ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ทะเบียนคนจน 8.3 ล้านคน รายได้ไม่ถึงแสนบาท/ปี กู้นอกระบบเกิน 1 แสนบาทกว่า 9 แสนคน อีก 1.4 หมื่นคน แบกหนี้เกิน 1 ล้าน

ทะเบียนคนจน 8.3 ล้านคน รายได้ไม่ถึงแสนบาท/ปี กู้นอกระบบเกิน 1 แสนบาทกว่า 9 แสนคน อีก 1.4 หมื่นคน แบกหนี้เกิน 1 ล้าน

7 ตุลาคม 2016


thaipublica-คนจนลงทะเบียน

จากกกรณีงบประมาณของภาครัฐมีวงเงินจำกัด ทุกปีรัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดหาสวัสดิการให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข คนพิการ คนชรา แต่ไม่สามารถกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากขาดฐานข้อมูล ทำให้ “คนไม่จน” ได้รับประโยชน์เกือบทุกโครงการ ส่วนกลุ่มคนจนจริงๆ ได้รับประโยชน์น้อยมาก

กระทรวงการคลังจึงเปิดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐอีกครั้ง (ครั้งแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท มาลงทะเบียนผ่านสาขาของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อขอรับสวัสดิการของรัฐในระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 – 15 สิงหาคม 2559

สรุปยอดผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการของรัฐที่ธนาคารของรัฐทั้ง 3 แห่ง ส่งมาให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในเบื้องต้น โดยเรียงลำดับกลุ่มผู้ที่มาลงทะเบียนจำนวนมากที่สุดไปหาจำนวนน้อยที่สุด มีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็นดังนี้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-จำนวนคนจนลงทะเบียน

1. คนไทย 67 ล้านคน เป็นผู้ที่รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อายุเกิน 18 ปี มาลงทะเบียนผ่านโครงการดังกล่าวทั้งหมด 8,321,775 คน คิดเป็นสัดส่วน 12.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 4,623,246 คน ธนาคารออมสิน 2,580,725 คน และธนาคารกรุงไทย 1,117,804 คน

2. จำแนกตามอายุ พบผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 46-60 ปี มาลงทะเบียนกันมากที่สุด 3,146,850 คน รองลงมาอายุเกิน 60 ปี มี 2,287,183 คน และอยู่ในช่วงอายุ 36-45 ปี มี 1,557,909 คน

3. จำแนกตามอาชีพ อันดับที่ 1 คือ เกษตรกร มีจำนวน 2,846,535 คน แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืช 2,78,397 คน เลี้ยงสัตว์ 39,007 คน และประมง 22,131 คน อันดับ 2 รับจ้างทั่วไป มีจำนวน 2,706,116 คน อันดับ 3 เป็นคนว่างงาน 1,479,729 คน อันดับ 4 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้านจำนวน 498,317 คน อันดับ 5 อื่นๆ 260,860 คน อันดับ 6 เป็นเจ้าของธุรกิจ 203,442 คน อันดับ 7 เป็นพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 158,041 คน และอันดับ 8 เรียนหนังสือ มีจำนวน 73,939 คน

4. จำแนกตามรายได้ อันดับ 1 แจ้งเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้เลย 1,382,919 คน อันดับ 2 รายได้ต่อปีไม่เกิน 10,000 บาท มีจำนวน 1,205,069 คน อันอับ 3 รายได้อยู่ในช่วง 20,001-30,000 บาทต่อปี มี 943,873 คน อันดับ 4 รายได้ 10,001-20,000 บาทต่อปี จำนวน 885,290 คน และอันดับ 5 รายได้ 30,001-40,000 บาทต่อปี จำนวน 846,690 คน

5. จำแนกตามมูลหนี้ พบผู้มาลงทะเบียนเป็นหนี้นอกระบบวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท จำนวน 6,350,165 คน คิดเป็นสัดส่วน 76.3% ของผู้ลงทะเบียน และยังเป็นหนี้ในระบบวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท จำนวน 7,655,235 คน คิดเป็นสัดส่วน 92% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ข้อสังเกตคือผู้มาลงทะเบียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท อันดับ 2 เป็นหนี้นอกระบบวงเงิน 30,001-100,000 บาท มีจำนวน 1,067,990 คน คิดเป็นสัดส่วน 12.8% และเป็นหนี้ในระบบวงเงิน 30,001-100,000 บาท จำนวน 438,410 คน คิดเป็นสัดส่วน 5.3% อันดับ 3 เป็นหนี้นอกระบบวงเงิน 100,001-500,000 บาท มีจำนวน 807,921 คน คิดเป็นสัดส่วน 9.7% และเป็นหนี้ในระบบวงเงิน 100,001-500,000 บาท จำนวน 203,187 คน คิดเป็นสัดส่วน 2.4%

และที่น่าสนใจ ผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 8,321,775 คน มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แต่ไปกู้ยืมเงินนอกระบบทุกคน ในจำนวนนี้เป็นหนี้นอกระบบวงเงินเกิน 100,000 บาท มีจำนวน 903,619 คน และกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบเกิน 1 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้นายทุนนอกระบบ 20% ต่อเดือน มีจำนวน 14,484 คน

สำหรับเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในโครงการนี้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีจำนวน 1.51 ล้านคน จะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่มีรายได้ 30,001-100,000 บาทต่อปี มีจำนวน 1.34 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 1,500 บาท รวมทั้งสิ้นเกษตรกร 2.85 ล้านคน ได้รับเงินจากรัฐบาล 6,540 ล้านบาท เป็นของขวัญปีใหม่ โดยรัฐบาลจะเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2560 ในหมวดงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

Thaipublica-จัดสรรงบคนจน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 กระทวงการคลังจึงต้องนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ภายใต้หลักการที่จะบริหารจัดการปัญหาหนี้นอกระบบด้านลูกหนี้และด้านเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และมีความต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีใน 5 มิติ ดังนี้

1. ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย

  • ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่เกิน 15% ต่อปี
  • เปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง โดยเจ้าหนี้นอกระบบที่จะประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และมีคุณสมบัติอื่นเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขอื่นของกระทรวงการคลัง
  • เร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. …. ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

  • กำหนดให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินสามารถกู้ยืมเงินในระบบได้ง่ายและรวดเร็วในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าบริการและค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยให้กู้ยืมทั้งแบบมีหรือไม่มีหลักประกัน
  • จะมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ภายในธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าปกติเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนโดยเฉพาะ

3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ จะมีจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เพื่อช่วยดูแลให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในเบื้องต้น และช่วยนำลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กลไกการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดมูลหนี้ที่เป็นธรรม ก่อนที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะได้พิจารณารีไฟแนนซ์สินเชื่อเข้าสู่ในระบบให้ตามศักยภาพของลูกหนี้แต่ละรายต่อไป

4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ จะได้รับการสนับสนุนฟื้นฟูอาชีพ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด โดยจะได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงฝึกอบรมอาชีพหรือทักษะฝีมือแรงงานอย่างเข้มข้น ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก

5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้องจะมีการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนต่างๆ เผยแพร่ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลแก่ประชาชนฐานราก ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่ประชาชนจะขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบของประชาชนต่อไป(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-การแก้ปัญหาคนจน

กระทรวงการคลังเล็งเห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าวจะสามารถลดปัญหาเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ลูกหนี้นอกระบบได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการการทางการเงินโดยง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรู้จักบริหารจัดการทางการเงิน และตระหนักถึงภัยของหนี้นอกระบบ และในส่วนของหน่วยงานภาครัฐจะมีการประสานการทำงานที่ดีเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องหนี้นอกระบบให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนภาครัฐจะมีฐานข้อมูลด้านหนี้นอกระบบเพื่อใช้ประโยชน์เชิงนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจากภาครัฐ ณ จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอยู่ ณ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามทางสายด่วนธนาคารออมสิน โทร. 1115 และสายด่วน ธ.ก.ส. โทร. 0-2555-0555 ทั้งนี้ ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดเนื่องจากไม่ถือเป็นโครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ในเขตกรุงเทพฯ หรือสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดในทุกจังหวัด

นอกจากนี้ ในส่วนของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ กระทรวงการคลังจะเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบหรือผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เงื่อนไขและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทางเว็บไซต์ www.fpo.go.th ต่อไปตามลำดับ