ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. 6:1 คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 26 ครั้ง ระบุ”ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันจะน้อยลงเรื่อยๆ”

กนง. 6:1 คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 26 ครั้ง ระบุ”ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันจะน้อยลงเรื่อยๆ”

8 สิงหาคม 2018


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2561 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เป็นครั้งที่ 26 ติดต่อกันนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ขณะที่กรรมการ 1 คนเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร และควรขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

“เรื่องกรอบเวลาของการขึ้นดอกเบี้ย หรือ normalization หรือการเพิ่มพื้นที่นโยบาย ทุกครั้งมีการพูดถึง แต่ต้องเรียนว่าความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันจะน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายรวมครั้งนี้ ส่วนจะให้บอกว่าตรงไหนจะเป็นจุดที่ทำให้ต้องขึ้น กนง. ไม่ได้ระบุเอาไว้ชัดเจน ถ้าดูทางด้านเศรษฐกิจตอนนี้ภาพรวมใหญ่เติบโตได้เต็มศักยภาพแล้ว ไม่ได้พูดถึงเศรษฐกิจลึกลงไปในแต่ละภาคๆ แต่ตัวศักยภาพเองมันจะยังเพิ่มได้อีกถ้าการลงทุนเอกชนมามากขึ้น มันจะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ มันจะโตขึ้นไปอีกได้ แต่ศักยภาพ ณ ปัจจุบัน มันค่อนข้างเต็มแล้ว” นายจาตุรงค์กล่าว

นายจาตุรงค์กล่าวต่อไปว่า ในรายละเอียดเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากผลดีของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ก่าลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ สำหรับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้หลังเกิดเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำและความผันผวนค่อนข้างมากจากราคาอาหารสดที่ผันผวนตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป กนง. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีตแม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมค่อนข้างทรงตัว

“สำหรับการท่องเที่ยวจะกระทบแค่ไหนอาจะยังให้ตัวเลขไม่ได้ เพราะมีความไม่แน่นอนสูงมากจากที่ลงพื้นที่ไปในชายฝั่งอันดามันหรือภูเก็ต แต่ที่ผ่านมาก็มักจะฟื้นตัวได้และในครั้งนี้ยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นนอกจากจีนที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ในภาคส่งออกคิดว่าจะสามารถมาชดเชยได้ โดยเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น พวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เรียกว่าเป็นการปรับหรือรวมสายพานการผลิตใหม่ ส่วนสงครามการค้าคิดว่าในระยะสั้นจะไม่ได้กระทบมาก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และตอนนี้เป็นความเสี่ยงด้านต่ำพอสมควรจากปริมาณที่คุยตอบโต้กันไปมา ขณะที่การลงทุนของเอกชนก็เห็นฟื้นตัวกลับมามากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นการฟื้นตัวของการจ้างงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านไปยังกำลังซื้อและการบริโภคภาพรวมจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในกลุ่มบนและปานกลางมาเกือบ 9 เดือนแล้ว ขณะที่กลุ่มล่างอาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวแรงเท่ากลุ่มแรก ซึ่งอาจจะมีผลจากภาระหนี้ที่ฉุดไว้อยู่ แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ จากการบริโภคสินค้าไม่คงทน จากเดิมที่เห็นเฉพาะสินค้าคงทน” นายจาตุรงค์กล่าว

นายจาตุรงค์กล่าวว่า ในด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวใกล้เคียงเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า โดยค่าเงินบาทมีทิศทางสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนเนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และติดตามความสามารถในการช่าระหนี้ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

“เรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. มองว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นตัวที่ต้องติดตาม จากที่การประชุมร่วม กนง. กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือ กนส. จะเห็นว่ามูลค่าหนี้ต่อมูลค่าของสินทรัพย์ (loan-to-value) เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าหนี้ต่อรายได้ (LTI) ก็สูงขึ้นด้วย การปล่อยเอาไว้นานๆ อาจจะสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ นอกจากนี้ ถ้าดูบริบททิศทางนโยบายการเงินในอนาคตจากที่ผ่อนคลาย หากวันหนึ่งกลับมาตึงตัวมากขึ้นอาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำ แต่ส่วนนี้ต้องมองมิติของรายได้ด้วยว่าถ้ารายได้ครัวเรือนสามารถสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหรือการจ้างงานที่กระจายตัวมากขึ้นก็อาจจะช่วยได้ หรือเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอียังเห็นว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ในบางประเภท แต่ กนง. ก็มองว่าเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้างก็ควรจะใช้นโยบายเชิงโครงสร้างแก้ไขมากกว่าใช้นโยบายการเงินในภาพรวม” นายจาตุรงค์กล่าว

มอง 3 ปีนโยบายการเงินโลก-ไทย

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปดูนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักและไทยตั้งแต่ที่ กนง. ของไทยลดดอกเบี้ยล่าสุด 2 ครั้งในปี 2558 จะพบว่าหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินกลับขึ้นมาอย่างชัดเจน เริ่มจากระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่เริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นมาถึง 7 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) ได้ปรับดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้งในระยะหลังและปรับลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังปรับลดดอกเบี้ยกันคนละ 1 ครั้ง แต่เป็นการปรับดอกเบี้ยลงมาที่ระดับติดลบในช่วงแรกๆ ก่อนจะดำเนินนโยบายการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี ซึ่งในระยะหลังก็ได้ส่งสัญญาณปรับลดหรือไม่เพิ่มปริมาณการอัดฉีดแล้ว และสุดท้ายมีเพียงธนาคารประชาชนจีน (PBOC) เท่านั้นที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 5 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2559