ThaiPublica > เกาะกระแส > “อารีพงศ์” สั่งสอบ คนคลัง-ออมสิน ถลุงงบฯ ฝึกอาชีพ “ลูกหนี้นอกระบบ” บินดูงานยุโรป

“อารีพงศ์” สั่งสอบ คนคลัง-ออมสิน ถลุงงบฯ ฝึกอาชีพ “ลูกหนี้นอกระบบ” บินดูงานยุโรป

20 มีนาคม 2012


นายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ เลขานุการศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน
นายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ เลขานุการศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน

ต่อกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมาที่กระทรวงการคลัง กล่าวหาว่านายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน มีพฤติการณ์ประพฤติมิชอบ โดยการนำเงินงบประมาณวงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในโครงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ไปใช้จ่ายส่วนตัว สุรุ่ยสุร่าย ไปเที่ยวยุโรป

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ทำหนังสือลับส่งถึงนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และให้รายงานผลการตรวจสอบส่งมาที่กระทรวงการคลังโดยเร็ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารออมสินได้ทำหนังสือสรุปผลสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ส่งตรงถึงนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 หลังจากที่ออมสินได้รับคำสั่งลับจากปลัดกระทรวงการคลัง ให้ธนาคารเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ “ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน” (ศอก.นส.) ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าประเด็นที่พอจะมีมูลตามที่ได้รับเบาะแสจากผู้ร้องเรียน มีอยู่ 3 ประเด็น

1. กรณีข้าราชการกระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน ทำเรื่องขอเบิกเงินในหมวดค่าใช้จ่ายฝึกอบรมอาชีพให้กับลูกหนี้นอกระบบ เดินทางไปดูงานต่างประเทศ 5 ครั้ง

2. กรณีเบิกค่าเช่ารถยนต์ 3 คัน รวมเป็นวงเงินกว่า 7 ล้านบาท

3. ประเด็นงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้มีเหลือค้างอยู่ในบัญชีอีก 12 ล้านบาท คาดว่าในเร็วๆ นี้กระทรวงการคลังคงจะมีคำสั่งให้นำงบฯ ส่วนนี้ส่งคืนคลัง

จากการที่ออมสินเข้าไปตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่ายของโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ธนาคารออมสินได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) รวม 4 ครั้ง คิดเป็นเงิน 64 ล้านบาท ธนาคารได้นำเงินรายได้ดังกล่าวมาฝากไว้ในบัญชีชื่อ “เงินสนับสนุนจาก ศตจ.ชาติ” เพื่อเตรียมเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ อาทิ ค่าเดินทางในประเทศ ค่าฝึกอบรมอาชีพให้กับลูกหนี้ที่เข้าโครงการฯ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีการเบิกเงินออกไปใช้จ่าย 52 ล้านบาท ตอนนี้จึงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี 12 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันธนาคารยังไม่ได้รับแจ้งจาก ศอก.นส. ว่าจะให้นำเงินงบประมาณที่เหลือส่งคืนกระทรวงการคลังเมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนจนเสร็จสิ้นภาระกิจแล้ว

งบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)
งบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)
รายการค่าใช้จ่ายในโครงการศตจ.
รายการค่าใช้จ่ายในโครงการศตจ.

จากนั้น ธนาคารออมสินได้เข้าไปตรวจการใช้จ่ายเงินของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ พบว่า ตั้งแต่ปี 2548 – 2551 มีการเบิกเงินออกไปใช้จ่ายกว่า 49 ล้านบาท โดยหมวดที่มีการเบิกจ่ายเงินมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายฝึกอบรมอาชีพให้กับคนที่เป็นหนี้นอกระบบ คิดเป็นวงเงิน 25.58 ล้านบาท ซึ่งในหมวดนี้ ธนาคารสอบตรวจพบว่า มีผู้บริหารของออมสินและข้าราชการกระทรวงการคลัง มาขออนุมัติเบิกเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศรวม 5 ครั้ง ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี, ดูงานไมโครไฟแนนซ์ที่ประเทศเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์, สาธารณรัฐประชาชนลาว, ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย

แต่ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบหลักฐานการขออนุมัติเดินทางไปดูงานต่างประเทศแค่ 2 ครั้ง ได้แก่ กำหนดการดูงานที่ประเทศเกาหลี กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2550 อ้างว่า “กรมบัญชีกลางร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการศึกษาดูงานการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อขจัดความยากจน และพัฒนาชนบท ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ สาธารณรัฐเกาหลี” ในระหว่างวันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2550 โดยเชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคาร 2 คน คือนายกิตติพงศ์ บุญยิ่ง กับนายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ ต่อมาธนาคารได้อนุมัติให้มีการเบิกเงินจากบัญชี “เงินสนับสนุนจาก ศตจ.ชาติ” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับนายกิตติพงศ์และนายวุฒิพงษ์ คนละ 72,500 บาท รวมเป็นเงิน 145,000 บาท

รายการเดินทางไปศึกษา ดูงานในต่างประเทศของศตจ.
รายการเดินทางไปศึกษา ดูงานในต่างประเทศของศตจ.

ถัดมา เป็นกำหนดการเดินทางไปดูงานไมโครไฟแนนซ์ ประเทศเยอรมนี และสวิสเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 8 – 18 พฤศจิกายน 2550 มีผู้ร่วมคณะเดินทางทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วยพนักงานของธนาคารออมสินทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค 10 คน และผู้บริหาร ศอก.นส. กระทรวงการคลัง 4 คน โดยมีนายวุฒิพงษ์เป็นผู้ทำเรื่องขึ้นมาขออนุมัติเบิกจ่ายจาก “เงินสนับสนุนจาก ศตจ.ชาติ” จำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศครั้งนี้ โดยมีนายวุฒิพงษ์ร่วมคณะเดินทางไปด้วย (อ่านเพิ่มเติม เอกสารขออนุมัติเงินเพื่อไปดูงานต่างประเทศ)

รายชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงิน
รายชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงิน

ส่วนกำหนดการดูงานต่างประเทศที่เหลืออีก 3 ประเทศ ยังอยู่ระหว่างการค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นายพงษ์เทพได้เข้าร่วมเดินทางไปทัศนศึกษา และดูงานในต่างประเทศกับคณะผู้บริหารของธนาคารออมสินทุกครั้ง

นอกจากค่าใช้จ่ายในการไปดูงานต่างประเทศแล้ว ศอก.นส. ได้เบิกเงินจากบัญชี “เงินสนับสนุนจาก ศตจ.ชาติ” ไปเช่ารถยนต์จำนวน 3 คัน ตั้งแต่ปี 2548-2551 จ่ายค่าเช่าไป 5,385,800 บาท ส่วนในปี 2552 ถึงปัจจุบันจ่ายค่าเช่ารถยนต์ไปอีก 1,709,500 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายผูกพันตามสัญญาเช่ามีรายละเอียดดังนี้

1. รถตู้โดยสาร ยี่ห้อ TOYOTA COMMUTER เพื่อใช้ในกิจการของ ศอก.นส. ออมสินได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้ ศอก.นส. โดยมีนายพงษ์เทพเป็นผู้ควบคุมดูแลการปฎิบัติงานภายในศูนย์ฯ ระยะเวลาเช่า 4 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ถึงเดือนสิงหาคม 2552 อัตราค่าเช่าเดดือนละ 33,000 บาท

2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ TOYOTA CAMRY เพื่อใช้ในกิจการของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน โดยมีนายวุฒิพงษ์เป็นผู้ครอบครอง ระยะเวลาเช่า 4 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ถึงเดือนสิงหาคม 2552 อัตราค่าเช่าเดือนละ 35,500 บาท

3. รถตู้โดยสาร ยี่ห้อ TOYOTA COMMUTER เพื่อใช้ในกิจการของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน โดยมีนายวุฒิพงษ์เป็นผู้ครอบครอง ระยะเวลาเช่า 4 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 อัตราค่าเช่าเดือนละ 32,000 บาท

(อ่านรายละเอียด ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ)