ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ความสำเร็จของ “มูลนิธิโรบิน ฮู้ด” องค์กรการกุศล ที่ยึดหลัก “ผลตอบแทนการลงทุน”

ความสำเร็จของ “มูลนิธิโรบิน ฮู้ด” องค์กรการกุศล ที่ยึดหลัก “ผลตอบแทนการลงทุน”

13 ตุลาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.robinhood.org/annual-report-2017/impact/#hunger

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิโรบิน ฮู้ด (The Robin Hood Foundation) ของนครนิวยอร์ก ได้จัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ของมูลนิธิ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรการกุศล ในการต่อสู้กับความยากจน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคนหนึ่งคือ นายพอล ทิวดอร์ โจนส์ (Paul Tudor Jones) หลังจากที่เขามั่งคั่งขึ้นมา จากการเป็นผู้จัดการกองทุน Hedge Fund ก็มีความประสงค์ที่จะนำเงินบางส่วนไปใช้ในทางการกุศล

โจนส์กล่าวว่า “เมื่อเริ่มต้น เราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรเป็นอย่างแรก ในการต่อสู้กับความยากจน แต่เราก็ยังทำเรื่องนี้อยู่ดี เมื่อหัวใจเราไปอยู่ถูกที่ แล้วสมองของเราก็ติดตามมา ดังนั้น เราจึงต่อสู้กับปัญหาความยากจน เหมือนกับการแก้ปัญหาธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่ตัวเราเองมีประสบการณ์”

มูลนิธิโรบิน ฮู้ด ได้รับการยอมรับว่า เป็นนวัตกรรมด้านองค์กรการกุศล เป็นมูลนิธิที่บุกเบิกงานการกุศล ที่เรียกว่า venture philanthropy หรืองานการกุศลที่ยึดหลักกลไกตลาด การลงทุนในโครงการการกุศล จะใช้หลัก cost-benefit คือ ผลตอบแทนของโครงการ คุ้มค่าหรือไม่ วิธีการหาเงินของมูลนิธิฯ ก็แตกต่างออกไป กรรมการมูลนิธิจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานของมูลนิธิ ทำให้เงินจากผู้บริจาคทั้งหมดถูกนำไปใช้โดยตรงกับโครงการด้านการกุศล ปี 2017 มูลนิธิฯ ใช้เงินไป 117 ล้านดอลลาร์กับโครงการต่างๆ ในนิวยอร์ก

ความเป็นมา

ในปี 1988 พอล โจนส์ ผู้จัดการกองทุน hedge fund ได้จัดตั้งมูลนิธิโรบิน ฮู้ด ด้วยเงิน 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อสู้กับปัญหาความยากจนในนิวยอร์ก และดึงเพื่อนร่วมงานมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิอีก 2 คน นับตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้ง มูลนิธิโรบิน ฮู้ด มีนโยบายจะป้องกันไม่ให้เกิดความยากจน โดยยึดใช้หลักการลงทุนที่ว่า “สนับสนุนเงินทุนแก่กลุ่มดีสุดในชุมชน และเป็นหุ้นส่วนกับกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์มากสุด”

จากการเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดองค์กรการกุศลในเชิงการลงทุน มูลนิธิโรบิน ฮู้ด จะเน้น การทำ due diligence เพื่อตรวจสอบฐานะโครงการ การมีส่วนร่วมโดยตรงกับกลุ่มคนที่ได้รับเงินทุน และการประเมินผลกระทบทางสังคมของโครงการ เนื่องจากมองเห็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการดำเนินงานที่เข้มแข็งกับองค์กรที่มีผลงานสูง มูลนิธิฯ จึงให้การสนับสนุนแก่องค์กรที่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งในแง่เงินทุน การบริหารจัดการ และการให้การสนับสนุนทางเทคนิค หากโครงการไม่บรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน จะถูกตัดเงินช่วยเหลือ หรือยกเลิกการสนับสนุน

คณะกรรมการมูลนิธิฯ แสดงความมุ่งมั่งเอาจริงเอาจัง โดยการให้เงินของตัวเอง เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของมูลนิธิฯ กรรมการมูลนิธิฯ มาจากนักลงทุนในกองทุน hedge fund ผู้นำธุรกิจ และคนมีชื่อเสียงของนิวยอร์ก เพราะเหตุนี้ เงินบริจาค 100% จะถูกนำไปใช้โดยตรงกับโครงการต่อสู้ความยากจน

ปี 1988 มูลนิธิฯ มีทรัพย์สิน 3.2 ล้านดอลลาร์ ให้เงินสนับสนุนโครงการการกุศล 63,000 ดอลลาร์ และได้เงินบริจาคจากคนนอก 3.1 ล้านดอลลาร์ ปี 2000 มูลนิธิฯ มีทรัพย์สิน 66 ล้านดอลลาร์ ให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ 13 ล้านดอลลาร์ และได้รับบริจาค 25 ล้านดอลลาร์ ปี 2005 มีทรัพย์สิน 210 ล้านดอลลาร์ ใช้เงินในโครงการต่างๆ 63 ล้านดอลลาร์ และได้รับเงินบริจาค 102 ล้านดอลลาร์ ทำให้มูลนิธิโรบิน ฮู้ด กลายเป็นองค์กรต่อสู้ความยากจนของภาคเอกชนที่ใหญ่สุดในนิวยอร์ก การทำมูลนิธิโดยยึดหลักการผลตอบแทนการลงทุนทำให้เป็นแบบอย่างแก่มูลนิธิอื่นๆ ในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://www.robinhood.org/annual-report-2017/impact/#hunger

หลักการของมูลนิธิฯ

ในรายงานประจำปี 2017 มูลนิธิโรบิน ฮู้ด กล่าวว่า การดำเนินงานประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ

ประการแรก คือ กรรมการมูลนิธิรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของมูลนิธิทั้งหมด ทำให้เงินบริจาค 100% ถูกนำไปใช้โดยตรงกับโครงการการกุศล

ประการที่สอง คือ หลักเกณฑ์ประเมินผลโครงการ มูลนิธิฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่โครงการจะผ่านกระบวนการประเมินผล เพื่อจะดูว่าเงินช่วยเหลือจะมีส่วนขจัดความยากจนมากน้อยเพียงไร

ประการที่สาม คือ หลักความรับผิดชอบ มูลนิธิฯ กล่าวว่า จะให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการต่อสู้ความยากจนที่ได้ผลมากที่สุด หากโครงการประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยให้ขยายกิจกรรมมากขึ้น หากเกิดการสะดุด ก็จะช่วยปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่หากผลการดำเนินงานไม่ดีขึ้น ก็ยุติการช่วยเหลือ เพราะมูลนิธิฯ เห็นว่า เงินที่ใช้ผิดทาง ถือเป็นการพลาดโอกาส

ประการที่สี่ คือ การเป็นหุ้นส่วนในโครงการ นอกจากสนับสนุนทางการเงิน มูลนิธิฯ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับโครงการที่ให้เงินช่วยเหลือ ให้การสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ การฝึกอบรมความเป็นผู้นำ และการหาวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมความสามารถของโครงการ ในการรับใช้ชุมชนรายได้ต่ำ

ที่มาภาพ : https://www.robinhood.org/annual-report-2017/impact/#hunger

โครงการหลักของมูลนิธิฯ

มูลนิธิโรบิน ฮู้ด ทำโครงการหลัก 4 ด้าน ด้านที่หนึ่ง คือ เรื่องเด็กและเยาวชน โดยสนับสนุนองค์กรที่ทำงานด้านพัฒนาการของเด็ก มูลนิธิฯ เห็นว่า เด็กจำนวนมากในนิวยอร์กขาดผู้ปกครองที่มีความรู้และความเข้าใจ ขาดการดูแลสุขภาพที่พอเพียง และเด็กขาดการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่โรงเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็ก

ด้านที่สอง คือ โครงการเกี่ยวกับการศึกษา มูลนิธิฯ เชื่อว่า การศึกษาเป็นวิธีการดีที่สุดในการป้องกันความยากจน มูลนิธิจึงให้การสนับสนุนทางการเงิน แก่โรงเรียนในชุมชมยากจนที่สุดของนิวยอร์ก สนับสนุนองค์กรที่ทำงานเรื่องการที่เด็กจะได้เรียนต่อ และการสร้างห้องสมุดในชุมชม เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และการสอน

ด้านที่สาม เป็นโครงการเกี่ยวกับการมีงานทำ และความมั่งคงทางเศรษฐกิจ มูลนิธิฯ สนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรที่สร้างโอกาสการทำงานแก่คนรายได้ต่ำ การปล่อยเงินกู้ และสร้างทักษะความเข้าใจเรื่องการเงิน รวมทั้งช่วยเหลือเรื่องการเริ่มต้นในการทำธุรกิจ

ด้านสุดท้าย คือ โครงการการกุศลเกี่ยวกับการอยู่รอด มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนด้านอาหารแก่คนที่อดอยาก จัดบ้านพักแก่คนที่ไร้บ้าน บริการสุขภาพแก่คนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ให้ที่พักพิงแก่คนที่ถูกรังแก และให้ที่พักพิงและการบริการแก่คนเป็นโรคเอดส์

ที่มาภาพ : https://www.robinhood.org/annual-report-2017/impact/#hunger

การบริหารมูลนิธิเชิงกลยุทธ์

มูลนิธิโรบิน ฮู้ด เป็นตัวอย่างองค์การกุศลที่ใช้หลักการบริหารงานเชิงกลยุทธ์ องค์กรการกุศลลักษณะนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น องค์กรการกุศลที่ “มุ่งผลลัพธ์” หรือองค์กรการกุศลที่มี “ประสิทธิผล” ผู้บริจาคล้วนต้องการให้องค์กรการกุศลบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ชัดเจน ทำให้ทั้งมูลนิธิและคนที่รับเงินสนับสนุน ต้องมีกลยุทธ์การทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีการประเมินการทำงาน ไปสู่สู่จุดหมาย เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการทำงาน และประเมินความสำเร็จของมูลนิธิ

ในหนังสือชื่อ Money Well Spent: A Strategic Plan for Smart Philanthropy ผู้เขียนคือ Paul Brest และ Hal Harvey กล่าวว่า ความสำเร็จของมูลนิธิต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เงินทุน และกลยุทธ์ขององค์กรการกุศล งานการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน การต่อสู้กับความยากจน หรือการปฏิรูปการศึกษา มีความยากลำบากในการดำเนินงาน เพราะภารกิจไม่ได้อยู่การเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น

ที่มาภาพ : unsplash.com3

แต่หลักเกณฑ์ประเมินความสำเร็จของงานการกุศล ก็ไม่ได้มีบรรทัดฐานเดียว เหมือนกับหลักเกณฑ์วัดความสำเร็จของการทำธุรกิจ ดังนั้น เมื่อองค์กรการกุศลมีเป้าหมายแล้ว สิ่งต่อมาคือการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กลยุทธ์คือ วิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรการกุศล เป้าหมายสูงสุดของกลยุทธ์คือ การบรรลุสิ่งที่เป็นผลกระทบ ผลกระทบนั้นหมายความว่า เป้าหมายขององค์กรการกุศล ทำให้เกิดผลที่ความแตกต่างขึ้นมา

หนังสือ Money Well Spent กล่าวว่า มูลนิธิโรบิน ฮู้ด เป็นองค์กรการกุศล มีลักษณะการบริหารเชิงกลยุทธ์สูงมาก องค์กรที่รับเงินช่วยเหลือ จะเป็นหน่วยงานด้านบริการ ที่ให้ความช่วยในเรื่องการสร้างทักษะแก่คนยากจน หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผลคุ้มค่าของมูลนิธิฯ กล่าวว่า เงินช่วยเหลือ 1 ดอลลาร์ จะส่งผลเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีคูณ การให้เงินช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ทางมูลนิธิฯ จะประเมินเปรียบเทียบว่า องค์กรไหนให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่ากัน

เนื่องจากการสนับสนุนโครงการต่างๆ มุ่งให้ผู้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมูลนิธิฯ จะเปรียบเทียบว่า โครงการช่วยเหลือจะทำให้คนได้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เปรียบเทียบจากกรณีที่คนคนนั้นไม่ได้รับความช่วยเหลือ มูลนิธิโรบิน ฮู้ด ใช้หลักเกณฑ์นี้ เพราะถือว่า “โดยทั่วไป ความยากจนจะวัดกันที่รายได้ ดังนั้น โครงการที่ทำให้คนมีรายได้สูงขึ้นโดยตรงจะช่วยลดจำนวนคนจนลง หรือลดความรุนแรงของความยากจน”

หนังสือ Money Well Spent ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณผลที่คุ้มค่าของมูลนิธิโรบิน ฮู้ด เช่น การช่วยเหลือทางการเงินให้แก่โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรี มีผู้หญิงเข้าร่วมโครงการ 150 คน จบหลักสูตรการอบรม 72 คน ในจำนวนนี้ ยังทำงานเดิม 31 คน หากคนกลุ่มนี้ยังทำงานต่อเนื่องไป 30 ปี จะมีรายได้รวม 9.1 ล้านดอลลาร์ เมื่อหารด้วยเงินช่วยเหลือโครงการจากมูลนิธิฯ 200,000 ดอลลาร์ หมายความว่า ทุก 1 ดอลลาร์ จะให้ผลตอบแทน 45 ดอลลาร์

แม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบอย่างของมูลนิธิการกุศลที่ใช้หลักเกณฑ์แบบเดียวกับการทำธุรกิจ แต่มูลนิธิโรบิน ฮู้ด ก็กล่าวว่า ในอนาคต การทำงานจะเน้นหนักเรื่องการผลักดันด้านโยบายมากขึ้น และยอมรับว่า ลำพังงานของมูลนิธิการกุศลอย่างเดียว ไม่พอที่จะต่อสู้กับปัญหาความยากจน

เอกสารประกอบ
เว็บไซต์ robinhood.org
Money Well Spent: A Strategic Plan for Smart Philanthropy, Paul Brest and Hal Harvey, Stanford University Press, 2018.