ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > PTTGC ขับเคลื่อน Circular Economy หนุนปรับใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

PTTGC ขับเคลื่อน Circular Economy หนุนปรับใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

28 มิถุนายน 2019


วันนี้(28 มิถุนายน 2562) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้จัดงานประชุม Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ร่วมกับ National Geographic สื่อระดับโลก เพื่อจุดประกายความคิดในการมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องอนาคตของโลกใบนี้ร่วมกัน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน (GC Circular Living) โดยภายในงานได้รวบรวมนักคิดและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในและต่างประเทศด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาแบ่งปันความรู้และนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ

“GC ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิวัติการใช้ทรัพยากร (Resource Revolution) ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดหวังว่า การจัดงานครั้งนี้จะเป็นสื่อกลางในการสร้างโอกาสและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ขานรับการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทย” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า GC ได้นำแนวทาง GC Circular Living มาปรับใช้ในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้ยาวนานที่สุด อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กรประกอบด้วย Reduce การลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ BioPlastic ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติถือเป็นพลาสติกทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก การยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used Plastic) ภายใน 5 ปี (ปี 2562-2566) รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการจัดการขยะพลาสติกผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ในการเก็บขยะในทะเลเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น ถือเป็นการรณรงค์ให้เกิดการใช้สินค้ารีไซเคิลและอัพไซเคิล พร้อมร่วมกับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ SPSE จัดทำโครงการ Upcycling SE เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกับชุมชน โดยการแปรรูปขยะขวดพลาสติกด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าและของใช้แฟชั่นจัดจำหน่ายภายใต้ Trademark “Upcycling by GC” อีกด้วย

ในการแถลงข่าวช่วงบ่าย นายสุพัฒน์พงษ์เปิดเผยว่า GC ให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างถูกวิธี และจัดการอย่างเหมาะสม สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC ได้แสวงหาพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงอย่างครบวงจร และได้ร่วมกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วนในการจัดหา คัดแยก บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว

นายสุพัฒน์พงษ์กล่าวว่า GC จึงได้ร่วมกับ ALPLA ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงระดับโลก เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET และ rHDPE แห่งแรกของประเทศไทย โดยจะสรุปผลการศึกษาและเดินหน้าตัดสินใจการลงทุนในต้นไตรมาส 3 นี้ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการสร้างและต่อยอด ความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างพลังร่วมในการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย

“โครงการนี้เป็นการนำพลาสติกใช้แล้วมาหมุนเวียนนำกลับมาใช้ โดยโรงงานจะมีกำลังการผลิต 50,000 ตัน เป็น tPET จำนวน 35,000 ตัน และ rHDPE อีก 15,000 ตัน เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล ที่ผลิตพลาสติกที่สามารถนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารได้ หรือ Food Grade” นายสุพัฒน์พงษ์กล่าว

โครงการนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทและมี GC เป็นผู้หุ้นใหญ่ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำกำไร เป้าหมายคือต้องการลดขยะ นำกลับมาใช้

นายเบิร์นด์ วาคเทอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลพลา กรุ๊ป จำกัด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยว่า แอลพลา เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากว่า 60 ปี โดยมีฐานการผลิตกว่า 178 แห่งทั่วโลก ใน 46 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ประเภทวัสดุ PET และ HDPE ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในยุโรปและละตินอเมริกา

“เรามีความยินดีอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือกับ GC ในครั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีอันล้ำสมัย แอลพลาจะช่วยสนับสนุนให้โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของ GC มีความสามารถในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูงและเป็นผู้นำของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับประเทศและภูมิภาค”

แอลพลามีโรงงาน 178 แห่งทั่วโลกใน 46 ประเทศ ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยร่วม 20 ปีแล้ว รวมทั้งได้มีฐานธุรกิจในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ โดยโรงงานของบริษัทมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีขยะน้อยที่สุด ออกแบบให้ใช้ประโยชน์มากที่สุดมีการสูญเสียน้อยที่สุด

“แอลพลาเป็นบริษัทที่มีธุรกิจทั่วโลกที่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมานานแล้ว เรามีโรงงานรีไซเคิลพลาติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารได้ในยุโรป เช่น ออสเตรีย และที่ลาตินอเมริกา เราแปลงสภาพ PET ให้เป็นพลาสติกระดับที่ใช้บรรจุอาหารได้และเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และพร้อมที่จะนำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญจากยุโรปลลาตินอเมริกามาถ่ายทอดให้ไทย และนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน”