ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > TIJ Public Forum ว่าด้วยหลักนิติธรรม (2) : สร้างโอกาสเข้าถึงบริการการเงินอย่างทั่วถึงด้วยดิจิทัลฟุตพรินต์…information based lending

TIJ Public Forum ว่าด้วยหลักนิติธรรม (2) : สร้างโอกาสเข้าถึงบริการการเงินอย่างทั่วถึงด้วยดิจิทัลฟุตพรินต์…information based lending

31 กรกฎาคม 2018


เสวนา “Financial Inclusion for Future Economy” บนเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเสวนาเรื่อง “Financial Inclusion for Future Economy” วิพากษ์ในประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านการเงิน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ คนไม่มีหลักทรัพย์ คนไม่มีเงินเดือน ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไม่มีเงินเดือนในประเทศไทย เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนทำงานแม่บ้าน หรือคนขายของตามตลาดนัด ฯลฯ มีสูงถึง 55% เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ จนเกิดการก่อหนี้นอกระบบตามมามากมาย

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่าทิศทางในโลกอนาคต คนจะเริ่มออกมาอยู่นอกระบบ ทำงานเป็น gig economy มากขึ้น เช่น เขียนนิยายออนไลน์  เป็นยูทูบเบอร์ หรือบางคนทำงานบริษัทแต่นอกเวลาออกมาขับแกร็บแท็กซี่ คำถามสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะรับมือกับการเข้าถึงแหล่งทุนของคนกลุ่มนี้อย่างไรทั้งในภาคภาคแรงงานและธุรกิจ

  • EIC สำรวจชีวิตชาว gig อยู่ในวัยไหน หางานกันอย่างไร ทำงานกันวันละกี่ชั่วโมง…
  • ครๆ ล้วนอยากเป็น gig และใครๆ ก็เป็น gig ได้ รายได้ประมาณ 15,000-50,000 บาท/เดือน
  • “Gig Economy…ยังไงถึงจะเวิร์ก”
  • ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้ว่า หนี้นอกระบบไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นธรรมด้วย คนรายได้น้อยจึงต้องกู้เงินนอกระบบมาหมุนเวียน รวมทั้งไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ทำให้ธนาคารไม่มีข้อมูลที่ใช้ประเมินความเสี่ยงได้ตามมาตรฐานการปล่อยกู้

    อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคดิจิทัลอาจแก้ไขปัญหานี้ได้  สามารถสร้างดิจิทัลฟุตพรินต์มาจับให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนได้ ซึ่งจะเป็นเครดิตสกอริง (credit scoring) ใหม่ที่สถาบันการเงินจะนำมาใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อปล่อยเงินกู้

    “โลกในอนาคตผมคิดว่าจะเปลี่ยนไปจากการดูคนที่มีสินทรัพย์เยอะ แล้วกู้ได้เยอะ มาเป็นการดู  information based ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกแก้และคลี่ปมได้ ถ้า information based lending เกิดขึ้น”  ดร.สมประวิณกล่าว

    นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เห็นว่า การเข้าถึงแหล่งทุนที่มีราคาเหมาะสมตามความเสี่ยง ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้ โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กๆ ในสังคม

    ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ดีที่สุดในปัจจุบันที่คนตัวเล็กหรือเอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินยุคใหม่ได้ก็คือ พฤติกรรมการใช้จ่ายหรือวินัยทางการเงินที่ทำบน smart device แล้วกลายไปเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ให้กับธนาคาร เพราะข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์กนับวันจะทรงพลังมากขึ้น

    โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามจะผลักดันให้เกิด information based lending เป็นอินฟอร์เมชันที่มาจากตัวลูกหนี้ มาจากสินทรัพย์ มาจากพฤติกรรม ให้พฤติกรรมกลายเป็นสินทรัพย์ที่ถูกบันทึกและนำมาใช้ประโยชน์กับตัวเขาได้ ในโลกที่ทุกคนจะมีดิจิทัลฟุตพรินต์

    นายบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. พยายามผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลดาตา ดิจิทัลฟุตพรินต์ เป็นข้อมูลในการเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะข้อมูลที่สะท้อนการมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่จะมีสัดส่วนความน่าเชื่อถือสูงคือข้อมูลเพย์เมนต์ ข้อมูลอีคอมเมิร์ซ และข้อมูลโซเชียลมีเดีย ที่จะสะท้อนพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของคน

    “ในโลกระบบการเงินการธนาคาร สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญมากของทุกประเทศคือเรื่องระบบการชำระเงิน จึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่นพร้อมเพย์ การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิง การใช้คิวอาร์โค้ด ฯลฯ เพราะโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินผ่านระบบเหล่านี้คือข้อมูลสำคัญที่จะทำให้คนอย่างแม่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์ หาบแร่แผงลอย สามารถขอสินเชื่อได้ในวงเงินที่ธนาคารสามารถรับความเสี่ยงได้ เป็นการให้สินเชื่อโดยอิงกับข้อมูล”

    นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรยินดีที่จะสนับสนุนให้นำระบบข้อมูลจ่ายภาษีไปประกอบเป็นฐานข้อมูลการพิจารณาการกู้ยืมเงิน ขณะเดียวกันกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนาทำเรื่องสรรพากรดิจิทัล หรือ Digital RD ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว โดยปัจจุบันคนไทย 66 ล้านคน มีการยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา 10.5 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงไม่ถึง 4 ล้านคน สะท้อนว่าคน 20% ของประเทศจ่ายภาษีในสัดส่วน 80%

    อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าหากประเทศไทยคิดจะก้าวกระโดดไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือ 5.0 อยากให้คิดอะไรใหม่ ไม่ต้องยึดประมวลรัษฎากร ไม่ต้องยึดประมวลแพ่ง แต่ยึดไอทีเป็นหลัก ยึดความยุติธรรมเป็นหลัก แล้วร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพราะทุกวันนี้เรายังไม่พ้นการเป็นระบบแอนะล็อก แต่เป็นดิจิทัลครอบแอนะล็อก ดังนั้น หากจะทำให้ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง ก็ต้องเริ่มกันใหม่ เริ่มจากการเปิดใจ

    ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ซีอีโอ iTAX  มองว่า หากจะนำข้อมูลภาษีมาเป็นข้อมูลหนึ่งในการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ประเด็นสำคัญคือจะต้องมีวิธีนำคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้จริงๆ เพื่อตอบโจทย์ของกรมสรรพากรที่อยากให้ทุกคนที่มีรายได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี แต่ความยากก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนมาอยู่ในระบบภาษีจริงๆ

    อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำเรื่องนี้ได้ นอกจากจะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แล้ว ก็อาจจะทำให้เห็นภาพประเทศไทยที่แท้จริงว่ารายได้ของภาครัฐที่มาจากภาษีบุคคลธรรมดาควรเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่