ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มาเร็วถอยเร็ว ถอดร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทะเบียนหมาแมว รอพิจารณาใหม่” และ “ระทึก จรวดส่งนักบินอวกาศไป ISS ขัดข้องกลางเวหา”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มาเร็วถอยเร็ว ถอดร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทะเบียนหมาแมว รอพิจารณาใหม่” และ “ระทึก จรวดส่งนักบินอวกาศไป ISS ขัดข้องกลางเวหา”

13 ตุลาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ต.ค. 2561

  • มาเร็วถอยเร็ว ถอดร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทะเบียนหมาแมว รอพิจารณาใหม่
  • อัยการสั่งฟ้อง “โอ๊ค” คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย-ศาลให้ประกัน
  • จ่ออุ้มวินฯ ถือบัตรคนจนซื้อน้ำมันถูกลงลิตรละ 3 บาท
  • รถตู้วอน “ขอขับ 110-ไม่ติดจีพีเอส”
  • ระทึก จรวดส่งนักบินอวกาศไป ISS ขัดข้องกลางเวหา
  • มาเร็วถอยเร็ว ถอดร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทะเบียนหมาแมว รอพิจารณาใหม่

    หลังจากที่มีการทบทวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ยังไม่มีปรากฏบทบัญญัติที่ต้องให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงของตนไปขึ้นทะเบียน ทำให้เป็นการยากต่อการควบคุม และก่อให้เกิดการปล่อยปะละเลย การทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง อันนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ทั้งต่อตัวสัตว์เลี้ยงและคนที่ต้องเผชิญกับสัตว์เลี้ยงที่กลายเป็นสัตว์เร่ร่อน

    ดังนั้น วันที่ 10 ต.ค. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งจะเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ประชาชนต้องนำสัตว์เลี้ยงของตนไปขึ้นทะเบียน โดยจะมีค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท ค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (ฝังชิป) ตัวละ 300 บาท รวม 450 บาท ซึ่งหากกฎหมายบังคับใช้แล้วพบประชาชนไม่ทำตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นของรัฐมีอำนาจเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 25,000 บาท และรายได้จากการเปรียบเทียบปรับจะเป็นรายได้ของท้องถิ่นเพื่อขจัดปัญหาของสังคมที่จะเกิดขึ้น

    แม้จะมีผู้เห็นด้วยในสาระเรื่องการควบคุมและคุ้มครองสัตว์เลี้ยง แต่อีกด้านหนึ่ง เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลและเสียงต่อต้านมากมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนที่สูงยิ่งกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จำนวนค่าปรับ ซึ่งมีการแสดงความเห็นว่าการบังคับที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นนี้จะยิ่งส่งผลในทางกลับกันกับความตั้งใจของกฎหมาย คือจะยิ่งทำให้คนนำสัตว์เลี้ยงไปทิ้งมากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องการจ่ายค่าลงทะเบียน หรืออาจไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าลงทะเบียน และยิ่งไปกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ยังไม่แสดงให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาสัตว์จรจัดที่มีอยู่เดิมได้อย่างไรอีกด้วย

    กระแสต่อต้านดังกล่าว ทำให้ในที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นฝ่ายที่เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขดังกล่าวได้กลับไปทบทวนในเรื่องอัตราค่าปรับและรายละเอียดต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนหากมีการบังคับใช้ โดยให้กระทรงเกษตรฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันก่อนส่งให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง

    นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่าเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าปรับนั้นเป็นจุดอ่อน แต่ 450 นั้นเป็นอัตราสูงสุด ซึ่งหมายความว่า เมื่อบังคับใช้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะไม่เก็บเงินในส่วนนี้เลยก็ได้

    นายกฤษฎายังกล่าวด้วยว่า ตนคิดว่าในครั้งแรกของการใช้นั้นอาจมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้ก่อน และยังมีความคิดว่าจะเสนอให้แยกขึ้นทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้มีสัตว์เลี้ยงทั่วไป อาจต้องกำหนดจำนวนการเลี้ยง 2.องค์กรมูลนิธิสัตว์ 3. ผู้เลี้ยงไว้เพื่อการค้า 

    อย่างไรก็ดี รมว.กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าขณะนี้กฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีผลบังคับใช้

    เรียบเรียงจาก
    เว็บไซต์ข่าวสด
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
    เฟซบุ๊ก Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์

    อัยการสั่งฟ้อง “โอ๊ค” คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย-ศาลให้ประกัน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://bit.ly/2CcIaEQ)

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลการสั่งคดีที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 กล่าวหา นางเกศินิ ผู้ต้องหาที่ 1 นางกาญจนาภา หงส์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

    สำนวนคดีดังกล่าวแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก กรณีการรับโอนเช็คจำนวน 26 ล้านบาท และการรับโอนเช็คจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งไม่สั่งฟ้องนายพานทองแท้ในกรณีการรับโอนเช็คจำนวน 26 ล้านบาท แต่ให้สั่งฟ้องในกรณีการรับโอนเช็คจำนวน 10 ล้านบาท ฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5,9 และ 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 รวมถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 ปี 2526 มาตรา 4

    ในเวลาต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีสมคบฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย-กลุ่มกฤษดามหานคร โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ภายหลังจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดพร้อมคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล

    อนึ่ง คดีนี้เป็นผลต่อเนื่องจากกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทในเครือบริษัท กฤษฎานคร จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.กฤษฎานคร เมื่อปี พ.ศ. 2546 ทั้งที่ขณะนั้น บมจ.กฤษฎานคร มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งถูกจัดอันดับความเสี่ยงอยู่ในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ จึงซึ่งกลายเป็นคดีความและนำไปสู่การพิพากษาจำคุกผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อมาก็มีการสืบสอนต่อในเรื่องของผู้ที่ได้รับการโอนเงินจากกรณีดังกล่าว ซึ่งนายพานทองแท้เป็นหนึ่งในนั้นดังที่รายงานไป

    จ่ออุ้มวินฯ ถือบัตรคนจนซื้อน้ำมันถูกลงลิตรละ 3 บาท

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ (http://bit.ly/2OTyIgg)

    วันที่ 11 ต.ค. 2561 เฟซบุ๊ก Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ปตท. ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ขับรถรับจ้างจากกรณีราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ให้สามารถซื้อน้ำมันในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายปี

    มาตรการนำร่องจะช่วยเหลือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้ซื้อน้ำมันได้ถูกลง 3 บาทต่อลิตร โดยต้องเป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2-3 แสนคน

    ข้อมูลจาก ปตท. ระบุว่า เงินที่ใช้อุดหนุนลิตรละ 3 บาทจะมาจากกองทุนน้ำมันฯ รับภาระ 2 บาท และ ปตท.รวมทั้งผู้ค้ารายอื่นรับภาระ 1 บาท

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซเอ็นจีวี ให้รถโดยสารสาธารณะและก๊าซหุงต้มให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

    รถตู้วอน “ขอขับ 110-ไม่ติดจีพีเอส”

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ (http://bit.ly/2CcJqry)

    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 9 ต.ค. 2561 ตัวแทนสมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศไทย จากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ประมาณ 100 คน เดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้แก้ไขปัญหารถตู้โดยสาร โดยมีผู้แทนจากสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับเรื่องไว้

    นายโสฬส พรหมรักษ์ ประธานสมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศไทย(ภาคเหนือ) กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ขอให้กระทรวงคมนาคมปรับพ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่ล้าสมัยไม่ทันต่อยุคสมัยในปัจจุบัน ขอยกเลิกการติดตั้งระบบจีพีเอสกับรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง เพราะส่วนใหญ่เป็นรถเพื่อการท่องเที่ยว และบริการลูกค้า ขอให้ขนส่งยกเลิกการอายัดไม่ให้ต่อภาษี กรณีขับรถเร็วเกินกำหนด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกแก้ไขการติดตั้งจีพีเอสได้ ขอขยายการบังคับใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    นายโสฬสกล่าวต่อว่า พวกตนอยากให้รัฐเร่งแก้ปัญหาด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว และจะไปยื่นข้อเรียกร้องที่รัฐสภาในลำดับต่อไป โดยจะให้เวลารัฐบาล 1 เดือนเพื่อแก้ไขปัญหา หากไม่มีคำตอบจะหารือสมาชิกเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป

    นายโสฬส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ขอให้เร่งแก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของรถตู้ทั่วประเทศ และแก้ปัญหารถตู้ที่ใช้ประกอบการขนส่งโดยสาร ในทุกหมวด 1, 2, 3, 4 และรถตู้ร่วม ขสมก. ที่หมดอายุการใช้งาน ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการอย่างมาก

    “ขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม โปรดพิจารณาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวรถตู้ทุกหมวดทั่วประเทศ รวมถึงรถนักเรียนจำนวนกว่า 2 แสนคัน ประมาณ 1 ล้านชีวิตที่ต้องดูแล ถ้าได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งหมด สมาพันธ์ฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ ตลอดไป” นายโสฬสกล่าว

    รายงานข่าวจากผู้ประกอบการกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้ในประเด็นต่างๆ เช่น ขอยืดอายุรถตู้โดยสารที่หมดอายุจาก 10 ปี เป็น 15 ปี, ขอให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (Minibus) ด้วยความสมัครใจ โดยยื่นให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) รับไปพิจารณาช่วยเหลือ ในระหว่างที่พบนายสุเทพโดยบังเอิญ ที่สวนอาหารบางบัว เขตบางเขน กรุงเทพฯ

    นายสุเทพได้เดินทางมานัดพบปะผู้นำชุมชนเขตจตุจักรประมาณ 200 กว่าคน โดยนายสุเทพรับปากที่จะไปศึกษาปัญหาของรถตู้ ภายหลังจากนายสุเทพรับหนังสือ ผู้ประกอบการรถตู้จึงหารือร่วมกันว่าจะใช้แนวทางนี้ในการเรียกร้องขอความช่วยเหลือต่อไป โดยจะขอเข้าพบผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ และยื่นหนังสือให้ช่วยเหลือ

    ระทึกจรวดส่งนักบินอวกาศไป ISS ขัดข้องกลางเวหา

    อเล็กซีย์ ออฟชินิน นักบินอวกาศรัสเซีย และนิค เฮก นักบินอวกาศสหรัฐฯ
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://bit.ly/2OTKKGA)

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 สำนักข่าวบีบีซี และสื่อในรัสเซีย รายงานเหตุระทึกเมื่อจรวดโซยุซ-เอฟจี ของยานโซยุซ เอ็มเอส-10 ที่กำลังนำ 2 นักบินอวกาศ นายอเล็กซีย์ ออฟชินิน นักบินอวกาศรัสเซีย และนิค เฮก นักบินอวกาศสหรัฐฯ ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เกิดขัดข้องหลังถูกยิงขึ้นจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์คอสโมโดรม ในคาซัคสถาน เพียงแค่ประมาณ 119 วินาที เท่านั้น และโชคดีที่นักบินอวกาศทั้งสองสามารถนำยานโซยุซกลับมาลงจอดฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย

    องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) และสำนักงานอวกาศรัสเซีย รายงานว่า นักบินอวกาศทั้งสองไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด เมื่อยานโซยุซ MS-10 ต้องลงจอดฉุกเฉินใกล้กับเมือง Zhezkagan ทางภาคกลางของประเทศคาซัคสถาน หลังจากจรวดนำส่งยานเกิดขัดข้องกลางอากาศ ไม่ถึง 2 นาที หลังถูกยิงขึ้นจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์คอสโมโดรม เมื่อเวลา 14.40 น.ของวันที่ 11 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น และตามกำหนดเวลาจะใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึง และนักบินทั้งสองจะอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทำงานทดลองวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นเวลา 6 เดือน