ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 ก.พ. 2560
เผย “7 สนช.” ขาดประชุมจนอาจสิ้นสภาพ-บิ๊กป้อมยัน “ไม่ผิดจริยธรรม”
ในข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น มีการกำหนดไว้ว่า
“ข้อ 63 ในกรณีที่จะต้องมีมติของสภา ให้ประธานมีสัญญาณให้สมาชิกทราบ เพื่อแสดงตนก่อนลงมติ”
“ข้อ 82 สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาตามข้อ 63 เกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของแต่ละรอบระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ประธานสภากําหนด
กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม … มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ…”
จากการรายงานของเว็บไซต์ไอลอว์นั้น หากว่ากันตามข้อกำหนดดังกล่าว จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึง 7 ท่าน ที่อาจจะต้องสิ้นสภาพเนื่องจากลงมติไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนการลงมติในกรอบเวลา 90 วัน เว้นแต่ว่า สมาชิก สนช. ทั้ง 7 ท่านนั้น จะได้ทำหนังสือลาต่อประธาน สนช. ไว้ก่อนแล้ว
อนึ่ง โดยส่วนใหญ่แล้ว สมาชิก สนช. ที่ขาดประชุมจนน่ากังวลต่อสถานภาพดังกล่าว มักจะเป็นสมาชิก สนช. ที่ยังทำงานในฐานะข้าราชการควบคู่ไปด้วย
รายงานดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาทั้งในประเด็นของการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับของการประชุม สนช. รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงาน และความคุ้มค่ากับภาษีของประชาชน
จากรายงานของเว็บไซต์วอยซ์ทีวี วันที่ 15 ก.พ. 2560 พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า หากมีผู้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบก็ต้องรับเรื่องไว้ แต่ขณะนี้ทราบว่า ทางนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุด ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และหากหน่วยงานต้นสังกัดได้ตรวจสอบทุกด้านอย่างรอบคอบ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบอีก รวมทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นว่า บุคคลที่มีตำแหน่ง 2 ตำแหน่งพร้อมกันนั้นต้องแบ่งเวลาทำงานเพื่อให้มีความสมดุล ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่ต้องให้คำตักเตือนใดๆ อีก
ขณะที่ทางด้าน “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ให้ความเห็นยืนยันว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้ง 7 คนที่ขาดประชุมเกินกำหนดไม่ผิดจริยธรรม เนื่องจากมีการลาอย่างถูกต้องตามระเบียบของสภาฯ อีกทั้งการลาดังกล่าวยังลาไปปฏิบัติราชการ ตนได้พูดคุยกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้ตั้งกรรมการสอบตามระเบียบ ซึ่งนายพรเพชรก็ให้ความเห็นว่า สมาชิก สนช. ทั้ง 7 คนทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เพียงแต่ไม่สามารถมาลงมติได้ เนื่องจากหลายคนรับราชการทหารและมีภารกิจมากไม่มีเจตนาขาดการประชุม เช่น พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ หรือ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งยืนยันว่าการสวมหมวกหลายใบไม่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าไม่ครบถ้วน เช่น ตนก็มีหลายหน้าที่ เกือบ 20 ตำแหน่ง บางตำแหน่งก็ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ แต่ก็สามารถทำออกมาได้อย่างดี
พาณิชย์-กรมบังคับคดี” จ่อยึดทรัพย์ 6 ข้าราชการ
วันที่ 11 ก.พ. 2560 เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีทางปกครองของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ร่วมกับกรมบังคับคดี ดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง อยู่ในกระบวนการสืบทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 รายดังกล่าว
โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งข้อมูลเบื้องต้น และจะมีหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ มาดำเนินการตั้งเรื่องกับกรมบังคับคดีดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับการประสานจากกรมบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งหน่วยงานทั้งสองจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามกระบวนการให้ถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของรัฐต่อไป
แจ้งจับหมิ่นประมาท เสวนา “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร”
วันที่ 14 ก.พ. 2560 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า จากกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 โดยมีนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พล.ต.อ. วสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีต รมช.มหาดไทย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ต.อ. วรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชัยนาท นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ สื่อสารมวลชนด้านยานยนต์ และ ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ม.บูรพา ภายหลังการจัดงานได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การการทำงานของตำรวจเป็นอย่างมาก
เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 14 ก.พ. 2560 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ได้เปิดเผยกรณีดังกล่าวว่า ทาง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มีหนังสือมาถึงตนชี้แจงรายละเอียดต่างๆ และมอบหมายให้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี กับกลุ่มนักวิชาการที่จัดงานเสวนาดังกล่าว ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา ซึ่งตนก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าแจ้งความดำเนินคดีกับใครบ้าง ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก่อนและดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2560 พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ.ต.อ. วรวิทย์ ญาณจินดา รรท.ผกก.ฝอ.8 บก.อก.บช.น. ไปแจ้งความร้องุทกข์ กับ พ.ต.ท. ยุต ทองอยู่ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ลุมพินี ในคดีอาญา ที่ 118/60 ลง 10 ก.พ. 2560 เวลา 14.30 น. ที่มีการกระทำความผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด กรณีการเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หัวข้อเรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเนื้อหาของการเสวนาดังกล่าว ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจในทางเสื่อมเสีย และเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของหน่วยงานเสียหาย เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถมอบอำนาจช่วงได้และดำเนินการใดๆ อันเกี่ยวกับคดีอาญาดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับผู้ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีได้แก่ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต รอง ผบก.ภ.จว.ชัยนาท
งัด ม.44 ลุยจับธัมมชโยยังวืด –“ไพบูลย์” มั่นใจ แนะ รอบคอบ-อย่ารีบร้อน
หลังจากที่ความพยายามจับกุมตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ล้มเหลวมาหลายครั้ง ในที่สุดมีการประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกาศ ให้พื้นที่บริเวณวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่พิเศษ ป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปข้างในและผลักดันผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในวัดออกจากพื้นที่ เพื่อให้ปฏิบัติการค้นหาตัวผู้ต้องหา หรือก็คือพระธัมมชโย สัมฤทธิ์ผลด้วยความเรียบร้อย โดยหากมีใครขัดขวาง ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่งนี้ ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทว่า แม้จะมีการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวแล้ว แต่การปฏิบัติการในวันแรก (16 ก.พ. 2560) ก็ประสบความล้มเหลว เพราะแม้จะเข้าตรวจค้นในพื้นที่ที่มีข้อมูลว่าเป็นที่รักษาตัวของพระธัมมชโย แต่ก็ไม่พบตัวพระธัมมชโยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 ก.พ. 2559 ซึ่งมีการตรวจค้นวัดพระธรรมกายเป็นวันที่ 2 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชื่อว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย เพราะทั้งพระธัมมชโย ลูกศิษย์ และพระในวัดพระธรรมกาย ล้วนแต่เชื่อมั่นว่าหากมีคดีขึ้น การหลบอยู่ที่บริเวณวัดพระธรรมกายเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่กว้างถึง 2,000 กว่าไร่ มีกลุ่มอาคารมากมาย พื้นที่หลายล้านตารางเมตร มีห้องเป็นพันๆ ห้อง เป็นเหมือนเมืองเมืองหนึ่ง เห็นได้จากล่าสุด นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีคดีโดนออกหมายจับ และสังคมคาดว่าหนีออกนอกประเทศหรือหลบอยู่ต่างจังหวัดไกล แต่ปรากฏว่าเมื่อมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ในดึกคืนวันที่ 15 ก.พ. 2560 ก่อนที่มีจะมีการประกาศใช้ มาตรา 44 ก็พบว่าหลบหนีซ่อนตัวอยู่ในวัดพระธรรมกาย เช่นเดียวกันกับภิกษุในวัดทุกรูปที่มีคดี ก็ไม่มีผู้ใดหลบหนีจากวัดพระธรรมกาย ดังนั้นจึงมั่นใจว่าพระธัมมชโยในฐานะเป็นผู้สร้างวัดมาด้วยตนเองและมีอายุสูงวัย รวมทั้งไม่มีพาสปอร์ต ยังคงหลบอยู่ในเขตวัดพระธรรมกายจุดใดจุดหนึ่งในอาคารที่มีที่หลบซ่อนได้มากมาย
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ในการเข้าค้นวัดครั้งสุดท้ายโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ดีเอสไอต้องใช้เวลาค้นหาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะกี่วันกี่สัปดาห์หรือเป็นเดือน ถ้าค้นหายังไม่เจอก็ต้องวางกำลังค้นหาอยู่ในวัดจนกว่าจะเจอ เป็นห่วงว่าถ้าประกาศเร็วไปว่าค้นจนทั่วแล้วพบว่าไม่อยู่ในวัดพระธรรมกาย แล้วถอนกำลังออกมาหมด หากต่อมามีคนออกมาเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วพระธัมมชโยยังแอบซ่อนอยู่ในวัดไม่ได้หลบไปอยู่ที่อื่น ก็จะทำให้การปฎิบัติการโดยอาศัยคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ครั้งนี้เสียหาย กระทบต่อชื่อเสียงของ คสช. และรัฐบาลด้วย จึงขอให้ระมัดระวังอย่ารีบร้อน
ลอบสังหาร “คิมผู้พี่” คาสนามบินมาเลย์
วันที่ 14 ก.พ. เว็บไซต์ข่าวสดรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักว่า คิม จองนัม พี่ชายต่างมารดาของ คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเหาลีเหนือ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตที่ท่าอากาศยานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ต่อมา ตามรายงานของเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อมีการควบคุมตัวหญิงผู้ต้องสงสัย 2 คน ผู้ต้องสงสัยคนแรกให้การว่า ตนเดินทางมาท่องเที่ยวมาเลเซียพร้อมกับชาย 4 คนและหญิง 1 คน โดยชายกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจ้างเธอให้ฉีดสเปรย์ใส่นายคิม จองนัม ที่สนามบิน โดยบอกว่าเป็นเพียงการแกล้งกันเท่านั้น ส่วนหญิงอีกคนนั้นใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากนายคิม จองนัม ขณะที่ฉีดสเปรย์ใส่เขา
มีการสันนิษฐานการอย่างกว้างขวางว่า ทางการเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ และหญิงทั้งสองคนนั้นคือสายลับที่ถูกส่งมาปฏิบัติการลอบสังหารดังกล่าว แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนแต่อย่างใด