ThaiPublica > เกาะกระแส > บันทึกภาคประชาชน : เก็บตกประชาชนของพระราชา – สื่อต่างประเทศร่วมพระราชพิธี 318 คน  86 สำนัก

บันทึกภาคประชาชน : เก็บตกประชาชนของพระราชา – สื่อต่างประเทศร่วมพระราชพิธี 318 คน  86 สำนัก

26 ตุลาคม 2017


เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นที่เจ้าหน้าที่เริ่มเปิดจุดคัดกรองให้ประชาชนที่ต้องการชมริ้วกระบวนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาจับจองพื้นที่ใกล้บริเวณท้องสนามหลวงมณฑลพิธีตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2560 เพื่อที่จะส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ณ จุดที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคคลบาทที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยภาระหน้าที่ที่แตกต่างกันไปประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเดินทางมาในวันที่ 25 ตุลาคม แม้จะมีการปิดจุดคัดกรองเพื่อประกอบพระราชพิธีในช่วงบ่ายและไม่แน่ชัดว่าจะเปิดเมื่อไร แล้วจะมีโอกาสได้เข้าไปยังจุดที่จะเห็นริ้วขบวนพระราชพิธีฯ หรือไม่ แต่เพียงแค่ได้เห็นยอดพระเมรุมาศอยู่ในสายตาก็เพียงพอแล้ว (ขณะนั้นมีประชาชนอยู่พื้นที่ชั้นในแล้ว 23,000 คน จากที่พื้นที่ทั้งหมดสามารถรองรับได้จำนวน 1 แสนคน) ด้านประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็นผู้บริการคอยอำนวยความสะดวก แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้ที่เดินทางมาร่วมงานพระราชพิธี

ประชาชนรอรถเมล์เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดที่ใกล้สนามหลวงที่สุด
แถวประชาชนเพื่อรอเข้าจุดคัดกรองที่ 9

เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้สื่อข่าวนั่งรถเมล์สาย 53 ที่ให้บริการประชาชนฟรีมายังบริเวณแยกบางลำภู ซึ่งขณะนั้นมีประชาชนต่อแถวเพื่อรอผ่านจุดคัดกรองที่ 9 บริเวณใต้สะพานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยาวมาถึงสี่แยกดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจอยู่ 2 มุมของแยก โดยปริมาณประชาชนที่เดินเท้าเข้าสู่ถนนจักรพงษ์ เพื่อไปยังถนนราชดำเนินบางตากว่าฝั่งถนนพระสุเมรุ ที่จะไปยังจุดคัดกรองที่ 9 มาก ระหว่างทางเดินไปยังถนนราชดำเนินร้านค้าบางส่วนยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ขณะที่บางแห่งเปลี่ยนร้านเป็นจุดบริการประชาชน ให้บริการน้ำ ข้าวฟรี ทำหน้าที่เป็นจิตอาสาอย่างตั้งใจแม้จะไม่ได้สมัครเข้าร่วมกับส่วนกลางงานพระราชพิธีฯ ก็ตาม

เมื่อเดินเท้าถึงเข้าสู่ถนนราชดำเนินผู้คนหนาตาขึ้นมาก ประชาชนทุกเพศทุกวัยจับจองพื้นที่ 2 ข้างทางพักผ่อนอิริยาบถ มีจิตอาสางานพระราชพิธีฯ เดินให้บริการอาหาร น้ำดื่ม ยาดม จุดทิ้งขยะเป็นระยะ ถนนราชดำเนินถูกแบ่งเป็น 3 เลนส์ ตามที่กองอำนวยการพระราชพิธีฯ วางแผนไว้ ให้ช่องทางด้านหนึ่งสำหรับขบวนรถบุคคลสำคัญ อีกด้านหนึ่งฝั่งกองสลากเก่า แบ่งเป็นพื้นที่ของประชาชน และถนนฉุกเฉิน โดยบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้จุดคัดกรองที่ 4 พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งมีประชาชนต่อแถวรอผ่านจุดคัดกรองเป็นจำนวนมากจนไม่เห็นหางแถว

ร้อยตรี สุวัฒน์ อนันตสุข อดีตนายทหารรักษาพระองค์

ร้อยตรี สุวัฒน์ อนันตสุข อดีตนายทหารรักษาพระองค์ ในวัย 82 นั่งพักผ่อนอยู่หน้าพระเมรุมาศจำลอง บริเวณกองสลากเก่าหลังจากเดินทางมาจาก จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่เช้าตรู่ แต่กว่าจะได้เข้ามายังบริเวณถนนราชดำเนินก็เป็นเวลาบ่ายคล้อย โดยคุณลุงกล่าวว่าตนนั้นเดินทางมาโดยรถตู้ บขส.ราคา 100 บาท มาลงที่สถานีขนส่งหมอชิต แล้วต่อรถเมล์ที่ให้บริการรับส่งประชาชนฟรีเข้ามายังบริเวณท้องสนามหลวง และตั้งใจจะปักหลักอยู่บริเวณหน้ากองสลากเก่าจนกว่าพระราชพิธีจะเสร็จ เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคคลบาท ในกองพลที่1รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) จนเกษียณอายุราชการทำให้คุณลุงตั้งใจที่จะมาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงแห่งนี้

“เพิ่งมาถึงประมาณ 14.00 น.ได้ ก็คงจะอยู่ได้แค่นี้ กว่าจะเข้ามานั่งตรงนี้ได้จิตอาสาก็พามาส่ง จะเข้าจุดคัดกรองตรงนั้น (จุดคัดกรองพระแม่ธรณีบีบมวยผม) ก็เข้าไม่ได้แล้ว เราตั้งใจมาคนเดียวครั้งนี้ไม่ได้ติดต่อญาติที่ไหน ลูกที่อยู่ภูเก็ตก็เป็นห่วง เพราะขาไม่ค่อยดี เขาก็บอกว่าอย่ามาเลย แต่เขาก็รู้ว่าเราเคยปฏิบัติหน้าที่รับใช้ท่าน มีตรา ภปร. ติดอยู่ที่น่าอก เรียกง่ายๆ คือเป็นข้ารับใช้ท่าน พล.1 รอ. สมัยรับราชการก็ทำงานในนามของท่าน ผมรักเกียรติยศคำว่า ภปร.ผมรักมากในหลวง เคยรบในสงครามเวียดนาม เลือดมันเข้ม มาลำบากแค่นี้เรื่องเล็ก ผมเคยนอนพื้นลูกรัง เคยนอนป่า ในสมัยที่ท่านเสด็จไปทางภาคอีสาน”

อดีตนายทหารรักษาพระองค์ เล่าว่าตนมีโอกาสได้ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2489 เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วได้มีโอกาสเข้าเฝ้าท่านอีกครั้งในพื้นที่ภาคสนามที่ตนต้องไปปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในปี 2508 และมาร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพของราชวงศ์ทุกครั้งตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตเรื่อยมา

“ที่เราเข้าพื้นที่ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ท่านก็เสด็จไปเยี่ยมตามฐาน ท่านทรงนั่งลงก็มีพระราชปฏิสันถารด้วยว่า สบายดีไหม ลำบากไหม เป็นอย่างไร ซึ่งเราก็อยู่ในหลุมหลบภัย เราจะกราบท่านก็บอกว่าไม่ต้อง ก็ทูลท่านไปว่าสบายดี ไม่ลำบาก สิ่งที่ทำให้ผมศรัทธาในตัวทานคือ ท่านทรงทำโครงการตั้งกี่พันโครงการ ผมไม่มีโอกาสตามเสด็จ แต่ก็ได้พบพระพักต์ท่านที่ จ. สกลนคร ทั้งที่พื้นที่แถบนั้นอันตรายในเวลานั้น แต่พระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมเยียน เวลาท่านเสด็จไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ ท่านมักจะประทับนั่งไปบนพื้นด้วยความเป็นกันเอง ปี 2540 ผมเคยถูกยิงที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จนรถคว่ำ บาดเจ็บที่หลัง คิดว่าไม่รอด ก็คิดถึงบารมีท่าน ครั้งนั้นในหลวงท่านไม่ได้เสด็จ แต่เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เสด็จมาเยี่ยม แต่เราก็มีภาพในหลวงอยู่เหนือหัวตลอดเวลาที่นอนรักษาตัว และในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผมมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทราบข่าวการสวรรคตของพระองค์จากเพื่อนน้ำตาก็ไหลออกมา รีบไปที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เขาก็ไม่ให้เข้า แต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 ก็มาเฝ้าขบวนพระบรมศพ วันอื่นๆ ตลอดเวลาที่มีงานพระบรมศพ ผมมาตลอด ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง”

บรรยากาศบริเวณหน้ากองสลากเก่า

คุณตั้ม กับการทำหน้าที่จิตอาสาแจกพระบรมสาทิศลักษณ์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับประชาชนที่รอเข้าจุดคัดกรอง

คุณตั๊ม อายุ 28 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว แม้ไม่ได้เข้าสมัครเป็นจิตอาสา และด้วยหน้าที่การงานที่ทำทำให้ไม่สามารถมาร่วมงานพระบรมศพได้เลย แต่เมื่อได้รับทราบจากญาติว่ามูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ และวัดสุทัศนเทพวรารามจัดทำพระบรมสาทิศลักษณ์ทั้งหมด 3 ชุด ประมาณ 300,000 ภาพ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงรวมตัวกับญาติๆ เพื่อมาทำจิตอาสาส่งกำลังใจให้ประชาชนผ่านพระบรมสาทิศลักษณ์ ซึ่งเตรียมการประมาณ 1 เดือน โดยจองโรงแรมใกล้ๆ บริเวณสนามหลวงเพื่อจะได้ทำงานจิตอาสาครั้งนี้ได้สะดวก เนื่องจากบ้านของตนนั้นอยู่บางกะปิ ซึ่งไกลจากท้องสนามหลวง

“ตอนนี้คนกำลังเดินทางมาแล้วอยู่รอบนอกยังไม่ได้เข้าไปด้านในต่อแถวอยู่ยาวมาก พอเขาได้รับภาพก็จะเป็นกำลังใจให้เขาได้ ที่ผ่านมาไม่ได้มาร่วมงานอะไรเลย เรามีภารกิจก็ต้องจัดการตรงนั้นก่อน ตอนนี้มีโอกาสก็เลยมา ที่ตั้งใจคือ 3 วัน วันที่ 25-27 ตุลาคม 2560 สิ่งที่ทำให้ศรัทธาในตัวท่าน คือ พี่ยังทันที่ได้เห็นท่านทรงงาน และด้วยที่เราเรียนรู้จากภาพ จากประวัติศาสตร์ จากข่าวเรายังทันเห็นท่านอยู่ รับรู้ในพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ ไม่เหมือนเจนท์ใหม่ที่ไม่ได้เห็นภาพการทรงงานของท่านแล้ว”

คุณยายอู๊ด อายุ 72 ปี

คุณยายอู๊ด อายุ 72 ปี ให้สัมภาษณ์ระหว่างรอพี่สาววัย 76 และหลานอีก 2 คนว่า ตนมีความตั้งใจที่จะเดินทางมายังท้องสนามหลวงเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2560 แต่ติดที่หลานยังลางานไม่ได้ โดยวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ได้ออกเดินทางจาก จ.นครสวรรค์ ในช่วงเช้า นั่งรถไฟมาลงที่ยมราช แล้วต่อแท็กซี่เข้ามา ถึงบริเวณท้องสนามหลวงเวลาประมาณ 18.00 น.

“ตั้งใจจะมาอยู่ถึงวันที่ 27 ไม่ได้จองที่พักอะไรมาเลย เขานั่งเราก็นั่ง เราเตรียมเสื้อกันฝน เตรียมทุกอย่างมาพร้อม เตรียมถุงดำมาไว้คลุมกระเป๋าเวลาฝนตก อยากมาร่วมงานครั้งนี้เพราะ เราเห็นภาพท่านมาตลอด ภาพที่จำได้แม่นยำคือภาพท่านปาดเหงือ ภาพที่ทรงประทับนั่งพิงรถ และภาพที่ทรงรถจีปลุยน้ำ แม้ไม่เคยพบพระพักตร์ท่านก็ตาม รักท่านมาก รักในหลายๆ สิ่งหลายอย่าที่ท่านทำ ความรู้ ความสามารถของท่าน แม้ที่บ้านจะไม่เคยประสบภัยแล้ง หรือมีปัญหาที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากโครงการพระราชดำริใดๆ แต่ก็ศรัทธาในตัวทานที่ท่านทรงงาน” คุณยายอู๊ด กล่าวด้วยรอยยิ้ม

กลุ่มชื่อกลุ่มกอไผ่สานฝันเพื่อวันของหนู ให้บริการน้ำฟรีแก่ประชาชน

คุณนิก อายุ 28 ปี ที่รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นราวคราวเดียวกันร่วม 10 ชีวิต ทำจิตอาสาบริการน้ำดื่มแก่ประชาชนที่ผ่านไปมา โดยระบุว่า พวกเขาทำจิตอาสากันเองทั้งหมด โดยที่ไม่ได้สมัครไปร่วมกับส่วนกลาง เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำกิจกรรมจิตอาสาลักษณะนี้อยู่ตลอด โดยมีกลุ่มชื่อกลุ่มกอไผ่สานฝันเพื่อวันของหนู แต่ละครั้งก็เป็นการชักชวนเพื่อนๆ ที่มีเวลาว่างมาร่วมด้วยช่วยกัน ครั้งนี้อาศัยบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้บริเวณที่เอื้อต่อกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ที่สุด คือบริเวณแยกบางลำภู

“ปกติผมทำจิตอาสาพวกนี้อยู่แล้ว เอาของไปบริจาคเด็กๆ ตามโรงเรียน แจกข้าว แจกอาหารในงานพระบรมศพในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา พวกผมเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างนอก คนที่ยังเข้าไปไม่ถึง สำหรับคนที่มาทีหลัง มาช้า เพราะข้างในก็มีจิตอาสาของส่วนกลางคอยดูแลอยู่แล้ว และคนข้างในส่วนใหญ่เป็นคนที่มาค้างตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2560 ซึ่งเตรียมความพร้อมมาพอสมควร เราเองก็อยากเข้าไปข้างในเหมือนกันแต่คิดว่าเลือกจัดที่จะสามารถช่วยคนได้ทั่วถึงที่สุด มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” คุณนิก กล่าว

คุณแชมป์

ด้านคุณแชมป์ อายุ 28 ปี หนึ่งในกลุ่มอาสากอไผ่สานฝันฯ กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกศรัทธาในตัวในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พระราชกรณียกิจที่ท่านทำ อยู่มา 28 ปี ทุกวันตอนเด็กๆ จะเห็นเรื่องราวของท่านโดยตลอดตอน 2 ทุ่ม เราก็จะจำภาพว่าท่านทรงงานตลอดเวลา ไม่เคยมีวันไหนเลยที่ไม่เห็นพระองค์ในทีวีแล้วไม่ทรงงาน กลายเป็นภาพจำว่าพระองค์ทรงงานทุกวันโดยไม่มีวันไหนที่จะหยุดพักเลย และผมเองโชคดีมากที่เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคคลบาท สมัยเด็กๆ จำไม่ได้แล้วว่ากี่ขวบ ทุกๆ ปีที่มีงานพระกฐินหลวง ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร วันนั้นก็ไปรับเสด็จเหมือนเคย หลังจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปด้านในวัด แม่ก็ให้ย้ายไปอีกด้านหนึ่งเพื่อรับเสด็จ เมื่อท่านเสด็จออกมาได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมทำบุญกับพระองค์ท่าน ผมก็ยื่นมือไปถวายเงินให้พระองค์ท่านรับกับพระหัตถ์ นี่เป็นครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของผม”

ถนนข้าวสารในคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2560

“พี่เพิ่งลงไฟท์เมื่อวาน ก็มาที่นี่เลย” คุณกอล์ฟ แอร์โฮสเตสวัย 40 กล่าว โดยระบุว่า ตนได้รับการชักชวนจาก คุณเก๋เพื่อนแอร์โฮสเตสรุ่นพี่ ให้มาช่วยงานอาสาสมัครจิตอาสา แม้ตนจะไม่ได้สมัครเข้าร่วมจิตอาสางานพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ แต่ก็ยินดีที่จะมาช่วยเหลือ เพราะได้ยินว่าต้องการอาสาที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ สำหรับอธิบายทำความเข้าใจงานพระราชพิธีกับชาวต่างชาติ โดยได้แขวนป้ายห้อยคอระบุข้อความ “May I help you” ไว้

“พี่มาช่วยเพื่อน ไม่ได้เป็นอาสาสมัคร แต่เพื่อนพี่เป็นอาสาสมัคร บ้านพี่อยู่ศิริราชด้วยเลยมาด้วย ทำไมถึงมาเพราะเผื่อมีฝรั่งแถวถนนข้าวสารเยอะ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ พี่อยากจะสมัครแต่ไม่ทัน พรุ่งนี้ก็จะมาอีกเพราะว่านัดลูกชายไว้ให้มาด้วยกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะได้เข้าไปดูริ้วขบวนหรือเปล่า สำหรับพี่ภาพจำของในหลวงคือตอนรับปริญญา พี่จบจากธรรมศาสตร์ ก็ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากท่าน ได้รับกับพระหัตถ์ท่านนั่นคือความภาคภูมิใจ ที่เคยได้ใกล้ชิดที่สุดครั้งเดียวตอนรับปริญญา แต่ตอนทำปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินเคยมีโอกาสใด้ถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อยู่ห่างๆ เท่านั้น”

คุณกอล์ฟ ขณะให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ

คุณกอล์ฟ กล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ว่าในวันนั้นตนทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นพอทราบข่าวก็ร้องไห้ เสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินตอนเช้าบินกลับมาผู้โดยสารก็เงียบหง่อย เมื่อเห็นหนังสือพิมพ์มีข่าวท่านก็น้ำตาไหล เมื่อสักครู่เปิดดูยูทูปก่อนออกมาก็ไม่อยากดู เศร้า ไม่น่าเชือว่าจะเร็วมาก ผ่านไป 1 ปีแล้ว

ด้านคุณเก๋ แอร์โฮสเตสรุ่นพี่ ระบุว่า ตนสมัตรเป็นอาสาสมัครจิตอาสามาเมื่อมีเวลาก็มาช่วยงานเป็นประจำ ทั้งเมื่อวาน รวมถึงวันนี้ด้วย โดยตนยึดมั่นในหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เคยกล่าวกับข้าราชการที่รับใช้เบื้องพระยุคคลบาทใกล้ชิด ในเรื่องของ “การปิดทองหลังพระ”  

“เราทำความดีเพื่อประชาชนเพื่อส่วนรวมก็ทำตามอย่างท่าน บางคนบอกว่าจะต้องเข้าไปให้ใกล้ที่สุดให้อะไรที่สุด เรามองว่าถ้ามาอำนวยความสะดวกคนที่เข้าไปจะดีกว่าไหม ถ้าทุกคนคิดว่าอยากจะเข้าไปๆ เหมือนไม่มีใครมาช่วยตรงนี้ พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างตรงนี้ เราอาจจะไม่ได้เข้าไปข้างหน้าหรือถวายดอกไม้จันทร์ แต่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำตรงนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีกว่า ซึ่งจิตอาสาไม่ได้บังคับว่าต้องทำอะไร เวลาไหน แต่มาตอนไหนทำอะไรก็ได้ ตอนแรกจะถามว่าจะอยู่ตรงไหนกันบ้าง แต่ของพี่มาลงที่ลานพระราชวังดุสิต แต่พอเห็นในไลน์ของจิดอาสาว่าต้องการคนที่พูดภาษาอังกฤษได้บริเวณถนนข้าวสาร พี่เลยคิดว่าพวกเราพูดภาษาอังกฤษได้ควรมาอยู่ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กว่า ก็ชวนเพื่อนมาด้วย มาช่วยมาด้วยใจ ไม่ต้องสมัครก็ไม่เป็นไร มาประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว เพราะถ้าไม่เข้าใจเขาจะรู้สึกไม่ดีกับประเทศเราว่าทำไมปิดถนน ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”

เจ้าหน้าที่จิตอาสางานพระราชพิธีฯ ให้บริการนวดแก่ประชาชน

ก่อนผู้สื่อข่าวออกจากบริเวณท้องสนามหลวง เวลาประมาณ 18.30 น. แยกบางลำภูยังมีประชาชนทยอยเดินทางมาเพื่อเข้าจุดคัดกรองที่ 9 จนแถวยาวไปถึงหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ผู้ทำหน้าที่จิตอาสา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ให้บริการรับ-ส่งจากสนามหลวงไปยังจุดต่างๆ ยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง

ศูนย์สื่อฯ รับสื่อ ตปท. 318 คน  86 สำนัก

ทั้งนี้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีฯ ได้จัดตั้งศูนย์สื่อมวลชน ประกอบด้วย ศูนย์สื่อมวลชน ศูนย์ถ่ายทอด วิทยุกระจายเสียง โดยกรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดเสียงไปยังสถานีวิทยุ 5,000 สถานี ทั่วประเทศ และศูนย์ถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์ โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดสดไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมถึงสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ NBT World และ Thai TV TGN Global Network ส่งสัญญาณเผยแพร่ภาพและเสียงไปยัง 177 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ www.kingrama9.th และเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพฯ เพื่อให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับชมงานพระราชพิธีครั้งนี้ได้ทุกแห่งในโลก และได้รับความร่วมมือจากบริษัท ห้าง ร้านเจ้าของจอ LED รับสัญญาณถ่ายทอดสด เสมือนหนึ่งประชาชนได้อยู่ร่วมในพิธีจริงด้วย และพื้นที่แห่งนี้สามารถรองรับสื่อมวลชนได้ 1,500 คน

โดยการตั้งศูนย์สื่อมวลชนครั้งนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อสถานที่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายในศูนย์สื่อมวลชนติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานได้แก่ คอมพิวเตอร์ จุดเชื่อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับผู้ใช้ได้กว่า 1,500 คน พื้นที่แถลงข่าวพร้อมให้บริการอาหารว่าง เครื่องดื่ม สำหรับผู้ปฏิบัติงานถ่ายทอดสด และสื่อมวลชน ข้อมูลจากกรมประชาสัมพันธ์ระบุตามยอดสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีฯ จำนวน 1,687 คน เป็นสื่อไทย 1,372 คน และสื่อต่างประเทศ 318 คน จาก 86 สำนักข่าวทั่วโลก

สำหรับ ช่องทางติดตามข้อมูลข่าวสารไลน์ ข่าวสารงานพระบรมศพฯ โดยคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธี เชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์ kingrama9.net และข้อมูลจาก NBT และข้อมูลที่พักค้าง พักคอย จุดบริการอาหาร ปฐมพยาบาล ที่ www.prbangkok.com ข้อมูลการจราจร การอำนวยความสะดวกการเดินทาง www.trafficpolice.go.th เฟสบุ๊ก 1441 โทร 1441 กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ หรือเฟสบุ๊ก Rccmot ไลน์ Rccmot โทร 1356 ศูนย์อำนวยการร่วมการเดินทางงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ กระทรวงคมนาคม ข้อมูลอื่นๆ www.thaigov.go.th

42 ประเทศเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ

ตามข้อมูลจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่ามีราชวงศ์และทูตานุทูตตอบรับเข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 จำนวน 42 ประเทศ เป็นสมาชิกจากราชวงศ์ประเทศต่างๆ 15 ประเทศ สำหรับการถวายดอกไม้จันทน์ตามสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศจะดำเนินการพร้อมกันกับมณฑลพิธีท้องสนามหลวงจะไม่มีประเทศใดดำเนินการก่อน แม้เวลาจะเร็วกว่าประเทศไทยก็ตาม

1) Kingdom of Lesotho เลโซโท สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี (H.M. King Letsie III and H.M. Queen Masenate Mohato Seeiso)

2) Kingdom of Bhutan ภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี (H.M. King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck and H.M. Queen Ashi Jetsun Pema Wangchuck)

3) Kingdom of Tonga ตองกา สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี (H.M. King Tupou VI and H.M. Queen Nanasipau’u)

4) Republic of the Union of Myanmar เมียนมา ประธานาธิบดี และภริยา (H.E. U Htin Kyaw and Mrs. Su Su Lwin)

5) Lao People’s Democratic Republic ลาว ประธานประเทศ และภริยา (H.E. Mr. Bounnhang Vorachith and H.E. Mrs. Khammueng Vorachith)

6) Republic of Singapore สิงคโปร์ ประธานาธิบดี และคู่สมรส (H.E. Madam Halimah Yacob and Mr. Mohamed Abdullah Alhabsee)

7) Kingdom of Sweden สวีเดน สมเด็จพระราชินี (H.M. Queen Silvia)

8) Kingdom of the Netherlands เนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินี (H.M. Queen Maxima)

9) Kingdom of Belgium เบลเยียม สมเด็จพระราชินี (H.M. Queen Mathilde)

10) Kingdom of Spain สเปน สมเด็จพระราชินี (H.M. Queen Sofia)

11) Commonwealth of Australia ออสเตรเลีย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ และภริยา (H.E. General the Honourable Sir Peter Cosgrove and Lady Cosgrove)

12) Canada แคนาดา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ (The Right Honourable Madame Julie Payette)

13) Republic of Indonesia อินโดนีเซีย อดีตประธานาธิบดี (H.E. Mrs. Megawati Soekarnoputri)

14) Swiss Confederation สมาพันธรัฐสวิส อดีตประธานาธิบดี (H.E. Mr. Joseph Deiss)

15) Federal Republic of Germany เยอรมนี อดีตประธานาธิบดี (H.E. Mr. Christian Wulff)

16) Kingdom of Bahrain บาห์เรน นายกรัฐมนตรี (H.R.H. Sheikh Khalifa bin Salman Al Khalifa)

17) Kingdom of Denmark เดนมาร์ก มกุฎราชกุมาร (H.R.H. Crown Prince Frederik)

18) Kingdom of Norway นอร์เวย์ มกุฎราชกุมาร (H.R.H. Crown Prince Haakon Magnus)

19) Grand Duchy of Luxembourg ลักเซมเบิร์ก แกรนด์ดุ๊กรัชทายาท (Hereditary Grand Duke Guillaume Jean Joseph Marie)
20) Malaysia มาเลเซีย รองสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียและสุลต่านแห่งรัฐเประ และพระชายา (H.R.H. the Sultan of Perak Darul Ridzuan Sultan Nazrin Muizzuddin Shah ibni Almarhum Sultan Azlan Muhibbuddin Shah Al-Maghfur-Lah and H.R.H. Tuanku Zara Salim the Raja Permaisuri of Perak Darul Ridzuan)

21) United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland สหราชอาณาจักร ดุ๊กแห่งยอร์ก (H.R.H. Prince Andrew, Duke of York)

22) Japan ญี่ปุ่น เจ้าชายอะกิชิโนะ และพระชายา (H.I.H. Prince Akishino and H.I.H. Princess Akishino)

23) State of Qatar กาตาร์ พระอนุชาของเจ้าผู้ครองรัฐ (H.H. Prince Thani bin Hamad bin Khalifa Al-Thani)

24) Principality of Liechtenstein ลิกเตนสไตน์ เจ้าหญิงมาร์กาเรตา (H.R.H Princess Margaretha)

รองประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนพิเศษ (รวม 18 ประเทศ)

25) Socialist Republic of Vietnam เวียดนาม รองประธานาธิบดี (H.E. Mrs. Dang Thi Ngoc Thinh)

26) Kingdom of Cambodia กัมพูชา นายกรัฐมนตรี (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo Hun Sen)

27) Kingdom of Swaziland สวาซิแลนด์ นายกรัฐมนตรี (H.E. Mr. Barnabas Sibusiso Dlamini)

28) New Zealand นิวซีแลนด์ อดีตนายกรัฐมนตรี (H.E. Mr. James Bolger)

29) French Republic ฝรั่งเศส อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา (H.E. Mr. Jean-Marc Ayrault and Mrs. Brigitte Ayrault)

30) People’s Republic of China จีน รองนายกรัฐมนตรี (H.E. Mr. Zhang Gaoli)

31) Republic of Turkey ตุรกี รองนายกรัฐมนตรี (H.E. Mr. Fikri Işik)

32) Republic of Korea สาธารณรัฐเกาหลี รองประธานรัฐสภา (H.E. Mr. Park Joo-sun)

33) Russian Federation รัสเซีย รองประธานสภาดูมา (H.E. Mrs. Olga Epifanova)

34) Brunei Darussalam บรูไนดารุสซาลาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า คนที่ ๒ (Hon. Pehin Dato Lim Jock Seng)

35) United States of America สหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Hon. Gen. James Mattis)

36) Republic of the Philippines ฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยา (H.E. Mr. Alan Peter S. Cayetano and Mrs. Maria Laarni Cayetano)

37 Democratic Socialist Republic of Sri Lanka ศรีลังกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงนโยบายและแผน และภริยา (Hon. Tilak Marapana and Mrs. Stella Marapana)
38) Federal Democratic Republic of Nepal เนปาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภริยา (Hon. Mr. Bhimsen Das Pradhan and Mrs. Bidya Banmali Pradhan)

39) Islamic Republic of Pakistan ปากีสถาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (H.E. Mr. Awais Ahmed Khan Leghari)

40) People’s Republic of Bangladesh บังกลาเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (H.E. Mr. Mohammed Sahriar Alam)

41) Republic of India อินเดีย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (H.E. Mr. M. J. Akbar)

42) The Holy See วาติกัน เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำสาธารณรัฐอินเดียและสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (H.E. Archbishop Giambattista Diquattro)