ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันโผ ครม.นิ่งแล้ว เตรียมทูลเกล้าฯ ใน มิ.ย.นี้ – มติ ครม.ปลื้มราคา “ปาล์ม-ยางพารา” เด้งรับนโยบาย

นายกฯ ยันโผ ครม.นิ่งแล้ว เตรียมทูลเกล้าฯ ใน มิ.ย.นี้ – มติ ครม.ปลื้มราคา “ปาล์ม-ยางพารา” เด้งรับนโยบาย

18 มิถุนายน 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thailand.go.th

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ขออย่าห่วง ส.ส. ยันงบฯ ลงทุกพื้นที่ – เทรนแล้ว 5 ปี จากนี้ดีกว่าเดิม

นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “ผมเห็นคำถามก็ใกล้เคียงเดิมๆ แต่ทำยังไงได้เป็นนายกฯ ก็ต้องตอบ แต่ก็ตอบเท่าที่ตอบได้นะ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงรายชื่อรัฐมนตรี หรือโผ ครม. พอไปไหวหรือไม่ ว่า ตนขอย้อนถามก่อนว่า การเลือกตั้งเข้ามานั้นเลือกตั้งโดยใคร คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้นใครเป็นคนเลือก เมื่อเลือกเข้ามาแล้วหน้าที่ของตน ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องให้มีการตรวจสอบ ในกรณีที่มีการเสนอรายชื่อมา

สำหรับกรณีที่ระบุว่าคนนั้นคนนี้มีปัญหา ก็ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายดูด้วยว่าติดขัดตรงไหน เป็นไปได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ หากไม่ผิดแล้วจะทำอย่างไร เพราะประชาชนเลือกมา ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะร่วมมือกันอย่างไรต่อไปในอนาคต หากเขาไม่ผิดกฎหมายแล้วเขาเข้ามาได้

“กฎหมายมีบรรทัดฐานอยู่แล้ว ว่าอย่างไรคือผิด-ไม่ผิด อะไรที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ฉะนั้นอย่าเอาอะไรมาตีกันเยอะแยะให้วุ่นไปหมด”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันว่า เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวล มีการเรียกมาคุยกัน และหารือทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอยู่ตลอด ซึ่งทุกคนจะเป็นรัฐมนตรีทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้

“เป็นเรื่องของพรรคค ต้องมีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมเข้าใจดีว่าทุกคน ประชาชนในพื้นที่ที่เลือกเข้ามา เป็นห่วง แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้เราบริหารราชการจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค สู่ท้องถิ่นใช่ไหม เรามี ครม. มีนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นวันนี้เรามีกลไกหลายอย่างด้วยกันที่จะต้องลงทุกพื้นที่ ลงทุกจังหวัด ทุกกลุ่มจังหวัด และลงทุกภาค ฉะนั้น ส.ส.มีส่วนไปเสนอความต้องการของประชาชนตรงโน้น เวทีของกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ก็สามารถร่วมมือกันได้ รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณลงไป”

ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้ทำสรุปงบประมาณที่ลงในตามกลุ่มจังหวัด ซึ่งทุกวันนี้ลงไปมากกว่าเดิมเยอะมาก จากเดิมได้ 100-200 ล้านบาท ขึ้นเป็น 300-400 ล้านบาท ตามลำดับของงบประมาณที่เรามีอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลสามารถควบคุมดูแลได้คืองบประมาณที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดูว่าสอดคล้องกับแผนแม่บท แผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

“ซึ่งไม่ว่าอย่างไรต้องนำงบฯ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นมาสอดประสานกันเพื่อลงไปในทุกพื้นที่ สอดคล้องความต้องการของประชาชน ดังนั้นตรงนี้ผมไม่อยากให้ใครกังวล ไม่เช่นนั้นทุกคนก็กังวลหากไม่เป็นรัฐมนตรีแล้วพื้นที่ของตัวเองไม่ได้ ตนยืนยันว่าต้องได้ เพราะผมทำมาแล้ว 5 ปี ก็เกิดอะไรขึ้นมาเยอะแยะพอสมควร แต่อาจตอบไปกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้ เพราะภาพใหญ่เราทำยังไม่สมบูรณ์ เราต้องทำให้สมบูรณ์ ภาพเล็กเราก็ทำไปด้วย ผมคิดว่า 5 ปีต่อไปจะดียิ่งกว่าเดิม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ยันโผ ครม.นิ่งแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบ- เตรียมทูลเกล้าฯ ใน มิ.ย.นี้

เมื่อถามว่า เท่าที่นายกฯ พูดมาอาจจะไม่เห็นโฉมหน้า ครม.ในเดือนมิถุนายนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องรอ ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จแล้วก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ คงต้องทำให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายนนี้ สุดแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาวันไหน จากนั้นต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ คงไม่นานหรอก

ต่อคำถามถึงรายชื่อทุกพรรคที่จะเป็นรัฐมนตรีอยู่ในมือนายกฯ ทั้งหมดและนิ่งแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “รายชื่อมาทั้งหมดแล้ว และต้องนิ่งแล้ว มันจะไม่นิ่งได้อย่างไร มันมีแค่ 36 ที่ รวมนายกฯ จะเอาที่ไหนอีก ก็ต้องเอาไปก่อน จัดให้ได้ก่อน และเดี๋ยวค่อยว่ากัน จะทำอย่างไรกันต่อไป และใครที่ไม่ได้จะเอามาช่วยงานตรงไหนใช่หรือไม่ แต่ทุกคนก็เป็นห่วงว่าเลือกตั้งมาแล้วตัวเองไม่มีบทบาทเป็นรัฐมนตรี แล้วมันจะเป็นรัฐมนตรีกันได้ทั้งหมดหรือไม่”

เมื่อถามว่า เปิดเผยได้หรือไม่ว่ามีคนนอกมาตำแหน่งใน ครม.กี่คน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่เยอะ

ปัดตอบ นั่งควบ “นายกฯ-รมว.กลาโหม”

เมื่อถามว่า นายกฯ จะควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวรอการตัดสินใจอยู่ ฉันเสียหายอะไรล่ะ ถ้าถามตนไม่อยากควบหรืออะไรสักอย่าง ตนไม่มีความอยาก

ต่อคำถามสถานการณ์ในวันนี้คิดว่ามีความจำเป็นต้องควบตำแหน่งหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธว่า ยังไม่รู้ จะเป็นอย่างไร เสียหายตรงไหน ไม่รู้เหมือนกัน

เมื่ออธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่าเสียหาย แต่สถานการณ์วันนี้คิดว่าจำเป็นต้องควบหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ทำไม ถ้าควบแล้วผมจะได้อะไรขึ้นมาหรือเปล่า เรื่องของกองทัพเขาก็คุมกันด้วยระบบ มีระเบียบวินัยไม่ต้องไปห่วงเขา”

เมื่อถามว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เหรอ ท่านบอกหรือ ตนไม่รู้

เมื่อถามว่า ยังจำเป็นต้องให้ พล.อ. ประวิตร ช่วยงานต่อหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ทำงานอยู่ด้วยกันทุกวัน พร้อมตัดบทว่า “จะถามกันว่ารัฐบาลหน้าจะมีกันหรือเปล่า ใครอยู่ใครไม่อยู่ใช่หรือไม่ ใจเย็นๆ ฉันใจร้อนกว่าเธอ เธออย่ามาใจร้อนแข่งกับฉัน ใจเย็นลงบ้าง ถ้าเธอใจเย็นลง ฉันก็ใจเย็นลง ฉันจะได้คิดงานข้างหน้า ถ้าฉันต้องมาตอบคำถามพวกนี้มันก็ตีกันต่อ”

เมื่อถามว่า นายกฯ มั่นใจว่าโฉมหน้า ครม.จะได้รับการยอมรับหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ย้อนถามว่า โฉมคืออะไร คือหน้าตา แล้วใครเลือกมา ประชาชนเลือกมา เราจะไปกีดกันเขาได้มากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่าประชาชนไม่ได้เลือกรัฐมนตรี ประชาชนเลือก ส.ส.เข้ามา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คุณพูดกันแต่เรื่องโควตา สัดส่วน เอาจากไหนมาพูดคุณพูดเรื่องอะไร ปัดโธ่

เมื่อถามว่า แสดงว่าที่แต่ละพรรคส่งรายชื่อมาอย่างไรก็ยึดตามนั้นใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพียงว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

เผยปรึกษาฝ่าย กม.ก่อนนั่งหัวเรือ พปชร.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการตัดสินใจเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ขณะนี้ตนได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายอยู่ ขอให้ใจเย็นๆ ซึ่งจะพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ส่วนที่มีการมองว่าตนเป็นทหารไม่สันทัดงานการเมืองนั้น ย้ำว่าที่ทำมาทั้งหมด 5 ปี เป็นงานการเมือง เป็นการบริหารงานราชการแผ่นดิน เป็นการเมืองไม่ใช่การทหาร ที่ต้องฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงกฎหมายทุกตัวและความเห็นของประชาชน

“หลายอย่างใช้อำนาจ คสช.เพื่อเปิดฟลอร์ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย จากนั้นเราก็ต้องหามาตรการเข้าไปแก้ปัญหาด้วยกฎหมายปกติ หรือกฎหมายพิเศษ เพื่อจะทำให้มันเดินหน้าต่อได้ หลายอย่างก็ต้องปลดล็อกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านา ถ้าไม่มีตรงนี้เราก็ไปไม่ได้ แต่วันนี้ผมคิดว่าวันหน้าก็คงไม่จำเป็นแล้ว เพราะเราได้ทำกฎหมายทดแทนไปแล้ว บางอันยังจำเป็นต้องใช้อยู่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าไปล้มกันทุกอันเลย หากกฎหมายสมบูรณ์ก็ยกเลิกได้หมดต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้การยกเลิกไม่ใช่ไม่ต้องมีอะไรเลย กลับไปยังที่เก่า ตนคิดว่า การสร้างความเข้าใจเช่นนี้ไม่ถูกต้อง ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ ฉะนั้นการที่ถูกมองว่าไม่สันทันการเมืองนั้น ตนยอมรับว่าที่ผ่านมา 5 ปี มีทั้งดีบ้างและไม่ดีบ้าง และต้องทำต่อไป จากการที่ตนได้เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดต้องอาศัยความเรียนรู้และเอาใจใส่

“ผมไม่เคยเป็นนายกฯ มาก่อน แต่วันนี้พูดไม่ได้แล้ว เพราะเป็นมากว่า 5 ปี ซึ่งในอดีตไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพลเรือนหรือทหาร ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่วันนี้ถือผมว่าได้แก้ปัญหาได้พอสมควรแล้ว และหากเราร่วมมือกันต่อไป ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือนายกฯ ก็จะไปได้ทั้งหมดหากมีความรักความสามัคคี แต่หากบ่อนทำลายหวังโดยหวังผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้อะไรขึ้นมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันรับฟังทุกความเห็น เคารพทุกคน – ขอให้ทบทวน “เด็ก” ควรทำหน้าที่อะไร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปโดยยืนยันว่า ตนรับฟังความคิดเห็นทุกคน ทั้งนิสิตและนักศึกษา และขอบคุณที่ทุกคนให้ความสนใจ แต่ต้องมาคิดดูว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไร ซึ่งตนเคารพความคิดของทุกคน เพราะลูกหลานก็จบมหาวิทยาลัยเหมือนกัน บางครั้งอาจคิดไม่ตรงกันแต่ก็ต้องรับฟัง ซึ่งเราต้องสร้างบรรทัดฐานว่าไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน จึงอยากข้อร้องทุกคนว่าการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ไม่มีผลดีกับประเทศ

อย่างไรก็ตามตนไม่อยากไปตำหนิใคร เพราะเป็นโลกแห่งประชาธิปไตย แต่ต้องมีพื้นฐานหรือไม่ ต้องไปทบทวนดู เด็กนักเรียนควรทำหน้าที่อะไร การแสดงความคิดเห็น จะเอาเรื่องการเมืองมากๆ ได้หรือไม่ ดังนั้นต้องทำให้เด็กมีพื้นฐานที่แน่นก่อน เมื่อโตขึ้นมาก็จะมีการแสดงออกได้หลายโอกาส ถ้าทุกอย่างไปพร้อมกันหมดก็ไปไม่ได้ ล้มหมดทั้งประเทศ

“ผมไม่ได้ปิดกั้นใครเลย ทุกวันนี้ผมยอมรับว่าที่เหนื่อยคือการสร้างความเข้าใจ อย่างอื่นผมไม่เหนื่อย การทำงานหลายอย่างผมได้รับความร่วมมือจาก ครม. คสช. ด้วยการร่วมมือกันเสมอ ไม่ใช่แค่ใช้อำนาจสั่ง ผมหารือทุกอัน แม้กระทั่งการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะทำงาน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงความกังวลของหลายคนที่มองว่าหากไม่มีมาตรา 44 แล้วจะอยู่ได้หรือไม่ โดยระบุว่า ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยความรักความสามัคคีและเคารพกฎหมาย และต้องทำเพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อวันนี้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเราจะไปทำอะไรเขาได้ นอกจากมาตรการทางกฎหมายและตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่ง ครม.สามารถปรับได้ตลอดเวลา ถ้าทำไม่ดีหรือมีการร้องเรียนร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้กลไกในการตรวจสอบต่อไป แม้แต่ตนเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะหลายเรื่องทุกคนก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของนายกฯ ตัดสินใจ

ยังเป็น “พล.อ. ประยุทธ์” เหมือนเดิม – วอนหยุดวาทกรรม “อยู่ต่อ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามวันนี้ถือเป็นนักการเมืองเต็มตัวหรือยัง จะเป็นนักการเมืองเฉพาะกิจหรือนักการเมืองอาชีพ ว่า ตนไม่เห็นต่างกันตรงไหน ก็ยังคงเป็น พล.อ. ประยุทธ์ เหมือนเดิม แล้วแต่ตนจะทำหน้าที่อย่างไร และให้โอกาสจนทำหน้าที่ได้แค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มาจากประชาชน

“อย่าไปพูดกันเลยว่าเอื้อตรงนู้นตรงนี้ อยากจะอยู่ต่ออะไรต่างๆ ก็เป็นวาทกรรมที่พูดกันมาตลอด ผมก็ขอร้องว่าการประชุมสภา หรือการประชุมร่วมรัฐสภาควรลดเรื่องเหล่านี้ไปบ้าง ควรมองปัญหาประเทศชาติ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตนรับฟังของทุกพรรคมา เพียงแต่ต้องมาใส่กล่องของเราให้ได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าหลักการมีกี่เรื่อง กี่ข้อ ต้องทำอะไรกันต่อ อะไรเป็นเรื่องใหม่บ้าง และอะไรที่ทำไปแล้วบ้าง ไม่ใช่ทั้งหมดไม่ดีเลย อาจมีดีทั้งหมดเพราะเราเริ่มมาจากที่ไม่เข้มแข็ง หากไม่ดีคงไม่อยู่มาได้ถึง 5 ปี

ดังนั้นขออย่ากังวลเรื่องการเป็นนายกฯ และรัฐบาล วันนี้ประเทศต้องการรัฐบาล และทุกประเทศเฝ้าคอยอยู่ และเมื่อทำงานไปแล้วดีหรือไม่ดีก็มีวิธีทางประชาธิปไตยในการตรวจสอบ แม้กระทั่งตนก็ถูกตรวจสอบ และได้ตอบไปด้วยหลักการและเหตุผล ซึ่งก็อยู่มาได้ถึงวันนี้

ซึ่งตนไม่อยากให้เดินกลับไปกลับมาเป็นวงกลมแล้วกลับไปที่เก่า เพราะคิดว่านักการเมือง พรรคการเมือง และ ส.ส.ทุกคน ตั้งใจมาช่วยประชาชน ส่วนผลประโยชน์ของพรรคและเรื่องคะแนนเสียงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ตนจะไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น ซึ่งต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะอยู่ด้วยความขัดแย้งและการแย่งชิงกันไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลใหม่ทำหน้าที่ได้เช่นนี้

“ขอร้องนักการเมืองทั้งหลาย ผมให้เกียรติพวกท่านเสมอ เพราะถือว่าให้เกียรติประชาชนที่เป็นคนเลือกเข้ามาทุกคนจึงต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกา และมีกฎหมายทั้งหมด จึงต้องไว้วางใจกันพอสมควร หากไม่ทำก็ต้องว่ากันต่อไป ต้องตรวจสอบ แก้ไขหรือปรับ ครม.กันต่อไป ซึ่งเป็นแบบนี้มาตลอด แต่ยืนยันว่าไม่ต้องมีการใช้จ่ายในการเป็นรัฐมนตรีกับผม”

“และเห็นมีพูดกันในสื่อ และวันนี้มีพาดหัวข่าวแรงไปหน่อยนะ ขวาน เขวิน เขียนให้มันดีหน่อย วันนี้ขอเถอะอย่าเพิ่งถามอะไรผมมาก เดี๋ยวก็ได้เวลาเอง ทุกอย่างพูดคุยกันจบไปหมดแล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย ซึ่งมีหน่วยงานคอยตรวจสอบอยู่แล้ว เพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป และขอร้องว่าอย่าเพิ่งไปตีกันก่อน พอเริ่มมีรัฐบาลก็เอาเลยตั้งแต่วาระแรกการประชุมก็คงไม่ต้องไปไหน กลับไปที่เก่าหมด ต้องให้เดินไปข้างหน้าก่อนแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ได้โดยเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งการจัดระเบียบชายหาดสำคัญ ตามแบบ “พัทยา”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับรายงานในที่ประชุม ครม.ถึงเรื่องจัดระเบียบชายหาดซึ่งปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ได้ ตัวอย่างที่พัทยา ที่มีการปรับพื้นที่ไม่ให้เป็นชายหาดเสื่อมโทรม และได้สั่งการให้ดำเนินการเช่นเดียวกันในทุกชายหาดสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เข้าไปดำเนินการแล้ว และจะทยอยดำเนินการไป เช่น การถมทรายในส่วนที่ชำรุดต่างๆ

“ผมได้มีดำริไปว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นชายหาดก็ต้องกันบางส่วนไว้สำหรับค้าขายได้ ในพื้นที่ที่อาจไม่ค่อยงดงามเท่าไร ส่วนหาดที่สวยๆ ก็ให้เป็นพื้นที่เล่นกีฬา ออกกำลังกายต่างๆ รวมความไปถึงเรื่องถนนต่างๆ ด้วย การค้าขายที่เคยมีอยู่”

“เราจำเป็นต้องจัดระเบียบให้เกิดภาพ เกิดมุมมองก่อนว่าจะพัฒนาการค้าอย่างไร ที่จะไม่กีดขวางทางจราจร เป็นระเบียบงดงาม ซึ่งแน่นอนจะต้องมีคนเดือดร้อน ซึ่งได้สั่งการไปแล้วให้ไปทบทวนดูว่าจะทำอย่างไร เพราะหากไม่เปิดพื้นที่ให้โล่งก่อนก็มองอะไรไม่เห็น เพราะที่ผ่านมาไม่เป็นระเบียบมาทั้งหมด ก็ขอความร่วมมือด้วยแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรประชารัฐฯ 6.5 หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.เรื่องเศรษฐกิจ คือ การใช้บัตรประชารัฐ ตลาดประชารัฐ ซึ่งพบว่าร้านค้าประชารัฐต่างๆ มีรายได้จำนวนมาก ไม่ใช่บริษัทใหญ่แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเกษตร และสินค้าชุมชน โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรประชารัฐมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้มูลค่าการใช้จ่ายมาจากทั้งการใช้จ่ายจากเงินสวัสดิการแห่งรัฐ และการใช้จ่ายทั่วไป ผ่านร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องอ่านการ์ดอีซีดี ซึ่งวันนี้มีร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐจำนวนทั้งหมด 60,873 ร้านค้า โดยมีมูลค่าการจับจ่ายในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน 3.2 หมื่นล้านบาท นี่คือความก้าวหน้าในการค้าขายระดับล่าง

ขอบคุณประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ เข้าใจแก้ IUU

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาประมง IUU ตนได้ติดตามตามสื่อโทรทัศน์หลายช่องด้วยกัน ที่ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านออกมาพูด นี่ก็คือการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของนายกฯ จากช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อและโซเชียลมีเดียต่างๆ ยังคงมีความไม่เข้าใจกันอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่เท่าที่ตนสังเกตดูพบว่า ประมงพื้นบ้านมีความพึงพอใจในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ IUU ในส่วนของประมงพาณิชย์อาจมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของต้นทุนต่างๆ

“ในเรื่องการนำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยต้องชี้แจงกันอีกที เพื่อสร้างความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าด้านสัตว์น้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้สินค้าจากประมงของตนเองไม่พอเพียง จึงต้องนำจากส่วนอื่นมาเสริมด้วย แต่ก็มีมาตรการทางภาษีจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้จะให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านที่เข้าใจในหลักการของ IUU อย่างไรก็ตามยังคงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ต่อไป ซึ่งนายกฯ บอกว่าตนไม่อยากให้ย้อนกลับไปที่เก่า หลายคนยังมีการพูดจาให้เกิดความเสียหาย โดยย้ำว่าอะไรที่ทำได้แล้วจะกลับไปที่เก่าทำไป เรื่องนี้เป็นเรื่องความยั่งยืนและอนาคตด้านประมงของไทย

สั่งการ สนทช. บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และในเมืองใหญ่ และเส้นทางคมนาคมต่างๆ ซึ่งได้สั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไปแล้วว่าขอให้นำแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มาสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ในการจัดทำแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นการเก็บกักน้ำใต้ดินบ้าง หรือเป็นพื้นที่เปิดบ้าง เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมากใน กทม.

“ตรงไหนเดือดร้อนมากก็ต้องจูงน้ำตรงนี้ออกไปเก็บไว้ก่อน เหมือนเป็นแก้มลิง เสร็จแล้วเมื่อระบบระบายน้ำมีความพร้อมในการระบายออกสู่ทะเลก็ค่อยระบายน้ำนั้นออกมาอีกที ขณะนี้ให้ไปหาทางอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3 แห่ง เหลืออีก 4 แห่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปดูว่าการทำถนนบริเวณใดที่เป็นพื้นที่ลาดต่ำ เช่น เส้นทางชลบุรี-พัทยา เป็นส่วนที่มีการท่วมขังตลอด จะต้องทำอย่างไร นำแนวทางตามพระราชดำริมาใช้ได้หรือไม่

“ต้องหาวิธีการเพราะบ้านเราปัญหาเรื่องระบบระบายน้ำเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน แล้วคนก็เข้ามาอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น พื้นที่ในการเก็บกักน้ำ และระบายน้ำก็ลดลงเพราะกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเสียส่วนใหญ่ ขอให้เข้าใจ เพราะการแก้การปัญหาอย่างยั่งยืนต้องทำแบบนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งเข้มลงโทษเด็ดขาด ยกพวกตีกัน-หน่วยงานหละหลวม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตีกันที่ซอยอุดมสุข ซึ่งทำให้มองว่าการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผู้มีอิทธิพลและมาเฟียลดลง แต่แค่สงบลงชั่วคราวเท่านั้น ว่า ตนคิดว่าการตีกันนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีเลย ซึ่งตนได้สั่งการย้ำไปในที่ประชุม ครม.ในวันนี้ เนื่องจากหลายคนได้ไปถามกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าฝ่ายมั่นคงต้องมีกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้หรือไม่ โดยยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จะให้ปรับกฎหมายและบทลงโทษให้แรงขึ้นเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ต้องอยู่ที่ความร่วมมือของทุกคนด้วย ไม่ละเมิด ก้าวล่วงซึ่งกันและกัน เขตใครก็ว่ากันมา หากพูดจาเสียหายไปเรื่อยๆ ก็ไม่ดี

“กฎหมายมีทุกตัว แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์และทำงานได้จริง ซึ่งผมได้เน้นย้ำไปแล้วว่า สิ่งที่ผมและประชาชนทั้งประเทศรับไม่ได้ คือ การตีกัน และการทำร้ายกันในพื้นที่สาธารณะ บนถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน จะต้องลงโทษโดยเด็ดขาด หาตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ หาสาเหตุว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น เกิดจากการปล่อยปละละเลยของใครหรือไม่ ต้องมีการสืบสวนลงโทษทั้งหมด ต้องหาผู้รับผิดชอบ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการพกพาอาวุธกันง่าย ไม่มีการควบคุม จนนำมาทำร้ายกันบ่อยๆ ในปัจจุบันว่า ถ้าจะตรวจรถทุกคันเพื่อตรวจสอบอาวุธจะไหวกันหรือไม่ จริงๆ ต้องอยู่ที่ประชาชนทั่วไปอย่าพกพาอาวุธออกมา และหากไม่มีใบอนุญาตก็ต้องติดคุก ซึ่งการจะออกใบอนุญาตในการพกพาอาวุธเขาก็มีการตรวจสอบกันมาแล้ว ส่วนปืนเถื่อนที่ผ่านมาก็มีการสอบสวน จับกุม ดำเนินคดีกันมาตลอด แต่ที่ยังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็เพราะคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่มีการเข้มงวดตรวจค้นบ้างก็เพราะจำเป็น ไม่ใช่ว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วไม่ต้องเคารพกฎหมายหรือ มันไม่ใช่ ไม่มีประเทศไหนเขาทำกันหรอก ทุกประเทศต้องเอากฎหมายมาเป็นหลักในการบริหารประเทศทั้งนั้น

ผุดไอเดีย “เทรลรันนิง” เสริมท่องเที่ยวไทย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงถึงแนวคิดการจัดการวิ่งในภูมิประเทศ ว่าคนไทยเดี๋ยวนี้รักการออกกำลังกายมากขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬา การวิ่งก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ตนยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการวิ่งในภูมิประเทศ หรือ trail running ซึ่งในประเทศตอนนี้มีการจัดการวิ่งในลักษณะนี้มากขึ้น ที่ผ่านมามีการจัดมาแล้วหลายครั้งโดยภาคเอกชนหรือประชาชน

วันนี้รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นแหล่งรายได้ของประเทศในอนาคตเหมือนในต่างประเทศที่จัดขึ้น จึงได้ให้ฝ่ายความมั่นคง ทหาร เข้าไปดูว่าจะร่วมหรือแสวงหาความร่วมมืออย่างไร มีวิธีการจัดและอำนวยความสะดวกกันอย่างไร จะจัดเป็นการวิ่งระดับชาติขึ้นมาได้หรือไม่ เพื่อให้พวกเราได้ฟิตร่างกายไปแข่งกับเขาบ้าง เช่น วิ่งระยะทาง 10 หรือ 20 กิโลเมตร วิ่งพื้นราบแล้วขึ้นเขา เข้าป่าไปลงทุ่งนา เพราะประเทศไทยสวยงาม มีภูเขาหลายลูก ดังนั้น เพื่อไม่ให้คับคั่ง ก็ต้องมีหลายเส้นทางสำหรับวิ่งขึ้นและวิ่งลง ไม่ใช่วิ่งเส้นเดียวแล้วมีคนเป็นร้อย ก็ติดไปหมด อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เราต้องการยกมาตรฐานให้สูงขึ้น อะไรที่รัฐบาลช่วยได้ก็จะช่วย

“บางคนออกกำลังกายเยอะแยะ แต่ไม่มีสนามกีฬาจะลง วันนี้จะเป็นรัฐบาล ให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นแกนนำเพราะมีทหาร บุคลากร ช่วยได้ คุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะไปวิ่งในพื้นที่อุทยานได้หรือไม่ จัดการบริการดูแล การปฐมพยาบาล เพราะเป็นการวิ่งที่ทรหดพอสมควร กิโลแรกวิ่งทางราบแต่ต่อไปจะเริ่มขึ้นเขา ใครสนใจก็ฟิตร่างกายไว้นะจ๊ะ จะดำเนินการให้โดยเร็ว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

อนุมัติ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งกองทุน ACMECS

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบประมาณจัดตั้งกองทุนภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค: ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS วงเงินรวม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 1) ประเทศไทยสมทบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ประเทศสมาชิกอื่นๆ 4 ประเทศสมทบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เช่นออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา อีก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยในปี 2562 จะสมทบ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากงบกลาง และที่เหลืออีก 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะตั้งงบประมาณเบิกจากอีก 4 ปี ปีละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกจะดำเนินการจัดตั้ง ACMECS Infrastructure Financing Facility เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนในภาพรวมจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่มีความสนใจ และ Project-Based Financing Facility ซึ่งเป็นการให้เงินทุนโดยประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาสนับสนุนรายการโครงการหรือสาขาย่อยภายใต้แผนแม่บทของ ACMECS ต่อไป โดยจะเป็นการดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดตั้งกองทุน ACMECS

“ที่ผ่านมากรอบความร่วมมือดังกล่าวที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ประกอบด้วยความร่วมมือของประเทศต่างๆ 5 ประเทศในลุ่มน้ำ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เมียนมา ลาว กัมพูชา แต่ยังขาดกลไกการร่วมมือกันทางด้านการเงินคือกองทุนในการพัฒนาภูมิภาค ซึ่งก็มีความพยายามจัดตั้งกันมาหลายครั้งแต่ยังไม่สำเร็จ แต่ในปีที่ผ่านมาไทยในฐานะเจ้าภาพก็ได้ผลักดันประเด็นดังกล่าวอีกครั้งจนสำเร็จ โดยเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไม่ถือว่าเยอะ แต่นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความร่วมมือ โดยไทยให้อนุมัติงบประมาณเข้ามา 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยแสดงให้เห็นความจริงจังของไทยและจะช่วยดึงดูดให้ประเทศต่างๆ ลงทุนตาม ขณะที่ประเทศในกลุ่มหุ้นส่วนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วถือว่าเงินดังกล่าวไม่ได้เยอะและเขาพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว” นายณัฐพรกล่าว

ปลื้มราคา “ปาล์ม-ยางพารา” เด้งรับนโยบาย

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.ยังรับทราบรายงานสถานการณ์ราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยราคายางพาราปรับตัวกลับขึ้นมาที่ 60.05 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็งขึ้น ต่างจากเดิมที่จะเน้นขายให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ รวมไปถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตันต่อปี เป็น 800,000 ตันต่อปี

ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันในส่วนผลกดิบราคากลับมาแตะที่ 3.3-3.5 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 19.75-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสะท้อนราคาผลปาล์มดิบที่คิดเป็น 18% ของราคาน้ำมันปาล์มดิบ โดยสาเหตุที่ปรับขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการการใช้ไบโอดีเซลและการนำไปผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ครม.ยังไม่ได้หารือถึงมาตรการจัดการที่มีความยั่งยืนในอนาคต แต่คาดว่าหากทำตามนโยบายที่ผ่านมาก็น่าจะมีช่องทางเพิ่มราคาของยางพาราได้อีก

ออกกฎกระทรวงป้องกัน Transfer Pricing หลีกภาษี-เว้นเอสเอ็มอี

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และร่างกฎกระทรวง… ว่าด้วยการกำหนดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 71 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) โดยเป็นการออกตามการแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่พึงต้องเสียจากการที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีความสัมพันธ์กันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม

ทั้งนี้ กฎกระทรวงแรกจะว่าด้วยการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทฯ และให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ ที่มีความสัมพันธ์กัน ในกรณีที่มีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินในการทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนด

ขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 2 จะเป็นการยกเว้นหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทฯ ที่มีความสัมพันธ์กัน และการนำส่งเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทฯที่มีความสัมพันธ์กัน ให้แก่บริษัทฯ ที่มีรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือก็คือยกเว้นให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่สำหรับเงินได้ของบริษัทฯที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

“ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยให้กฎหมายของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และช่วยเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มการแข่งกันที่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เพิ่ม เนื่องจากเป็นการอุดช่องโหว่ แต่ในรายงานไม่ได้ระบุว่าจะได้รายได้เพิ่มเท่าไหร่” นายณัฐพรกล่าว

เห็นชอบแผนแม่บทฯจัดการน้ำ 6 ด้าน – พร้อมเน้นองค์ความรู้เป็นเสาหลักใหม่

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยเป็นการปรับปรุงประเด็นหลักและรายละเอียดสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ ด้านที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ 3 แผนย่อย ได้แก่

(1) การพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ
(2) การเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบในการใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล
(3) การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ

โดย (ร่าง) แผนแม่บทฯ สรุปได้ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงเป้าประสงค์ กลยุทธ์ แผนงาน เป้าหมาย การดำเนินการของแผนงานทั้ง 6 ด้าน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากเดิม 34 กลยุทธ์ เป็น 28 กลยุทธ์
54 แผนงาน

2.2 กำหนดตัวชี้วัดให้ถึงระดับผลลัพธ์ (outcome) ในระดับแผนแม่บทฯให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับการประเมินผลของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19

2.3 กำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานปฏิบัติและหน่วยงานอำนวยการขับเคลื่อนในระดับกระทรวง ประกอบด้วย สทนช. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ

2.4 วิเคราะห์การแก้ไขพื้นที่อย่างเป็นระบบ (area-based) 66 พื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้ง ซ้ำซาก หรือปัญหาอื่น ๆ ด้านน้ำซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเชิงบูรณาการ

ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดน้อยลงโดยการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนเพื่อกำหนดแนวทางและการบูรณาการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ (น้ำท่วมและน้ำแล้ง) จำนวนทั้งสิ้น 53 พื้นที่ รวม 34.62 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 13 พื้นที่ รวม 11.29 ล้านไร่

ขณะที่รายละเอียดแผนแม่บทจะแบ่งเป็น 6 ด้าน ประกอบไปด้วย

  • ด้านที่ 1การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้านหรือทุกครัวเรือน ชุมชนเมืองแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมและการประหยัดน้ำโดยลดการใช้น้ำภาคครัวเรือนภาคบริการและภาคราชการ
  • ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ให้เต็มศักยภาพพร้อมทั้งการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนเพื่อขยายโอกาสจากศักยภาพโครงการขนาดเล็กและลดความเสี่ยงในพื้นที่ไม่มีศักยภาพลดความเสี่ยง/ความเสียหายลง ร้อยละ 50 รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำโดยดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเพื่อยกระดับผลิตภาพด้านน้ำทั้งระบบ
  • ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำการจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองการจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำรวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤติ ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา/ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
  • ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียต้นทาง การควบคุมปริมาณการไหลของน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศพร้อมทั้งฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญในทุกมิติเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ
  • ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมการป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลาดชัน
  • ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ เพื่อจัดตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ฯลฯ) ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาและการหาแหล่งเงินทุน พัฒนาระบบฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (คลังน้ำชาติ) สนับสนุนองค์กรลุ่มน้ำสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐ และเอกชน การบริหารจัดการชลประทานการศึกษาวิจัย เตรียมความพร้อมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ พัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาค การบริการและการผลิต รวมถึงพัฒนารูปแบบเพื่อยกระดับการจัดการน้ำในพื้นที่และลุ่มน้ำ (เชื่อมโยงการตลาด พลังงาน การผลิต และของเสีย)

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่  18 มิถุนายน 2562 เพิ่มเติม