ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ จี้คลังชง “บัตรคนจน” เข้า ครม. ก่อนโอนเงิน 1 มี.ค. นี้-มติ ครม. บังคับใช้ พ.ร.ก.ปราบโกงออนไลน์-บัญชีม้า

นายกฯ จี้คลังชง “บัตรคนจน” เข้า ครม. ก่อนโอนเงิน 1 มี.ค. นี้-มติ ครม. บังคับใช้ พ.ร.ก.ปราบโกงออนไลน์-บัญชีม้า

14 กุมภาพันธ์ 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯส่ง “โบอิ้ง 740” พร้อมสิ่งของพระราชทาน ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกี
  • จี้คลังชง “บัตรคนจน” เข้า ครม. ก่อนโอนเงิน 1 มี.ค. นี้
  • อวยพรวันวาเลนไทน์ “ใครไม่มีแฟน ขอให้มีแฟนทุกคน”
  • มติ ครม. เตรียมใช้ พ.ร.ก.ปราบโกงออนไลน์ เปิด “บัญชีม้า” จำคุก 3 ปี
  • ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตลาดทุน-สินทรัพย์ดิจิทัล 4 ฉบับ
  • เก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 150 – 300 บาท
  • ปิดกองทุน “BSF” หลังตลาดตราสารหนี้เข้าสู่ภาวะปกติ
  • เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.

    ส่ง “โบอิ้ง 740” พร้อมสิ่งของพระราชทาน ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกี

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีว่า รัฐบาลได้ให้ความร่วมมือโดยมอบเงินช่วยเหลือก้อนแรก โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จัดเตรียมชุดช่วยเหลือพร้อมสุนัข 2 ตัว ในการค้นหาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ รัฐบาลทราบว่าประเทศไทยได้คำชื่นชมจากต่างประเทศและคณะทำงานจากประเทศอื่นๆ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไปช่วยเหลืออีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเต็นท์และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ และจะมีกำหนดการเดินทางไปในวันพรุ่งนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) โดยวันนี้กระทรวงกลาโหมได้จัดเตรียมอากาศยานเครื่องบินโบอิ้ง 740 เพื่อบินตรงไปประเทศตุรกีเพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขากลับจากประเทศตุรกี เครื่องบินจะรับผู้อยู่อาศัยที่ตุรกีกลับมาประเทศไทยรวม 23 คน อีกทั้งนำศพผู้เสียชีวิตกลับมาด้วย

    “การที่ไปเท่ากับเราได้ฝึกในสถานการณ์ที่แตกต่างจากบ้านเรา อาทิ อากาศที่หนาวเย็นศูนย์องศา ลบสอง ลบสาม ลบสี่องศา ขอชื่นชมกำลังพลทุกคนที่ได้แสดงความอดทน-ขีดความสามารถในการทำงาน รวมถึงชื่นชมสุนัขทั้ง 2 ตัวที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมเกียรติและเป็นที่น่าภูมิใจของคนไทยทุกคน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    จี้คลังชง “บัตรคนจน” เข้า ครม. ก่อนโอนเงิน 1 มี.ค.นี้

    พลเอกประยุทธ์ รายงานว่า วันนี้ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการนำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้า ครม. เพื่อให้ ครม. อนุมัติและเตรียมพร้อมโอนเงินในวันที่ 1 มีนาคม 2566

    พลเอกประยุทธ์ เสริมว่า รัฐบาลจะไม่เปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากมีกฎหมายภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ข้อมูลผู้มีสิทธิเป็นข้อมูลลับ และได้เข้มงวดว่าไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผู้มีสิทธิ และจะไม่มีการประกาศรายชื่อในสาธารณะ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปตรวจสอบชื่อของตัวเองได้

    เผยโกงออนไลน์กว่า 800 คดี/วัน – คลังยันไม่มีนโยบายส่ง จนท.ติดต่อผู้เสียภาษี

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงประเด็นมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนทางออนไลน์ว่า “การโอนเงิน หรือดูดเงินผ่านบัญชีธนาคารตามสื่อโซเชียล ทั้งเอสเอ็มเอส โทรศัพท์ อีเมล แอปฯ สร้างความเสียหายให้ประชาชนจำนวนมาก และระบาดหนัก มิจฉาชีพจะใช้วิธีอ้างหรือปลอมตัวในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างแนบเนียนให้ประชาชนหลงเชื่อ”

    “กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต จะถูกแอบอ้างมาก ก็ได้มีกาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ขอฝากสื่อทุกคนช่วยประชาสัมพันธ์ไปด้วย ขณะนี้ยังมีการระบาดหนัก ทั้งนี้กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อ และคืนภาษีผ่านไลน์หรือระบบอื่นๆ ทั้งสิ้น” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    พลเอกประยุทธ์ ให้ข้อมูลสถิติ 10 เดือนแรกของปี 2565 จากกระทรวงดิจิทัลฯ ว่า ในประเทศไทยมีคดีออนไลน์วันละกว่า 800 คดี มันจำเป็นต้องทำกฎหมาย โดยเมื่อการประชุม ครม. สัปดาห์ที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์ 2566) ได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียลริตี้ (Cyber Security) และเมื่อประกาศใช้แล้วจะช่วยแก้ปัญหาหลอกลวง และใช้อำนาจตำรวจไซเบอร์ในการจับกุมผู้กระทำความผิด และสามารถทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอื่นได้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้

    ผ่านร่าง พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ จนท.จับเจ้าของ “บัญชีม้า”

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลกำลังร่าง พ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ และ กสทช. ส่งข้อความเตือนประชาชนผ่านเอสเอ็มเอสค่ายมือถือทุกค่ายเพื่อประชาสัมพันธ์โดยตรง

    นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ผู้เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเอง หรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง ที่เรียกว่าบัญชีม้า ให้มีความผิดทุกประการ ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายคดีอาญา

    “จำไว้เลยว่าถ้าไม่รู้จักเบอร์ ไม่ได้ขึ้นชื่อไว้อย่าไปรับ ส่วนใหญ่เผลอไปรับ คุยไปคุยมาก็ถูกดูดข้อมูลไปหมด ขอเตือนให้ระมัดระวังไว้ด้วย” พลเอกประยุทธ์ กล่าวว

    ย้ำแนวทางการทำงานรัฐบาล

    พลเอกประยุทธ์ ยังย้ำถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลว่า “กระทรวงร่วมมือกันเสนอแนวปฏิบัติและแผนงานโครงการให้นายกฯ อนุมัตินำเข้าสู่ ครม. รับฟังข้อสังเกต และนำไปสู่การปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณ ระบบการทำงานเป็นแบบนี้ ในการบริหารสถานการณ์แผ่นดินเป็นแบบนี้”

    อวยพรวันวาเลนไทน์ “ใครไม่มีแฟน ขอให้มีแฟนทุกคน”

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่ในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ว่า “ผมบอกแล้วว่าผมรักทุกคน รักทุกวัน วันวาเลนไทน์ถือเป็นวันสำคัญ จริงๆ เป็นของต่างประเทศ วันนี้เป็นของไทยไปด้วยแล้ว ก็ยินดี ใครที่ยังไม่มีแฟน ก็ขอให้มีแฟนทุกคน ใครยังไม่แต่งงานก็ขอให้แต่งงานทุกคน ถ้าพยายามมาหลายปียังไม่สำเร็จก็พยายามต่อไป ขอให้มีความสำเร็จ

    “นายกฯ มอบดอกไม้ในดวงใจให้ทุกคน นายกฯ ไม่มีอะไรกับใครทั้งสิ้น นายกฯ มีแต่ความปรารถนาดีกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ว่าชอบไม่ชอบ ไม่ชอบนายกฯ ก็ไม่เคยโกรธ บางเวลาก็มีอารมณ์บ้าง เพราะเราคนไทยด้วยกันไม่ใช่หรืิอ เราควรจะมอบความรักความปรารถนาดีให้กัน สนับสนุนกำลังใจให้กันและกัน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ย้ำใครมีปัญหา-ไม่ได้รับความเป็นธรรม แจ้งสำนักนายกฯ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวอีกว่า “มีข้อบกพร่อง มีปัญหาอะไรต่างๆ ก็ตาม ถามมาก็ตอบ ผมเป็นคนพูดความจริง ผมก็ตอบยืนยันในส่วนที่ตอบได้ไป บางเรื่องอยู่ในกระบวนการก็ไปว่ากันในกระบวนการ การจะกล่าวอ้างว่าใครผิดหรือถูก ตามระบบมันต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม จะว่าใครก็เป็นสิทธิของท่าน อย่าเก็บวุ่นวายกับเรื่องฟ้องร้องอะไรมากมาย”

    “ขอให้ระลึกไว้ด้วยว่าการพูดให้ร้ายคนมันสนองตัวเองเหมือนกัน กรรมไม่ดีนะ เราเป็นศาสนาพุทธ มีมุสลิม อิสลามด้วย อิสลามเหมือนกันใช่ไหม ทุกศาสนาสนับสนุนให้คนเป็นคนดีหมด เราต้องรักกันให้มาก ไม่ใช่รักกันเฉพาะวันวาเลนไทน์ รักกันทั้งปี ทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งเดือน รักทั้งชีวิต ถ้าเราไม่รักกันแผ่นดินก็จะสงบ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    พลเอกประยุทธ์ บอกว่า ความรักทำให้เกิดความร่วมมือ การจะแก้ไขปัญหาได้ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีอะไรต้องถามหลักการและเหตุผลก่อน

    “จะเห็นว่าในวันนี้หลายเรื่องมีหลักฐานที่ประเดประดังเข้ามา ผมก็สั่งการหมด ข้อสำคัญคือมีทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าผู้ให้ไม่ให้ ก็ฟ้องแจ้งความ ไม่ต้องไปกลัวเขา ฟ้องใครไม่ได้ ก็ฟ้องนายกฯ นี่ เดี๋ยวตอบให้ จริงๆ แล้วมันมีขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว ร้องทุกข์ กล่าวโทษ แจ้งความ ถ้าคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แจ้งมาที่สำนักนายกฯ ผมจะสั่งติดตามให้เพื่อหาหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมาย ใครจะผิดหรือถูก ศาลเป็นผู้ตัดสิน นั่นคือหลักการกระบวนการยุติธรรม ไม่งั้นประเทศชาติอยู่กันไม่ได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    เผยผลหารือ “อันวาร์” ตั้งเป้าดันยอดการค้าไทย-มาเลฯ 9.6 แสนล้านในปี’68

    ด้านนายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และพูดคุยกันหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าบรรลุการค้าระหว่างการถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 960,000 ล้านบาทภายในปี 2568 รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ร่วมกัน ส่งเสริมการลงทุนระยะยาว และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพและความร่วมมือในภูมิภาค

    นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำข้อหารือไปครั้งนี้ไปสานต่อความร่วมมือและทำงานร่วมกันต่อไป

    มอบเกษตร – พาณิชย์ หนุนเกษตรกรปลูกพืชมูลค่าสูง

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายกฯ มีภารกิจไปร่วมงานเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก และมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งตามนโยบายรัฐบาล โดยเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินระดับครัวเรือน สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและยุติธรรม

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะมุ่งเน้นพืชผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการลดการผลิต พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการให้ภารกิจประสบผลสำเร็จ

    กำชับคณะรัฐมนตรีทำงานเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลือ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า เนื่องในวาเลนไทน์ปีนี้ นายกฯ นำความปรารถนาดีมาถึงทุกคน และขอให้ ครม. ร่วมกันทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลือ เพราะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

    “หลังจากนี้จะมีเรื่องกฎระเบียบเข้ามา อะไรสามารถเร่งดำเนินการได้ขอให้เร่ง และท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งหรือกระทบกระทั่งกัน และการให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงานเป็นสิ่งที่นายกฯ ยึดมาตลอด ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความเข้าใจต่อเนื่องกันจนกว่าจะจบ” นายอนุชา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    มอบ พณ.ทำ FTA “ไทย – EU” คาดดัน ศก.โต 1.28%

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป และกรอบการเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรป โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมประกาศหรือออกแถลงการณ์เปิดการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – สหภาพยุโรป โดยเป็นการใช้หลักการเดียวกับการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย – สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และกรอบเจรจา FTA อาเซียน – แคนาดา ที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบ

    ร่างกรอบการเจรจาฯ มีเนื้อหาครอบคลุม 20 หัวข้อ เช่น การค้าสินค้า การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์/การค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ประโยชน์ ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อม ระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

    สำหรับประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่า ไทยจะได้รับจาก FTA ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย ในกลุ่มประเทศสมาชิก สหภาพยุโรป ช่วยปรับโครงสร้างภาคการผลิต และบริการของไทยไปสู่การผลิต และบริการใหม่ที่มีศักยภาพ ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA ไทย – สหภาพยุโรป เป็นผลความสำเร็จที่สืบเนื่องจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 ที่ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อเปิดการเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการได้โดยเร็วที่สุด และยังเป็นนโยบายสำคัญ เนื่องจากสหภาพยุโรปถือเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศที่มีศักยภาพ มีประชากรเกือบ 500 ล้านคน มี GDP อยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของไทย ซึ่งผลการวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การจัดทำ FTA จะทำให้ GDP ของไทย ขยายตัวร้อยละ 1.28 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 รวมทั้งทำให้การกระจายรายได้ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ

    จัดงบฯ 3,786 ล้าน ซ่อมถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม 32 จว.

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางวงเงิน 3,786.55 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 2,654.83 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 1,131.72 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และภัยพิบัติ ใน 32 จังหวัด ซึ่งได้รับความเสียหายจากอิทธิพลจากพายุและพายุโซนร้อน ตั้งแต่สิงหาคม -พฤศจิกายน 2565 เช่น มู่หลาน หมาอ๊อน โนรูและเนสาท ที่ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางและส่งผลกระทบต่อ การคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์

    แผนงานบูรณะ / ซ่อมแซม เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2566 ของกรมทางหลวง วงเงิน 2,654.83 ล้านบาท ประกอบด้วยประเภทกิจกรรม ดังนี้ สะพานขาด/สะพานชำรุด จำนวน 8 รายการ วงเงิน 91.50 ล้านบาท ดินสไลด์/คั่นทางสไลด์ จำนวน 30 โครงการ วงเงิน 766 ล้านบาท อาคารระบายน้ำชำรุดเสียหาย จำนวน 12 รายการ วงเงิน 182.4 ล้านบาท และโครงสร้างทางชำรุดเสียหาย จำนวน 67 โครงการ วงเงิน 1,614.93 ล้านบาท

    แผนงานบูรณะ/ซ่อมแซมเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2566 ของกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 1,131.72 ล้านบาท ประกอบด้วยประเภทกิจกรรม ดังนี้ ซ่อมแซมฟื้นฟูระบบระบายน้ำที่ชำรุด จำนวน 7 รายการ วงเงิน 191.50 ล้านบาท ซ่อมแซมการกัดเซาะ/สไลด์ของสายทาง จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 163.85 ล้านบาท และซ่อมแซมโครงสร้างทางจากอุทกภัย จำนวน 38 รายการ วงเงิน 776.37 ล้านบาท

    เลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เฉพาะ ม. 22 – 25 ให้มีผล 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566) สำหรับมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้

      มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
      มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
      มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และ
      มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาบังใช้มาตรา 22 – 25 เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ 1.การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และ 2.การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้

    เตรียมบังคับใช้ พ.ร.ก.ปราบโกงออนไลน์ เปิด “บัญชีม้า” จำคุก 3 ปี

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อ 24 มกราคม 2566 อนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. และให้ส่งร่างพระราชกำหนดดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการหรือที่เรียกว่า “บัญชีม้า” ซึ่งปัจจุบันมีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 2 แสนคดี

    วันนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจร่างพระราชกำหนดเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอ ครม. พิจารณา ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญยังคงเดิม โดยมีกลไกหลักสำคัญในการอายัดบัญชีและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือบัญชีม้า คือ

    การแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นข้อมูลจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการที่เก็บข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือธุรกรรม รวมถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัยนั้น ผ่านระบบกลางหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน

    การตรวจสอบข้อมูล กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

    นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญ อาทิ 1) กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบ ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินในหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ โดยระงับธุรกรรมนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง 2) กรณีกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการทำธุรกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีและแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย มาตรา 9 ผู้ใดเปิด หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมีได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้ หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    “ประชาชนสามารถร้องทุกข์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือร้องทุกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และขอย้ำว่า ผู้ใดที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ขอให้ปิดบัญชีและหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะรัฐบาลเอาจริงในการจับกุมผู้กระทำความผิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ดร.รัชดา กล่าวย้ำ

    ขยายความร่วมมือทาง ศก.-การลงทุน “EEC – กวางตุ้ง”

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่างพิธีสาร แก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง เพื่อขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ที่มีระยะเวลาบังคับใช้ 3 ปี คือระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 62 – 21 ตุลาคม 65 ออกไปจนกว่าจะมีการประชุมระดับสูงไทย – มณฑลกวางตุ้งครั้งที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อให้สามารถดำเนินการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดพิธีลงนามผ่านระบบออนไลน์ภายหลังจากที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ในการประชุมระดับสูงไทย – มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันจัดทำและรับรองบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฯ ฉบับใหม่ ในช่วงการประชุมดังกล่าวด้วย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกพอ. และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ดำเนินการตามกรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อาทิเช่น

      1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยร่วมผลักดันให้บริษัท BYD Auto นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามายังไทย และลงทุนโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบยานยนต์แบตเตอรี่ (Electronic Vehicles: EV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug – In Hybrid Electric Vehicle : PHEV) ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังอาเซียนและยุโรป

      2. อุตสาหกรรมการแพทย์ มีบริษัทชั้นนำด้านจีโนมิกส์ของมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า ได้แก่ บริษัท BGI Genomics เข้าร่วมลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์จีโนมิกส์กับหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษา ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในการรองรับบริการการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย

    “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง สกพอ. กับมณฑลกวางตุ้ง เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area : GBA) ความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และในอนาคตจะเพิ่มเติมการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transportation) อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในไทยให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาสัดส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) ให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมวิจัยพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านร่าง กม.ขยายบทบาท – ภารกิจ “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ”

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ เพื่อปรับปรุงให้การดำเนินภารกิจของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการต่อยอดงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เกิดความคล่องตัว และส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 สรุปได้ดังนี้
    1. ด้านวัตถุประสงค์ มีการเพิ่มเติม 2 ข้อ คือ

      1.1 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม
      1.2 ดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนการลงทุน ร่วมลงทุนกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำผลงานการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปประกอบกิจการให้เกิดรายได้ในเชิงพาณิชย์

    2. ด้านอำนาจหน้าที่ มีการเพิ่มเติม 5 ข้อ คือ

      2.1 การขาย จ้าง รับจ้าง อนุญาต จำหน่าย หรือทำนิติกรรมใดๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของสถาบันวิจัยฯ ตลอดจนมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งแก้ไขเกี่ยวกับกรณีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
      2.2 การรับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ดอกผลของเงิน ค่าสิทธิประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา รายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดที่ได้จากการดำเนินกิจการภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบันวิจัยฯ
      2.3 การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วน และการร่วมลงทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ รวมทั้งแก้ไขเกี่ยวกับการกู้/ให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วน การลงทุน หรือการร่วมลงทุน จำนวนเงินเกินคราวละ 20 ล้านบาทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
      2.4 การออกพันธบัตรหรือตราสาร เพื่อใช้ในการดำเนินการในกิจการของสถาบันวิจัยฯ โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
      2.5 การจัดตั้งหรือร่วมจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อนำผลงานการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประกอบกิจการใช้ให้เกิดรายได้ในเชิงพาณิชย์ และเพิ่มแหล่งรายได้ของสถาบันวิจัยฯ เกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ดอกผลของเงิน ค่าสิทธิประโยชน์ รายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่สถาบันวิจัยฯ ได้รับ

    “ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยฯ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ภายในสถาบันวิจัยฯ แล้ว และ ครม. รับทราบที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ ที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยประกอบด้วย ข้อบังคับสถาบันวิจัยฯ 4 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการลงทุน หรือร่วมลงทุนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ครม. มีความเห็นให้สถาบันวิจัยฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นไปตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ตั้งศูนย์ “OKMD” เชื่อมโยงเอกลักษณ์วิถีไทย – วัฒนธรรมในพื้นที่

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD : OKMD National Knowledge Center (Ratchadamnoen Center 1 และ 2) ในบริเวณพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) เสนอ สำหรับเป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ OKMD จะเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่และเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างผู้คนในสังคมที่มีความชอบและความสนใจที่หลากหลาย เป็นพื้นที่การเรียนรู้แห่งอนาคตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกระตุ้นให้เกิดการค้นพบศักยภาพของตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ทันสมัยและหลากหลาย และจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นำเสนอความรู้และทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลกและทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 9 เดือน ตั้งแต่ปี 2567-2569 งบประมาณ 970 ล้านบาท

    ศูนย์การเรียนรู้ OKMD ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง

    ศูนย์การเรียนรู้ OKMD ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง โดยขอเช่าพื้นที่ว่างจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลังติดกัน พื้นที่รวม 6 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 20,000 ตร.ม. แบ่งเป็น 2 อาคาร คือ

      1. อาคาร Ratchadamnoen Center 1 (เดิมเป็นที่ทำการ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ขนาด 5 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 16,000 ตร.ม. จัดเป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ 1.พื้นที่ห้องสมุดมีชีวิต เพื่อเป็นพื้นที่ ส่งเสริมการอ่าน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังอุปนิสัยรักการเรียนรู้ 2.พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ประกอบด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่ปฏิบัติการทางนวัตกรรม พื้นที่ปฏิบัติการด้านงานฝีมือพื้นที่ปฏิบัติการด้านสื่อ และพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับเด็ก และ 3. พื้นที่แสดงออก เป็นพื้นที่ส่งเสริมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วยหอประชุมอเนกประสงค์ พื้นที่จัดนิทรรศการ และพื้นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะย้ายพื้นที่ TK park จากชั้น 8 เซ็นทรัลเวิล์ดมารวมไว้ในอาคารนี้

      2. อาคาร Ratchadamnoen Center 2 ขนาด 1 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 4,000 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการและผลงานหลากหลายสาขา โดยจะย้ายสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จากอาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มารวมไว้ในอาคารนี้

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ร่วมกับแหล่งเรียนรู้เครือข่ายย่ายราชดำเนิน ได้แก่ หนังสือเดินทางสร้างความรู้ วันเดียวเที่ยวแหล่งเรียนรู้โดยทำเป็นเส้นทางนำชมแหล่งเรียนรู้ใน 1 วัน ตามความสนใจของผู้เข้าชม และจะมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในละแวกถนนราชดำเนินที่สื่อถึงเอกลักษณ์ ความร่วมมือและความผูกพันของคนในชุมชนที่มีต่อย่านราชดำเนิน แสดงถึงวิถีชีวิต เอกลักษณ์ ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนดั้งเดิม ได้แก่ กิจกรรมถนนข้าวสารอ่านหนังสือ (Book Street) กินดีอยู่ดีบางลำพู (Street Food) ยามเย็นเดินเล่นคลองหลอด เทศกาลงานศิลปะชุมชน งานส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเศรษฐกิจชุมชน

    “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าในการส่งเสริมการเรียนรู้สาธารณะเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน พัฒนาและให้บริการต้นแบบแหล่งเรียนรู้สมัยใหม่เพื่อเป็นพื้นที่เสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ของคนไทยให้ก้าวทันโลก และต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย สำหรับศูนย์การเรียนรู้ OKMD สามารถสอดคล้องกับชุมชนดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีการออกแบบภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมภายนอกอาคารบริเวณด้านหลังอาคารให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ย่านชุมชนเก่าที่สามารถเอื้อต่อการเดินเข้าถึงด้วย และให้มีพื้นที่ภายนอกอาคารแสดงนิทรรศการเป็นการถาวร เพื่อให้ความรู้ และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในพื้นที่และข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดี เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ และยังจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ราชดำเนินด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    รับทราบผลประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

    การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร. เพื่อเป็นเวทีสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในทุกระดับและทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก” เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาระดับชาติ ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนาและเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
      2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้เน้นย้ำการมุ่งยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและมุ่งแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
      3. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “TCAC: Road to COP27 and Beyond” และ “จากนโยบายสู่ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แปลงเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่นโยบายและแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เช่น แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      4. ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส และสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      5. ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจตอบรับต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศและพร้อมสนับสนุนภาครัฐ โดยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการเสวนาเชิงวิชาการในประเด็นต่างๆ เช่น 1. เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนไทย ไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 2. ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไทยร่วมดำเนินการกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทานาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NANA) 3. ป่าไม้และการกักเก็บคาร์บอน 4. เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ 5. การบริการข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในภาคเมือง 6. พลังงานและการขนส่งที่ยั่งยืนผ่านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนพลังงานชาติ และ 7. ตลาดคาร์บอนเครดิต

    “ผลลัพธ์สำคัญของการจัดประชุมนี้ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานต่อการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การขับเคลื่อนนโยบายในระดับพื้นที่ 2. เทคโนโลยีที่เป็นมิตร เช่น การปลูกข้าวมีเทนต่ำ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ยานยนต์ไฟฟ้า 3. กลไกการเงินผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และ 4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เปิดสถานกงสุลฯสมาพันธรัฐสวิสในชลบุรี

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้สมาพันธรัฐสวิสเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงาน ด้านการให้บริการกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย และอำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านกงสุลแก่ชาวสวิสและครอบครัวที่พำนักใน จ. ชลบุรีและบริเวรณใกล้เคียง รวมทั้งจะเป็นกลไกพัฒนาความสัมพันธ์ระดับประชาชนและความร่วมมือระหว่างไทยและสวิสในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม ซึ่งสวิสมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพที่อาจช่วยพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานท้องถิ่นได้

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การพิจารณาเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์และการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี เป็นไปตามหลักต่างตอบแทน โดยที่ประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เป็นสำนักงานทางการทูตในสมาพันธรัฐสวิสและมีการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในสวิส 3 แห่ง ณ เมืองบาเซิล นครซูริก และนครเจนีวา ดังนั้นสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี จะเป็นแห่งที่ 3 ในประเทศไทศไทย โดยมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดเชียงใหม่ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดภูเก็ต เป็นแห่งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

    “สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 489/9 หมู่ 12 ถนนหาดจอมเทียน ซอย 5 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีเขตกงสุลครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และสำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดชลบุรี ได้แต่งตั้งนางเอ็สเทอร์ เคาฟ์มันน์ (Mrs. Esther Kaufmann) ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตลาดทุน-สินทรัพย์ดิจิทัล 4 ฉบับ

    นางสาวทิพานัน ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการ 1.ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉ. ..) พ.ศ. …. 2.ร่าง พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉ. ..) พ.ศ. …. 3.ร่าง พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉ. ..) พ.ศ. …. และ 4.ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พ.ศ. … และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดทุน สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มและในรูปแบบของการเสวนา และผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรากฎหมายดังกล่าวไปเปิดเผยต่อประชาชนด้วยแล้ว ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายนี้มี 6 ข้อ คือ

    1. ส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัล โดยเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน การออกและส่งมอบหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการออกเสนอขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินการในภาคตลาดทุนสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบถ้วน ทั้งระบบ และมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม

    2. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่และการเปิดเผยงบการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การกำกับดูแลบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนในตลาดทุนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดต้นทุนหรือภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินควร

    3. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การจัดตั้ง ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ รวมถึงเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ฝากหลักทรัพย์ที่ฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และเพิ่มความยืดหยุ่น ในการกำกับดูแลสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์

    4. เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการระดมทุน สำนักงานสอบบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพ ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เช่น เพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม หุ้นกู้ การเข้าถือหลักทรัพย์ เพื่อครอบงำกิจการ การกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีกับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน การให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจดข้อจำกัดการโอนและกำหนดแนวทางการรายงานผลการเสนอขายหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น เพื่อลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือการกำกับดูแล ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน

    5. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิด บางประเภท การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวน และเพิ่มบทบัญญัติ ในเรื่องโทษปรับเป็นพินัยเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้บุคคลที่จะให้ข้อมูลเบาะแสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภท ได้รับความคุ้มครองในแนวทางเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการสนับสนุนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

    6. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้สอดคล้องกัน รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเพื่อความชัดเจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยประกันสังคม

    “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 4 ฉบับดังกล่าวในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุนและยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม 2. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล 3. เพิ่มค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ การประกอบวิชาชีพ หรือการให้บริการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4. เพิ่มบทบัญญัติโทษปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดทางพินัย ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 5. เพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 6. เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ขยายเวลาลดเงินนำส่งกองทุนแบงก์รัฐเหลือ 0.125% อีก 1 ปี

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยปรับลดเงินนำส่งเหลือร้อยละ 0.125 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนโดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ธ.ค. 66 และให้กลับไปใช้อัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับการนำส่งตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้ส่งผลต่อลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มฐานราก ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ประกอบกับขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของประชาชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้

    ดังนั้น เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนได้ต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาสถาบันการเงินของธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่งออกไปอีก 1 ปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจนี้ เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมาตรา 15 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบกำหนดอัตราที่ร้อยละ 0.25ต่อปี โดยบังคับมาตั้งแต่ปี 60

    อย่างไรก็ตาม ครม. ได้เห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราเงินนำส่งเหลือกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 0.125 ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2563-65 เพื่อลดภาระสถาบันการเงินเฉพาะกิจและให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19

    ปิดกองทุน “BSF” หลังตลาดตราสารหนี้เข้าสู่ภาวะปกติ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบวิธีและขั้นตอนยุติการดำเนินการของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund) (กองทุน BSF) และให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    สำหรับขั้นตอนและวิธียุติการดำเนินการของกองทุน BSF ประกอบด้วย 1) ให้ ธปท. ขายคืนหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ทั้งหมด (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 65 BSF มีสินทรัพย์สุทธิ 1,002.63 ล้านบาท) 2) ให้ยุติการดำเนินการของกองทุน BSF ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ครม. เห็นชอบ 3) ให้มีการวินิจฉัยผลกำไรหรือความเสียหายของกองทุน BSF ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่คณะกรรรมการพิจารณาผลการกำหนดและให้รายงานต่อ ธปท.และกระทรวงการคลัง โดยหากมีกำไรเกิดขึ้นให้ ธปท. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากเกิดความเสียหายให้กระทรวงการคลังชดเชยแก่ ธปท. ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท (เป็นไปตามมาตรา 20 และ 21 พ.ร.ก.กำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563) และ 4) ให้กองทุน BSF ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันยุติการดำเนินการของกองทุน หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาชำระบัญชีเกินกว่า 90 วัน ให้ขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กองทุน BSF จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่มีพื้นฐานดี แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวอันเนื่องมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้เอกชนในช่วงมีการแพร่ระบาด ทำให้ตลาดกลับมาทำงานปกติได้ในระยะอันสั้น

    ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินการที่ผ่านมา BSF ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้รายใด เนื่องจากไม่มีบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ขอความช่วยหลือจากกองทุน ทำให้ต่อมาคณะกรรมการกองทุน BSF จึงเห็นชอบให้ยุติการเปิดรับขอความช่วยเหลือมายังกองทุน BSF หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ยุติการดำเนินงานของกองทุน BSF โดยมีเหตุผลดังนี้

    1) ภาวะตลาดตราสารหนี้เอกชนทำงานได้เป็นปกติแล้ว ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามจำนวนที่เสนอขาย มีหุ้นกู้ออกใหม่มากกว่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าโอกาสที่ตราสารหนี้เอกชนจะประสบปัญหาสภาพคล่องมีลดลง

    2) คุณภาพหุ้นกู้ในตลาดปรับตัวดีขึ้นในปี 65 สะท้อนจากบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลดลงเมื่อเทียบกับปี 63-64 นอกจากนี้ ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย อีกทั้งหุ้นกู้เสี่ยงที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF มีลดลงเหลือ 16,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีหุ้นกู้เสี่ยงในกลุ่ม BBB- ที่มีโอกาสขอรับความช่วยเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมในระยะต่อไป โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้โดยหลักเป็นปัจจัยภายนอก เช่น การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งโดยรวมแล้วไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นการแพร่ระบาดโควิด19 ในปี 63

    3) การแพร่ระบาดของโควิด19 มีความรุนแรงลดลงต่อเนื่อง โดยภาครัฐได้ประกาศลดระดับความรุนแรงจากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 65 พร้อมกับผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึง การเสียชีวิตไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญและไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกิดความเสี่ยงเชิงระบบในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

    รับทราบ MOU ด้านการบิน “ไทย-ซาอุฯ”

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย (เนื้อหาเหมือนกับบันทึกความเข้าใจฯ) และมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลบังคับของบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป

    สำหรับบันทึกความเข้าใจฯ นี้เกิดขึ้นจากที่คณะผู้แทนไทยและซาอุดีอาระเบีย ได้มีการประชุมเจราจาเพื่อปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างกัน เมื่อเดือน ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศได้มีมิตรับทราบผลการเจรจาดังกล่าว โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 2 ฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกัน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า บันทึกวามเข้าใจฯ และหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต มีเนื้อหาครอบคลุม ประเด็นพิกัดเส้นทางการบินระหว่าง 2 ฝ่าย จากแบบกำหนดจุดเป็นพิกัดเส้นทางบินแบบเปิด, ความจุ ความถี่ กำหนดเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร จากเดิมฝ่ายละ 9 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เฉพาะเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร เป็น ฝ่ายละไม่เกิน 42 เที่ยวบิน/สัปดาห์สำหรับเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร และไม่จำกัดจำนวนเที่ยวสำหรับเที่ยวบินขนส่งสินค้า, การทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ซึ่งสายการบินของทั้งสองฝ่ายจะทำการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เดินอากาศ โดยต้องไม่กระทบต่อการทำการบินแบบประจำ

    นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฯ ยังครอบคลุมถึงกรณีทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code-Sharing) โดยสายการบินที่ทั้ง2ฝ่ายกำหนด จะมีสิทธิทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศคู่ภาคีทั้งสิ้นทางระหว่างประเทศและเส้นทางภายในประเทศ รวมถึงสามารถใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินประเทศเดียวกันและร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม, การใช้อากาศยานเช่า โดยสายการบินของแต่ละฝ่ายอาจเช่าอากาศยาน [หรืออากาศยานพร้อมลูกเรือ (wet lease) ] จากบริษัทหรือสายการบินใดๆ เพื่อทำการบินได้,การกำหนดสายการบิน ที่ทั้งสองฝ่ายสามารถแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้หลายสาย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาเพื่อปรับปรุงสิทธิการบินระหว่าง 2 ประเทศ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำการบินของสายการบินทั้ง 2 ฝ่าย มีความคล่องตัว เพิ่มความยืดหยุ่นในการวางแผนการตลาดให้การบริการเกิดความคุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกแก่ผู้โดยสารด้วย นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าและการบริการระหว่าง 2ประเทศให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ และยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งระดับรัฐบาลและระดับธุรกิจของ 2 ประเทศด้วย

    อนุมัติ “วิทยุการบินฯ” ลงทุนหอการบิน “อู่ตะเภา” 1,256 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติ อนุมัติการดำเนินโครงการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด วงเงินลงทุน 1,256 ล้านบาท พร้อมกับอนุมัติการจัดหาแหล่งเงินลงทุนสำหรับโครงการจากเงินกู้ระยะยาววงเงิน 1,256 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันวงเงินกู้ และให้กระทรวงคมนาคมรับข้อคิดเห็นของหน่วยงานเกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

    สำหรับการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานภายในปี 2568 และให้สอดคล้องตามกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นสนามบินหลักหลักแห่งที่ 3 ของ กรุงเทพฯ โดยกระทรวงคมนาคมได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศอยู่ที่ 241,100 เที่ยวบิน ในปี 2591 โดย บวท. จะให้บริการ 4 ด้าน ประกอบด้วย การบริการจัดการจราจรทางอากาศ, บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน, บริการข่าวสารการบิน และ บริการออกแบบวิธีปฏิบัติการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ขอบเขตการดำเนินโครงการจะประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านก่อสร้าง ประกอบด้วยหอควบคุมการจราจรทางอากาศและพ้นที่สนับสนุน ความสูงประมาณ 59 เมตร, อาคารสำหรับติดตั้งระบบ/อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินอาหาร ประกอบด้วยอาคาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาคารระบบวิทยุสื่อสาร (Communication) อาคารระบบช่วยการเดินอากาศ (Navigation) และอาคาระบบติดตามอากาศยาน (Surveillance)

    2) ด้านการจัดหาและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ประกอบด้วย ระบบบการสื่อสาร (Communication System) ระบบติดตามอากาศยาน (Surveillance System) ระบบจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management System :ATMS) และระบบสนับสนุนอื่นๆ

    3) ด้านบุคลากร ประกอบด้วยการสรรหาบุคลากรและพัฒนาบุคลากร ประกอบด้วยพนักงานประจำ 79 อัตรา เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศบริเวณสนามบิน, เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเขตประชิดสนามบินกรุงเทพ และวิศวกร พนักงานชั่วคราว (Outsource) 30 อัตรา ซึ่งจะปฏิบัติงานในส่วนสนับสนุน เช่น ไฟฟ้า โยธา แม่บ้าน รักษาความปลอดภัย

    4) การเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ เช่น การกำหนดขั้นตอนและแนวทางวิธีปฏิบัติ, การอบรมใช้อุกรณ์ และอบรวมทำความคุ้นเคยแนวทางวิธีปฏิบัติ และการดำเนินการด้านระบบการจัดการด้านนิรภัย

    ทั้งนี้ บวท. ได้ประเมินผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 4.26 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 56.96 นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ การสร้างโอกาสในการจ้างงาน การท่องเที่ยว และเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มความปลอดภัยทางการบินในพื้นที่ เพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินในบริเวณกรุงเทพฯ และลดการกระจุกตัวของเที่ยวบินและลดความล่าช้าให้กับเที่ยวบิน

    เก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 150 – 300 บาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ…. ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ

    ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยกำหนดค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางอากาศ และ 150 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าช่องทางบกและช่องทางน้ำ โดยยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้หนังสือเดินทางเพื่อการทูต กงสุล หรือการปฏิบัติราชการ (Diplomatic or Official Passport) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศไทย (Work Permit) หรือหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ผู้โดยสารผ่าน (Transit Passenger) ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ท.ท.ช. กำหนด

    พร้อมกันนี้ ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจลงตรา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ออกตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้ใช้หลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นเอกสารประกอบการอนุญาตเข้าเมืองและ และให้ สตม. เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตเข้าเมืองต่อไป

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การออกประกาศ ท.ท.ช. ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ ท.ท.ช. สามารถเสนอต่อ ครม. ให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งใช้ในการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างเที่ยวภายในประเทศไทย

    นอกจากนี้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวฯ ยังบัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านการการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน ดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ในท้องถิ่น รวมถึงการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดกตั้งกองทุนฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการศึกษาเชิงเปรียบเทียบแล้วพบว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้วมีสวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่่ยว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้จะช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแล เยียวยานักท่องเที่ยว และด้านสาธารณสุข จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวนมีความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี รวมถึงงบประมาณสำหรับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว รวมทั้งงบประมาณสำหรับการดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฯ นอกจากจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ยังได้กำหนดกรอบเวลาของการบังคับใช้ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา, การกำหนดบทนิยามต่างๆ ให้ชัดเจน, กำหนดวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยทางอากาศยานให้จัดเก็บผ่านค่าโดยสารเครื่องบิน ส่วนทางบกและทางน้ำเก็บผ่านเว็บไซต์ โมบายแอปพลิเคชั่นและตู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียม (Kiosk)

    โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานและผู้ดำเนินการมีหน้าที่ลงทะเบียนกับกองทุนฯ เพื่อพัฒนาระบบของตนเองในการเชื่อมต่อเข้า นำส่ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้โดยสาร ข้อมูลชำระค่าธรรมเนียมกับระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก่อนทำการบินเข้าประเทศไทย โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ดำเนินการจะได้รับค่าตอบแทนในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนฯ ตามที่ได้ตกลงกัน เป็นต้น

    ตั้ง “จตุพร” อธิบดีกรมพัฒนาสังคม-“อภิญญา” คุมกรมกิจการเด็ก

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอนนางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง พันตำรวจโท อนุรักษ์ จิรจิตร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    3. ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมชุดใหม่ จำนวน 9 คน ดังนี้

      1. นายประพันธ์ เทียนวิหาร ผู้แทนเกษตรกร
      2. นายเด่นณรงศ์ ธรรมมา ผู้แทนเกษตรกร
      3. นายบุญช่วย มหิวรรณ ผู้แทนเกษตรกร
      4. นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร ผู้แทนเกษตรกร
      5. นายตระกูล สว่างอารมย์ ผู้แทนเกษตรกร
      6. นายฉลองชาติ ยังปักษี ผู้แทนเกษตรกร
      7. นายปราณพงษ์ ติลภัทร ผู้ทรงคุณวุฒิ
      8. นายธนู มีแสงเงิน ผู้ทรงคุณวุฒิ
      9. นางวรรณนภา บุญสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    4. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ดังนี้

    1. กลุ่มบุคคลที่เป็นผู้แทนจากสถาบัน หรือองค์การ

      1.1 นายวิจารย์ สิมาฉายา (ผู้แทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)
      1.2 รองศาสตราจารย์พนิต ภู่จินดา (ผู้แทนสมาคมนักผังเมืองไทย)

    2. กลุ่มบุคคลผู้มีคุณวุฒิในสาขาต่างๆ

      2.1 นายวีระพงษ์ บุญญานุสนธิ์ (ด้านกฎหมายและการจัดรูปที่ดิน)
      2.2 รองศาสตราจารย์ชโยดม สรรพศรี (ด้านการวางแผนภาคและเมือง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง และการจัดรูปที่ดิน)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เสนอแต่งตั้ง นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แทน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    6. ผลการสรรหากรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จำนวน 4 คน ตามที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้คัดเลือกแล้ว ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้แก่

      1. นายไมตรี สุเทพากุล
      2. นายสมชาติ สร้อยทอง
      3. พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล
      4. นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ

    7. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนในคราวเดียวกัน รวมจำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

      2. แต่งตั้ง นางอภิญญา ชมภูมาศ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม และรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอการแต่งตั้งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม และรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวง แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจาก กระทรวงวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงการมอบหมายการปฏิบัติราชการใหม่ [เดิม กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่ง กระทรวงวัฒนธรรม ที่ 4/2564 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 แต่งตั้ง (1) นายประสพ เรียงเงิน รองปลัด กระทรวงวัฒนธรรม เป็นโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม และ (2) นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัด กระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม] ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม จึงแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นใหม่ ซึ่ง กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่ง กระทรวงวัฒนธรรม ที่ 15/2566 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม และรองโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม ลงวันที่ 16 มกราคม 2566 ด้วยแล้ว ดังรายนามต่อไปนี้

      1. นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัด กระทรวงวัฒนธรรม เป็นโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม
      2. นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัด กระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มเติม