ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > PTTGC เปิดศูนย์ CSC สร้างสรรค์พลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้าง Collaboration Model ร่วมกับลูกค้า

PTTGC เปิดศูนย์ CSC สร้างสรรค์พลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้าง Collaboration Model ร่วมกับลูกค้า

25 สิงหาคม 2018


ปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก” ถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของแต่ละคน  ตอบโจทย์กระแสคนรักสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมแปลกใหม่ ฯลฯ  ประกอบกับการที่โลกปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับพลาสติกยังคงไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับทุกวิถีชีวิต

ทั้งนี้ ด้วยเพราะคุณสมบัติของ “เม็ดพลาสติก” เป็นวัตถุดิบหรือวัสดุที่มีน้ำหนักเบา คงทนแข็งแรง มีราคาที่สามารถเข้าถึงง่าย จึงทำให้ผู้พัฒนาล้วนเลือกที่จะใช้เป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อการคิดค้นและวิจัยให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้น และเหนืออื่นใด จากการที่พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แบบไม่รู้จบเพราะสามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือแม้แต่ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไม่รู้คุณค่าก็ยังนำกลับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าฯลฯ

ผลิตภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีขึ้นทั้งสิ้น เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจที่ยั่งยืนและสนองต่อนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัป

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรของไทยในกลุ่ม ปตท. เปิด “ศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์” หรือCustomer Solution Center (CSC) ขึ้นที่ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกจากความคิด ใส่นวัตกรรม สร้างสรรค์ ต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่เชิงพาณิชย์

ไม่เพียงแต่ลูกค้า หรือพันธมิตรของ GC  ที่ต้องการพัฒนาเม็ดพลาสติกไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ประชาชนทั่วไปที่มีองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ยังสามารถเข้ามาที่ศูนย์ CSC ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงนักดีไซเนอร์ที่จะมาสร้างสรรค์แนวคิดเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์จริงได้   และพัฒนาพลาสติกให้เหมาะสมกับทุกผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลและการพัฒนาจากศูนย์นวัตกรรม จ.ระยอง

ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือกับศูนย์ต้นคูณภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ  (TCDC) เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านอุตสาหกรรมพลาสติกต่างๆ โดยเฉพาะอีกทางหนึ่งสำหรับเอสเอ็มอีและนักออกแบบ

ทั้งนี้ ศูนย์ CSC มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญคือการเพิ่มมูลค่าและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นภายในศูนย์ดังกล่าวจะมีการโชว์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดในการเพิ่มมูลค่ารวมถึงมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนไปตามคอนเซปต์ในแต่ละเดือน ตัวอย่าง Life Saving Innovation คือถุงทวารเทียม ที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ GC ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบันพลาสติก ทำการวิจัยพัฒนาร่วมกันและทดลองผลิตจนใช้งานได้ และอยู่ระหว่างพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ในส่วนของขยะพลาสติก ศูนย์ CSC จะชี้ให้เห็นถึงการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ (upcycling) ที่สามารถนำขยะพลาสติกมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ รวมไปถึงการพัฒนาพลาสติกจากขั้นพื้นฐานทั่วไปมาสู่การตอบโจทย์รักสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็คือ พลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตมาจากพืชผลทางการเกษตรที่จะสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรของไทยในอนาคต เหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ที่เหลือคือความคิดสร้างสรรค์จากทุกส่วนที่จะมารวมตัวกันเท่านั้นเอง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีซี ระบุว่า ศูนย์ CSC  เป็นช่องทางในการรับฟังเสียงของลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร และนักออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ๆ ที่จะต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมพัฒนาระบบการออกแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป  การสร้าง collaboration model ร่วมกับลูกค้า ร่วมกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับแนวคิดที่จะนำทุกความคิดหรือไอเดียไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่ตอบทุกความต้องการของอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของ GC ที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และเคมีภัณฑ์ที่เข้าถึงทุกความสุข (chemistry for better living)

“ ศูนย์ CSC เป็นความตั้งใจของ GC ที่จะทำเรื่องนวัตกรรมตอบสนองความต้องการของลูกค้าปลายทางอย่างแท้จริงโดยมีแนวคิดขยายการสร้างศูนย์แบบนี้ไปทั่วประเทศในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก รวมถึงคนรุ่นใหม่ ได้พิจารณาในการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า แข่งขันได้ และเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เติบโต”

“GC กรุ๊ป มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการ collaboration model แบบนี้จะทำให้ลูกค้า พันธมิตร คนรุ่นใหม่ เกิดไอเดียใหม่ๆ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ภายใน CSC จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ ประกอบไปด้วย

Zone 1 – Materials Library

บอกเล่าถึงการใช้งานในแบบต่างๆ ของวัสดุพลาสติก ที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ผู้เข้าชมสัมผัสถึงวัสดุจริงเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหน้าจอทัชสกรีนที่ทางศูนย์เตรียมไว้ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดบนแผ่นที่สนใจก็จะทราบถึงรายละเอียดวัสดุพร้อมทั้งบริษัทที่ผลิต

Zone 2 – Design Showcase

พื้นที่แสดงผลงานและจัดนิทรรศการเพื่อสร้างแรงบัลดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ยี่ยมชม ซึ่งจะมีการจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียน  ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้มีการจัดแสดงสองส่วน คือ นิทรรศกการที่บอกถึง better chemistry for better living พลาสติกอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา (solution for everyday) นวัตกรรมพลาสติกทางวงการแพทย์ที่อาจจะช่วยชีวิตหรือคนที่เรารัก (life saving innovation) หรือนวัตกรรมพลาสติกที่สามารถทำให้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกของเราได้อย่างยั่งยืน (mission save the planet)

และอีกส่วนเป็นการจัดแสดงสินค้าที่ได้รับรางวัล Design Excellence Award (DEmark) ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก โดยสินค้าที่ได้รับรางวัลจะได้รับตราสัญลักษณ์ DEmark ที่ได้การยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสินค้าที่มีการออกแบบดีเด่นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสินค้าของตนเองเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มและการยอมรับจากสากลต่อไป

ในโซนนี้ยังมี virtual reality (VR) ที่มีโปรแกรมช่วยในการออกแบบที่สามารถส่งแบบไปพิมพ์ในโซนเวิร์กชอปที่เรียกว่า collaboration space

Zone 3 – Collaboration Space

คือโซนเวิร์กชอปซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะเปลี่ยนไอเดียของลูกค้าให้เป็นต้นแบบ นำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาช่วยในการขึ้นรูปตัวอย่าง ลูกค้าก็จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อนขึ้นงานจริง โดยไม่ต้องลงทุนสูงในการทำแม่พิมพ์

Zone 4 – Meeting Room

space for commercialize begin พื้นที่พูดคุยธุรกิจหรือประชุมที่อาจต้องการความเป็นส่วนตัว

Zone 5 – Action Zone

พื้นที่สำหรับการจัด exclusive activity เช่น panel discussion, ideation  ที่มีจอ LED 200 นิ้ว ที่สามารถเชื่อมต่อการประชุมไปยังศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อื่นๆ เช่น  customer solution center at ITC อาคารต้นคูณ และยังสามารถเชื่อมต่อไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ GC เพื่อศึกษาวิธีการขึ้นรูปพลาสติกหรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัสดุของ GC ที่ระยอง

Zone 6 – CSC Shop

โซน CSC Shop ที่เป็นหน้าร้านให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการซื้อขายภายในร้านค้าจะเป็นแบบไม่ต้องใช้เงินสด ผู้ที่สนใจซื้อสามารถจ่ายเงินและรับสินค้าได้ที่ผู้ขายโดยตรง อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายผ่าน digital money ซึ่งสามารถรับของกลับไปได้เลยกรณีที่ผลิตภัณฑ์นั้นมีของสต็อกอยู่ในศูนย์ ตัวอย่างสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในศูนย์ เช่น ที่รองแก้วที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลของ BOPE Partner ของศูนย์ที่ร่วมโครงการ Upcycling Plastic Waste

ศูนย์ CSC นับเป็นการเปิดโลกทัศน์เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนไทยในยุคดิจิทัลให้มากขึ้นในอนาคต และยังสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ ทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป

สำหรับศูนย์ CSC เปิดให้บริการจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ณ ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต