ThaiPublica > เกาะกระแส > เปลี่ยนชีวิตนักเรียนให้ “สดใส” ด้วยระบบ “ISEE” และการเอาใจใส่ของครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

เปลี่ยนชีวิตนักเรียนให้ “สดใส” ด้วยระบบ “ISEE” และการเอาใจใส่ของครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ ไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

6 กันยายน 2018


ผดุงเกียรติ ใจวงษ์ “น้องสดใส” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดห้วยแก้ว (ซ้ายสุด) และเพื่อนๆ ในฐานะช่างตัดผมประจำโรงเรียน

เมื่อเร็วๆนี้ ไทยพับลิก้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 จัดโดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่จังหวัดเชียงใหม่

พร้อมกับเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนวัดห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลางที่ผู้บริหารและครูให้ความสำคัญกับการ “เยี่ยมบ้านนักเรียน” ควบคู่ไปกับการใช้ แอปพลิเคชัน “ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education)  หรือ “ISEE”  ที่ช่วยเปิดใจครูให้รู้และเข้าใจศิษย์ นำไปสู่การติดตามช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการค้นหาความถนัดสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ดึงกลุ่มเสี่ยงกลับสู่สถานศึกษา

ดังเช่น นายผดุงเกียรติ ใจวงษ์ หรือ “น้องสดใส” นักเรียนชั้น ม.3/1 ที่ระบบติดตามช่วยเหลือค้นพบว่า นอกจากจะมีปัญหาความยากจนแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบ ครูจึงเข้าไปคลี่คลายปัญหาและให้ความช่วยเหลือด้วยการค้นหาความถนัด จนนำไปสู่การฝึกอาชีพช่างตัดผม และดึงสดใสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ในที่สุด

นายโอภาส อินต๊ะแสน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยแก้ว เล่าว่า พื้นที่ของโรงเรียนเป็นภูเขา นักเรียนมีปัญหาครอบครัวและปัญหาความยากจน เด็กมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ยาตายาย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่นหรือแยกทางกัน

ทางโรงเรียนจึงมีระบบการเยี่ยมบ้านปีละหนึ่งครั้ง ที่ครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องออกไปเยี่ยมเยียนบ้านของนักเรียนเพื่อดูว่าเด็กของเรามีปัญหาอะไรบ้าง ไปสร้างความเข้าใจระหว่างครูกับเด็ก เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งส่วนหนึ่งจะทำให้ครูเข้าใจ เห็นใจ และสามารถดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง เข้าใจตัวนักเรียนมากขึ้น

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยแก้ว ย้ำว่า จุดแข็งของโรงเรียนในการดูแลเด็กนักเรียนก็คือ มีการค้นหาเด็กผ่านระบบเยี่ยมบ้านเพื่อให้ครูเข้าใจในปัญหาและเข้าใจในตัวเด็ก มีการค้นหาความถนัดและความสนใจของเด็กแต่ละคน โดยคุณครูจะเป็นผู้สร้างปัจจัยพื้นฐานขึ้นในโรงเรียนเพื่อให้เด็กสามารถค้นพบตัวเอง จะได้ให้การสนับสนุนได้ถูก เพราะโรงเรียนห้วยแก้วมีเป้าหมายให้เด็กนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้

นางพิมพ์รดา ส่งชื่น “ครูปิน” คุณครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว

นางพิมพ์รดา ส่งชื่น หรือ “ครูปิน” คุณครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว กล่าวเสริมว่า จากการที่โรงเรียนมีระบบเยี่ยมบ้านและการใช้แอปพลิเคชันระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “ISEE” ทำให้ครูทราบข้อมูลว่านักเรียนของเรากว่าร้อยละ 90 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จำนวนไม่น้อยอยู่ในครอบครัวหย่าร้าง

และพบว่าเด็กแต่ละคนอยู่ในชุมชนที่ห่างไกล สภาพพื้นที่เป็นดอยและภูเขา มีความยากลำบากในการเดินทางมาโรงเรียน ครอบครัวก็ยากจน บางครั้งเด็กต้องไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำสวนเพื่อหารายได้หรือใช้แรงงานรับจ้าง ทำให้ขาดเรียนเป็นประจำ และไม่มีเวลาทบทวนบทเรียนเพราะต้องทำงาน ทำให้ผลการศึกษาไม่ค่อยดีนัก

อย่างไรก็ดี การที่ครูได้ไปดูบ้าน ได้เห็นบริบทชุมชนและครอบครัว จะทำให้รู้เลยว่าเราจะส่งเสริมแต่ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเน้นวิชาการจะมีเด็กหลายคนต้องถูกทอดทิ้ง ครูที่นี่จึงต้องช่วยเหลือเด็กโดยมองข้ามคำว่าเก่ง แต่จะดูว่าเด็กมีความสนใจเรื่องอะไร

อย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เด็กต้องมีทักษะการมีชีวิต สามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และต้องมีทักษะในการทำงาน นี่คือสิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนมุ่งหวัง เราจึงพยายามส่งเสริมรอบด้านโดยดูจากความสนใจของเด็ก ไม่ใช่จากความสนใจของตัวครู เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาหรือค้นพบคำตอบตั้งแต่เรียนอยู่ระดับชั้น ม.1-2 ให้สามารถวางแผนชีวิตว่าจบแล้วจะไปเรียนต่อหรือทำอะไร

ครูปินเล่าว่า จากการเยี่ยมบ้านพบว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจเรื่องทักษะอาชีพ เช่น กรณีน้องสดใส นายผดุงเกียรติ ใจวงษ์ นักเรียนชั้น ม.3/1 โดยเราเข้าไปถามว่าเขาสนใจที่จะไปเรียนตัดผมไหม เพราะทางวิทยาลัยชุมชนเข้ามาจัดอบรมอาชีพในพื้นที่ เมื่อเด็กสนใจก็พาเข้าไปร่วมกิจกรรม

“สุดท้ายแล้วเด็กพบว่าตัวเขามีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ ซึ่งหลังจากอบรม สดใสก็ได้มาบริการตัดผมให้คนในชุมชน พอได้เห็นฝีมือและผลงานเราก็ชื่นชม ตัวเด็กก็มีกำลังใจ จนเขาก็มาขอใช้บริเวณหน้าห้องวิทยาศาสตร์ตัดผมให้เพื่อนๆ น้องๆ ในโรงเรียน ครูท่านอื่นๆ มาเห็นก็ชื่นชม สดใสก็เลยมีกำลังใจที่จะมาโรงเรียนมากขึ้น

พอขึ้นชั้น ม.3 สดใสก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด โดยย้ายมาอยู่หอพักของโรงเรียนเพื่อจะมาเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ จากเด็กเกเรหนีเรียน สดใสเปลี่ยนเป็นเป็นคนที่มีภาวะผู้นำมากขึ้น” ครูปินกล่าวถึงศิษย์ด้วยความภูมิใจ

ครูปินบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสดใสนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลเชื่อมโยงไปถึงเรื่องระบบติดตามการดูแลเยี่ยมบ้าน ทำให้ครูได้เปิดใจจากการไปเห็นสภาพบ้านและชุมชน จนเข้าใจนักเรียนแต่ละคนว่าทุกพฤติกรรมล้วนมีเหตุผล

“ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วนิสัยไม่ดี มันต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ครูจะต้องหาให้เจอ แล้วเราก็เข้าใจ และเข้าไปช่วยเหลือเขาให้ตรงจุดมากขึ้น”

“ซึ่งการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะเรียนดีขึ้นหรือเก่งขึ้น ขอแค่ไม่ติดศูนย์เพิ่มหรือติดน้อยลง แต่สิ่งสำคัญคือขอให้เด็กๆ มีความสุข ครูไม่คาดหวังกับเกรดเฉลี่ย แค่ขอให้เขามีความตั้งใจเท่านั้น” ครูปินกล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. มองว่ากรณีตัวอย่างของโรงเรียนวัดห้วยแก้ว สะท้อนให้เห็นว่าการเอาใจใส่ของครูนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก โดยผ่านกิจกรรมการไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมครอบครัวของนักเรียน ดังนั้น กสศ. จะไม่ได้มุ่งเน้นทำเฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว  แต่จะร่วมหาแนวทางให้ครูเอาใจใส่นักเรียนให้ได้แบบกรณีนี้เช่นกัน

ดร.ประสารยังกล่าวถึงทิศทางการทำงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในระยะเริ่มแรกว่า บทบาทของ กสศ. มุ่งเสนอแนะมาตรการและผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เน้นการลงทุนโดยใช้ความรู้เป็นตัวนำ เพื่อช่วยเหลือและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งจัดการ 3 ปัจจัยหลัก ที่เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่

1. ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

2. สนับสนุนโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง

3. เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกองทุน

โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะมี 4 หลักการสำคัญในการดำเนินงานดังต่อไปนี้

(1) การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานของกองทุนและภาคีทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง (evidence-based) มาช่วยในการค้นหาเป้าหมาย คัดกรองความยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งติดตามพัฒนาการกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุเป้าหมายการทำงานตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกองทุนตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นภารกิจที่ กสศ. ให้น้ำหนักอย่างมาก โดยจะมีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ หรือ Information System for Equitable Education (iSEE)

ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของกลุ่มเป้าหมายกองทุนกว่า 4 ล้านคนเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้ง 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อการค้นหา คัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนในระยะยาว โดยมีข้อมูลครอบคลุมทุกมิติในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดยระบบ “iSEE” จะช่วยให้เราสามารถ “มองเห็น” เด็กเยาวชน และประชาชนทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุน ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว

(2) การร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนตั้งแต่การกำหนดแผนสู่การปฏิบัติและการติดตาม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างหลากหลายทั้งในมิติของกลุ่มคนและเชิงพื้นที่ กองทุนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น โดยต้องมีการประสานงาน เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความซ้ำซ้อน มีการบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่นี้ หรือกองทุน 10 บาท ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาย่อมต้องการโอกาสในการทำงานร่วมกับกลไกที่มีข้อมูล และประสบการณ์เช่นนี้ทุกพื้นที่ในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานในทุกจังหวัดได้อย่างยั่งยืน

(3) การดำเนินการที่โปร่งใส มีระบบธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลที่รอบคอบ กองทุนจะมีการนำเทคโนโลยีด้านระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้า เช่น การเบิกจ่ายสวัสดิการโดยตรงแก่ผู้รับ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการบันทึกหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน เพื่อป้องกันการทุจริตและลดความรั่วไหลของการใช้งบประมาณ

นอกจากนี้ กองทุนจะต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชน เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งการเข้ารับการประเมินโดยคณะกรรมการประเมินที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุก 3 ปี

(4) ความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการสนับสนุนงบประมาณตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของกองทุนแม้จะใช้หลักการทั้ง 3 ประการข้างต้นแล้ว ก็ยังยากที่จะประสบความสำเร็จ หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากร รวมทั้งความเป็นอิสระในการบริหารจัดการที่จะสามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ หากปราศจาก 2 สิ่งนี้แล้วกองทุนใหม่นี้ก็อาจจะเป็นเพียงหนึ่งกลไกแบบเดิมๆ ที่จะไม่ให้ผลลัพธ์ต่างจากที่เคยเป็นมา