ThaiPublica > เกาะกระแส > ชง กมธ.ยกร่างฯ เสนอ คสช. เลิก “ประกาศ-คำสั่ง” คลายบรรยากาศ ให้แสดงความเห็น รธน. เต็มที่ ก่อนประชามติ – เปิดตัวเว็บพลเมืองเสวนา

ชง กมธ.ยกร่างฯ เสนอ คสช. เลิก “ประกาศ-คำสั่ง” คลายบรรยากาศ ให้แสดงความเห็น รธน. เต็มที่ ก่อนประชามติ – เปิดตัวเว็บพลเมืองเสวนา

27 พฤษภาคม 2015


580526citizenforum1
หน้าแรกของเว็บไซต์พลเมืองเสวนา www.citizenforum.in.th

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (Reform Now Network) ได้เปิดตัวเว็บไซต์พลเมืองเสวนา www.citizenforum.in.th โดยนายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สนุกด็อทคอมและกระปุกดอทคอม และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เป็นผู้อธิบายการใช้งานของเว็บไซต์นี้

ซึ่งเว็บไซต์พลเมืองเสวนา นอกจากจะนำร่างรัฐธรรมนูญมาจัดเรียงให้ดูแบบเข้าใจง่าย ยังมีการเปิดให้ลงคะแนนในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ควรมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลเมือง โดยออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายไม่ว่าจะผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต โดยใช้ระบบยืนยันตัวตนผ่านเฟซบุ๊ก

ในวันเดียวกัน ยังมีการจัดเสวนา “เสียงพลเมืองกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนอยู่ในกะลาครอบที่มีเท้ามาเหยียบอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่คาดหวังอะไร เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมมีข้อจำกัดมาก ต่างกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับคนจน ใช้เวลาเขียน 99 วันที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะบริบทและช่องทางในการแสดงความเห็นเวลานั้นมันเปิดกว้างมาก กระทั่งนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กับนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาขณะนั้น ก็ยังมาพูดคุยกับพวกเรา

สำหรับเชิงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนจะมองว่าปัญหาที่ผ่านมา มาจากคนชนบทขายเสียงเอานักการเมืองอัปรีย์ชนเข้ามา ดังนั้นนอกจากจะไม่ออกแบบให้กระจายอำนาจลงล่าง มีแต่จะเอาขึ้นข้างบน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความหวังหรือไม่ภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวต่อไป

“เมื่อกระบวนการไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ได้รัฐธรรมนูญแบบนี้แหละ อยู่ที่ว่าเราจะต่อรองได้แค่ไหน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการต่อรอง ซึ่งจะต้องมีพลังที่เท่าๆ กัน จึงต้องมีเวทีที่เปิดให้ได้แสดงความคิดเห็นมากๆ หน่อย โดยจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ประชาชนสามารถมาแสดงความเห็นในรายประเด็นได้ อย่างเช่นเว็บไซต์” รศ. ดร.ประภาสกล่าว

580526citizenforum2
(จากซ้ายไปขวา) นายอาทิตย์ โกวิทวรางกูร, นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที, นายเดโช ไชยทัพ, นายวินัย ดะห์ลัน, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล และนายวิเชียร พงศธร

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Prachamati.org กล่าวว่า เห็นด้วยกับ รศ. ดร.ประภาสว่า ความหวังดูริบหรี่ นอกจากถูกครอบอยู่ในกะลา ยังมีคนที่ถูกกันออกนอกกะลาอีกต่างหาก ขณะนี้แม้จะไม่มีกฎอัยการศึก แต่ยังมีมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อยู่ จึงยังมีบรรยากาศที่จำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งของสื่อและประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

เรื่องเนื้อหา ต้องออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย แต่เท่าที่อ่านมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2 ข้อ 1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ระบบตัวแทนของประชาชนลดความสำคัญลงมาก ไม่ว่าจะให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ หรือให้ ส.ว. ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง แถมให้อำนาจในการเสนอกฎหมายได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และ 2. สร้างกระบวนการที่เน้นการลงโทษมากกว่าตรวจสอบถ่วงดุล เช่น การตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ แน่นอนว่าไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้ใช้งบประมาณไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกนโยบายล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น อยากให้แยกระหว่างสิ่งที่รัฐบาลทำพลาด กับสิ่งที่รัฐบาลทำผิด

น.ส.สฤณียังกล่าวว่า เรื่องประชามติ คิดว่าจะต้องมี ไม่เช่นนั้นจะยิ่งหดหู่ไปอีก และสัญญาณจากผู้มีอำนาจในเวลานี้ก็เหมือนว่าจะมี แต่ถ้ามีก็ไม่ควรทำเหมือนประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีการรณรงค์ให้รับไปก่อนแล้วก่อนทีหลัง อยากให้มีการถกเถียงเป็นรายประเด็น ทั้งนี้ เท่าที่จับประเด็นจากคนที่ไม่สนใจเรื่องทำประชามติ จะมีอยู่ 3 ปัจจัย 1. กลัว เพราะบรรยากาศไม่เอื้อ 2. รอดูสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ฝากความหวังว่าอาจจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นเอง และ 3. มองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว

“จึงอยากเสนอ กมธ.ยกร่างฯ เป็นตัวหลักในการเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งหรือประกาศทุกฉบับที่สร้างบรรยากาศไม่ดี และเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเต็มที่” น.ส.สฤณีกล่าว

นายวิเชียร พงศธร จากมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้รัฐธรรมนูญเขียนเสร็จแล้ว ควรจะเอื้อให้พลเมืองเป็นใหญ่ได้ในขั้นตอนขณะนี้เลย อยากจะให้น้ำหนักกับกระบวนการมากกว่าเนื้อหา ช่วงเวลา 90 วันที่ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปสู่การลงมติว่าจะรับหรือไม่โดย สปช. จึงเป็นช่วงสำคัญ ให้ผู้รู้มาช่วยกันกลั่นกรอง ชี้ประเด็นว่าเรื่องใดมีความสำคัญอย่างไร และเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความเห็น เช่นเดียวกับเว็บไซต์พลเมืองเสวนา เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 40 ล้านคนได้ตื่นตัว แล้วการทำประชามติจะได้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

สำหรับผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ก็มีความเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างกันออกไป

นายเดโช ไชยทัพ จากสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีส่วนร่วม ส่วนเนื้อหาแม้หลายเรื่องจะก้าวหน้ากว่าเดิม เช่น เรื่องสิทธิและเสรีภาพ แต่บางเรื่องก็ยังเขียนออกมาไม่ชัดเจน จนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที จากมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมพอสมควร เห็นได้จากตัวแทนเครือข่ายศิลปินได้เข้าไปนำเสนอ 2-3 ประเด็น และ กมธ.ยกร่างฯ ได้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ นายวินัย ดะห์ลัน สปช. ด้านสังคม กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก เรื่องเนื้อหาแม้เราจะผิดหวังในบางเรื่อง แต่หลายเรื่องก็สมหวัง และมีหลายประเด็นที่ได้มากกว่าที่คิด

ท้ายที่สุด ดร.บัณฑูร ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่แล้ว กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการประชุมหารือกันว่าจะจัดการอย่างไรกับความเห็นของประชาชนที่เสนอเข้ามา ทั้งผ่านเวทีรับฟังความเห็น ส่งจดหมายเข้ามา หรือเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้ข้อสรุปว่าฝ่ายเลขานุการจะสรุปเป็นรายประเด็นให้ยึดโยงแต่ละมาตรา โดยอาจจะทำมาในรูปแบบกราฟให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณา จึงขอยืนยันว่าความเห็นของประชาชนจะไม่สูญเปล่า เพียงแต่ความยากในเวลานี้ก็คือจะทำอย่างไรที่จะเสนอความเห็นให้เป็นภาษากฎหมาย เพราะ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขเนื้อหาเป็นรายมาตรา