ThaiPublica > เกาะกระแส > รถไฟความเร็วสูง..ใครได้ประโยชน์ (ตอนที่ 1) จากอิตาลี – ฝรั่งเศส – จีนถึงไทยกับบทบาท Connectivity and Mobility

รถไฟความเร็วสูง..ใครได้ประโยชน์ (ตอนที่ 1) จากอิตาลี – ฝรั่งเศส – จีนถึงไทยกับบทบาท Connectivity and Mobility

1 ตุลาคม 2018


ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ได้ลงทุนในโครงการความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งข่าวการซื้อที่ดินกว่าหนึ่งหมื่นไร่แถวจังหวัดฉะเชิงเทรา และการยึดที่ดินรัฐกว่า 4,000 ไร่ ตามมาด้วยการออกเอกสารข่าวของเครือซีพีว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ และเตรียมจะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเปิดให้ซื้อซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากสนามบินอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้าน ระยะทาง 220 กิโลเมตร มีผู้ซื้อซอง 31 ราย จึงเป็นการบ้านสำคัญของผู้ที่ซื้อประมูลจะต้องตีโจทย์ตามเงื่อนไขทีโออาร์ของคณะกรรรมการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ส่งผ่านมายังการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าคำตอบสุดท้ายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคืออะไร

ดังนั้น ระยะเวลาจากนี้ไปถึงวันยื่นซองประมูล 12 พฤศจิกายน 2561 เป็นห้วงเวลาของการทำข้อสอบว่าใครจะตอบโจทย์ได้ใกล้เคียงมากที่สุด

เงื่อนไขการประมูล

การประมูลเป็นรูปแบบ net cost: ใครเสนอผลประโยชน์สูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล (การประมูลแบบ net cost เช่นเดียวกับรถไฟสายสีเหลือง และรถไฟสายสีชมพู มูลค่าโครงการ 50,000 ล้านบาท อายุโครงการ 30 ปี)

เอกชนแต่ละรายจะคำนวณผลตอบแทนสูงสุดที่จะหาได้ตามความสามารถของแต่ละรายในการควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง การบริหารระบบการก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ การหารายได้จากการวิ่งรถไฟ การหารายได้จากการบริหารอสังหาริมทรัพย์ (หลังจากจ่ายค่าเช่าที่ดินตามกำหนด) และนำเสนอผลประโยชน์สูงสุดเข้ามาประมูล

  • รัฐบาลจะได้ประโยชน์สูงสุดและจ่ายงบประมาณสนับสนุนต่ำสุด
  • ประเทศไทยได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเต็มที่

อายุโครงการ 50 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท หากให้เวลาน้อยจะขาดทุนมาก เพราะกำไรของโครงการจะอยู่ในช่วงหลังๆ ของโครงการ ถ้าลดเวลาเหลือ 30 ปี รัฐบาลอาจจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มและไม่คุ้ม

เมื่อครอบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด รวมรถไฟความเร็งสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เคยรถไฟความเร็วสูง ได้แต่ไปใช้บริการของประเทศอื่นที่เขาพัฒนาระบบรางมานานแล้ว หลายประเทศพัฒนามากว่า 80-100 ปี จนนำมาสู่การให้บริการรถไฟความเร็วสูงที่ได้มาตรฐานโลก

ด้วยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในผู้ซื้อซองประมูล จึงต้องทำการบ้านเก็บข้อมูลเพื่อทำข้อสอบ ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ได้พาคณะทีมสื่อมวลชนไปดูรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส จีน และไทย (ของไทยตามรอยเส้นทางเชื่อม 3 สนามบินจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สถานีลาดกระบัง-สถานีพลูตาหลวง สนามบินอู่ตะเภา) พร้อมระบุว่าเป้าหมายการดูงานในครั้งนี้เพื่อให้เห็นการดำเนินกิจการการรถไฟของต่างประเทศและของประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการในการเคลื่อนย้ายคน-สินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การเชื่อมต่อระบบขนส่งคนจากเมืองสู่เมือง จากเมืองสู่ชุมชน และภายในชุมชนเอง การใช้ big data ในการออกแบบและพัฒนาการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยและการให้บริการ รวมทั้งระบบการควบคุมความเสี่ยงด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีด้านการหารายได้ การมีส่วนร่วมกับชุมชนในกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

การดูงานกิจการรถไฟความเร็วสูงที่ไปดูมา ทั้งหมดเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยที่รัฐเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคือระบบรางให้ ซึ่งระบบรางก็มี 2 แบบ แล้วจ้างรัฐวิสาหกิจเหล่านี้บริหารจัดการ

ผู้โดยสารที่เดินทางในอิตาลี
ผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกที่สถานีรถไฟหงเฉียว เซี่ยงไฮ้

บทบาทรถไฟความเร็วสูง: Connectivity and Mobility

โจทย์คือ…มีรถไฟความเร็วสูงแล้วใครได้ประโยชน์

ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส จีน ต่างมองเรื่องเดียวกันคือว่างานของเขาไม่ใช่แค่ tranportation แต่เป็น connectivity and mobility ที่ย้ายคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งอย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย

อย่างประเทศจีน การไปดูงานที่สถานีรถไฟหงเฉียว เซี่ยงไฮ้ ซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐวิสาหกิจ คือ Chaina Railway Construction Corporation หรือ CRCC เป็นหนึ่งในบริษัทที่ซื้อซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเชื่อม 3 สนามบินของไทยด้วย เจ้าหน้าที่เล่าว่าทุกๆ 3-5 นาทีต้องย้ายผู้โดยสารจำนวน 10,000 คน ออกจากสถานี แล้วผู้โดยสาร 10,000 คนใหม่ก็เข้ามาแทนที่แล้วก็ย้ายออกไป

เช่นเดียวกับฝรั่งเศส บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส และเป็นผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงหรือเตเฌเว (TGV) มีผู้โดยสารใช้บริการ 4 ล้านคนต่อวัน จำนวน 15,000 เที่ยวต่อวัน เช่น ทุกๆ 4 นาที มีรถไฟวิ่งปารีสไปลียง หรือทุกเย็นวันศุกร์ จะมีรถไฟความเร็วสูง 180 ขบวนขนย้ายผู้โดยสารกว่า 80,000 คนไปยังเมืองต่างๆ

ขณะที่อิตาลี บริหารจัดการโดยการรถไฟแห่งชาติอิตาลี คือบริษัท Ferrovie dello Staato Itailane S.p.A. (FS) ถือหุ้นโดยรัฐ 100% มีผู้โดยสารใช้บริการ 750 ล้านคนต่อปี ซึ่ง FS เป็นผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางโรม-ฟลอเรนซ์ เป็นเส้นทางแรกในยุโรป ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กลุ่ม FS ของอิตาลีเป็นบริษัทบริหารรถไฟให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับการให้ความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการเดินทางจากจุดเริ่มต้นถึงปลายทาง เป็นบริษัทที่ให้ทางเลือกในการเดินทางทั้งระบบรางและถนน แต่ไม่ได้สร้างทางรถไฟและผลิตรถไฟเอง

นอกจากเป็นการย้ายคนและสินค้าระหว่างเมืองได้อย่างรวดเร็วแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี ฝรั่งเศส จีน ต่างมีบริการครบวงจรที่ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกบริการการเชื่อมต่อเมืองกับชุมชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบรถราง รถบัส รถแท็กซี่ หรืออื่นๆ ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส จีนต่างมีแอปพลิเคชัน ผ่านมือถือ ผู้โดยสารสามารถจองตั๋วออนไลน์และเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบที่ต้องการได้ เพราะมีการทำสัญญาพันธมิตรกับบริษัทต่างๆ เป็น 1,000 บริษัท เพื่อให้ผู้โดยสารได้เลือกได้ เช่น รถแท็กซี่ รถบัส

ตัวอย่างการเชื่อมบริการจากเมืองสู่ชุมชน จากการดูงานในครั้งนี้เริ่มจากการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง Gare de l’Est จากปารีสสู่เมืองแรงส์ (Reims) เป็นเมืองในจังหวัดมาร์น ในแคว้นช็องปาญาร์ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ประมาณ 129 กิโลเมตร เป็นแหล่งกำเนิดแชมเปญ เมื่อรถไฟความเร็วสูงมาถึงเมืองแรงส์ ผู้โดยสารเดินทางต่อไปเมืองแรงส์โดยรถรางไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่บางส่วนที่ต้องการอนุรักษ์รักษาทัศนียภาพของเมืองจึงไม่มีเสาไฟฟ้า รถรางซึ่งใช้ไฟฟ้าในการเดินรถก็มีแผงวงจรไฟฟ้าอยู่บริเวณราง พอพ้นเขตดังกล่าวก็มีเสาไฟ โดยมีแพนโทกราฟของรถรางเชื่อมระบบไฟฟ้าจากสายไฟมายังตัวรถรางแทน

เมืองแรงส์มีประชากรประมาณ 300,000 คน โดย 120,000 คนอยู่ในเมือง อีก 180,000 คนอยู่ตามสวนองุ่น แต่ที่นี่มีรถราง 18 ขบวน ขบวนละ 5 ตู้โดยสาร หากสังเกตหน้าตารถรางจะเหมือนแชมเปญตามเมืองที่มีชื่อเสียงด้านนี้ โดยคนมาใช้บริการปีละ 45 ล้านครั้ง จากการให้บริการ 15 ขบวนต่อวัน (อีก 3 ขบวนใช้สำรอง) และมี 23 สถานีทั่วเมือง แบ่งเป็น 2 สาย จะมีรถออกทุก 5 นาที ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบเวลาการเดินทางแต่ละสถานีได้โดยจะมาตรงเวลา บนรถรางไม่มีเจ้าหน้าที่เก็บเงิน ทุกคนเมื่อขึ้นมาแล้วจะเอาบัตรโดยมาแตะที่เครื่องเพื่อจ่ายค่าโดยสาร

รถรางที่เมืองแรงส์

นี่คือการออกแบบเมืองเพื่อเชื่อมระบบการเดินทางที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต การตรงต่อเวลา การจราจรไม่ติดขัด สามารถจัดสรรเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาเมือง สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ตอกย้ำคุณภาพชีวิตที่ดี

เช่นเดียวกับจีน นายโจ๋ว เหล่ย ประธานกรรมการ CRCC ตอบคำถามว่าการมีรถไฟความเร็วสูงช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนโตเร็วขึ้นมากน้อยแค่ไหน เขาบอกว่ารถไฟความเร็วสูงเปลี่ยนชีวิตคนจีน ตอนที่สร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรก “เทียนจิน- ปักกิ่ง” ซึ่งตอนนั้นมีบริการรถไฟธรรมดาอยู่แล้ว ราคาถูก ก็มีคำถามมากมายว่าแล้วมาสร้างรถไฟความเร็วสูงทำไม จะขายตั๋วราคาแพงและสร้างมาเพื่อคนรวยใช่ไหม แต่วันนี้ไม่มีคำถามว่าสร้างให้คนรวย เพราะรถไฟความเร็วสูงกลายมาเป็นความสำคัญของชีวิตคนจีนไปแล้ว

ประธานกรรมการ CRCC ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองว่า “CRCC มีบริษัทลูกอยู่ที่จีหนาน สมัยก่อนมาประชุมปักกิ่งต้องนั่งรถไฟมาล่วงหน้า 1 วัน ประชุมเสร็จต้องค้างอีก 1 คืน จึงเดินทางกลับได้ แต่เดี๋ยวมาเช้ากลับเย็นได้เลย”

ปัจจุบันการเดินทางในระยะไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร คนจีนจะเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงมากกว่าเครื่องบิน เช่น ระยะทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง กลายเป็นว่าตอนนี้ตั๋วเต็ม และต้องสร้างเส้นทางเพิ่ม เพราะคนเดินทางเยอะมาก

หากใครที่เคยเดินทางไปประเทศจีน พบว่าจีนเป็นแบบอย่างของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมเมือง และสร้างเมืองให้เป็นมหานคร การเติบโตของแต่ละมณฑล/มหานคร จึงเป็นการยกระดับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด

เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส อิตาลี ที่เชื่อมเมืองต่างๆในยุโรป การเดินทางไปทำงาน ไปทำธุรกิจ อยู่ที่ไหนก็สามารถเชื่อมถึงกันได้ในแต่ละวัน

ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงทำให้เกิดการเชื่อมเมืองและสร้างเมืองแต่ละเมืองให้มีความเป็นเมืองที่เติบโตไปด้วยกัน ไม่ได้กระจุกตัวที่เมืองใดเมืองหนึ่ง คนจะอยู่ที่เมืองไหนก็สามารถเดินทางไปทำงานได้ ลดการกระจุกตัวของคน ลดความแออัดของเมือง อย่างเซี่ยงไฮ้ การซื้อคอนโดมิเนียมหรือบ้านราคาแพงมาก คนต้องออกไปอยู่นอกเมือง หรือเมืองรองอื่นๆ แล้วเดินทางเข้ามาทำงานด้วยความสะดวกสบายในราคาที่เหมาะสม

นี่คือโจทย์ที่ว่า ทำไมต้องมีรถไฟความเร็วสูง มีแล้วใครได้ประโยชน์…

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือจากการดูงานทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส จีน รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคือการวางระบบรางทั้งหมด ซึ่งระบบรางมี 2 แบบ คือ 1. รางที่อยู่บนพื้นแบบมีหินโรย ยุโรปใช้แบบนี้ ซึ่งรางแบบนี้ใช้เงินลงทุนไม่สูงแต่การดูแลรักษาระยะยาวจะค่อนข้างสูง และความนิ่มนวลในการลงนั่งดูจะสู้ระบบรางแบบที่ 2 ไม่ได้ ขณะที่ 2. ระบบรางแบบยกพื้นขึ้นไม่มีหินโรย ค่าการก่อสร้างจะแพงกว่าแบบมีหินโรย แต่ระบบการดูแลรักษาในระยะยาวจะถูกว่า เป็นระบบที่จีนใช้ ซึ่งให้ความนิ่มนวลและเงียบมากขณะที่วิ่ง

ส่วนการบริหารการเดินรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์การซ่อมบำรุง การควบคุมการเดินรถ และเครือข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางอื่นๆ ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจที่เข้ามารับจ้างบริหาร ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นในกิจการเหล่านี้อยู่แต่มีการบริหารแบบมืออาชีพ

รถไฟความเร็วสูงของอิตาลี
รถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส
รถไฟความเร็วสูงของจีน

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้ลงทุนสร้างระบบรางให้เหมือนกับอิตาลี ฝรั่งเศสและจีน ดังนั้นหากจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกที่จะเชื่อม 3 สนามบินให้เกิดขึ้นและอยู่รอดได้ ไม่ได้อยู่ที่การมีรถไฟความเร็วสูง แต่อยู่ที่เมืองใหม่ที่รัฐอยากจะให้มีขึ้น จะเกิดได้จริงหรือไม่ อาทิ 1. โครงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องเกิดขึ้นตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ทั้งหมด 2. เมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้จะต้องเป็น smart city มีการออกแบบผังเมืองที่ดี เรียกได้ว่าจะต้องเป็น New Bangkok 3. การเวนคืนที่ดินและการส่งมอบพื้นที่จะต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด 4. การรับประกันจำนวนผู้โดยสารต้องได้ตามที่ระบุไว้ หากไม่ได้ตามที่กำหนดไว้จะมีทางออกอย่างไร 5.การสร้างระบบนิเวศอื่นๆ ที่จะสนับสนุนเกิดความเป็นเมืองที่ใครๆ ก็อยากมาอยู่ เพราะมีเศรษฐกิจที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และ 6. การสร้างคนเพื่อรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี เป็นต้น

ดังนั้น “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” จำเป็นต้องมีการลงทุนเต็มรูปแบบตามที่รัฐบาลระบุไว้ เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่จะเชื่อมเมือง เชื่อมชุมชน เชื่อมคน เชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว

EEC หากสามารถทำได้สำเร็จ ถือเป็นการยกระดับเมืองแม่แบบหรือเมืองตัวอย่าง เพื่อที่ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่มีแค่กรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่ยังมีเมืองใหม่ๆ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นเมืองที่น่าอยู่ สะดวกสบาย โดยเชื่อมระหว่างเมืองถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูงได้ เพราะด้วยทรัพยากรของประเทศไทยที่มี สามารถที่จะยกระดับความเป็นเมืองในพื้นที่อื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน และประเทศชาติได้อีกมากมาย รวมทั้งการเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศอาเซี่ยนในอนาคต

ดังนั้นถ้าการมีรถไฟความเร็วสูงเพื่อ connectivity and mobility

ก็จะได้คำตอบ ใครที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง!

ติดตามตอนที่สอง: การใช้เทคโนโลยีและbig data กับการพัฒนาบริการที่ปลอดภัยและอ่านใจผู้บริโภค