ThaiPublica > เกาะกระแส > “หนี้นอกระบบ” จะบริหารจัดการให้เป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร

“หนี้นอกระบบ” จะบริหารจัดการให้เป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร

16 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และนักศึกษาหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (ROLD) จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง หนี้นอกระบบ: บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร?

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และนักศึกษาหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง หนี้นอกระบบ: บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร? ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยเน้นการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคประชาสังคม รวมทั้งฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่ประสบปัญหา

พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนฐานรากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ขาดความรู้ สิ่งที่แย่ที่สุดคือ ประชาชนไม่เข้าใจกฎหมาย ไม่เข้าใจเรื่องการทำสัญญากู้หนี้ยืมสิน

เมื่อถูกฟ้องร้องก็ไม่มีความรู้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จนนำไปสู่การถูกบังคับคดี ถูกยึดที่ดิน ยึดที่อยู่อาศัย และเมื่อยู่ในชั้นบังคับคดี ก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู่ในเรื่องการขายทอดตลาดอย่างไร ซึ่งไม่มีประชาชนคนไหนที่รู้กฎหมายทุกฉบับ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ

พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ข้าราชการของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตนได้รับเรื่องร้องเรียนหลายเรื่องในกรณีที่มีการบังคับคดี บางคดีมีการติดหมาย แต่บ้านถูกรื้อไปนานแล้ว แต่ติดหมายที่ใบอ้อย และคนที่ซื้อทรัพย์นั้นไปปรากฏว่าเป็นญาติผู้พิพากษา เรื่องเหล่านี้ไม่จบไม่สิ้น

จนกระทั่งมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ซึ่งมีหลายคดีที่ช่วยแล้วชนะ แต่หลายคดีก็ยืดเยื้อและยังช่วยไม่ได้ เพราะหนี้สินมีมากกว่าวงเงินที่ทางธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะอนุมัติสินเชื่อได้

หรือหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ทำบันทึกมาถึงตน ขอยุติเรื่องเพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่ธนาคารจะช่วยได้ หรือกรณีขอยุติเรื่องให้มีการไกล่เกลี่ย แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมไกล่เกลี่ย นี่คือปัญหาที่เจอ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามแก้ไข เช่น ปรับปรุงกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการแก้ไขเรื่องสัญญาที่มีการอำพรางการกู้หนี้ยิมสิน แก้ไขเรื่องโทษ แต่ไม่สามารถแก้เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และเรื่องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายให้มีบทบาทมากกว่านี้

แต่ทั้งนี้ก็ได้ยุติธรรมจังหวัดเข้ามาช่วย หาทนายความที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือประชาชนได้เต็มที่ หรือไปทาบทามกองทุนยุติธรรมให้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องสัญญา เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ไม่ได้ดูแลเรื่องหนี้นอกระบบอย่างเดียว แต่ยังดูแลเรื่องประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่อที่ดิน ที่ทำกิน ที่ถูกเอาเปรียบจากนายทุน ดูแลเรื่องความเป็นธรรมต่างๆ ในการที่ถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่งที่ถูกเอาเปรียบ

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีการขายฝากที่ดินระยะสั้นมาก 3-6 เดือน เกษตรกรคนไหนที่ไม่สามารถเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ให้ครบวงจรได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วขนาดนั้น ก็เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียที่ทำกินให้นายทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็พยายามมุ่งเน้นว่า “อยากจะยกเลิกกฎหมายขายฝาก”

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้กำชับข้าราชการทุกคนว่า ในการแก้ไขปัญหาต่อไป จะต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการบูรณาการและต้องรวดเร็ว สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน

“กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นแก้ไขที่สำคัญที่สุดคือ ความจริงใจ คนที่มีอำนาจมีความจริงใจแค่ไหน ในการทำเพื่อประชาชนหรือทำเพื่อตัวเอง ผมอยากจะให้มีการปฏิรูป อยากให้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ อยากให้อยู่ในใจของคนที่จะมาบริหารประเทศ ขอให้ทำเพื่อประชาชน ไม่อย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น”

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท

นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมการสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นความตั้งใจของเจ้าหนี้นอกระบบที่ต้องการจะทำแบบนี้ ทุกวันนี้เจ้าหนี้มีข้อมูลและรู้ว่าลูกหนี้กำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน จึงใช้เครือข่าย ใช้บุคคลกรต่างๆ มาจัดการกับลูกหนี้ได้หมด กระบวนการยุติธรรมก็แทบจะให้ความเป็นธรรมไม่ได้

วันนี้เราเข้าไปสู่ “ทุนนิยมสามานย์” กระตุ้นให้ชาวบ้านกู้เงิน ต่างจากสมัยก่อนมีค่านิยม ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่กู้ แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเป็นหนี้เกือบทุกคน แม้กระทั่งกองทุนต่างๆ ที่รัฐบาลส่งเข้าไปในหมู่บ้าน บางส่วนก็กระตุ้นให้ชาวบ้านเป็นหนี้ เคยถามชาวบ้านว่าทำไมต้องกู้ คำตอบคือคนอื่นเขาได้กันหมด ก็อยากได้ด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลส่วนก็ไปบอกชาวบ้านให้กู้ โดยอ้างว่าเผื่อจะใช้เงิน ดังนั้น ในบางกรณีราชการก็ไม่คุ้มครอง ไม่ดูแลประชาชนในขณะที่เขาไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ ส่วนกองทุนต่างๆ วันนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก เคยขอดูงบประมาณรัฐบาลไทย พบว่าทุกกระทรวงมี กองทุนต่างๆ มากมาย บางกองทุนไม่มีการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่เคยยกเลิกหรือยุบกองทุน

“ทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นทางออก มันยาก เพราะหนี้นอกระบบกระจายไปทั่ว แต่ประเด็นสำคัญคือประชาชนถูกกระตุ้นให้ต้องการ แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานที่มีหน้าที่ปล่อยเงินกู้ก็จะกระตุ้นให้คนกู้ แต่หากจะแก้ปัญหาอาจจะต้องแยกแยะว่า คนจนแต่ละกลุ่มเขาจนยังไง แล้วจะหาทางช่วยอย่างไร”

นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ทำงานวิจัยเรื่องหนี้นอกระบบของเกษตรกรปี 2557, 2558, 2559 พบว่ามีกรณีลูกหนี้ตกเป็นเหยื่อเจ้าหนี้นอกระบบจำนวนมาก ประเด็นส่วนใหญ่คือไม่มีอำนาจในการต่อรองกับเจ้าหนี้ เกรงกลัวอิทธิพล และทุกวันนี้นายหน้าหนี้นอกระบบมีเกือบทุกชุมชน

ทั้งนี้เกษตรกรสะท้อนว่า “หนี้นอกระบบหนักกว่าหนี้ในระบบแล้ว” และมีหลายกรณีที่เกษตรกรต้องหนีออกจากชุมชุม ไม่สามารถจะอยู่ที่บ้านได้ ขณะที่หน่วยงานราชการเข้าไปช่วยไม่ถึงเพราะหนี้กระจายไปทั่วทุกจังหวัด และทางเจ้าหนี้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เช่น ใช้สัญญาจำนอง ใช้ระบบศาล ใช้ระบบฟ้องขับไล่ และใช้ระบบตำรวจในการจับกุม

“เจ้าหนี้อ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ตั้งแต่สัญญาถูกต้อง เกษตรกรก็ไปเซ็นเอกสารโดยไม่ได้อ่านสัญญา เรียกว่าไปทำสัญญาเปล่า ไม่กรอกตัวเลข เจ้าหนี้จะกรอกตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ เช่น ขอกู้เงิน 4 แสนบาท ก็อาจจะเจอกรอกตัวเลขตามหลังเป็น 1 ล้านบาท และจะกรอกตัวเลขเมื่อใกล้จะฟ้อง เพราะเจ้าหนี้คาดหวังว่าจะได้ที่ดิน”

ดังนั้น ในกรณีแบบนี้ เกษตรกรไม่ได้กรอกตัวเลข แต่เซ็นอย่างเดียว แล้วการดำเนินการผ่านนายหน้าทั้งหมด เกษตรกรจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นเจ้าของเงิน

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาพบว่ายังมีทางออกในการแก้ไขปัญหา แต่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และควรจะทำที่ต้นทาง คือในเชิงนโยบาย ต้องมองภาพใหญ่ว่าคืออะไร แล้วเข้าไปจุดไหนเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้

งานศึกษาพบว่า ภาพรวมขณะนี้เราอยู่ภายใต้ระบบทุน ดังนั้น หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ เอาความมั่นคงของทุนและสินทรัพย์เป็นหลัก แต่สิ่งที่ชาวบ้านบอกคือ เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เพราะไม่มีหลักทรัพย์

ส่วนธนาคารที่ไม่สามารถให้กู้ได้ส่วนหนึ่งเพราะว่า ธนาคารก็กลัวว่าตัวเองจะไม่มั่นคง ประชาชนไม่มีหลักทรัพย์ธนาคารก็กลัวเป็นหนี้สิน เมื่อเป็นหนี้สิน ก็ให้กู้ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าอยู่ภายใต้หลักนี้ ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

นอกจากนี้ยังพบว่า “หนี้นอกระบบสัมพันธ์กับหนี้ในระบบ” และหนี้ในระบบก่อให้เกิดหนี้นอกระบบด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าแยกออกจากกัน ไม่วิเคราะห์ร่วมกัน จะแก้ปัญหาลำบากมาก

ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐมองว่าอยากให้เกษตรกรกู้เงินในระบบผ่านสถาบันการเงิน โดยมีกองทุนต่างๆ มากมาย ก็ให้เกษตรกรไปกู้ แต่ระหว่างการกู้ งานศึกษาพบว่า ในกระบวนการกู้ รัฐไม่ได้เข้าไปช่วยการทำสัญญาการกู้เงิน การชำระหนี้ การเจรจาปรับลดหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการดำเนินการฟ้องร้องคดี นี่เป็นช่องโหว่ที่รัฐต้องเข้าไปช่วยทั้งในและนอกระบบ

ถ้าเราสนับสนุนให้เกษตรกรกู้เงิน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด คือคุณกู้แล้วคุณเท่าเทียมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ คุณไปตกลงกันเองตามกลไกตลาด แต่ไม่ได้มองว่ามีความไม่เท่ากันระหว่างสถาบันการเงินกับเกษตรกร ไม่เท่ากันระหว่างเจ้าหนี้นอกระบบกับเกษตรกร

ดังนั้นเราต้องให้แต้มต่อเพื่อให้มีความเท่าเทียม หมายความว่าต้องช่วยคนที่ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบกว่า เพราะถ้าทำแบบกลไกตลาดก็ไปไม่รอด เนื่องจากงานศึกษาพบชัดเจนว่าในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การทำสัญญา เซ็นสัญญาเปล่า สัญญาขายฝาก เกษตรกรก็แยกไม่ออกระหว่างขายฝากกับจำนอง

ตอนแรกไปหาเจ้าหนี้บอกว่าจะจำนอง ทำไปทำมากลายเป็นขายฝาก เกษตรกรไม่เข้าใจว่าถ้าขายฝากก็หมายถึงถ้าผิดนัดแค่วันเดียวที่ดินเป็นของเจ้าหนี้ทันที เพราะการขายฝากไม่ใช่จำนอง แต่คือการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน

ดังนั้น ข้อเสนอในงานศึกษาอยากให้ “ยกเลิกกฎหมายขายฝาก” เพราะเราคิดว่าไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร หรือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกษตรกรขายฝากที่ดิน เพราะการขายฝากที่ดินคือการซื้อขายที่ดินโดยที่เกษตรกรไม่รู้ตัว

พร้อมกันนี้ ในงานศึกษายังพบข้อจำกัดของเกษตรรายย่อยที่เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องระบบสินเชื่อ คือรัฐสนับสนุนให้เข้ามากู้ ธ.ก.ส. หรือออมสิน แต่รัฐไม่ได้มองเรื่องความสามารถในการ 1. เข้าใจสัญญาเงินกู้ของเกษตรกร 2. ความสามารถของเกษตรกรในการจัดการหนี้ และ 3. ความสามารถในการชำระหนี้

สามตัวนี้รัฐต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะเกษตรกรบางคนไม่ทราบด้วยว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นและทบไปเรื่อยๆ ขนาดหนี้ในระบบเกษตรกรยังสูญเสียที่ดิน เนื่องจากธนาคารของรัฐก็ต้องดำเนินนโยบาย เช่น บางทีต้องยึดที่ดินชาวบ้านขายทอดตลาดเหมือนกัน

แต่ในฐานะคนที่ทำงานวิจัยกับเกษตรกรเห็นว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าธนาคารของรัฐจะไม่ยึดที่ดินชาวนาขายทอดตลาด จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ทุกวันนี้ชาวนาเสียที่ดินจากกู้หนี้นอกระบบ เพราะว่าหลายคนต้องการรักษาบ้านและที่ดินไว้ ก็ไปกู้เจ้าหนี้นอกระบบ แล้วก็เอาไปใช้หนี้ในระบบ

นอกจากนี้ ถ้าหากจะแก้ปัญหาให้ได้ งานวิจัยมองว่าต้องรู้จักข้อจำกัดเกษตรกร 1. ทำไมถึงเป็นหนี้ 2. เป็นหนี้แล้วจะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างไร และ 3. เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีความ ควรมีกรอบทำงานตั้งแต่เริ่มเป็นหนี้ได้อย่างไร

ความหมายก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนของเศรษกิจแบบทุน เมื่อเผชิญกับภัยธรรมชาติ ได้ผลผลิตน้อย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขาดทุนต่อเนื่อง ไม่มีรายได้เสริม สุดท้ายก็ไปหาเจ้าหนี้ แต่ไม่มีอำนาจต่อรองราคาผลผลิต ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม อยู่ภายใต้โครงสร้างการผลิตขนาดใหญ่ กลไกตลาดขนาดใหญ่ สุดท้ายก็เป็นหนี้

หรือกรณีเจอกับภาวะเสี่ยงอยู่เป็นประจำ เพราะ “เกษตรกรไม่มีเงินออม” ศึกษามากี่กรณีก็พบว่า ไม่ถึง 10% ที่มีเงินออม เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง หรือมีค่านิยมส่งลูกเรียนสูง แต่มีค่าเทอมจำนวนมาก เกษตรกรส่งลูกเรียนโดยไม่ได้ไตร่ตรองความเสี่ยงในการชำระหนี้

ในกรณีเหล่านี้ ทางออกที่เราศึกษาคือ “ในทุกชุมชนต้องมีสถาบันการเงิน” เพราะจะคาดหวังให้เกษตรกรพึ่งแต่หนี้ในระบบคงเป็นไปไม่ได้ เขาต้องการเงินเล็กๆ ยามเจ็บป่วย หรือมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องมีหนี้นอกระบบอยู่ “แต่หนี้นอกระบบในสถาบันการเงินเล็กๆ ที่มีความเป็นธรรม ต้องหา ต้องทำ ต้องคิด ต้องออกแบบว่าจะทำอย่างไร”

ส่วนเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะเกษตรกรไม่มีหลักทรัพย์ ถ้ากู้ไม่ถึง หรือกู้ไปแล้ว ธนาคารก็อยู่ไม่รอด อย่างนี้ก็แย้งกันระหว่างความอยู่รอดของธนาคารกับความอยู่รอดของเกษตรกร คนที่ทำนโยบายจะต้องคิดตรงนี้

สำหรับผลกระทบที่เจอในงานศึกษาของเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ เช่น ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ใช้กลไกกฎหมายในการรังแกชาวบ้าน ยึดที่ดิน ฯลฯ

วันนี้พื้นที่ที่ถูกจำนองขายฝาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่าในปี 2556 มีประมาณ 30 ล้านไร่ เป็นพื้นที่จำนองประมาณ 29 ล้านไร่ ขายฝากประมาณ 1.5 ล้านไร่ จะเห็นว่าในพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 149 ล้านไร่ แต่ 30 ล้านไร่ อยู่ในมือสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ รอขายทอดตลาด

นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรสภาพจิตใจแย่มาก ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี และคิดฆ่าตัวตายเกือบทุกรายที่เราศึกษา

ดังนั้น ในประเด็นทางออกสำคัญอยากเน้นว่า เราต้องมองภาพใหญ่ว่ากลไกมันเดินกันอย่างไรระหว่าง 3 ขั้นตอน ตั้งแต่เกษตรกรเป็นหนี้เพราะอะไร, เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้, กระบวนการยุติธรรมที่เข้าไม่ถึง ซึ่งเราต้องแก้ทั้งสามส่วนนี้พร้อมกัน บนฐานการพัฒนาศักยภาพ เสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ ส่วนมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน เช่น พักชำระหนี้ คิดว่าเป็นเรื่องปลายทางและช้าเกินไป

หรือถ้าพักชำระหนี้จะถูกนำมาใช้ ก็ต้องอยู่บนฐานหลักใหญ่ คือ เจตนารมณ์ฟื้นฟูก่อน แล้วเกษตรกรควรได้รับสิทธิในการบคุ้มครองนโยบาย ให้สิทธิเกษตรกรในการฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจ ให้แต้มต่อว่าเขาจะมีโอกาสพิเศษได้อย่างบ้าง เช่น การปฏิรูปที่ดิน, ให้ที่ดิน, หรือให้เงินทุนปลอดดอกเบี้ย, หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

รวมทั้งอยากให้มีกลไกบูรณาการ กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ มีหน่วยเฉพาะกิจที่ทำงานศึกษาเชิงปฏิบัติการ หาแนวทางแก้หนี้ในระบบและนอกระบบคู่กัน ทำเป็นโครงการทำงานร่วมกัน

เช่น ถ้ารัฐส่งเสริมให้เกตรกรเป็นหนี้ในระบบ ภาครัฐจะเข้ามาแก้ปัญหาทั้งระบบได้ไหม, จะช่วยเหลืออย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องไม่สามารถชำระหนี้ได้, หรือมีความพยายามจะเข้าไปให้ถึงแหล่งเงินกู้, จะป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรได้อย่างไร คือต้องมองนอกกรอบด้วย ไม่ใช่จะเอาที่ดินไปจำนองอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องมีเจตนารมณ์จริงๆ ที่จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบร่วมกัน

ลูกหนี้นอกระบบเปิดใจ

เยาวรัตน์ เหลาดวงดี(ซ้าย)และบุปผา รุ่งสว่าง(ขวา)

ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง หนี้นอกระบบ: บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร? ยังได้เชิญตัวแทนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบมาสะท้อนบทเรียนหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เยาวรัตน์ เหลาดวงดี” ลูกหนี้นอกระบบ เล่าว่า เธอต้องการกู้เงินไปไถ่บ้านและที่ดินคืนจากธนาคาร เนื่องจากคุณพ่อนำไปจำนองไว้กับธนาคาร แต่ต่อมาคุณพ่อเสียชีวิต ก็เลยต้องการไถ่คืน

วันหนึ่ง มีรถตู้สีดำมาจอดที่หน้าบ้าน แล้วลงมาถามว่า ได้ข่าวว่าต้องการเงินเหรอ ก็มายื่นข้อเสนอว่าจะไปไถ่บ้านให้ ซึ่งไม่ทราบเขารู้ได้ยังไงว่าเราเดือดร้อน แต่ก็ตัดสินใจกู้ เพราะบ้านกำลังจะถูกยึด

เธอขอกู้ 450,000 บาท เขาก็ให้เงินสดมา แต่มีเงื่อนไขว่าใบ น.ส.3 ต้องไปอยู่กับเขา แล้วก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ค่านายหน้า 10%, ค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าร้อยละ 3 ต่อเดือน, ค่าน้ำมัน ค่าดูที่, ค่ากาแฟคนขับรถเกือบหหมื่นบาท ฯลฯ ก็เคยถามว่าทำไมขั้นตอนมันสลับซับซ้อน เขา (นายหน้า) ก็ตอบว่า ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา

แต่ปรากฏว่าได้เงินมาจริงๆ แค่ 110,000 บาท จากที่ขอกู้จริง 450,000 บาท แล้วเขาก็รวมยอดหนี้มาให้ประมาณ 9 แสนบาท บอกว่าหักค่าใช้จ่าย รวมทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว แต่สุดท้ายก็พบอีกว่า เขาลงในสัญญาขายฝากว่าเป็น 1 ล้านบาท

พอครบ 6 เดือนก็ต้องมีการจ่ายดอกเบี้ย และต่อสัญญาครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งการต่อสัญญาก็ทำเหมือนเดิม หักค่าดอกเบี้ย ค่านายหน้า ค่าน้ำมัน ค่าที่อยู่ จนสุดท้ายเป็นหนี้ทั้งหมด 1,600,000 บาท หนูก็ปรึกษากับครอบครัวญาติพี่น้อง พอ 1,600,000 ก็รู้สึกว่าหนักแล้ว และเราก็ไม่มีทางออก

“ต่อมานายหน้าเขาก็มาหาที่บ้านบอกว่า ไม่เป็นไร พูดจาเพราะ บอกว่าจะต่อสัญญาให้ ไม่ต้องคิดมาก แต่เราก็ปรึกษาครอบครัวว่า อีก 2 เดือนก่อนจะหมดสัญญาขายฝาก จะขอไถ่คืน ก็เลยโทรหานายหน้าคนนี้ โทรไปเขาบอกว่า ตอนนี้เจ้าหนี้ไม่อยู่ นายทุนคนนี้ไม่อยู่ ไปต่างประเทศ ติดต่อไม่ได้ พอเราติดต่อกับลูกชายเจ้าหนี้ก็บอกว่า ไม่รู้ ต้องรอพ่อก่อน จนในที่สุดพอ 2 เดือนครบสัญญา เขาก็ฟ้องขับไล่ที่เราเลย เขาบอกว่า ถ้าไม่ออกจากบ้าน เขาจะยึดบ้าน ก็ส่งคนมาขู่ เป็นผู้ชายชุดดำ สุดท้ายเรากับครอบครัวต้องออกมาเช่าบ้านอยู่ เพราะเจ้าหนี้ยึดบ้าน แล้วก็ติดประกาศขาย ซึ่งลักษณะแบบนี้เยอะมากที่ขอนแก่น”

ตอนที่โดนฟ้อง ก็ไปตามศาลนัดทุกครั้ง แต่หนูไม่เข้าใจคำว่าประนีประนอมยอมความ ทางศาลจังหวัดนัด ทางเจ้าหนี้ก็ส่งทนายไป แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้อธิบายอะไร มาบอกเราแค่ว่าเซ็นเถอะ เดี๋ยวก็จบ ไม่มีอะไร พอเซ็นไปแล้วเขาบอกว่า ไม่ต้องไปขึ้นศาลแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

ตอนแรกก็เข้าใจว่า เขายอมให้เราหาเงินไปให้เขา หรือต่อเวลาให้ แต่มารู้ทีหลังว่าเขาก็ฟ้องว่าเราไม่ไปที่บังคับคดี พอหนูไปที่บังคับคดี ผู้พิพากษาก็ให้ไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าหนี้ก่อน ทางเจ้าหนี้ก็บอกว่า เขาไม่คุย ไม่ประสงค์จะเจรจา ไม่อะไรทั้งสิ้น สุดท้ายก็ต้องมาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ

“บุปผา รุ่งสว่าง” ลูกหนี้นอกระบบอีกคน เล่าว่า เธอเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็มีคนมาแนะนำให้กู้เงินบอกว่า กู้เงินง่าย เอาแค่บัตรประชาชน ถ่ายเอกสาร ไม่ได้เซ็นอะไร ก็ขอกู้ 2 หมื่นบาท โดยให้เงื่อนไขมาว่า หักส่ง 24 วัน มีการหักดอกเบี้ย หักค่าเอกสาร ฯลฯ

สุดท้ายได้เงินมาจริงๆ 18,000 บาท เราไม่มีเงินก็ต้องเอา แล้วก็รู้สึกว่ากู้ง่าย ผ่านมาได้สักประมาณ 20 วัน เขาก็ล้มหนี้เก่า แล้วให้กู้ใหม่ เอาเงินที่จะกู้ใหม่ไปโปะเงินเก่า แล้วก็กู้ไปเรื่อยๆ

พอเราบอกว่าจะส่งเงินเก่าให้หมดก่อน เขาก็บอกว่าไม่ต้องก็ได้ ก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ไหวแล้ว ก็บอกว่าจะขอส่งเหมือนเดิม เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ เขาทำรายวัน ไม่ได้ทำเป็นเดือน เขาบอกด้วยว่า ถ้าส่งไม่ไหว “จะส่งหน่วยไล่ล่าลงล็อกบ้าน”

ต่อมาเราก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ตำรวจก็บอกว่าให้ประนีประนอม แต่เจ้าหนี้รายนี้บอกว่าเขาไม่กลัวตำรวจ ไม่ว่าจะไปฟ้องที่ไหนเขาก็เคลียร์ได้ ซึ่งสุดท้ายตำรวจก็บอกให้เราใช้หนี้เขา เพราะประนีประนอมเขาก็ไม่สนใจหรอก

หลังจากนั้น หน่วยไล่ล่าก็มาทุกเช้า เพราะเราไม่ได้ส่งเงิน เป็นพวกลูกน้องเจ้าหนี้ มาบอกเราให้ใช้หนี้ มาด่าเราว่าหน้าด้าน มาพูดว่าเราไม่ใช้หนี้ มาทั้งกลางวันกลางคืน สุดท้ายเราก็ไม่ไหว ลูกเต้าก็เรียนหนังสือ ก็ต้องย้ายบ้าน

จนสุดท้ายมีคนแนะนำให้มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ศูนย์ก็มีคำสั่งลงไปในเขตที่เราอยู่ พอมีคำสั่งลงไป จากที่เจ้าหนี้ขู่เราว่าต้องเคลียร์หนี้ ก็กลายเป็นพูดดีด้วย ประมาณว่าประนีประนอมกันสิ กลายเป็นคนละเรื่อง

จนสรุปก็มาทำสัญญาผ่อนรายเดือน แต่ตอนแรกทางเจ้าหนี้ก็ไม่ยอม มีการกดดันตลอดเวลา จากหนี้ร้อยละ 20 ก็เป็นร้อยละร้อย แต่ตอนนี้ก็ผ่อนรายเดือน จากที่ผ่อนวันละ 4 พันบาท ก็ผ่อนเดือนละพัน เพราะศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้สั่งการไป ทุกอย่างก็หยุด

“บุปผา” ยังสะท้อนว่า กรณีที่ธนาคารประกาศตามหมู่บ้านให้ประชาชนกู้เงินได้ แต่จริงๆ แล้วคนที่ได้เงินจริงๆ ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นพวกกลุ่มกันเอง คนที่จนจริงๆ ไม่ได้ คนที่เดือดร้อนไม่ได้

เงินลงมาหมู่บ้านจริง 1 ล้าน 2 ล้าน 3 ล้าน แต่คุณลงไปดูได้เลยว่า คนที่เขาทำมาหากินจริงๆ เขาไม่ได้ แต่พวกที่ได้คือพวกกรรมการเดียวกัน พวกรากหญ้าจริงๆ ไม่ได้

สุดท้ายคนที่จนจริงๆ ก็ต้องพึ่งเงินด่วน แล้วก็ไม่มีทางออก ก็หาทางออกด้วยการผูกคอตายก็มีเยอะ พากันไปตายทั้งครอบครัวก็มี เพราะเขาไม่รู้ว่า เรื่องจริงใครจะช่วยเขาได้

อย่างของเราตอนนี้ก็คิดว่าจะไม่กู้แล้ว เพราะว่ารู้แล้วว่ามันเก็บกดแค่ไหน ทุกวันนี้อยู่แบบไม่มีเงิน แต่ไม่มีหนี้ดีกว่า ดีกว่ามีเงินไม่กี่วัน แล้วต้องเป็นหนี้ไปตลอด