ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ.จับมือ สพฐ. ตชด. อปท. ออกมาตรการพิเศษป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ 3แสนคน

กสศ.จับมือ สพฐ. ตชด. อปท. ออกมาตรการพิเศษป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ 3แสนคน

28 เมษายน 2021


ที่มาภาพ : กสศ.

กสศ.จับมือ สพฐ. ตชด. อปท. ออกมาตรการพิเศษช่วยนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ อ.3 ป.6 ม.3 ราว 3 แสนคน สู้ผลกระทบโควิด ป้องกันหลุดออกนอกระบบ เร่งเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบป้องกันการหลุดออกจากการศึกษาระยะยาว พร้อมผนึกกำลังเขตพื้นที่การศึกษา รร.และครูทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังเข้มข้นช่วงเปิดเทอมปี’64 เพื่อให้เด็กยากจน-ด้อยโอกาสทุกคนได้เรียน

น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้มีการประชุมพิจารณามาตรการพิเศษเพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ได้แก่ อ.3 ป.6 ม.3 และม.6 เฉพาะสังกัด บก.ตชด. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องเปลี่ยนสถานศึกษาและมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่าช่วงชั้นอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทุกปี

คณะกรรมการบริหารกสศ. จึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติม ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ครอบคลุม 3 สังกัด สพฐ. อปท. บก.ตชด. ประกอบด้วยระดับชั้นอนุบาล 3 ป.6 ม.3 และ ม.6 เฉพาะสังกัด บก.ตชด.จำนวน 294,928 คน ในอัตราคนละ 800 บาท รวมงบประมาณราว 235.94 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทางมาสมัครเรียน หรือการเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ โดยมีเงื่อนไขให้นักเรียนและผู้ปกครองแสดงหลักฐานการสมัครเรียนต่อในปีการศึกษา 2564

ทั้งนี้ กสศ. สพฐ. อปท. และบก.ตชด. จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลตรวจสอบการมาเรียนของนักเรียนทุกคนหลังเปิดภาคเรียนวันที่ 1 มิถุนายนนี้

น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

น.พ.สุภกร กล่าวว่าเงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเดียวที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายในสถานการณ์โควิด-19 ได้ กสศ. สพฐ. อปท. บช.ตชด. ร่วมกันพัฒนาระบบติดตามกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับอนุบาลจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2564 กสศ.มีแผนจะจัดเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาคในทุกสังกัดจำนวนรวม 1.17 ล้านคน เป้าหมายเพื่อป้องกันมิให้ครอบครัวของนักเรียนกลุ่มที่ยากจนที่สุด ต้องเผชิญกับสภาวะ “ฟางเส้นสุดท้าย” ทางเศรษฐกิจ จนต้องนำบุตรหลานออกจากการศึกษากลางคัน โดย กสศ.ประมาณการว่าภาวะวิกฤติโควิตจะส่งผลให้ครอบครัวยากจนและทำให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2563

อีกมาตรการคือการส่งต่อนักเรียนที่มีศักยภาพให้ได้ศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปด้วยทุนการศึกษาจากแหล่งทุนต่างๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างกสศ.และกยศ. ในการส่งข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่กำลังจบม.3 เพื่อให้ได้ทุนกยศ.ศึกษาต่อ หรือความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยในอนาคต เพื่อส่งต่อข้อมูลให้มหาวิทยาลัยจัดหาทุนการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้

“จากข้อมูลการติดตามกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง 3 ปีชี้ว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษราว 4 ช่วงชั้นและอนุบาลที่มีความเสี่ยงสูงสุดจำนวนรวมประมาณ 400,000 คน แต่เนื่องจาก กสศ. มีงบประมาณที่จำกัดเพียงพอจะช่วยเหลือได้เพียงราว 290,000 คนใน 3 ช่วงชั้นเท่านั้น แต่ กสศ. จะส่งข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่มีวิกฤติในระดับรองลงมาอื่นๆ ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาช่วยเหลือด้วยงบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ” ผู้จัดการกสศ.กล่าว

ที่มาภาพ : กสศ.

ผู้จัดการกสศ. กล่าวต่อว่า กสศ.จะพยายามอย่างถึงที่สุดในการช่วยลดผลกระทบให้แก่กลุ่มเป้าหมาย แต่ยอมรับว่า กสศ.จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 นี้

เนื่องด้วยปัจจุบัน กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และจำนวนกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษทุกระดับชั้นและสังกัดซึ่งมีจำนวนรวมราว 1 ล้านคน ประกอบกับความไม่แน่นอนของงบประมาณที่ กสศ. จะได้รับจัดสรรในแต่ละปี เช่น ล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีไปที่ 7,635.67 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณที่ 5,652.29 โดยปรับลดลง 2 ครั้ง ราว 2,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ดีในชั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร กสศ.จะเตรียมจัดทำคำขอแปรญัตติงบประมาณในส่วนที่สามารถขอแปรคืนกลับมาได้ไม่เกิน 900 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอนในระหว่างปีการศึกษา 2564-2565 ต่อไป” ผู้จัดการกสศ.กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ขณะนี้ สพฐ.ร่วมกับ กสศ. ได้ติดตามผลกระทบนักเรียนยากจนพิเศษอย่างใกล้ชิด มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,394 คน ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่านักเรียนกลุ่มรอยต่อที่จะต้องเปลี่ยนช่วงชั้นหรือเปลี่ยนสถานศึกษาใหม่ ร้อยละ 97.82 ต้องการจะเรียนต่อและขอให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือดังนี้

    (1) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษา ร้อยละ 87.95
    (2) อุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 54.91
    (3) ค่าสมัครเรียน ร้อยละ 51.34

ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าวต่อว่า การจัดสรรเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อจึงถือว่าเรื่องสำคัญ เป็นข่าวดี ที่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของผู้ปกครองและความต้องการของนักเรียนกลุ่มนี้ได้ สพฐ.ขอความร่วมมือ สถานศึกษา คุณครู ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ของกสศ. ที่สำคัญคือสอบถามผู้ปกครองหรือนักเรียน เพื่อบันทึกข้อมูลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของนักเรียนผ่านระบบสารสนเทศ ให้เราสามารถติดตามประสิทธิภาพในทำงานเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้จริง โดยสพฐ.และกสศ.จะร่วมกันติดตามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 นี้

“ภาวะวิกฤติปัจจุบัน ผมขอขอบคุณเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน คณะครู ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและการศึกษา ซึ่งทางสพฐ.และกสศ.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เราต้องช่วยเหลือ ป้องกันไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษา ในวงการสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลกำลังเสียสละอย่างใหญ่หลวง เพื่อช่วยชีวิตประชาชน ในวงการศึกษา ผมต้องขอยกย่องบุคลากรทางการศึกษาที่กำลังทำงานอย่างทุ่มเทเสียสละเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กของเราหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งคือการเสียโอกาสทั้งชีวิตของพวกเขาไปจากวิกฤติครั้งนี้” รองเลขาสพฐ.กล่าว