ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 ก.ย. 2561: “เล็งจัดการคำสั่งตาม ม.44 ฉบับไหนยกเลิก-อยู่ถาวร” และ “ไต้ฝุ่นเซบีถล่มญี่ปุ่น อพยพกว่าล้าน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 ก.ย. 2561: “เล็งจัดการคำสั่งตาม ม.44 ฉบับไหนยกเลิก-อยู่ถาวร” และ “ไต้ฝุ่นเซบีถล่มญี่ปุ่น อพยพกว่าล้าน”

8 กันยายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 ก.ย. 2561

  • เล็งจัดการคำสั่งตาม ม.44 ฉบับไหนยกเลิก-อยู่ถาวร
  • ปี 62 เลิกรับบุคคลภายนอกเป็น นรต.หญิง
  • ศาลปกครอง สั่ง รฟท. จ่าย “ประภัสร์ จงสงวน” กว่า 3 ล้าน เหตุเลิกจ้างไม่บอกล่วงหน้า
  • เตรียมปรับเพดานประกันสังคม เก็บสูงสุด 1,000 บาท
  • ไต้ฝุ่นเซบีถล่มญี่ปุ่น อพยพกว่าล้าน
  • เล็งจัดการคำสั่งตาม ม.44 ฉบับไหนยกเลิก-อยู่ถาวร

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 1 ก.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมประกาศ และคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ทั้งหมด เพื่อเตรียมพิจารณายกเลิกหรือออกเป็นกฎหมาย ว่า ขณะนี้กำลังไล่ทำอยู่ ตนได้ให้หลักเกณฑ์แก่เจ้าหน้าที่เป็นคนทำแล้ว

    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการควบรวมหรือจะมีการยกเลิกหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า มีทุกรูปแบบ นายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 ว่า ให้เตรียมเรื่องนี้ไว้ และยังบอกอีกว่าบางเรื่องให้เข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นกฎหมายถาวร อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยังไม่ได้ขีดเส้นว่า ให้เหลือประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ไว้เท่าใด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องทำเรื่องเสนอไปก่อน

    “มาตรา 44 เหลือเท่าที่จำเป็น เมื่อเข้าสู่ระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยปกติ อะไรที่เลิกได้ก่อนเราก็เลิก อะไรที่ควบรวมให้เหลือน้อยลงก็จะทำ หรืออะไรที่ทำแล้วหมดอายุไปแล้ว ก็ไม่ต้องไปยุ่ง ให้เป็นคำสั่งอยู่อย่างนั้น แต่ไม่นำกลับมาใช้แล้ว เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ยืนยันว่าต้องทำให้เสร็จก่อนรัฐบาลนี้จบ เพราะถ้ารัฐบาลจบไปแล้ว จะกลับมาทำไม่ได้ และผมยังก็ยังไม่ทราบว่า เหลืออีกเยอะหรือไม่ เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ก็ยังออกอยู่เลย” นายวิษณุกล่าว

    ปี 62 เลิกรับบุคคลภายนอกเป็น นรต.หญิง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS (http://bit.ly/2M7wi8l)

    วันที่ 6 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า เฟซบุ๊ก พนักงานสอบสวนหญิง เผยแพร่ภาพอกสารบันทึกข้อความสำนักงานกำลังพล ถึงผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เรื่อง ตำรวจอนุมัติแนวทางการสรรหาและผลิตกำลังพลในส่วนของนักเรียนนายร้อยตำรวจและนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของตำรวจประจำปีการศึกษา 2562 พร้อมระบุว่า จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ นรต.หญิง จะมีเพียง 10 รุ่นเท่านั้น รุ่น 66-75 ถือเป็นเกียรติประวัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ครั้งหนึ่งเคยมี นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง

    กลายเป็นประเด็นดราม่าที่สังคมโซเชียลให้ความสนใจ พร้อมตั้งข้อสังเกตุถึงความเหมาะสมโดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคมของชายหญิง หลายคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นทั้งเสียดายและเสียใจ และบางคนแสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจหญิง

    ขณะที่ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อธิบายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกการรับบุคคลภายนอกเพศหญิง และบุคคลภายนอกชาย รวมถึงนายสิบตำรวจเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) เป็นการถาวร จะเปิดรับ นรต. ที่มาจากนักเรียนเตรียมทหารซึ่งต้องผ่านโรงเรียนเตรียมทหารเท่านั้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นมติกลาโหมและสภาการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร ที่โรงเรียนเหล่าทุกเหล่าทัพก็รับแต่นักเรียนเตรียมทหารเข้าเหล่าเท่านั้น

    “นโยบายนี้ไม่ได้ปิดกั้นตำรวจหญิง และไม่กระทบกับกำลังตำรวจหญิง ที่ผ่านมามี นรต.หญิง 10 รุ่น เป็นกำลังพลที่มีศักยภาพ แต่เมื่อเป็นมติกลาโหมเราก็ยอมรับและไม่คัดค้านหรือทักท้วงอะไร เรายอมรับและปฏิบัติตาม ในส่วนของตำรวจหญิงที่จะทำหน้าที่พนักงานสอบสวนโดยเฉพาะคดีเพศและเด็กนั้น จะเปิดรับบุคคลภายนอกและอบรมเป็นพนักงานสอบสวนได้ เปิดรับปกติเหมือนที่ผ่านมา ส่วนจะรับสมัครคัดเลือกมากขึ้นหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ ต้องดูความเหมาะสม เรายังให้ความสำคัญกับตำรวจหญิง”

    ศาลปกครอง สั่ง รฟท. จ่าย “ประภัสร์ จงสงวน” กว่า 3 ล้าน เหตุเลิกจ้างไม่บอกล่วงหน้า

    นายประภัสร์ จงสงวน
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (http://bit.ly/2wSZjzc)

    เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรารายงานว่า วันที่ 5 กันยายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท./ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้เงินให้แก่นายประภัสร์ จงสงวน (ผู้ฟ้องคดี) กรณีการเลิกจ้างเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อนครบกำหนดในสัญญาจ้าง

    เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีมีกำหนดเวลาจ้างตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2558 แต่สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดเวลาจ้าง โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อีกทั้งการเลิกจ้างก็ไม่เข้าเหตุตามข้อ 5.3 ของข้อกำหนดในสัญญาที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

    ดังนั้น รฟท. (ผู้ถูกฟ้องคดี) จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราจ้างเดือนสุดท้ายหนึ่งเดือน และรับผิดชดใช้เงินค่าตอบแทนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายของผู้ฟ้องคดีคูณด้วยระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,139,452.05 บาท (รวมดอกเบี้ย)

    ทั้งนี้ นายประภัสร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ครบกำหนดสัญญาจ้างวันที่  17 พฤษภาคม 2558 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ หัวหน้า คสช. มีคำสั่งปลดนายประภัสร์ จงสงวน พ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ การรถไฟ ตั้งแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2557

    เตรียมปรับเพดานประกันสังคม เก็บสูงสุด 1,000 บาท

    วันที่ 5 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ WORKPOINTS NEWS รายงานว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างการดำเนินการ การปรับขยายเพดานเงินเดือน เพื่อเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในมาตรา 33 จากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท จากทั้งนายจ้างและลูกจ้างในอัตราที่เท่ากัน

    กล่าวคือ จากเดิมฐานเงินเดือนสูงสุดตามเกณฑ์จะอยู่ที่ 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 750 บาท แต่เมื่อปรับฐานเงินเดือนสูงสุดเป็น 20,000 บาท จะมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
    เงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท จ่ายสมทบ 750 บาท
    เงินเดือน16,000-20,000 บาท จ่ายสมทบ 800 บาท
    เงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จ่ายสมทบ 1,000 บาท

    นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน บอกว่า การขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดเป็น 20,000 บาท คิดอัตราเท่าเดิมที่ร้อยละ 5 จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 ประเภทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ว่างงานเพราะลาออกหรือเลิกจ้าง

    ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกันตนมีฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท ประกันสังคมจ่ายชดเชยกรณีเจ็บป่วยและทุพพลภาพ 10,000 บาท หากคลอดบุตรจะได้ 30,000 บาท ส่วนเงินสงเคราห์กรณีเสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบครบ 10 ปี จะได้ 120,000 บาท เงินชราภาพได้ 4,000 บาทต่อเดือน และหากว่างงานเพราะลาออกจะได้ 6,000 บาท แต่ถ้าถูกเลิกจ้างจะได้ 10,000 บาท

    ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เมื่อต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมก็ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นด้วย

    ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การขยายเพดานเงินเดือนให้ผู้ประกันตนเป็นเรื่องที่ดี และไม่เชื่อว่าจะกระทบผู้ประกอบการมากนัก เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสมทบในอัตราเท่ากันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายกำหนดเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบสูงสุดอยู่แล้ว

    ไต้ฝุ่นเซบีถล่มญี่ปุ่น อพยพกว่าล้าน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (http://bit.ly/2M85o0h)

    เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า ชาวญี่ปุ่นเผชิญภัยธรรมชาติครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อพายุไต้ฝุ่น “เชบี” พัดถล่มภาคตะวันตกและภาคกลางของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี หลังพายุลูกนี้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความเร็วลมกว่า 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

    ทั้งนี้ ไต้ฝุ่น “เชบี” มาจากภาษาเกาหลีแปลว่า นกนางแอ่น ขึ้นฝั่งที่เกาะชิโกกุ ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น แล้วเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าภูมิภาคคันไซทางภาคกลาง จากรายงานในพื้นที่นครโอซากา พบเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 2,591 ตัน ถูกคลื่นและแรงลมพัดจนชนกับตัวสะพานเชื่อมเมืองอิซุมิซาโนะกับสนามบินนานาชาติคันไซ ขณะในพื้นที่สนามบินมีรายงานน้ำท่วมบริเวณรันเวย์และชั้นใต้ดินของอาคารสนามบิน อาคารเก็บสินค้าส่งผลให้การสัญจรเป็นอัมพาต สายการบินต่างยกเลิกให้บริการกว่า 700 เที่ยวบิน

    ส่วนคลิปวิดีโอและภาพถ่ายของสื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นที่มีการแพร่ออกมา แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของไต้ฝุ่น รถบรรทุกสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ถูกกระแสลมพัดจนพลิกคว่ำหลายคัน เช่นเดียวกับ รถยนต์ส่วนตัวของชาวบ้าน ที่ถูกลมพัดหงายท้อง กีดขวางการจราจร ต้นไม้ล้มหักโค่น หรืออาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังเสียหาย ที่สถานีรถไฟนครเกียวโต มีรายงานเพดานกระจกพังถล่ม ส่งผลให้ผู้คนสัญจรไปมาได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนและอาจเพิ่มขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้เป็นชายอายุ 71 ปี ในจังหวัดชิกะ ถูกโกดังถล่มทับ ส่วนสำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 97 คน

    นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศ ยกเลิกกำหนดการเยือนภาคตะวันตกของญี่ปุ่น พร้อมสั่งคณะรัฐมนตรีและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้วางมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเตือนให้ประชาชนอพยพล่วงหน้าตามคำเตือนของหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวระบุว่า ได้ประกาศคำเตือนแนะนำให้อพยพแก่ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงกว่า 1.19 ล้านคน จากการประเมินเบื้องต้นยังพบว่าอาคารบ้านเรือนหลายหมื่นหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างหน่วยงานท้องถิ่นญี่ปุ่น ระบุว่า อาคารกว่า 175,000 หลัง ไม่มีไฟฟ้า

    ขณะที่นายเรียวตะ คุโรระ ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เผยมีความเป็นไปได้ว่าไต้ฝุ่นเชบีอาจส่งผลให้เกิดเหตุดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน คลื่น น้ำทะเลสูง ไปจนถึงฟ้าผ่า และพายุหมุนทอร์นาโดในหลายพื้นที่ โดยถือเป็นไต้ฝุ่นที่พัดถล่มญี่ปุ่นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ครั้งก่อนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 48 คน อย่างไรก็ตาม ดูจากทิศทางของไต้ฝุ่นแล้ว เชื่อว่าเชบีจะเคลื่อนตัวไปยังทะเลญี่ปุ่น ทางตอนเหนือของประเทศ ในวันเดียวกันและลดกำลังเป็นพายุไซโคลนในช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ย. /ถุๅ

    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ในช่วงกลางปี ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ากรณีคลื่นความร้อนทำลายสถิติ อุณหภูมิสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส เหตุพายุฝนในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลางเดือน ก.ค.ที่ส่งผลให้เกิดเหตุน้ำท่วม ดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน กรณีดังกล่าวทางการญี่ปุ่นชี้แจงว่า สาเหตุมาจากชาวบ้านละเลยคำเตือนอพยพ