ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ถามผู้ว่า กทม. สัมปทานเผาขยะ 20 ปี ผลิตไฟฟ้าขาย 20,000 ล้านบาท อยู่ไหน?

ถามผู้ว่า กทม. สัมปทานเผาขยะ 20 ปี ผลิตไฟฟ้าขาย 20,000 ล้านบาท อยู่ไหน?

16 สิงหาคม 2019


ถามผู้ว่า กทม. สัมปทานเตาเผาขยะ 20 ปี ผลิตไฟฟ้าขาย 20,000 ล้าน อยู่ไหน?

จากเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นปัญหาขยะล้นเมือง ในแต่ละปีมีปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 3.6 ล้านตัน เฉลี่ยวันละ 10,000 ตัน โดยขยะที่รวบรวมได้จาก 50 เขตในกรุงเทพมหานคร จะถูกส่งไปที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 ได้แก่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม, อ่อนนุช และสายไหม เพื่อส่งต่อไปให้เอกชนนำขยะไปกำจัดต่อ โดยมูลฝอยประมาณ 83% ของปริมาณขยะทั้งหมดจะถูกนำไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอพนมทวน จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจจุบันมีพื้นที่ฝังกลบลดน้อยลงทุกวัน ขณะที่อีก 12 % ถูกส่งเข้าไปที่โรงงานหมักและบ่มเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และที่เหลือ 5% ส่งเข้าโรงงานกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมขนาด 300-500 ตันต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เป็นโครงการนำร่อง

ตลอดปีงบประมาณ 2559 โรงงานกำจัดขยะหนองแขมสามารถกำจัดขยะได้ 92,600 ตัน และผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 5-8 เมกะวัตต์ต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 กทม.จึงออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลงานว่าจ้างเหมากำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช มูลค่าโครงการแห่งละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการคิดเป็นมูลค่า 13,140 ล้านบาท กำหนดยื่นข้อเสนอและราคาในวันที่ 21 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา มีผู้ประมูลมายื่นซองประกวดราคาทั้งสิ้น 13 ราย

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ: http://www.bangkok.go.th/

แต่ยังไม่ทันได้ประกาศชื่อผู้ประมูลงานที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก รองผู้ว่า กทม.ก็ยื่นใบลาออกต่อ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ถึง 2 คน รายแรก คือ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ซึ่งได้รับมอบหมายดูแลโครงการกำจัดมูลฝอยโดยตรง โดยให้เหตุผลว่าต้องการพักผ่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว กทม.ถึงสาเหตุการลาออกของนายจักกพันธุ์ครั้งนี้ ว่าอาจจะถูกกดดันให้ลงนามอนุมัติผลการประมูลโครงการกำจัดขยะทั้ง 2 แห่ง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามที่มีข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนว่าการจัดงานประมูลโครงการนี้อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประมูลบางรายหรือไม่ อย่างไร

ภายหลังนายจักกพันธุ์ยื่นใบลาออกและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 วันรุ่งขึ้นปรากฏว่านายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่า กทม.ในลำดับถัดมา ยื่นใบลาออกเป็นรายที่ 2 โดยไม่ทราบเหตุผล จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกถึงสาเหตุการลาออกของนายทวีศักดิ์ ว่าน่าจะมาจากการที่นายทวีศักดิ์ต้องมารับผิดชอบงานประมูลเตาเผาขยะแทนนายจักกพันธุ์ ทำให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ต้องออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน ยืนยันสาเหตุการลาออกของรองผู้ว่า กทม.ทั้ง 2 รายว่า “ไม่ใช่เรื่องเตาเผาขยะ เพราะไม่ว่าใครมาเป็นรองผู้ว่า กทม.ก็ต้องเซ็นอยู่ดี ถ้าให้ผมเซ็นคนเดียวก็ไม่ต้องมีรองผู้ว่า กทม. เหมือนนายกรัฐมนตรีที่มีรองนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยผ่อนงาน”

นอกจากนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ยังยืนยันว่า “การประมูลงานเตาเผาขยะครั้งนี้ไม่มีล็อกสเปกหรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประมูลรายใด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประกวดราคา คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายในเดือนสิงหาคมนี้”

ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่หน่วยตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช., ป.ป.ท. และ สตง. รวมทั้งสื่อมวลชน มุ่งประเด็นการตรวจสอบไปที่เรื่องการกำหนดสเปกของงาน และกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีแหล่งข่าวระดับสูงจาก กทม.เปิดเผยถึงข้อมูลของศูนย์วิจัยการเผากากของเสีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ กทม.ว่าจ้างให้มาทำการศึกษาโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผาขยะที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช พร้อมอธิบายรายละเอียดของโครงการเตาเผาขยะมูลค่า 13,410 ล้านบาทว่า จริงๆ แล้วโครงการเตาเผาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุชไม่ได้มีแค่รายได้จาก กทม.เฉพาะค่ากำจัดขยะหรือที่เรียกว่า “tipping fee” ตันละ 900 บาทเท่านั้น ซึ่งคนทั่วอาจไม่ทราบ นอกจากค่ากำจัดขยะแล้วผู้รับสัมปทานโครงการนี้ยังมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าอีกยูนิตละ 3.66 บาท กล่าวโดยสรุปคือผู้รับสัมปทานโครงการนี้จะมีรายได้ 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก คือ รายได้จากการรับจ้าง กทม.กำจัดขยะ ตันละ 900 บาท ซึ่งตาม TOR กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องกำจัดขยะวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน หมายความว่า ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้ค่า tipping fee จาก กทม.วันละ 900,000 บาท ปีละ 328.5 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี มีรายได้ 6,570 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 2 โครงการ ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้ค่า tipping fee จาก กทม.ประมาณ 13,410 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับราคากลางหรือกรอบวงเงินงบประมาณตามประกาศของ กทม.

ส่วนที่ 2 เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้ายูนิตละ 3.66 บาท ตามที่ กทม.ชี้แจงก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลศูนย์วิจัยการเผากากของเสีย มจพ.ระบุว่า โครงการนี้สามารถนำความร้อนที่ได้เผาขยะไปผลิตไอน้ำ ที่เรียกว่า “ไอดง” (superheated steam) เพื่อนำไปหมุนกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าได้ และเมื่อเดินเครื่องเผาทำลายขยะที่ค่าความร้อนสูงสุดจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 เมกะวัตต์ และสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 19 เมกะวัตต์ ดังนั้นวิธีการคำนวณตัวเลขประมาณการรายได้จากการขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาขยะ จึงต้องแปลงหน่วยวัดกำลังไฟฟ้าให้เป็นหน่วยเดียวกันกับที่กราไฟฟ้ารับซื้อ คือ 1 เมกะวัตต์ มีค่าเท่ากับ 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

โรงงานกำจัดขยะที่ กทม.กำลังจะก่อสร้าง แต่ละแห่งจะมีประสิทธิภาพในการเผาทำลายขยะไม่ต่ำกว่า 50 ตันต่อชั่วโมง ตาม TOR กำหนดโรงงานกำจัดขยะต้องเผาทำลายขยะวันละไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ดังนั้น ใน 1 วันจะใช้เวลาเผาไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ หมายความว่าใน 1 ชั่วโมง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยการเผากากของเสีย มจพ.ระบุว่า ผลิตกระแสไฟฟ้าขายได้สูงสุด 19 เมกะวัตต์ ก็นำมาคูณกับเวลาในการเผาขยะ 20 ชั่วโมง คูณกับตัวเลขกำลังไฟฟ้า 1,000 เพื่อแปลงหน่วยเป็นกิโลวัตต์ จะได้ผลลัพธ์เป็นกระแสไฟฟ้าที่โรงงานกำจัดขยะแต่ละแห่งผลิตได้ 380,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง นำมาคูณกับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการของกรุงเทพมหานครที่ 3.66 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คาดว่าโรงงานกำจัดขยะของกทม.น่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าวันละประมาณ 1,390,800 บาท ปีละ 507 ล้านบาท หากสัมปทานอายุ 20 ปี ผู้รับสัมปทานน่าจะมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าประมาณ 10,152 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 2 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 20,305 ล้านบาท

สรุป ตัวเลขประมาณการรายได้ของผู้รับสัมปทานเตาเผาขยะในช่วง 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 16,722 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่า tipping fee จาก กทม.ประมาณ 6,570 ล้านบาท รายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าอีก 10,152 ล้านบาท แต่ถ้ารวม 2 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 33,445 ล้านบาท แบ่งเป็นค่า tipping fee ประมาณ 13,410 ล้านบาท และรายได้จากการขายไฟฟ้า 20,305 ล้านบาท

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า ขยะถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณะ การนำทรัพย์สินของสาธารณะไปให้เอกชนใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าขายมีขนาดของมูลค่าโครงการหลายหมื่นล้าน จึงมีประเด็นคำถามตามมาการดำเนินการดังกล่าวได้ปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560, พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562หรือไม่ อย่างไร และมีประเด็นที่จะถามต่อไปว่าการให้สัมปทานแก่เอกชนมีหลายรูปแบบ เช่น สัญญาสัมปทานแบบแบ่งปันผลผลิต (production sharing contract) หรืออาจจะกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานให้นำรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าขายมาชดเชย (subsidies) กับค่ากำจัดขยะ เหตุใด กทม.ตัดสินใจเลือกรูปแบบสัญญาสัมปทาน BOT (build-operate-transfer) โดยมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งการก่อสร้างและบริหารจัดการขยะเป็นเวลา 20 ปี เป็นประเด็นที่อยากจะฝากไปถามผู้ว่า กทม.