ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ย้ำเลือกตั้ง ก.พ.62 แน่ – ชี้ท้องถิ่นรอกม.คลอด – มติ ครม. ไม่อนุมัติขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

“บิ๊กตู่” ย้ำเลือกตั้ง ก.พ.62 แน่ – ชี้ท้องถิ่นรอกม.คลอด – มติ ครม. ไม่อนุมัติขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

5 มิถุนายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้สร้างภาระเพิ่มและไม่จำกัดสิทธินั้น จะมีการกำหนดวันหารือกับพรรคการเมืองทันทีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ผมเข้ามาวันนี้ก็เต็มที่ในการทำงาน 4 ปี ไม่เคยเรียกร้องความเห็นใจจากใคร และไม่เคยท้อแท้ ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย เพราะมันต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ ประเทศชาติสำคัญที่สุด ก็ฝากสื่อมวลชนทุกคน ทุกแขนง คอลัมนิสต์ต่างๆ ช่วยกันด้วย จะติติงอะไรมากรุณามีความชัดเจน มีหลักฐาน อย่าพูดเปล่าๆ ถ้าไม่มีข้อมูลแล้วไปพูดหรือวิจารณ์ไปก็จะเกิดความเสียหาย และผิดกฎหมายด้วย ไม่ใช่ว่าผมจะเอากฎหมายไปกดดันท่านหรอก แต่ท่านต้องเคารพกฎหมายสิครับ เหมือนกับตัวท่านที่เวลาใครว่า ท่านก็ไม่ชอบ หมิ่นประมาท ก็เหมือนกัน ท่านไปหมิ่นประมาทคนอื่นได้ไหมล่ะ ถ้าบอกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต มันก็ต้องมีข้อมูล ถ้าไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์ เขียนไป เหมือนเขียนการ์ตูนมันไม่ได้ มันเสียหาย เพราะฉะนั้นบรรดาพี่น้องต่างๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ขอให้ระมัดระวัง ถ้ามันมีกฎหมายเข้าไปถึงเมื่อไหร่ ก็จะเดือดร้อนกันอีก ผมไม่อยากให้มีการลงโทษ แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะถ้าผิดกฎหมายแล้วไม่ทำ ก็จะผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก ขอให้นึกถึงตรงนี้ด้วย ผมจะพยายามไม่ละเว้นโดยไม่จำเป็นโดยเด็ดขาด ละเว้นไม่ได้ มันผิด ละเว้นถือว่าผิดทันที”

“บิ๊กตู่” ย้ำเลือกตั้ง ก.พ.62 แน่ – ชี้ท้องถิ่นต้องรอกม.คลอด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้ว่าซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว.) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อส่งมายังคณะรัฐมนตรี ก็จะเข้าสู่ขึ้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

“แต่ไม่ใช่มาตีกันตรงนี้ว่า เสนอมาแล้วต้องจัดการเลือกตั้งได้ทันที เพราะกฎหมายเขียนไว้อยู่แล้ว และคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เขียนไว้ว่า เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขอไม่ต้องมาถามกันอีก ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และผมขอพูดยืนยันไว้แบบนี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ต่อคำถามถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า หากเสร็จเมื่อใดก็เสร็จเมื่อนั้น เพราะมีอยู่หลายมาตราและเกี่ยวข้องหลายอย่าง จึงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ส่วนจะเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่นั้น หากเรียบร้อยทุกอย่างก็สามารถเลือกตั้งได้ทั้งหมด พร้อมถามกลับว่า หากยังมีปัญหา รวมถึงความขัดแย้ง การตอบโต้กันไปมา รวมถึงการสร้างกระแสเพื่อบิดเบือน จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่

“ทุกอย่างเป็นเรื่องของประชาชน สื่อ และโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เรื่องของผม เพราะส่วนตัวดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากใครทำให้เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัย และนำไปสู่การเลือกตั้งไม่ได้ จะต้องถูกดำเนินการลงโทษโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะพูดไปเรื่อย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมส่ง สนช. ใน 24 ชม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มีการออกยุทธศาสตร์ออกมาแล้ว ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาปรับแก้บางข้อ และภายใน 24 ชั่วโมงนี้จะต้องนำเสนอให้ สนช. ไปพิจารณารายละเอียดตามวาระ จากนั้นเสนอออกมาบังคับใช้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้น วันนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ กับ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ ที่ต้องทำ อย่างเรื่องปฏิรูปกำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการเรื่องการศึกษาและตำรวจภายใน 1 ปี ที่เหลือก็ใช้เวลา 5 ปี และต่อไปอีก 5 ปีๆ โดยทั้งหมดจะไปอยู่ในแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติที่ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงระดับชาติ และสอดคล้องกับแผนปฏิรูปไปด้วย

จากนั้นก็นำไปสู่การปฏิบัติเป็นแผนแม่บทของกระทรวงต่างๆ มีการประเมินผล ตัวชี้วัด รายงานผ่านรัฐบาลไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ทำได้ไม่ได้อย่างไรมีปัญหาตรงไหน ซึ่งปรับแก้ได้หมด เพียงแต่ต้องตอบสนองระยะยาวของประเทศคือความยั่งยืน เช่น บริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐานทางบก เรือ อากาศเป็นอย่างๆ เส้นทางเชื่อมระหว่างเมือง ทางด่วนควรจะทำอย่างไรในอนาคต รัฐบาลก็ทำโครงการมาให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันสอดคล้องตรงความต้องการของประชาชนและประเทศ

“อย่างเรื่องน้ำ เสนอมา 90 โครงการ ทำไปแล้วเหลือ 57 โครงการจะต้องทำในปี 62 และทำในปีต่อๆ ไป เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำมาไม่ใช่อยากจะให้ใครก็ให้ ใครเป็นพวกหรือใครเลือกมาก็ให้ แล้วคนอื่นจังหวัดอื่นไม่ได้จะทำอย่างไร วันนี้มีงบฯ ภาค งบฯ บูรณาการกลุ่มจังหวัด งบฯ ฟังก์ชัน งบฯ พื้นที่ และงบฯ ตามนโยบายเติมลงไปอีก เพราะฉะนั้น การสื่อสารการทำแผนงานต้องตรงกันทั้งรัฐบาลและระดับล่าง รัฐบาลหน้าก็ควรจะทำแบบนี้ ทำแบบเดิมไม่ได้หรอก” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกฯหนุน “กำนันสุเทพ-อเนก” ตั้งพรรคพลังประชาชาติไทย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการจัดตั้งพรรคพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นแกนนำว่า วันนี้มีพรรคตั้งใหม่หลายสิบพรรค ซึ่งก็เป็นไปตามกติกาหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งเรื่องคุณสมบัติ สมาชิกพรค เงินสนับสนุนพรรค ถือเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ควรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งการเป็นตัวแทนประชาชนจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่ตนต้องการไปลดสมาชิกพรรคของเขา เพื่อสนับสนุนพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล

“ดังนั้น ไม่ว่าจะพรรคใคร พรรคของนายสุเทพ หรืออะไรต่างๆ ถ้ามีความตั้งใจจริง ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ จะแสดงความยินดีด้วย พรรคใดก็ได้ ใครก็ได้ ที่จะนำพาประเทศชาติของเราให้เข้มแข็ง เป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล มีการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ นั่นคือสิ่งที่ผมสนับสนุนทุกพรรค ซึ่งเคยบอกไปแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามาสนับสนุนผม รัฐบาล คสช. แล้วผมจะต้องสนับสนุนเขากลับ แต่ผมสนับสนุนทุกพรรค ถ้ามีความสร้างสรรค์” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนลืมไปหรือไม่ ไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม จะเป็นพรรคเก่าหรือใหม่ ทั้งพรรคที่สนับสนุนตน หรือตนสนับสนุนพรรคนั้น ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือประชาชนจะเป็นผู้กาบัตรเลือกตั้งผมไม่ได้เข้าไปกับประชาชนทุกคนด้วยในการเลือกตั้ง เข้าคูหาผมก็ไม่ได้เข้ากับเขา ผมจึงบังคับวิถีไม่ได้ ต่อให้คนชอบผมทั้งประเทศ แต่เวลาเลือกตั้งเขาไม่ได้เลือกผมใช่ไหม เขาเลือก ส.ส. แล้วผมเป็น ส.ส. ได้หรือไม่ ทำไมมามองกันแต่ตรงนี้จนวุ่นวายไปหมด ผมลงเลือกตั้งไม่ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องของกลไกในรัฐธรรมนูญ และกลไกการเลือกตั้ง พ.ร.บ. ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมดเขียนไว้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นอะไรตรงไหนบ้าง มันต้องอยู่ในกรอบนี้ ใครจะไปใครจะมาประชาชนเป็นผู้ตัดสินทั้งสิ้น

“วันนี้เรากำลังสร้างการรับรู้ว่าจะมีประชาธิปไตยสากล จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่ทันเลือก เหลือเวลาอีกหลายเดือน ทุกคนก็ทำเหมือนเป็นยกสุดท้าย ยังคงตีกันไปมาเช่นนี้ แล้วใครจะเชื่อมั่น เชื่อถือเรา มันไม่ใช่ ทุกคนต้องการอย่างนั้น ถ้าต้องการกันแบบนี้ ท่านก็ทำกันต่อไป ผมก็จะทำเท่าที่ผมทำได้ บางเรื่องกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ทุกตัว เพราะจะเดือดร้อนกับคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันไปหมด อย่าลืมว่ามีคนสนใจการเมืองส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้สนใจ หากแต่ทำมาหากินเลี้ยงชีพกันต่อไป ไม่สงสารเขาหรือ ถ้าเกิดความวุ่นวายแล้วเขาหากินกันไม่ได้ จะทำอย่างไร ไม่มองอนาคตกันบ้างหรือ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ชี้ไม่มีนโยบายติดตาม สมาชิก “พรรคอนาคตใหม่”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีรายงานข่าวว่าเจ้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปคุกคามสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ว่า ขอให้ไปดูว่าได้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ผิดกฎหมายใครจะไปแตะต้องได้ ตนไม่ได้มีนโยบายให้ไปติดตาม แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องให้คนไปตักเตือน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเจ้าหน้าที่เข้าไปตักเตือนเอง หากไม่มีการเข้าไปตักเตือน กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมาต่อว่ารัฐบาลต่อไปเรื่อยๆ คนก็จะหาว่ารัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังทำไมปล่อยให้ด่าอยู่ได้ ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเต็มที่ แต่หากวันหนึ่งสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็จะต้องใช้

“คนบางคนไม่ควรจะมาพูดในสื่อหรือโซเชียลอีกแล้ว จะไปขยายความให้เขาทำไม หลายคนก็มีความผิดอย่างชัดเจน คดีความก็มีอยู่ แล้วเอามาสู้กับผมและรัฐบาลมันถูกหรือไม่ ไม่รักประเทศกันเลยหรือ หลายคดีความก็พันไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ทำผิดไม่ดูว่าผิดตรงไหน ผิดกฎหมายอื่นหรือทำคนอื่นเดือดร้อนไหม อย่ามองประเด็นเดียวว่าเป็นเด็กเป็นนักศึกษา”

“เขาทำผิดมากี่ครั้งแล้วไปดูสิ ถ้าสังคมเห็นชอบ เห็นดีงามจะทำอะไรก็ทำผมไม่ไปยุ่ง แต่บ้านเมืองมันเสียหายฝากด้วยละกัน เสร็จแล้วก็ยาก เวลาหนีไปต่างประเทศ กลายเป็นการเมือง กลายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนไปหมด เขาก็ไม่ให้ตัวกลับมา ไปลี้ภงลี้ภัยกันใหญ่โตที่เมืองนอก กลับมาเป็นรัฐบาลที่โดนอีก ว่าทำไมไม่ตามตัวกลับมา ก็เขาไม่ให้ไง เพราะเราไปตีความทั้งหมดเป็นเรื่องทำลายล้างกัน มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย เรื่องเดิมก็เรื่องเดิม สู้คดีกันไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว

วอนสื่ออย่าตีข่าว “รัฐบาลรังแกพระ” หวั่นจับคนหนีออกนอกประเทศไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้ากรณีประสานประเทศเยอรมัน เพื่อขอนำตัว นายจำนงค์ เอี่ยมอินทรา หรือ อดีตพระพรหมเมธี อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัดและการแก้ปัญหาวิกฤติของพระสงฆ์ในประเทศไทย ว่า พระพุทธศาสนาของไทย คำสอนของพระพุทธเจ้าบิดเบือนไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่จะผิดหรือถูกนั้นอยู่ที่คนรวมทั้งพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์ด้วย ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน กติกาที่เกี่ยวข้องซึ่งพระสงฆ์ก็มีพระราชบัญญัติสงฆ์ และกฎหมายทั่วไปที่ต้องยึดถือทั้งสองแบบ เพราะฉะนั้นวันนี้ถือเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม จะทำถูกหรือทำผิดก็เป็นเรื่องการกระทำผิดของบุคคล ของพระ และผู้ที่นับถือศาสนาต้องแยกแยะออกจากกัน

“การที่รัฐบาลทำแบบนี้ เพราะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ในเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงเรื่องของปัญหาเงินทอนวัด ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันในทางคดีความ และกฎหมายต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้สิทธิกับทุกคน และไม่ใช่หนีออกไปต่างประเทศไม่ยอมรับกฎหมาย มันไม่ได้ แล้วจะมาบอกว่ารัฐบาลทำลายพระพุทธศาสนายิ่งไม่ใช่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มหาเถรสมาคม (มส.) ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทุกคนก็ต้องมีข้อมูลเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน และหารือว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

“การที่ผมออกมาขอโทษในการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมพระสงฆ์นั้น ไม่ใช่ขอโทษว่าเพราะเป็นใคร แต่ขอโทษเพราะบุคคลนั้นแต่งสงฆ์ การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องเหมาะสมต่อผู้ที่แต่งสงฆ์ ต้องเคารพผ้าเหลือง และเคารพพระสงฆ์ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องดูแลให้ถูกต้อง วันนี้ก็มีการลงโทษกันแล้ว และอยากจะขอร้องสื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้อย่าไปตีข่าวคึกโครมจนกระทั่งกลายเป็นว่าเรากำลังรังแกพระสงฆ์ เหมือนกับเป็นคดีการเมือง แล้วเราก็จะไม่ได้คนที่หนีไปกลับมาสักที ไปลี้ภัยบ้าง อะไรบ้าง เป็นปัญหาที่มันไม่ง่ายนักที่จะเอาคนกลับมาลงโทษ เป็นเรื่องของพระที่ทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ต้องพิสูจน์กันมา ผมไม่อยากให้ทุกอย่างเป็นคดีการเมืองไปเสียทั้งหมด เสร็จแล้วก็เป็นเรื่องยากทั้งเรื่องการหารือส่งตัวกลายเป็นปัญหาทั้งหมด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่งฟันไม่เลี้ยง ขรก.ทุจริตอาหารกลางวันเด็ก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กเล็กว่า เรื่องนี้ก็ลงโทษทุกที่ ซึ่งตนได้คาดโทษไปแล้ว และถามว่ายังมีเรื่องอย่างนี้อยู่ได้อย่างไร บางโรงเรียนก็มีความผิดอยู่หลายประการ แล้วทำไมยังปล่อยอยู่ ตนจึงกำชับไปแล้วให้ไปสอบสวนและด้วยจิตสำนึกของการเป็น ผู้อำนวยการ การเป็นผู้บริหาร

“ต้องสำนึกว่างบประมาณที่ออกไปนั้นผลประโยชน์อยู่กับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ทำไมไปเอาเปรียบแบบนั้น ซึ่งหากผิดจริงก็ลงโทษหมด ทุจริตต่างๆ มันต้องถูกดำเนินคดี ถ้ามีหลักฐานต้องตรวจสอบ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่งปิดแล้ว 5 โรงงาน ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย ว่า จากข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 7 โรงงาน ซึ่งเมื่อมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องนำเข้าสู่โรงงานโดยตรง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการลักลอบนำขยะไปทำนอกโรงงานที่ได้รับอนุญาตจนทำให้เกิดปัญหามลภาวะ ซึ่งได้ระงับไป 5 โรงงาน และจะดำเนินคดีความตามกฎหมายต่อไป ส่วนอีก 2 โรงงานได้ดำเนินการถูกต้อง พร้อมได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มความเข้มงวดและลงไปตรวจสอบโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มากขึ้น เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการตรวจสอบโรงงานขยะพลาสติกนั้น จากทั้งหมดจำนวน 26 โรงงาน เบื้องต้นได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 17 โรงงาน ยังคงเหลืออีก 9 โรงงาน โดยคาดว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2561

“การตรวจสอบในครั้งนี้พบว่า ในโรงงานที่ขออนุญาตนำเข้าขยะพลาสติก กระทำความผิดโดยลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาด้วย จึงขอบคุณประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลได้มอบอำนาจให้หน่วยงานทางจังหวัดเข้าดำเนินการตรวจสอบแทนแล้ว พร้อมกับเน้นย้ำให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ตั้งเป้าปี 62 ลดพื้นที่ใช้สารเคมี – ชี้เห็นใจเกษตรกร แต่ผู้บริโภคต้องมาก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในภาคการเกษตร ว่า ตนขอบคุณที่เดินทางมายื่นหนังสือ ซึ่งตนได้ส่งผู้แทนซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปชี้แจงและทำความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าตนนั้นให้เกียรติทุกคน แต่ลงไปพบด้วยตนเองไม่ได้เนื่องจากติดภารกิจหลายเรื่อง

“ภายในปี 2562 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ที่จะมีการลดใช้สารเคมีลดพื้นที่และปริมาณการนำเข้า ซึ่งรัฐบาลก็จะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องและให้เร็วที่สุดซึ่งอาจเร็วกว่าปี 2562 ซึ่งจะมีการประชุมพูดคุยหารือกันตลอดเวลา ผมก็เห็นใจเกษตรแต่วันนี้ต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่า ก็ต้องมีการแก้ไข อย่างไรก็ตามต้องกลับไปดูว่ากลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มต้นทางต้องการอะไร ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับกฎกติกาว่าสามารถใช้งานได้ในปริมาณเท่าใดและสามารถป้องกันตนเองได้เท่าใด โดยมีตัวอย่างในหลายประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังจัดทำแผนจำกัดการนำเข้าวัตถุอันตรายมาใช้ในการเกษตร ซึ่งใช้ระยะเวลา 60 วัน และจะรับเอาข้อเสนอของทางเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรงไปพิจารณา โดยจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน มาศึกษาข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อยื่นไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนมติอีกครั้ง

ทั้งนี้นายกฤษฎายืนยันว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างแน่นอน ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและข้าราชการกรมวิชาการเกษตรนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย โดยที่เครือข่ายฯ สามารถส่งหลักฐานมาเพื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบอีกครั้ง

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัถตุมีพิษอันตรายมีมติไม่แบนการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส   โดยที่ทางเครือข่ายมองว่าการไม่แบนสารวัตถุอันตรายดังกล่าวจะทำให้เกิดอันตราย และอาจจะกระทบต่อสุขภาพแก่พี่น้องชาวเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องใน 3 ข้อ คือ

  1. ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม
  2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
  3. ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านก่อนจะมีการยกเลิกใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในช่วงปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของการเกษตร จะต้องเสนอให้กระทรวงการคลัง ต้องศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงมาเยียวยาผลกระทบให้เกษตรที่ปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แจงเยือน อังกฤษ-ฝรั่งเศส “ย้ำไม่ได้ทำตนเอง แต่ทำเพื่อชาติ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเดินทางเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ว่า ตนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ เนื่องจากเป็นการเดินตามมติของสหภาพยุโรปที่ผ่อนคลายนโยบายกับไทย ทำในต้องเร่งเดินหน้าด้านการค้า การลงทุน และทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นตลาดที่สำคัญในการส่งออก ขณะเดียวกันมีหลายประเทศให้ความสนใจลงทุนในอีอีซี หลายประเทศได้เพิ่มมูลค่าการค้าการท่องเที่ยวกับไทย

“การซื้อขายลงทุนต่างๆ มันมีทั้งที่เขามาลงทุนที่เรา เราไปลงทุนที่เขา เนื่องจากเขาเป็นตลาดในการส่งออกที่สำคัญกับเรา หากจะเอาประโยชน์อย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม และในกรณีที่มีการลงนามสัญญาใดๆ นั้นไม่ได้ทำเพื่อผม แต่เป็นการทำเพื่อประเทศชาติทั้งนั้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้   

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ครม.ไม่อนุมัติขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปเจรจากับเอกชนผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) หลังกระทรวงคมนาคมเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารตามกรอบเวลาของสัญญาทุก 2 ปี ซึ่งรอบล่าสุดคือภายใน 3 กรกฎาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาระบุว่าภายหลังจาก ครม.อนุมัติจะต้องประกาศลงราชกิจจาก่อนมีผลบังคับใช้ 30 วันเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งปัจจุบันได้เลยกรอบเวลาดังกล่าวไปแล้ว จึงมอบให้กระทรวงคมนาคมไปเจรจาเจ้าของสัมปทาน ว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและภาครัฐไม่ผิดสัญญาสัมปทาน

“สำหรับความล่าช้าที่เกิดขึ้น เกิดจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ที่นำเสนอเรื่องมายัง ครม. เพื่อพิจารณาขึ้นอัตราค่าโดยสารล่าช้า คือส่งเข้ามาวันที่ 1 มิถุนายน 2561 แต่อาจจะลืมไปว่ารอบการประชุม ครม. ที่มีไม่อาจพิจารณาอนุมัติได้ทัน จึงให้กระทรวงคมนาคมกลับไปหารือเจ้าของสัมมปทานก่อน เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ดังนั้น ในวันที่ 3 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ค่าโดยสารอาจจะสามารถปรับขึ้นหรือไม่ปรับก็ได้”

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่กระทรวงคมนาคมนำเข้าที่ประชุม ครม. มีสาระสำคัญคือกำหนดกรอบราคาในอัตราเดิมตั้งแต่ 16-42 บาท โดยจะปรับขึ้นค่าโดยสาร 1 บาทในสถานีที่ที่ 5, 8 และ 11 หรือสถานีที่ 5 เดิมเคยจ่ายค่าโดยสาร 26 บาทจะเพิ่มเป็น 27 บาท, สถานีที่ 8 เดิมเคยจ่ายค่าโดยสาร 33 บาทจะเพิ่มเป็น 34 บาท และสถานีที่ 11 เดิมเคยจ่ายค่าโดยสาร 39 บาทจะเพิ่มเป็น 40 บาท ทั้งนี้ ส่วนลดสำหรับกลุ่มคนพิเศษจะยังคงส่วนลดครึ่งหนึ่งสำหรับเด็กที่ความสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และยกเว้นค่าโดยสารสำหรับเด็กที่สูงต่ำกว่า 90 เซนติเมตร เหมือนเดิม และจะเพิ่มการยกเว้นค่าโดยสารสำหรับผู้พิการที่ถือบัตรคนพิการด้วย

อนุมัติงบกลาง 1,437 ล้าน อุดหนุนเด็กแรกเกิด

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 1,437 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมไปถึงแรงงานกลุ่มประกันสังคม ซึ่งแต่เดิมจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว โดยจะได้รับเงินอุดหนุนรายละ 600 บาทต่อคนเป็นระยะเวลา 3 ปี เช่นเดียวกัน

“โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยรัฐบาลได้เริ่มอุดหนุน 400 บาทต่อคนเป็นระยะเวลา 1 ปี ต่อมาปี 2559 ก็ได้ขยายหลักเกณฑ์ออกไปเป็น 600 บาทต่อคน และเพิ่มระยะเวลาเป็น 3 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินงานมาก็พบว่าสิทธิดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย ครั้งนี้ ครม. จึงอนุมัติให้ขยายไปให้ครอบคลุมด้วยและทำให้ต้องเบิกจ่ายงบเพิ่มเติม ซึ่งตอนแรกขอมา 1,571 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณทบทวนแล้วลดเหลือ 1,437 ล้านบาท” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี BIBF

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. มีมติ หลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [การยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549] ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ซึ่งมีมาตั้งแต่การเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และอนุญาตให้จัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ หรือที่เรียกว่า BIBF (Bangkok International Banking Facillities) โดยอนุญาติให้ธนาคารสามารกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อใช้จ่ายภายในประเทศ (out-in) หรือให้กู้ยืมต่อในต่างประเทศ (out-out)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤติได้มีการยกเลิกธุรกรรมแบบ out-in เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่จุดหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ยังคงอนุญาตให้ทำธุรกรรมแบบ out-out ได้ โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 10% ต่อปีจากปกติที่ต้องเสีย 20% ต่อมาประเทศไทยได้ร่วมโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 116 ประเทศ และทำให้มาตรการดังกล่าวขัดต่อหลักการของโครงการ เนื่องจากทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประเทศอื่นและจำเป็นต้องยกเลิกไป

ทั้งนี้ กำหนดให้บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกายังใช้บังคับต่อไปสำหรับการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศและการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศที่ได้มีการต่อระยะเวลาของสัญญากู้ยืมหรือมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

“เป้าหมายของการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะคล้ายกับเรื่องประมง IUU ของไทย คือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี เป็นธรรม และสากลยอมรับ ก็เป็นการเตรียมตัวไม่ให้ถูกใช้เป็นข้อจำกัดของประเทศในอนาคต โดยการยกเลิกดังกล่าวก็คาดว่าจะทำให้ประเทศมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังกำลังทบทวนหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักการสากลต่างๆ อยู่ด้วย” นายณัฐพร กล่าว

อนุมัติครัวการบินอู่ตะเภา หนุนอีอีซี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโครงการครัวการบิน (catering services) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ .. ระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กับบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด และร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ .. ระหว่าง ทอท. กับบริษัท แอลเอสจี สกายเชฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสาระสำคัญคือเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลกำลังจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่แต่ยังคาดการบริการครัวการบิน ขณะที่บริษัทที่เดิมให้บริการยังมีกำลังการผลิตเหลือ จึงเห็นควรให้ขยายการบริการไปยังสนามบินอู่ตะเภา โดยจะต้องรักษามาตรการให้บริการไว้เหมือนเดิม และต้องแบ่งส่วนแบ่งเข้ารัฐ 12% เช่นเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลให้ผู้ประกอบการครัวการบินดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาโครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาในครั้งนี้อย่างเคร่งครัด เช่น ให้ผู้ประกอบการเสนอแผนการผลิตมื้ออาหารในการให้บริการครัวการบินที่ครอบคลุม ทั้งในส่วนการให้บริการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอื่นที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรายงานข้อมูลกำลังการผลิตคงเหลือ การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่องด้วย

ไฟเขียว กฟผ. สร้างสายส่งไฟฟ้า เฟส 3 วงเงิน 7,250 ล้าน

นายณัฐพร กล่าวว่าครม.เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 7,250 ล้านบาท ใช้งบลงทุนประจำปี 2561 จำนวน 153 ล้านบาท กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบช่วงปี 2564-2569 รับซื้อไฟฟ้ารวม 5,400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท กัลฟ์ เอสเอาร์ซี จำกัด หรือ Gulf SRC ก่อสร้างสายส่ง 500 KV เพื่อส่งไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500 KV อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ตั้งอยู่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ดำเนินการก่อสร้างสายส่ง 500 เควีจากลานไกโรงงานไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าวไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500 เควี อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

ทั้งนี้ กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่ง ทั้งการออกพันธบัตรลงทุนในประเทศและหรือต่างประเทศ และรายได้ของ กฟผ. โดยจะพิจารณาความเหมาะสมการใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศเป็นอันดับแรก ส่วนระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี กำหนดเสร็จจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงเป็นเวลา 9 เดือน เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถทดสอบอุปกรณ์ได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟ ประกอบด้วย ระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ Gulf SCR กำหนดเสร็จ เพื่อทดสอบอุปกรณ์ในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อรองรับการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ปี 2564 และระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ Gulf PD กำหนดเสร็จทดสอบเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อรองรับกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในปี 2566

ตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ให้ข้อเสนอแนะกับ ครม. รวมทั้งดำเนินคดีแทนผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคที่จะถูกฟ้องจากการใช้สิทธิแทนผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติจะมีจากเลือกตัวแทนกันเองจากผู้แทนองค์กรผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค จำนวน 10 ภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 10 คน และจะคัดเลือกกรรมเฉพาะด้านอีก 9 คน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร, การขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์, อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, บริการสุขภาพ, สินค้าและบริการทั่วไป, การสื่อสารและโทรคมนาคม, บริการสาธารณะ และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามคณะกรรมการประกาศกำหนด

“หลักการของการจัดตั้งสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่ให้สิทธิใการรวมตั้งจัดตั้งองค์กรเพื่อผู้บริโภค โดยหลักการของสำนักงานจะคล้ายกับเรื่องป่าชุมชน คือเดิมงานเหล่านี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เรื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่อาจจะไม่พอดูแลอย่างทั่วถึง ในกรณีนี้คือ สคบ. ก็เป็นการตั้งขึ้นมาขององค์กรภาคประชาชนขึ้นมาช่วยดูแลและประสานงานกับภาครัฐ ต่อจากนี้ก็จะมีการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐไปอุดหนุนตามสมควร” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นายกฯสั่งพลังงานแก้ปัญหาไฟฟ้าดับ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้สอบถามนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงเหตุการณ์ไฟดับในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งนายศิริแจ้งว่า ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟถึงขีดสุด ประกอบกับไฟฟ้าส่วนหนึ่งซื้อมาจากโรงไฟฟ้าหงสา ประเทศลาว ซึ่งในวันนั้นที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีเหตุฟ้าผ่า ทำให้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ประกอบกับระบบที่ออกแบบให้ตัดระบบจ่ายไฟจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพื่อป้องกันความเสียหายกับโรงไฟฟ้า ยิ่งทำให้กระแสไฟฟ้ายิ่งน้อยลง แต่ทางกระทรวงพลังงานได้แก้ไขด้วยการปั่นไฟฟ้าจากเขื่อนเข้ามาเสริม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงระบบไฟฟ้าก็กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

“เรื่องที่นายกฯ ขอให้ทุกคนได้ตระหนักคือ โรงไฟฟ้าหงสาที่ลาวนั้นเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเหมือนกัน แล้วเรากำลังต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เราก็รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงเป็นจุดแรกที่อยากให้สังคมไทยร่วมกันคิด อยากให้เปิดใจและศึกษาข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีประโยชน์หรือมีโทษ มีอะไรเป็นพิษเป็นภัยจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราก็ต่อต้าน แต่ขณะเดียวกันเราก็ไปซื้อไฟฟ้าจากคนอื่นมาใช้เหมือนกัน พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีข้อสั่งการไปยังกระทรวงพลังงานว่าวิธีการตัดกระแสไฟฟ้านั้นขอให้ตัดเป็นโซนๆ และพิจารณาตรงที่มีผลกระทบน้อยที่สุดก่อน อะไรที่เป็นกำลังการผลิตหรือเป็นภาคบริการขนาดใหญ่ พยายามให้มีผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานได้รับไปแก้ไข” พล.ท. สรรเสริญกล่าว

ครม.สัญจรฯ ครั้งที่ 4 พิษณุโลก – นครสวรรค์

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพิจิตรและจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561

โดยนายกรัฐมนตรี จะมีกำหนดการพบปะประชาชนจำนวน 1,000 คน ที่บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร เยี่ยมชมเมืองพัฒนา จังหวัดพิจิตร รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร เพื่อการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ณ ประตูระบายน้ำดงเศรษฐี  จากนั้นจะเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อพบปะประชาชนและผู้นำท่องถิ่น จำนวน 1,000 คน ที่หอประชุมอเนกประสงค์ อบจ.บึงบอระเพ็ด และเยี่ยมชมตลาดประชารัฐและตลาดวัฒนธรรมเมืองสองแคว ณ ตลาดต้นน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

จากนั้นวันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2561 นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเป็นประธานในการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ โดยก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรี จะเยี่ยมชมบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและกิจกรรมการสาธิตกระบวนการเกี่ยวข้าว เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรด้วย

เห็นชอบ ร่างปฏิญญากรุงเทพ-แผนแม่บท ACMECs

พ.อ. อธิสิทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 8 (8th ACMECS Summit) ในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” (Towards an Integrated and Connected Mekong Community) และแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ACMECS Master Plan (2019-2023) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

โดยมีสาระสำคัญของร่างปฏิญญากรุงเทพ เป็นสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของ 5 ประเทศสมาชิก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยจะมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างการปฏิบัติ การใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของ ACMECS มีระยะการดำเนินงาน 5 ปี (2562-2566) เป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่

  1. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity)
  2. การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies)
  3. การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)

“โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ดิจิทัล และพลังงาน (hardware connectivity) โครงการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การค้า การลงทุน (software connectivity)” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เพิ่มเติม