เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวกรมศุลกากรเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด หลบเลี่ยงภาษี ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร
เริ่มจากประเด็นแรก เรื่องการลงบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้าขาออกของบริษัทเชฟรอนฯ เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ช่วงปี 2554-2557 โดยบริษัท เชฟรอนฯ ใช้รหัส ZZ ลงบันทึกในใบขนสินค้าขาออก ระบุว่าเป็นการส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลอนุญาตให้นำน้ำมันปลอดภาษีไปขายให้เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อนำไปใช้จับปลานอกน่านน้ำไทย หรือที่เรียกว่า “โครงการน้ำมันเขียว” แต่บริษัทเชฟรอนฯ กลับไม่ได้ส่งน้ำมันไปขายยังเขตต่อเนื่องจริง จึงน่าจะเป็นการสำแดงใบขนสินค้าเท็จ เพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ว่าส่งออกไปเขตต่อเนื่อง แต่ความจริงแล้วเอาน้ำมันไปขนลงจากเรือที่แท่นขุดเจาะเอราวัณกลางทะเล ใช่หรือไม่
ประเด็นนี้ นายชัยยุทธชี้แจงว่า “รหัส ZZ” คือ รหัสสำหรับเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร เป็นรหัสสถิติข้อมูลในระบบ e-Customs สำหรับส่งออก และระบุในช่องประเทศปลายทาง ส่วน “รหัส YY” คือ รหัสประเทศสำหรับใช้นอกเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร ปรากฏว่า บริษัทเชฟรอนฯ สำแดงระบุสถานที่ปลายทางเป็น ZZ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงของกิจกรรมที่เกิดขึ้นควรสำแดงเป็น YY (high sea zone) แต่ในขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบเอกสารประกอบใบขนสินค้าขาออกของบริษัทเชฟรอนฯ เช่น invoice, bill of lading ได้สำแดงสถานที่ปลายทางว่า “เป็นแท่นขุดเจาะ” และใบปล่อยเรือขาออก (ใบแนบ 6 แบบที่ 373) ของบริษัทเชฟรอนฯ ก็สำแดงสถานที่ส่งออกปลายทางว่า “เป็นแท่นขุดเจาะ” ประกอบกับ ในช่วงปี 2554 นั้น ถือเป็นการปฏิบัติพิธีการครั้งแรก ที่ผ่านมาไม่เคยปฏิบัติพิธีการลักษณะนี้มาก่อน ทำให้เข้าใจว่า การสำแดง ZZ เป็นการสำแดงที่ถูกต้อง จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ชี้ให้เห็นได้ว่า กรณีดังกล่าว บริษัทเชฟรอนฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะสำแดงเพื่อฉ้อค่าภาษี แต่เป็นเพียงการระบุรหัสสถานที่ส่งออกที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทเชฟรอนฯ จะสำแดงรหัส ZZ หรือ YY ก็ยังคงได้รับสิทธิในการปฏิบัติพิธีการส่งออกเหมือนกัน (ปี 2554-2557) เพียงแต่ระบุรหัส สถิติข้อมูลสถานที่ส่งออกไปยังปลายทางในระบบ e-Customs (รหัสสถิติข้อมูล) ไม่เหมือนกัน
ข้อกล่าวหาประเด็นที่ 2 หลังกรมศุลกากรมีคำวินิจฉัยว่า การนำน้ำมันดีเซลที่ซื้อจากชายฝั่งไทยไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักร ช่วงปี 2558-2559 บริษัทเชฟรอนฯ กลับมาซื้อน้ำมัน โดยไม่ต้องเสียภาษีอีกครั้ง แต่การบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้าเปลี่ยนมาสำแดงการส่งออกด้วยรหัส YY ซึ่งเป็นการสำแดงเท็จอีก เพื่อไม่ต้องเสียภาษีใช่หรือไม่?
นายชัยยุทธชี้แจงว่า การลงบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้าขาออก ระบุสถานที่ส่งออกปลายทางเป็น YY กรณีนี้ถือว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งที่ผ่านมากรมศุลกากรได้มีการหารือกับบริษัทเชฟรอนฯ เกี่ยวกับการยื่นเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรมาโดยตลอด กรมศุลกากรไม่พบว่าบริษัทเชฟรอนฯ มีพฤติการณ์หรือเจตนาจะฉ้อค่าภาษีตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 กรณีกรมศุลกากร สั่งยกเลิกใบขนสินค้าขาออกของบริษัทเชฟรอนฯ ที่ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมายถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ยอมกระทำไม่ได้ ดังนั้น การยกเลิกใบขนสินค้าขาออกที่ไม่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการช่วยเหลือไม่ให้บริษัท เชฟรอนฯ ถูกลงโทษใช่หรือไม่ รวมทั้งกรณีกรมศุลกากร อ้างว่าการยกเลิกใบขนสินค้าของบริษัทเชฟรอนฯ นั้น ได้ทำตามคำแนะนำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ข้ออ้างดังกล่าว ฟังไม่ขึ้น เพราะ สตง. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆ มาสั่งหรือแนะนำให้ยกเลิกใบขนสินค้าขาออกที่ผิดกฎหมาย
นายชัยยุทธชี้แจงว่า จากการตรวจสอบของกรมศุลกากร ไม่พบว่าบริษัทเชฟรอนฯ มีพฤติการณ์ฉ้อค่าภาษีตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 แต่กรณีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งต่อมาบริษัทเชฟรอนฯ ได้มาทำข้อตกลงระงับคดีกับกรมศุลกากรแล้ว ส่วนกรณีที่กรมศุลกากรยกเลิกใบขนสินค้าขาออกของของบริษัทเชฟรอนฯ ในช่วงที่มีการขอคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีอื่นๆ จำนวน 336 ฉบับ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เหตุผลที่ต้องยกเลิกใบขนสินค้าขาออกก็เพื่อไม่ให้บริษัทเชฟรอนฯ นำใบขนสินค้าขาออกจำนวน 336 ฉบับไปใช้สิทธิ์ขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต, ภาษีเพื่อมหาดไทย, กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้รัฐได้ประโยชน์กว่า 1,800 ล้านบาท
“หากไม่ทำการเพิกถอนใบขนสินค้าขาออกของบริษัทเชฟรอนฯ แล้ว ก็จะมีผลให้คำสั่งยกเว้นภาษีสรรพสามิตยังคงชอบด้วยกฎหมายแม้ว่าบริษัท เชฟรอนฯ จะนำเงินค่าภาษีน้ำมันมาชำระคืนกับกรมสรรพสามิตแล้วก็ตาม แต่จะเป็นการรับเงินนั้นไว้ โดยปราศจากมูลเหตุที่จะนำมาอ้างได้ตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นเหตุต้องคืนเงินให้บริษัท เชฟรอนฯ ในฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถึงแม้ สตง. ไม่ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร แนะนำให้ยกเลิกใบขนสินค้าขาออก ทางกรมศุลกากรก็ต้องเพิกถอนใบสินค้าขนขาออกทั้งหมด เพราะหากไม่เพิกถอน ก็จะถือว่าใบขนสินค้าขาออกทั้งหมดยังคงมีสถานะสมบูรณ์ อันเป็นเหตุให้บริษัท เชฟรอนยกเป็นข้ออ้างไม่ชำระภาษีสรรพสามิตได้ จึงจำเป็นต้องยกเลิกใบขนสินค้าขาออกทั้งหมดภายใน 90 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันความเสียหาย” นายชัยยุทธกล่าวทิ้งท้าย
ที่มาของปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทเชฟรอนฯ เกิดจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” เอาไว้ ทำให้เกิดการตีความ กรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ซื้อน้ำมันดีเซลที่ผลิตในประเทศไทย ส่งไปขายให้บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เติมเครื่องจักรและสำรวจขุดเจาะน้ำมันบริเวณอ่าวไทย ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งไม่ต่ำกว่า 60 ไมล์ทะเล หรือที่เรียกว่า “ไหล่ทวีป” กรณีนี้ถือเป็น “การซื้อ-ขายกันในประเทศ” หรือ “ส่งออก” ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรอย่างไร?
การตีความของกรมศุลกากรครั้งนี้ จะมีผลกระทบไปถึงการจัดเก็บภาษีน้ำมันของอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงพลังงาน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท หากตีความว่ายังเป็นการซื้อ-ขายน้ำมันในราชอาณาจักร บริษัทเชฟรอนฯ ไม่ได้คืนหรือยกเว้นภาษีน้ำมัน แต่ถ้าตีความเป็นการส่งออก บริษัทเชฟรอนฯ ได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีภายในประเทศทั้งหมด
เดือนกุมภาพันธ์ 2554 บริษัทเชฟรอนฯ ทำหนังสือมาสอบถามกรมศุลกากรว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการซื้อ-ขายภายในประเทศหรือส่งออก กรมศุลกากรตีความและทำหนังสือแจ้งกลับไปว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นส่งออก ตามพระบรมราชโองการ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2508 และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ที่ระบุว่าราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” มีขอบเขตรัศมีครอบคลุมไปถึงไหล่ทวีป ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของไทย ผลจากการตีความครั้งนั้นทำให้บริษัทเชฟรอนฯ ได้รับยกเว้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
ช่วงต้นปี 2557 กรมศุลกากรจับเรือขนส่งน้ำมันของบริษัทเชฟรอนฯ ขณะจอดเทียบท่าอยู่ชายฝั่งไทย เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าตรวจค้นบนเรือ พบน้ำมันส่งออกขนกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จึงยึดน้ำมันเป็นของกลางและขายทอดตลาด (ถือเงินแทนของ) จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการทบทวน โดยมีการนำประเด็นการตีความกฎหมายเสนอให้ที่ประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทเชฟรอนฯ พิจารณา กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ ส่งไปใช้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ถือเป็นการซื้อ-ขายภายในประเทศหรือส่งออกอีกครั้ง
ผลการพิจารณาปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรและบริษัทเชฟรอนฯ มีมติให้บริษัทเชฟรอนฯ ปฏิบัติพิธีการในรูปแบบ “การค้าชายฝั่ง” (ซื้อ-ขายภายในประเทศ) ไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากมติดังกล่าว ทำให้บริษัทเชฟรอนฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งมาถึงปี 2558 บริษัทเชฟรอนฯ ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาต่อกรมศุลกากร โดยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ได้ทำหนังสือแจ้งกลับไปว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งออก ทำให้บริษัทเชฟรอนฯ ได้รับยกเว้นภาษีน้ำมันอีกครั้ง
ขณะนั้น ภายในกรมศุลกากรมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความดังกล่าวทำหนังสือร้องเรียนอธิบดีกรมศุลกากร และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ต้นปี 2559 กรมศุลกากรทำหนังสือถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการซื้อ-ขายในประเทศหรือส่งออก ระหว่างที่คำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้กระทรวงการคลังสั่งให้กรมสรรพสามิตชะลอการยกเว้นภาษีให้กับบริษัทเชฟรอนฯ
กลางปี 2559 คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหนังสือตอบกลับ โดยแนะนำให้กรมศุลกากรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 กรมศุลกากรจึงเรียกประชุม 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ผลการพิจารณาที่ประชุม 3 ฝ่ายมีมติให้บริษัทเชฟรอนฯ ปฏิบัติพิธีการในรูปแบบของการค้าชายฝั่ง
ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม 3 ฝ่าย จึงให้รองปลัดกระทรวงการคลังสั่งการให้อธิบดีกรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช., รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้สั่งกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตพร้อมเบี้ยปรับ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความ
สุดท้าย คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัย “กรณีการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากชายฝั่งไทยไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน ถือว่าเป็นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการภายในประเทศ”
วันที่ 17 มีนาคม 2560 บริษัทเชฟรอนฯ นำเงินภาษีน้ำมันส่วนที่ได้รับยกเว้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท มาชำระคืนกรมสรรพสามิต รวมทั้งยื่นคำร้องขอ ยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย กรมสรรพสามิตได้นำคำร้องดังกล่าวส่งให้ “คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำคัดค้านการประเมินภาษีและพิจารณาการงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม” ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พิจารณาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 มีการประชุมไป 6 ครั้ง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาหาข้อยุติ