ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “เทสโก้ โลตัส-เอสซีจี” จับมือผลิต “ถุงกระดาษรีไซเคิล” รณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก หนุน Circular Economy

“เทสโก้ โลตัส-เอสซีจี” จับมือผลิต “ถุงกระดาษรีไซเคิล” รณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก หนุน Circular Economy

24 พฤศจิกายน 2018


เทสโก้ โลตัส-เอสซีจี แถลงข่าวสนับสนุนการใช้กระดาษรีไซเคิลแทนถุงพลาสติก
ดีเดย์วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม นี้

ปีนี้เป็นปีที่หลายภาคส่วนในไทยและนานาชาติต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับการ “ลดขยะพลาสติก” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากมีสัตว์ทะเลหลายชนิดเกยตื้นตายเพราะมีขยะพลาสติกอยู่ในท้องจำนวนมาก สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเอกชนหลายแห่งมีนโยบายและรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แล้วนำเข้าระบบเพื่อผลิตใหม่และนำกลับมาใช้ซ้ำ สร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy  มุ่งเน้นสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เทสโก้ โลตัส และบริษัทเอสซีจี แถลงข่าวร่วมมือผลิต “ถุงกระดาษรีไซเคิล” จากกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าและกระดาษที่ใช้แล้ว มีความทนทานสูงและรับน้ำหนักได้ดี  เป็นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“เทสโก้  โลตัส” งดให้ถุงพลาสติก

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า  เทสโก้ โลตัส มีนโยบายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นห้างค้าปลีกรายแรกที่นำระบบการให้แต้มเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกมาใช้ในประเทศไทย

“ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สามารถลดถุงพลาสติกไปได้แล้วอย่างน้อย 100 ล้านใบ และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เพิ่มแต้มกรีนพอยต์ 5 เท่า จากเดิม 20 แต้มเป็น 100 แต้มทุกวัน ส่งผลให้มีจำนวนลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 70%”

นางสาวสลิลลาระบุว่า ในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นี้ ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เทสโก้ โลตัส จะหยุดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ร้านค้าทุกรูปแบบในทุกสาขา แต่จะรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ รวมทั้งเตรียมถุงกระดาษรีไซเคิลที่ร่วมผลิตกับเอสซีจีไว้บริการลูกค้าที่ไม่ได้นำถุงผ้ามา

พร้อมกันนี้จะผลิตถุงผ้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษใบละ 89 และ 99 บาท ซึ่งมีบาร์โค้ดพิเศษติดข้างถุง เมื่อนำมาใช้บริการที่โลตัสรับทส่วนลดทันที 1 บาท ต่อ 1 ใบเสร็จ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า โดยจะพิจารณาผลตอบรับอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร และมีเป้าหมายเพิ่มระดับการลดการใช้ถุงพลาสติกให้มากขึ้นในอนาคต

“เราจะนำร่องในวันที่ 4 ธันวาคมก่อน ทุกสาขาจะไม่ให้ถุงพลาสติก แล้วดูว่าผลเป็นอย่างไร แต่ปีนี้ด้วยกระแสการรับรู้ที่มากขึ้น มีความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจนขึ้น ประกอบกับเราเพิ่มแต้มกรีนพอยต์จาก 20 แต้มเป็น 100 แต้มทุกวัน พบว่ามีลูกค้าไม่รับถุงเพิ่มขึ้น 70% ซึ่งเห็นชัดว่ามีคนไม่เอาถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย เราจึงหวังว่าวันที่ 4 จะช่วยสร้างการตื่นตัวเพิ่มมากขึ้นอีก”

นางสาวสลิลลาเผยด้วยว่า การผลิตถุงกระดาษรีไซเคิลครั้งนี้ เทสโก้ โลตัส และเอสซีจี  ได้หารือและเซ็ตระบบร่วมกันมาเป็นปี โดยเทสโก้ฯ ได้เก็บกล่องกระดาษใส่วัสดุสินค้าที่ส่งมายังสาขากว่า 2,000 แห่งไปให้เอสซีจีนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

“เริ่มจากเรานำสินค้าออกจากกล่องกระดาษ หลังจากนั้นพนักงานจะเก็บกล่องใส่รถบรรทุกกลับไปที่ศูนย์กระจายสินค้าของเทสโก้ฯ แล้วก็บริหารจัดการเก็บไว้ให้กับเอสซีจี ซึ่งจะมีรถมารับจากเราไปเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี อย่างนี้เรียกว่า closed loop จริงๆ  มันจะไม่มีอะไรที่เล็ดลอดไปเป็นขยะ ทุกอย่างจะเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพราะกระดาษที่เอสซีจีได้จากเราไป เขาก็นำไปรีไซเคิลทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เก้าอี้ ถุงกระดาษรีไซเคิล เป็นต้น” นางสาวสลิลลากล่าว

นางสาวสลิลลากล่าวว่า หลังจากวันที่ 4 ธันวาคม เทสโก้ฯ มีเป้าหมายจะดำเนินกิจกรรมลักษณะอย่างนี้ต่อไปอีกหลายครั้ง และจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกให้ได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรมที่สำคัญที่สุดต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะเห็นผล

“หากทำคนเดียวมันจะไม่เกิดกระแสและอาจไม่ยั่งยืน ต้องช่วยกันทำหลายคน ซึ่งทราบมาว่าวันที่ 4 มีหลายห้างร้านค้าก็จะทำแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะถ้าทำกันเยอะๆ จะทำให้ประชาชนเริ่มรับรู้ว่าทุกห้างเขาไม่ให้ถุงพลาสติก และนำถุงผ้ามาแทน แต่มันต้องมีความร่วมมือกันระหว่างห้าง มีการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้เกิดขึ้นจริง ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรมคือความร่วมมือ”

(ซ้าย) นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์, (ขวา) นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” คำตอบธุรกิจยั่งยืนของ “เอสซีจี”

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ระบุว่า บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นคำตอบ และมีความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในการทำเรื่องดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือความร่วมกับเทสโก้ โลตัส ในการนำกล่องหรือเศษกระดาษมาแปรรูปเป็นถุงกระดาษรีไซเคิลให้บริการประชาชนแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งในอนาคตเอสซีจียังต้องการร่วมมือกับทุกบริษัทเพื่อให้เกิดแนวคิดนี้ขยายวงกว้างมากขึ้น

นายธนวงษ์เล่าว่า การผลิตถุงกระดาษรีไซเคิลมีแนวคิดต่อยอดมาจากการจัดประชุม “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: the Future We Create” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเชิญผู้บริหารระดับสูงของไทยและต่างชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นร่วมกัน และไม่อยากให้จัดงานแล้วจบกันไป แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

  • Circular Economy: the Future We Create (1) “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ย้ำทางรอดที่ยั่งยืนต้องให้ Circular Economy ระเบิดในใจคนไทยทุกคน
  • Circular Economy: the Future We Create (2) : แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนปฏิวัติรูปแบบการผลิตบริโภคครั้งใหญ่ของโลก-เอสซีจีขับเคลื่อนผ่าน 3R
  • Circular Economy: the Future We Create (3) แนวทางการจัดการ “ขยะ” เชื่อมโยง Circular Waste Value Chain
  • “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ขยายผลจากเวที symposium ที่แต่ละองค์กรสามารถมีบทบาททำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรมได้ เป็นกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การนำกระดาษใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือทำของทุกฝ่าย” นายธนวงษ์กล่าว

    สำหรับถุงกระดาษรีไซเคิลผลิตจากกระดาษใช้แล้ว มีขนาด 14 x 37 เซนติเมตร สูง 46 เซนติเมตร เป็นกระดาษรีไซเคิล 100%  รับน้ำหนักได้ดี พิมพ์ด้วยหมึก water ink ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายภายใน 90 วัน ซึ่งกระดาษเก่า 1 ตัน จะผลิตถุงได้ราว 16,000 ใบ

    ส่วนกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกนำมาผ่านกระบวนการจัดเก็บ และนำกลับมารีไซเคิลในกระบวนการผลิตกระดาษใหม่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเอสซีจีได้พัฒนาวิธีการรวบรวมจัดเก็บเศษกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วตลอด value chain เพื่อนำกลับสู่ระบบการผลิตกระดาษใหม่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้น้ำและพลังงาน และลดของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม

    ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเศษกระดาษกลับคืนสู่โรงงานโดยตรงจากห้างค้าปลีก รวมถึงมีการพัฒนา digital platform ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บเศษกลับจากรายย่อย เช่น ร้านค้า และครัวเรือน

    ขยะพลาสติกจะมีมากกว่าปลาในทะเล?

    ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ปลาวาฬเกยตื้นตายที่ทะเลทางภาคใต้จากขยะพลาสติกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่อง circular economy อย่างจริงจัง

    ดร.ธรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีขยะพลาสติกประมาณ 150 ล้านตันในทะเล แต่หากไม่ทำอะไรกันเลย คาดการณ์กันว่าในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า หรือเกือบ 500 ล้านตัน จะมีจำนวนมากกว่าปลาในท้องทะเล และหากไม่ทำเรื่อง circular economy ยอมรับได้เลยว่าโลกคงไปไม่รอด อย่างไรก็ดี พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่จะทำอย่างไรในการอยู่ร่วมกับพลาสติกในอนาคตได้

    “คนต้องไปต่อได้ ธุรกิจประเทศไทยต้องไปต่อได้ คนนับล้านที่อยู่ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง ธุรกิจวัตถุดิบ ต้องไปต่อได้ เพียงแต่ว่าเป็นการไปโดยใช้อินโนเวชัน ซึ่งเราต้องนำมาช่วยเพื่อจะให้ไปต่อได้  ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธุรกิจ  เรื่องรายได้ประเทศ เรื่องนวัตกรรม เป็นเรื่องเดียวกันหมด เราจะต้องไปให้ได้ในแนวนี้ ถ้าไปไม่ได้เราก็จะมีปัญหา”

    “ต้องมองว่าขยะคือวัตถุดิบ ฉะนั้น circular economy คิดง่ายๆ คือไม่มีขยะ ทุกอย่างคือวัตถุดิบ ขยะบางส่วนอาจนำกลับมาทำเป็นเสื้อ เป็นพลังงาน เป็นปุ๋ย  ทุกอย่างคือวัตถุดิบ เมื่อไหร่คิดอย่างนี้ได้ มันจะเกิดการหมุนเวียน ถูกใช้แล้ว และนำกลับมาใช้ใหม่ นั่นคือจุดสูงสุดของการไม่รบกวนธรรมชาติ” ผศ. ดร.ธรณ์กล่าว

    นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์,ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล(ภาพจากซ้ายไปขวา)