ปรากฏการณ์จิตอาสากรณีการช่วยเหลือโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่า 13 คน ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ย่อมตอกย้ำพลังจิตอาสาที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้เสมอ
จิตอาสาเป็นกิจกรรมที่ทุกคนพร้อมออกมาทำทันทีที่มีการร้องขอ หรือชักชวนกันไปทำเองด้วยจิตสำนึกส่วนตัวที่ตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นเป้าหมาย
จิตอาสาจึงเป็นการขับเคลื่อนที่สามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดตัว TCP Spirit โครงการอาสาสมัครแนวใหม่ มุ่งรวมพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน โดยกิจกรรมจิตอาสาในวันนั้นเป็น “หมอต้นไม้” โดยเชื่อว่าพลังคนรุ่นใหม่หัวใจอาสาและภาคี จะสามารถช่วยกันทำให้ต้นไม้ใหญ่ในเมืองได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี
เมื่อถามว่าทำไม TCP เลือกกิจกรรมจิตอาสาในการขับเคลื่อนสังคม นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าคนยุคนี้เขาอยากทำ คนยุคใหม่มีความรู้ มีประสบการณ์ จากที่เราได้สัมผัสจิตอาสามา เขาอยากทำอะไรบางอย่างที่จะช่วยเปลี่ยนให้สังคม ชุมชนดีขึ้น รวมทั้งตัวเขาเองให้ดีขึ้น ผมว่าคนที่อยากทำเพื่อส่วนรวมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าเวทีไหนที่เขาจะไปได้ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จัดกิจกรรมเป็นเรื่องเป็นราว ชวนจิตอาสามาร่วมกิจกรรม ผมว่าเทรนด์จิตอาสาเป็นเทรนด์ขาขึ้น เขามากับเราแล้วเขาไปขยายวงต่อในกลุ่มของเขา เราอยากให้มีคนใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ”
นายสราวุฒิกล่าวต่อว่า “สิ่งเราคาดหวัง เป็นสโลแกนของเราอยู่แล้ว คือส่งต่อพลัง ความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรมทำในวันนี้ แม้จะมีจิตอาสาแค่ 160 คน แต่หากเขาสามารถต่อยอดได้ ก็จะกระจายไปได้เรื่อยๆ หวังว่าคนเหล่านี้เมื่อเขามีความรู้มากขึ้น เขานำไปใช้ ได้แรงบันดาลใจ ไปทำต่อกันเองในกลุ่มของเขา ผมเชื่อว่าคนที่อยากทำความดีเพื่อสังคมมีเยอะมาก เวลาเกิดวิกฤติมีจิตอาสามากมาย ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็อยากส่งต่อพลัง ใครคิดอะไรได้ อยากทำ ทำได้เลย ไม่ต้องรอ”
สำหรับ TCP Spirit เป็นโครงการที่เน้นการทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัคร และภาคีเครือข่ายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสนับสนุนให้เหล่าอาสาสมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัวเรา ผ่านทางกิจกรรมที่สอดแทรกสาระความรู้ แฝงความสนุกสนาน และประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมกับได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน และเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้ว อาสาสมัครสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง ชุมชน และสังคมได้
“เป็นปณิธานตั้งแต่สมัยคุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ปลูกฝังว่าเราทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องตอบแทนสังคม เรามีกำลังแค่ไหนก็ทำตามนั้น รูปแบบการทำกิจกรรรมเพื่อสังคม เปลี่ยนมาเรื่อยๆ ปี 2530 ทำโครงการอีสานเขียวร่วมกับภาครัฐ ทำเรื่องความยั่งยืนในภาคอีกสาน ต่อมาเรื่องการรักษาพยาบาล ต่อมา 10 ปีที่แล้ว เรามีความคิดว่านอกจากเราทำคนเดียวแล้ว เราชวนอาสาคนทั่วไปมาร่วมกันทำ หรือเรื่องที่อาสาสนใจและบริษัทเห็นพ้อง เราก็ให้การสนับสนุน เดิมชื่อเรดบูลสปิริต เริ่มทำในปี 2550 เราทำมาเรื่อย ปีนี้เป็นปีที่เปลี่ยนชื่อเป็น TCP Spirit เพราะมีการรีแบรนดิ้งคอร์ปอเรต แต่กิจกรรมยังเน้นเรื่องสร้างความยั่งยืนให้สังคมและทำงานร่วมกับอาสาสมัคร” นายสราวุฒิกล่าว
โดยย้ำว่าเจตนารมณ์ของการทำโครงการ TCP Spirit ยังเหมือนเดิม ไม่ต่างจากโครงการจิตอาสาที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเรดบูลสปิริต เป็นกระทิงแดงสปิริต และเป็น TCP Spirit ในวันนี้ เรายังคงมุ่งมั่นทำกิจกรรมกับอาสาสมัคร เพราะเราเชื่อว่าอาสาสมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ทุกคนมีพลังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเอง สังคม หรือชุมชนให้ดีขึ้นได้ ขอเพียงมีใจที่มุ่งมั่นและพร้อมที่จะลงมือทำ โครงการ TCP Spirit ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงใจอาสา ร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมหมอต้นไม้ ที่จัดขึ้นในวันนั้นเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของ TCP Spirit เดอะคลาวด์ และกลุ่มบิ๊กทรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งหวังให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ และเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี เพราะต้นไม้ใหญ่ไม่เพียงจะเป็นที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติ รักษาความชุ่มชื่น รักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศ ช่วยฟอกอากาศ ป้องกันฝุ่น และทำให้คนเมืองมีสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ต้นไม้ที่มีอายุมากยังเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ที่จะคอยบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของชุมชนให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ แต่ปัญหาที่พบคือต้นไม้ใหญ่ในเมืองไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดความรู้ ขาดอุปกรณ์ในการดูแลต้นไม้ใหญ่ที่เป็นสมบัติของเมือง ขณะเดียวกัน ระดับประชาชนทั่วไปก็ขาดความรู้เรื่องการดูแลต้นไม้ในบ้านของตัวเองเช่นกัน
“กิจกรรมหมอต้นไม้ จึงเน้นการดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมาก มากกว่าการปลูกต้นไม้ใหม่ กิจกรรมนี้ไม่เพียงจะสนับสนุนให้เกิดการดูแลต้นไม้ในเมืองอย่างถูกวิธีเท่านั้น แต่เมื่ออาสาได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ และได้นำประสบการณ์กลับไปใช้ที่บ้าน หรือในชุมชน จนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มุ่งมั่นจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน” นายสราวุฒิกล่าว
อาสาสมัครทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมหมอต้นไม้กับโครงการ TCP Spirit จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้อย่างเจาะลึก ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ไม้ การเพาะกล้าไม้ ลักษณะของต้นไม้ที่แข็งแรง การดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ รวมถึงการตัดแต่งกิ่งไม้อย่างถูกต้อง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ณ บริเวณเกาะลอย สวนลุมพินี กรุงเทพฯ
นอกจากนั้นยังมีแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของโครงการ TCP Spirit นายอเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดง โดยบอกว่า “เมื่อก่อนไม่เคยสนใจสิ่งแวดล้อม EM เป็นวิชาสุดท้ายที่เราจะเลือก มันไม่เท่ ไม่ต้องเรียนเราก็ดูแลสิ่งแวดล้อมเองได้ แต่พอเรามาอยู่กับช้าง เด็ก มาทำจิตอาสา มีความรู้มากขึ้นจาก 1-2-3-4 เห็นภาพรวมมากขึ้น เห็นว่าทุกอย่างเชื่อมโยงไปหมด และเราอยู่ในวงกลมทั้งวง การดูแลวงกลม หากใครสักคนทำตัวเป็นเจ้าของวงกลมนั้น ทุกคนในวงกลมก็ลำบากไปหมด”
พร้อมกล่าวต่อว่า “พอเราทำมาทำจิตอาสา เราได้ใช้เฟซบุ๊ก ไอจี ได้ใช้ชื่อเสียงของเราให้เป็นประโยชน์ สื่อพวกนี้ตอนแรกเราเห็นเป็นโจ๊ก ก็เล่นขำๆ ไป ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ พอเราเห็น ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เราเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบอกต่อได้ เรามีแฟนคลับ พยายามใช้ตัวเองให้เป็นประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ เท่าที่มีเวลาและแรงที่เรามี”
“จริงๆ ตอนเริ่มดำน้ำเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ต่างประเทศ พอลงไปเห็น ชีวิตเปลี่ยน มันสวยมาก เรามีความรู้สึกที่ดีกับธรรมชาติ กับโลกใต้น้ำ เริ่มพาให้ท่องเที่ยวแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ พอเที่ยวมากขึ้น นำไปสู่ความคิดที่อยากรักษา อยากปกป้อง”
และย้ำว่า “เราใช้ทรัพยากรมากมายในการทำมาหากิน หาความสุขให้ตัวเอง จะบอกว่าไม่ใช้เลยคงจะหลอกตัวเอง แต่อยู่ที่การตัดสินของมนุษย์ การที่เราสร้างอาสาสมัครในวันนี้ เราสร้างคนให้ตัดสินดีขึ้นในอนาคต อาสาสมัครวันนี้ใน 20 ปีข้างหน้า หากเขาเป็นผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจ แค่นี้โลกเราก็ดีขึ้นแล้วครับ”
“ตอนนี้เรียนมหิดล ป.โท สิ่งแวดล้อมศึกษา ผมกำลังทำศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย เราทำแล้วเราโฟกัสที่การบริหารจัดการ ต้องมีความรู้เรื่องนี้ ผมตั้งบริษัทมา 4 ปี เปิดค่ายสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ทำโครงการซีเอสอาร์ให้บริษัทต่างๆ สอนเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาส ขยายฐานไปเรื่อยๆ” นายอเล็กซ์กล่าว
อนึ่ง โครงการ TCP Spirit มีแผนที่จะไปทำกิจกรรมหมอต้นไม้อีกครั้งในช่วงปลายปีที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับโครงการ TCP Spirit ได้ที่ www.tcpspirit.com