลกระทบว่าจะจัดนิทรรศการหลังจากนี้ได้หรือไม่  มีคนช่วยหรือไม่มี  เป็นผลกระทบที่ประชาชนยังมองไม่เห็น

“งบปี 2561 ยังไม่ได้ แต่ยังดีมีคนมาช่วยงานใหญ่ 2-3 งาน แต่งบปี 2562 ที่เราวางแผนไว้ 3-4 นิทรรศการใหญ่ที่เราจะจัดเอง จะทำยังไง ผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า และถ้างบปี 2563 ยังไม่ได้มาอีก อาจจะไม่มีงานที่เราคุมแนวคิดแนวทางด้านศิลปะส่งให้สังคมเลย อาจต้องรอภาคเอกชนมาจัดอย่างเดียว ซึ่งมันก็ทำให้คุณค่าบางอย่างในอาคารแห่งนี้หายไป”

“จริงอยู่ที่หอศิลปฯ เป็นของ กทม. เป็นหน้าที่บริการสาธารณะ แต่พอเงินไม่มา จะให้ทางเรามาทำเอง กำลังเราก็ไม่พอ  ถามว่าเราหาได้ 45% ประมาณ 30-40 ล้าน ถือว่ามหาศาลที่สุดในโมเดลแบบที่รัฐไม่ต้องหาเงินมาให้ทั้งหมด” นายชาญยุทธ กล่าว

ทางออกที่เป็นไปได้?

หลังจากมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิหอศิลปฯ กับกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายภราเดช พยัฆวิเชียร รักษาการกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ กรุงเทพ หนึ่งในผู้ร่วมเข้าประชุม  กล่าวกับไทยพับลิก้าว่า จากการเข้าร่วมประชุมมีข้อสรุป 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. ช่วยกันหาทางแก้ไขเยียวยาแก้ไขสภาวะปัจจุบัน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ แต่ส่วนอื่นๆ ที่ยังติดเรื่องสัญญากฎหมายอยู่ กทม. ขอเวลาไปหารือกันภายในว่าจะปรับแก้อะไรได้บ้าง

2. กรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ และ กทม. ได้หารือถึงอนาคตข้างหน้าร่วมกัน โดยตัวแทนมูลนิธิหอศิลปฯ นำเสนอประเด็นว่า กทม. จะยอมรับตรงกันหรือไม่ว่าหน้าที่ของหอศิลปฯ ไม่ได้เป็นแค่หน่วยงานทำตามกฎหมายแล้วหาเงิน แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่แทน กทม. เพื่อจะมีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงเรียนรู้งานศิลปวัฒนธรรม ได้กระตุ้นศักยภาพของเยาวชน ของประชาชน แม้กระทั่งของศิลปิน ผ่านพื้นที่สาธารณะ

รวมทั้งเปิดโอกาสทางด้านศิลปวัฒนธรรมในทุกมิติให้ประชาชนได้เสพ ได้มีความสุข ได้รับรู้ ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเกิดศักยภาพจากการที่มาเห็นนิทรรศการหรือมาทำกิจกรรมในหอศิลปฯ ไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับการพัฒนาตัวเอง เช่น ไปสร้างสรรค์สินค้าให้มีดีไซน์ มีครีเอทีฟ

“เพราะนี่คือหน้าที่ของเมือง ซึ่งทุกประเทศเขามีอยู่ เช่น มีโอเปราเฮาส์ มิวสิกฮอล พิพิธภัณฑ์ หอศิลปฯ ไม่ใช่ไปตอบโจทย์นักท่องเที่ยว แต่ตอบโจทย์คนของเขา นี่คือหน้าที่ของ กทม. ใช่หรือไม่” นายภราเดชกล่าว

นายภราเดชยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังไม่ใช่แค่ในพื้นที่ กทม. แต่สามารถทำเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดหรือเมืองทั่วประเทศเกิดอย่างนี้ได้หรือไม่ เพื่อจะได้เป็นโมเดลว่าหน้าที่ของเมืองมันไม่ใช่แค่สร้างถนน ระบายน้ำ แต่ยังต้องมีคุณค่าทางศิลปะ ทางจิตใจ ให้คนมีความสุข มีศักยภาพ นี่คือแนวโน้มระยะยาว

“และไม่ใช่แค่ภายในประเทศ แต่ต้องมองว่าให้ได้มาตรฐานอย่างน้อยเทียบเท่าหรือเหนือว่าต่างประเทศ เพราะวันนี้มันเริ่มเห็นสิ่งบอกเหตุว่าโมเดลของหอศิลปฯ bacc  ไม่ได้เหมือนแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลปะทั่วโลก  แต่ที่นี่เป็นทุกอย่าง เป็นที่แสดงงานศิลปะ มาอ่านหนังสือ มาติวหนังสือ ซึ่งคนก็ค่อยๆ มามากขึ้น เห็นแล้วก็ค่อยๆ ซึมซับ จนมันเป็นสถานที่เกิดประโยชน์ นี่คือหน้าที่ของ กทม. มั้ย มันไม่ใช่แค่หอศิลปฯ ของศิลปิน แต่มันเป็นหอศิลปฯ ของประชาชน แม้แต่เด็กๆ ก็ลงไปห้องสมุด หน้าร้อนก็มีหลักสูตรฤดูร้อนทางด้านศิลปะ วัยรุ่นมาดูงาน มาทำโปรเจกต์ มาทำรายงานด้านศิลปะ ว่างๆ อากาศดีมีดนตรีกลางแจ้ง มีละคร มีภาพยนตร์ มีงานแสดงภาพถ่าย ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่ของคนทุกชนชั้นมามีโอกาสสัมมนา มาแลกเปลี่ยนความเห็นบนพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องถามว่า กทม. มองอย่างนี้ร่วมกันหรือเปล่า” นายภราเดชกล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมกับไทยพับลิก้า โดยระบุว่าทางมูลนิธิหอศิลปฯ ต้องเสนอรายละเอียดการของบประมาณอุดหนุนเข้ามาให้ชัดเจน เพื่อจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาในสภา กทม.