EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เรื่อง ใครๆ ในโลกล้วนอยากเป็น gig ว่า “ต้องอธิบายก่อนว่า gig ในที่นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ กิ๊ก ที่หมายถึงความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน หรือการแอบนอกใจไปคุยกุ๊กกิ๊กกับคนอื่น อย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้คำอ่านจะพ้องเสียงกัน แต่ความหมายนั้นทิ้งห่างกันไกล”
gig ในที่นี้ หมายถึง งานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ จุดเด่นของรูปแบบการทำงานนี้คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนงานและความยากง่ายของงานที่ทำ ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยลักษณะการทำงานในรูปแบบนี้ เรียกว่า Gig Economy
ในประเทศไทย ศัพท์คำนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหู แต่ความจริงระบบการทำงานแบบ Gig Economy นั้นอยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ด้วยความที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ในฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงคนเยอะๆ จึงเกิดอาชีพรับจ้างตามเรือกสวนไร่นาขึ้น หรือถ้าให้ใกล้ตัวขึ้นอีกหน่อย ลองนึกภาพอากงสมัยยังหนุ่มเพิ่งโล้สำเภาเข้ามาตั้งรกรากในไทย อาชีพเริ่มต้นของอากงในสมัยนั้นคือการรับจ้างแบกของส่งของให้เถ้าแก่เจ้าต่างๆ โดยรับเงินเป็นครั้งๆ ตามรอบที่ส่งได้ ถ้าเจ้าไหนไม่มีงานก็ไปรับจ้างจากเจ้าอื่น ไม่ได้มีพันธสัญญาอะไรต่อกัน สิ่งที่อากงของเราทำนี่แหละคืองานแบบ gig
สำหรับยุคปัจจุบัน การเติบโตของโลกออนไลน์ และแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้ Gig Economy ยิ่งเฟื่องฟู ประเภทงาน gig ก็เริ่มมีความหลากหลาย บวกกับค่านิยมของคนยุคใหม่ที่ต้องการมีอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ยิ่งทำให้ gig worker หรือคนที่รับงานรูปแบบ gig เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างว่างานรูปแบบ gig ที่ว่านี้จะเข้ามาแทนที่รูปแบบงานนั่งโต๊ะที่เราทำกันอยู่ในไม่ช้า
แล้ว gig มันดียังไง ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น
ว่าด้วยประชากรชาว gig
ก่อนจะถามตัวเองว่าอยากเป็น gig หรือไม่ หลายคนคงอยากรู้ว่าประชากรชาว gig นี่มีอยู่กี่คนกันแน่
แม้จะยังไม่มีประเทศไหนเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ Mckinsey Global ซึ่งเป็นสถาบันที่ปรึกษาชั้นนำ ประเมินว่าในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปมีจำนวนคนทำงานในลักษณะครั้งคราวรวมกันอยู่ 162 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน ถือเป็นตัวเลขที่สูง แถมยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เผลอๆ อาจจะโตดีกว่าจำนวนคนทำงานในตลาดงานประจำเสียด้วยซ้ำ
ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่ผลสำรวจของอีไอซี (จากผู้ตอบแบบสอบถาม 9,387 คน) พอจะทำให้เราประมาณการได้ว่าประชากรชาว gig มีอยู่ประมาณ 30% ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น gig worker อยู่ 3 คน ซึ่งในสามคนนี้ก็แบ่งย่อยได้อีกเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม 2 คน และคนที่รับงานอิสระหรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว (เช่น คนที่เป็นฟรีแลนซ์) 1 คน
อาชีพยอดนิยมของเหล่า gig worker ชาวไทยคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ สำหรับอาชีพรับจ้างทั่วไปนั้นมีตั้งแต่ทำสวน แม่บ้าน บาริสต้าร้านกาแฟ ไปจนถึงวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์พยาบาล นักออกแบบกราฟิก นักกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน จะเห็นได้ว่าสายอาชีพของงานในรูปแบบ gig นั้นมีหลากหลาย และยังสามารถขยายขอบเขตประเภท เพิ่มความแปลกขึ้นได้อีกมาก เช่น ที่ญี่ปุ่น มีอาชีพคุณลุงรับจ้างไปเป็นเพื่อนทำธุระ บริการนี้เรียกว่า Ossan Rental (ossan ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า คุณลุง) แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการมา 4 ปีแต่ก็ได้รับความนิยมสูง แถมเหล่าคุณลุงยังมีรายได้ดี คือราวๆ หนึ่งพันเยนต่อชั่วโมง (หนึ่งพันเยนอยู่ที่ราวๆ 300 บาท)
ใครๆ ก็เป็น gig ได้
แน่นอนว่าถึงไม่ใช่รุ่นลุง ก็สามารถรับงาน gig ได้ และค่าตอบแทนนั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 300 บาทต่อชั่วโมงเช่นกัน
จากผลสำรวจของอีไอซี gig worker ชาวไทยนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งในแง่ของอายุ รายได้ ระดับการศึกษา ช่วงอายุที่มีสัดส่วนเป็น gig worker มากที่สุดคือรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานรายได้ที่มั่นคงแล้วจึงเลือกรับงานอิสระได้อย่างเต็มตัว ส่วนระดับรายได้นั้นมีตั้งแต่น้อยกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน โดย gig worker ส่วนใหญ่ตอบว่าระดับรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000-50,000 บาทต่อเดือน ต่างกันไปตามประเภทงาน คุณภาพงานและความขยันของคนทำ (คือขยันมากงานก็มาก เงินก็เยอะ)
อีกประเด็นที่ควรพูดถึงคือความหลากหลายในแง่ของการศึกษา อย่างที่เราพูดถึงกันในตอนแรกว่างาน gig ในประเทศไทยมีมานานแล้ว เช่น รับจ้างแบกของ รับจ้างเก็บเกี่ยวพืชผลตามไร่นา เป็นต้น ซึ่งสมัยก่อนคนที่รับงานเหล่านี้คือคนที่มีการศึกษาน้อย คนการศึกษาดีส่วนมากมักไปสมัครรับราชการซึ่งถือว่าโก้มากๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่มายุคนี้ เหล่า gig worker นั้นมีตั้งแต่คนที่จบน้อยกว่ามัธยมไปจนจบปริญญาเอก
จะเห็นได้ว่าเทรนด์ Gig Economy ทำให้ค่านิยมในรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ทั้งยังทลายข้อจำกัดการทำงานในเรื่องอายุ ระดับการศึกษา หรือแม้แต่เชื้อชาติและภาษา ขอแค่มีทักษะ มีแรง มีเวลาที่จะทำงานได้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถรับงาน gig ได้
ใครๆ ก็อยากเป็น gig
อ่านถึงตรงนี้ ไหนใครอยากเป็น gig บ้างยกมือขึ้น ไม่ต้องเขินอายไป เพราะไม่ใช่คุณคนเดียวที่มีความคิดนี้
ผลสำรวจของอีไอซีบอกเราว่า คนไทยที่อยากลาออกจากงานประจำมารับงาน gig นั้นมีมากถึง 86% นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าจะทำให้หลายบริษัทที่จ้างพนักงานประจำเยอะๆ ต้องกุมขมับได้ แต่ที่เซอร์ไพรซ์ยิ่งไปกว่านั้นคือ จำนวนคนที่อยากเปลี่ยนงานมาเป็น gig worker นั้นมีมากเกิน 2 ใน 3 ของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแบ่งด้วยช่วงอายุ สังกัดอาชีพ ระดับเงินเดือน หรือภาระทางบ้าน ตัวเลขเปอร์เซ็นต์อาจจะมากน้อยต่างกันไปบ้าง เช่น คนที่ทำงานบริษัทเอกชนอยากจะเปลี่ยนมากกว่าคนทำงานภาครัฐ คนเจนวายอยากเปลี่ยนมากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่โดยรวมแล้วก็จะอยู่ที่ระดับประมาณนี้
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนอยากเปลี่ยนมาทำงานเป็น gig worker ก็คือเรื่องการมีอิสระ
นี่คือข้อได้เปรียบสำคัญของการเป็น gig worker ซึ่งคนทั่วไปก็รับรู้แบบนั้น เพราะมันเป็นจุดขายที่แพลตฟอร์ม gig economy เจ้าใหญ่ๆ อย่าง Uber และ Task Rabbit ต่างเอามาใช้โฆษณาหาพาร์ทเนอร์ (ซึ่งก็คือคนขับหรือคนรับจ้างนั่นแหละ) “เป็นเจ้านายตัวเอง สร้างรายได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ” คือคำกล่าวชักชวนของ Uber
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่อยากเปลี่ยนมารับงาน gig จะยอมลาออกจากงานประจำมาตามหาอิสรภาพแห่งการทำงานกันทุกคน ด้วยค่านิยมทางสังคม บวกกับภาระ และข้อผูกมัดอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้คนเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามใจคิด
งั้นเรามาลองฟังความเห็นของคนที่เป็น gig worker กันดีกว่า ว่าที่เขาเลือกมารับงาน gig อย่างจริงๆ จังๆ นั้นเป็นเพราะอะไร
เหตุผลที่คนเป็น gig
หลังจากที่ได้พูดคุยกับคนรู้จักที่เป็น gig worker หลายๆ คน บวกกับดูตัวเลขในผลสำรวจของอีไอซี เราพอจะสรุปเหตุผลหลักที่คนเลือกมาทำงานในรูปแบบ gig ได้อยู่ 3 ข้อ
1. บริการจัดการเวลาได้เอง
ข้อนี้นับว่ามาแรงแซงโค้งที่สุด เพราะไม่ว่าจะจากการพูดคุยหรือจากผลสำรวจ gig worker ส่วนใหญ่ต่างเลือกตอบข้อนี้เป็นอันดับแรก การบริหารเวลาได้เองนี้ถือเป็นจุดเด่นของการทำงานในรูปแบบ gig ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ คุณก็สามารถแบ่งเวลาทำงานได้ตามใจตัวเอง อยากเริ่มทำงานตั้งแต่เช้า หรืออยากตื่นสายแล้วค่อยมานั่งปั่นงานตอนดึกๆ อยากแบ่งเวลาให้ครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง อ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือไปทำธุระอื่นๆ ได้หมดตามที่สบายใจ แม้จะฟังดูชีวิตดี แต่จุดเด่นข้อนี้ก็อาจทำให้ชีวิตคุณพังได้เช่นกัน ถ้าจัดสรรเวลาไม่เป็น หรือแยกชีวิตที่บ้านกับชีวิตทำงานไม่ออก
2. ได้ทำงานจากความชอบและความสุข
ความชอบและความสุขนี้หมายรวมไปถึงแพสชัน (passion) ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ความหลงใหล ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย สมัยนี้ ใครๆ ก็พูดถึงการหาความสุขใส่ตัวกันทั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะยอมทิ้งงานประจำเงินเดือนสูงๆ เพื่อออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีแพสชันกับมัน เพื่อนชาว gig คนหนึ่งชอบสร้างสรรค์งานประดิดประดอยมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พอเรียนจบเธอก็ได้งานประจำที่มั่นคงเงินเดือนดี จนสองปีหลังมานี้ก็เริ่มทำงานอิสระขายช่อดอกไม้แห้งผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซไปด้วย แม้จะต้องเจียดเวลาว่างหลังเลิกงานมาทำ แม้จะต้องโบกมือลาวันหยุดแสนสบายออกไปเดินปากคลองตลาดเพื่อหาซื้อดอกไม้ แต่เธอก็ยืนยันที่จะสานกิจการเล็กๆ นี้ต่อ เพราะมันคือพื้นที่ที่สร้างความสุขให้กับเธอ
3. เลือกงานได้เอง
ไม่ใช่แค่เลือกเวลาทำงานได้อย่างเดียว แต่ gig worker ยังเลือกงานที่ทำได้ด้วย ขอบเขตของการเลือกนั้นมีทั้งเลือกงานที่หลากหลายจะได้มีความรู้มีประสบการณ์รอบด้าน เลือกงานให้ไม่ซ้ำไม่จำเจเพื่อให้ไม่เบื่อ เลือกงานที่ท้าทายเพื่อพัฒนาฝีมือได้เรื่อยๆ เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข นี่อาจเป็นสิ่งที่งานประจำให้กับพนักงานไม่ได้ แต่งานในรูปแบบ gig นั้นไร้ข้อผูกมัด ไม่มีคนมาคอยชี้นิ้วสั่ง และถ้าต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบก็เซย์โนได้สบายๆ ไม่คิดมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระดับความเลือกเองก็มีผลต่อจำนวนงาน เคยลองถามเพื่อนที่เป็นล่ามฟรีแลนซ์ว่างานมาเยอะไหม เธอตอบว่าก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่คนเลือกมาก คนโบราณสอนว่า โลภมากมักลาภหาย แต่สำหรับกรณีนี้ เลือกมากงานก็หายได้เช่นกัน
มีเหตุผลอีกสองสามข้อที่แม้จะได้แรงโหวตไม่มากแต่ก็น่ายกขึ้นมากล่าวถึง
- เรื่องแรกคือการไม่มีข้อจำกัดด้านรายได้ อย่างที่รู้กันว่างานในรูปแบบ gig นั้นได้ค่าตอบแทนตามจำนวนงานหรือคุณภาพงานที่ทำ ขยันมากก็ได้มาก เก่งมากก็ได้มาก คนที่มีเป้าหมายเก็บเงินล้านให้ได้เร็วๆ คงจะชอบข้อดีนี้
- เรื่องที่สองคือไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ จากผลสำรวจ gig worker หลายคนก็อยู่ในวัยเกษียณหรือเข้าใกล้วันทำบุญแซยิดกันทั้งนั้น คนรับงาน gig จึงไม่มีความกังวลว่าเกษียณแล้วไปไหนดี ขอแค่มีทักษะต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขของงานที่จะรับจ้างก็พอแล้ว
- เรื่องสุดท้ายคือเพื่อนร่วมงาน ถ้าได้เพื่อนร่วมงานดีชีวิตทำงานก็ดีไป แต่ถ้าไม่ ก็ไม่เป็นไร เพราะงาน gig รับแล้วก็จบเป็นครั้งๆ ไป เพื่อนร่วมงานไม่ดีก็เจอกันครั้งเดียวจบ หมดปัญหาดราม่า
ถ้าลองดูดีๆ จะเห็นว่าเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานมาจากความต้องการมีอิสระในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกเวลาทำงาน เลือกงาน เลือกระดับรายได้ หรือแม้แต่เลือกเพื่อนร่วมงานที่ตรงกับความพอใจของเรา จึงอาจกล่าวได้ว่า ในยุคนี้ที่ใครๆ ต่างบอกว่าเป็นยุคแห่งการปรับแต่งทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการ (customization) การปรับแต่งที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงสินค้าหรือประสบการณ์อีกต่อไป แต่เดินทางมาถึงการปรับแต่งการทำงานตามใจเราแล้วเช่นกัน
นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็น gig เพราะมันคือการทำงานในแบบที่คุณเลือกได้
อ่านจนจบแล้ว ไหนใครอยากเป็น gig บ้างขอให้ยกมือขึ้น !