เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวการประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2561 มีมติ 5:2 เสียงคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 27 หรือ 3 ปีครึ่งตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แม้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลงเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่กรรมการอีก 2 คน เห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการด่าเนินนโยบายการเงิน (policy space) ส่าหรับอนาคต
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีการเปลี่ยนกรรมการ 1 คนคือ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แทนที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ กนง. ส่งสัญญาณเรื่องการเริ่มเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 แม้ว่าจะเริ่มเสียงแตกมาตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 และเป็นครั้งแรกในเอกสารแถลงข่าวที่ระบุว่าความจำเป็นของนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลายที่ทยอยลดลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม นายจาตุรงค์ระบุว่า กนง. จะต้องติดตามและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีการปรับปรุงและนำเสนอต่อ กนง. ทุกครั้งที่ประชุม แม้ว่าจะได้ไม่ปรับประมาณเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ชี้เศรษฐกิจกลับมาโตจากภายในชัดเจน
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงบ้างจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทยซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบได้บางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการมาตรการดังกล่าว
“เรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าได้รวมผลกระทบบางส่วนเข้ามาบ้างแล้วในปี 2562 แต่คิดว่าไม่กระทบมากเพราะรูปแบบการค้าหรือการย้ายฐานปรับฐานการผลิต การส่งออกนำเข้าก็ไม่ได้รวดเร็วขนาดนั้น ส่วนหลังจากนั้นยังเป็นความไม่แน่นอน ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะกระทบทางบวกหรือทางลบกับประเทศ เรื่องนี้ต้องบอกว่าความยากคือไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะจบอย่างไร ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย แล้วการปรับตัวของผู้ส่งออกนำเข้าจะเป็นอย่างไร ก็เลยยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ในการพิจารณา แต่อย่างที่เรียนไปครั้งที่แล้ว คือถ้าไม่มีเรื่องนี้เข้ามา การส่งออกในปีหน้าจริงๆ จะประมาณการณ์ไว้สูงกว่านี้เป็นที่ประมาณ 5% ด้วย แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 4.3% ส่วนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอีกเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร”
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามปัจจัยสนับสนุนจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากข้อจ่ากัดด้านการเบิกจ่าย ส่าหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังไทย แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ และเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่อาจประกาศเพิ่มเติมและมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าส่าคัญ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจ ธปท. ไม่ได้ปรับประมาณการจีดีพี โดยคงไว้ที่ 4.4% และ 4.2% ในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ โดยในปี 2561 ได้ปรับการบริโภคภาคเอกชนและการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น คงการประมาณการการลงทุนของเอกชนและการส่งออก และที่เหลือปรับลดลง ขณะที่ในปี 2562 ได้ปรับการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่เหลือได้ปรับประมาณการลดลง
“จะเห็นว่าแม้ตัวเลขจีดีพีจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทั้งปี 2561 และ 2562 แต่ไส้ในจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างไปโดยปี 2562 คาดว่าการส่งออกจะชะลอลงบ้าง โดยมีการชดเชยจากปัจจัยภายในประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคของเอกชนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนปี 2561 ที่ปีนี้ออกมาดีแต่ไม่ได้ปรับประมาณการขึ้น เพราะมีทั้งตัวที่ลดลงและเพิ่มขึ้นมาชดเชยกัน อย่างนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลระยะสั้นมากกว่า หรือการใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้าและเลื่อนไปในปีหน้า ส่วนการบริโภคในปีนี้กลับเพิ่มขึ้นมาชดเชยได้แบบนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ดี เหตุใด ธปท. จึงปรับประมาณการการบริโภคเอกชนเพิ่มขึ้นสวนทางกัน นายจาตุรงค์กล่าวว่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา กนง. กังวลภาพเรื่องความไม่กระจายตัวของการบริโภค ซึ่งในช่วงหลังก็เห็นการส่งผ่านที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านรายได้ที่กระจายมากขึ้นจากการจ้างงานที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางและสูงยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยระยะหลังจะเห็นการเติบโตมากกว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ในภาพรวมการบริโภคยังเพิ่มขึ้นได้แม้ว่าหนี้จะยังอยู่ในระดับสูง
“เรื่องรายได้ปัจจุบันจะเห็นว่าเพิ่มเร็วกว่าหนี้ แต่ไม่มากนัก ส่วนหนี้ก็โตชะลอตัวลง ปัจจุบันโตต่ำกว่า 10% จากเดิมที่จะเห็นการเติบโตของหนี้มากกว่านั้น ทำให้พอเทียบกับจีดีพีก็ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาคืออยู่ที่ประมาณ 77.6% ในไตรมาสแรก ดังนั้น ในมุมนี้หากรายได้ยังเติบโตทันกับหนี้ก็ยังถือว่าโอเค คือคนที่มีศักยภาพก็สมควรเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้ แต่ กนง. จะกังวลเรื่องมาตรฐานให้พอดี” นายจาตุรงค์
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิมแต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ท่าให้ต้นทุนการผลิตลดลง สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมค่อนข้างทรงตัว
ส่งสัญญาณกังวลพฤติกรรมเสี่ยงในระบบการเงิน
ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน นับจากการประชุมครั้งก่อนเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในมุมที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย หรือเกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยตรง
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (under pricing of risks)
นอกจากนี้ กนง. แสดงความกังวลต่อภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งให้ติดตามภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่ ตลอดจนพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการท่าธุรกิจ
ทั้งนี้ ในระยะหลัง กนง. เริ่มส่งสัญญาณความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในการประชุม 2 ครั้งหลังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในครั้งนี้ระบุถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนนี้ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นให้สินเชื่อเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่สูงขึ้น การขยายระยะเวลากู้เงินออกไป โดย กนง. ได้มองว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร และไม่อยากให้แข่งขันกันมากจนเกินไป รวมทั้งการส่งสัญญาณความกังวลต่อพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนจากเดิมที่ให้ติดตามความสามารถในการช่าระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย
“ตรงส่วนนี้ ธปท. ก็มีเครื่องมือเชิงนโยบายทั้ง Micro และ Macro Prudential ที่สามารถนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสม โดย Micro อาจจะเน้นไปที่หน้าที่ของฝ่ายสถาบันการเงินและกำกับดูแลเป็นรายแห่งไป ส่วน Macro จะเน้นไปที่เมื่อมีปัญหาเชิงระบบ คือทุกคนมีปัญหาเหมือนกัน” นายจาตุรงค์กล่าว