ThaiPublica > บล็อก > เสวนา บทบาทสื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย

เสวนา บทบาทสื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย

30 กันยายน 2011


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนา"สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย" วิทยากรได้แก่ (จากขวาไปซ้าย) คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม,บรรยง พงษ์พานิช บัณฑิต,นิจถาวร,ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์,สฤณี อาชวานันทกุล และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ดำเนินการเสวนา
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนา"สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย" วิทยากรได้แก่ (จากขวาไปซ้าย) คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม,บรรยง พงษ์พานิช บัณฑิต,นิจถาวร,ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์,สฤณี อาชวานันทกุล และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ดำเนินการเสวนา

“การถือกำเนิดของไทยพับลิก้าก็เป็นตัวอย่างของโมเดล เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีความหวังและพยายามทำให้ดีที่สุด”

สฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ เมื่อเช้าก่อนมาดำเนินรายการ ผมได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune มีรายงานข่าวว่า ประชาชนชาวเกาหลีใต้เริ่มไม่พอใจบริษัทขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า แชโบล เพราะบริษัทเหล่านี้นับวันยิ่งมีกำไรมาก ในขณะที่ประชาชนในประเทศกลับมีรายได้ลดลง หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ถึงกับเขียนบทบรรณาธิการว่า บริษัทเหล่านี้เป็นศัตรูของประชาชน

คำถามก็คือในประเทศไทยที่ความแตกต่างทางรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่กับประชาชนก็มีมาก ไม่แตกต่างกัน แต่ทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยจะมีการรายงานข่าวลักษณะนี้ เราได้แต่รายงานว่าใครรวยขึ้นจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ แล้วก็ดูเหมือนจะจบกันแค่ตรงนั้น

บรรยง พงษ์พานิช

ทำไมสื่อไทยถึงไม่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะปัญหาคอรัปชั่นที่กว้างขวาง และลึกลงไปในทุกภาคส่วน หลายคนมั่นใจว่ามันเป็นรากฐานปัญหาอื่นๆ ทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้สู้กับคนอื่นได้ สาเหตุมาจากปัญหาความไม่โปร่งใสในภาครัฐและวิสาหกิจ

ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมสื่อไทยถึงไม่มีคุณภาพ ประการหนึ่งถ้าคุณดูให้ดีว่ารายได้ของสื่อกระแสหลักทั้งหลายมาจากไหน รายได้ของสื่อกระแสหลักมีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งต้องใช้ทรัพยากรของรัฐ พึ่งพาภาครัฐโดยตรง เพราะต้องใช้สัมปทาน ใช้สิทธิ ใช้ใบอนุญาตต่างๆ เช่นโทรทัศน์เป็นต้น

ส่วนที่สองคือสื่อที่ต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐ ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านหยิบหนังสือพิมพ์มาเปิดก็จะพบว่ามีโฆษณาในสัดส่วนที่สูงมาจากหน่วยงานภาครัฐ ปรากฎเป็นรูปท่านรัฐมนตรีเต็มหน้าต่างๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน และอีกส่วนคือการจัดอีเวนต์ต่างๆ มีงบประมาณภาครัฐในส่วนนี้เยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา และจากบริษัทห้างร้านใหญ่ๆตามที่พูดไปแล้ว ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอิทธิพลในการสนับสนุนเราก็จะเป็นเรื่องลำบาก

อีกเรื่องหนึ่งก็คือคุณภาพและต้นทุนของสื่อ เนื่องจากสื่อไทยใช้บุคลากรค่อนข้างมาก ผมเคยคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ท่านชอบบ่นเรื่องคุณภาพสื่อ ในความเห็นของผมที่สื่อเราที่ไม่มีคุณภาพก็เพราะท่านนี่ละ ผู้ใหญ่ไทยให้สัมภาษณ์ทุกที่ทุกเวลา ทุกโอกาส มีการแย่งชิงพื้นที่ข่าวหรืออะไรก็แล้ว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหรือกลยุทธ์ทางการเมือง แต่มันทำให้สื่อต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก ไปตามไปเฝ้าท่าน ตั้งแต่บ้าน ที่ออฟฟิศ ทุกเวลา

แล้วพอผมคุยกับสื่อ สื่อก็จะบอกว่าเวลาที่ใช้มากที่สุดคือการรอ ซึ่งก็ทำให้ productivity น้อย ไม่มีโอกาสที่จะปรับปรุงคุณภาพตัวเอง และสุดท้ายเขาก็จ่ายเงินนักข่าวได้น้อย เพราะเขาต้องใช้เงินเยอะมาก ต้นทุนสูงมาก ผมเชื่อในหลักการทุนนิยม เพราะฉะนั้นพอจ่ายได้น้อย มันก็เป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาคุณภาพ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ในเกาหลีใต้มีผู้นำติดคุกไปหลายคน ทั้งผู้นำการเมืองและผู้นำภาคธุรกิจ แต่เมืองไทยแทบไม่มีผู้นำระดับสูงสุดติดคุก ทีนี้จะเอายังไงกันต่อในเมื่อภาคเอกชน เขาจะขยับเรื่องคอรัปชั่น ภาคราชการก็จับใครไม่ได้ ในที่สุดความเลวร้ายมันก็มาตกอยู่ที่นักข่าว ซึ่งถูกพาดพิงว่าไม่เอาไหน ตกลงเรื่องคอรัปชั่นเป็นฝีมือใคร ?

บัณฑิต นิจถาวร

เรื่องสื่อในประเทศไทย ผมคิดว่าที่สังคมอ่อนแอขนาดนี้แพราะสื่ออ่อนแอ สื่อสามารถชี้นำสังคมได้ และเนื่องจากสังคมเรามีความเข้าใจปัญหาต่างๆน้อยมาก อะไรจะถูกจะผิดอยู่ที่สื่อชี้นำ ผมจำได้เมื่อมีการปฏิวัติในประเทศไทย หนังสือพิมพ์ภาคบ่ายออกช้า บางเล่มออกมาก็มาคาด เอาสีดำมาทา ประชาชนไม่รู้ว่าที่ปฏิวัติไปถูกหรือผิด จนกระทั่งมีสื่อฉบับใหญ่ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่า ผู้ถูกปฏิวัติหนี อันนี้ก็เลยเป็นการตัดสินว่าการปฎิวัติถูก และผู้ถูกปฎิวัติผิด เป็นภาพสะท้อนว่าสื่อสามารถที่จะชี้นำความคิดของสังคมได้ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นพลังของสื่อที่จะชี้นำความคิดของคนทั้งประเทศ คำถามคือเราได้ใช้พลังนี้เข้าไปแก้ไขปัญหา ปราบทุจริต หรือมาปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นรึปล่าว ผมคิดว่าตรงนี้ช่องว่างเยอะมาก

ถ้าเราดูในฐานะผู้เสพ เราหวังอะไรจากสื่อ ผมต้องการสามอย่าง หนึ่งการรายงานข้อเท็จจริงเท่าที่เกิดขึ้นจริงๆ สองการเสนอความเห็นในเชิงวิเคราะห์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากเข้าใจ สามเป็นเวทีให้คนในประเทศสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ผมคิดว่าอันนี้ คือสามสิ่งที่คนซื้อหนังสือพิมพ์ คนฟังวิทยุ คนดูทีวีอยากได้ แต่สิ่งที่เราได้ขณะนี้ก็คือ สิ่งที่ถูกเตรียมมา ว่าวันนี้จะทำเรื่องอะไร จะพูดในแนวไหน คือมีโจทย์หมดเลย แล้วบางช่อง บางสื่อ โจทย์ต่างกัน อ่านหนังสือพิมพ์สองฉบับในเรื่องเดียวกัน พาดหัวข่าวไม่เหมือนกัน โทนไม่เหมือนกัน ปัญหาความไม่เข้าใจของสังคม ของมนุษย์จึงเกิดขึ้น อันนี้เป็นช่องว่างที่ถูกสร้างขึ้นมาและสะสมขึ้นมาเรื่อยๆ และยิ่งนานประเด็นยิ่งชัด ยิ่งใหญ่ เป็นสองข้างสองความคิด

ที่เป็นแบบนี้ผมคิดว่ามีอยู่สามเรื่อง เรื่องแรกคือสื่อขาดความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ทุกคนจะมีโทนของตัวเอง อันที่สองคือเรื่องของการทำหน้าที่อย่างมีอุดมการณ์ ค่านิยมอะไรที่เราตื่นขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สื่อ what value do you have? ในการทำหน้าที่สื่อ หนังสือพิมพ์หรือสื่อที่อยู่ได้ยาวๆเป็นร้อยปีในต่างประเทศ เขามีปรัชญาอุดมการณ์ชัดเจน ว่าเขาเป็นสื่อเพื่ออะไร

ยกตัวอย่างเช่น The Economist เขาบอกเลย เขาสนับสนุนตลาด การทำงานของตลาด เขาก็จะรายงานข่าวตามความเป็นจริง แต่บทวิเคราะห์จะโจมตีเรื่องที่ใช้การแทรกแซงตลาดเสมอมา เมื่อมันเคลียร์ คนก็จะรู้แนวของเขา จะซื้อเพราะเชื่อหรือชอบในปรัชญาที่เขามี ถ้าเราลองซื้อหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา แล้วไปถามคนขายว่า motto ประจำคืออะไร ผมไม่แน่ใจว่าจะมีรึเปล่า บางคนเป็นสื่อมวลชนทั้งชีวิต ถามว่า value ที่เรา need for คืออะไร อันนี้เลยทำให้นักข่าวกลายเป็น messenger ใครว่าอะไรลงหมด กลัวจะพลาดก็ขับรถตาม เราไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะรู้หรือเปล่า ทำให้เราทำหน้าที่เหมือนเป็นกระดาษคาร์บอน ฉะนั้นนักการเมืองจึงง่ายที่จะใช้สื่อในการสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จัก เพราะไม่ว่าพูดอะไร ไม่ว่าทำอะไรก็ลงไป เราไม่เคยตั้งคำถามเลย นโยบายบางอย่างกรอบฟังไม่ได้เลย แต่ก็ลง เมื่อคนอ่านไม่สามารถแยกแยะได้ การไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนในการทำงาน จึงไปสร้างช่องว่างอันนี้ เป็นเครื่องมือในการเป็นตัวนำเสนอสิ่งที่เขาอยากจะพูด เรื่องที่สาม คือเรื่องของจริยธรรมของการทำหน้าที่สื่อ ทุกคนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรายงานข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ว่าเขาพูดอะไรมาแล้วจะเขียนแบบนั้น ข้อเท็จจริงคือต้องตรวจสอบ ต้องเช็ค แล้วเมื่อเช็คจนพอใจแล้วถึงรายงาน แต่ถ้าไม่เช็ค บอก A พูด A บอก B พูด B หรือที่ร้ายกว่านั้นคือมีโจทย์อยู่ในใจแล้ว บอกอะไรไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ก็ไม่ไปเขียน อะไรที่บอกแล้วตรงก็เอามาเขียน จริยธรรมในการทำงานอาจถูกกระทบได้ จากความคิดของเราเอง เพราะเราไปเชื่อในบางเรื่อง ทำให้เราขาดความเป็นกลาง

ผมคิดว่ายังไม่สายเกินไป สังคมตอนนี้เริ่มอยากรู้เรื่องมากขึ้น เพราะอาศัยสื่อกระแสหลักไม่ได้ ขบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นมา ที่ตื่นตัวขึ้นมาก็ต้องการข้อเท็จจริง ต้องการจะรู้ว่าเราสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่สื่อเริ่มจะปรับตัว วันนี้เรามาเปิดตัวสื่อใหม่ ซึ่งก็คือการปรับตัว เป็นการหาอะไรที่เป็นสาระ หาอะไรที่แหลมคม มาสร้างความรู้ให้กับสังคม ก็คิดว่าคงจะสนับสนุนแล้วเอาใจช่วย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ผมเชื่อว่าอาจารย์อึดอัด สมัยที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ อาจารย์พูดอะไรนักข่าวก็เอาไปลงตามนั้น ส่วนถ้าพูดอะไรแล้วนักข่าวไม่ได้เอาไปลง หรือลงไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจารย์กล้าสวนเขาไหม ทำไมเพิ่งมาบ่นตอนนี้ ?

บัณฑิต นิจถาวร

อันนี้ไม่ใช่การด่า ในแง่นี้คือการสะท้อนให้ฟังว่า สิ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นหมดแล้ว และคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นต่อไป จุดเลี้ยวกลับก็คงยากขึ้น และยิ่งเป็นธุรกิจ จะยิ่งทำให้การกลับตัวเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะทุกสิ่งอยู่ที่ balance sheet อยู่ที่การโฆษณา ยิ่งสื่อแข่งกันมากมันก็เหมือนกับธุรกิจธรรมดา ที่แข่งขันกันมากคุณภาพของงานก็อาจจะลดลง ไปเอาปริมาณ เนื้อหาก็ถูกกระทบ

แต่ไม่ได้จะว่า ตั้งใจจะสะท้อนให้ฟัง และผมมั่นใจว่าขณะนี้สื่อมวลชนเรา มี 2 เจเนอเรชั่น เจเนอเรชั่นเดิมที่โตมากับระบบแบบปัจจุบัน กับเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งวันนี้คือตัวอย่าง

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

คุณสฤณี จะตอบคำถามของคุณบรรยงที่เปิดประเด็นไว้ ต่อด้วยของอาจารย์บัณฑิต ที่ตั้งคำถามเรื่องคุณภาพสื่อ เรื่องของการจัดการบริหารสื่ออย่างไร ?

สฤณี อาชวานันทกุล

ตัวเองไม่ใช่นักข่าว แต่ในฐานะคนเสพสื่อรู้สึกคล้ายๆ คุณบัณฑิต ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจที่คิดว่าเป็นปัญหากเรื่องคุณภาพต่างๆ แล้วก็เกิดมีโลกใหม่ ที่ชื่อว่าอินเตอร์เน็ตขึ้นมา ซึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนก็เหมือนเป็นโลกเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญเทคนิคเพียงไม่กี่คน แต่พอเกิด www ขึ้นมาก็ไม่ใช่เทคโนโลยี กลายเป็นสังคม ตอนนี้เราก็อยู่ในยุคที่เขาว่ากันว่าเป็นโซเชียลมีเดีย เป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตได้บรรลุเป้าหมายที่มันควรจะเป็น คือไม่ได้เป็นของเล่นของคนที่บ้าเทคโนโลยี แต่เป็นพื้นที่ เป็นสังคมของทุกคน

คำถามคือในโลกที่เราเรียกว่าโซเชียลมีเดีย คนไทยเป็นผู้ที่ใช้เฟซบุคอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งหมดมีประชากรเข้าถึง 20 กว่าล้าน ซึ่งจะไม่ลดลงแน่นอน คำถามคืออินเตอร์เน็ตที่เป็นนวัตกรรม ที่พลิกและส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจสื่อไทย แล้วสื่อไทยได้ปรับตัวและใช้ประโยชน์จากมันมากน้อยแค่ไหน

คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็คุยกันในอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้แทบไม่มีเส้นแบ่ง สิ่งที่เราคุยกันในทวิตเตอร์บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเป็นนักข่าว เรื่องที่เราคุยกันบางทีนักข่าวก็เอาไปทำข่าว มันก็กลายเป็นป่าเดียวกัน เป็นระบบนิเวศที่ทุกคนอยู่ด้วยกัน ซึ่งมันเป็นโอกาสที่ดีมากของสื่อมืออาชีพ

ส่วนตัวก็มีความประทับใจนักข่าวอาชีพหลายๆ ท่าน รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ยาก นอกจากผลตอบแทนจะน้อยแล้วยังต้องใช้สมองเยอะ ทำงานแข่งกับเวลา คือเป็นนักเขียนก็ยากแล้ว มาเป็นนักข่าวก็อาจจะยากกว่า ถ้าอยากให้ข่าวที่ทำออกมามีคุณภาพในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไหลเร็วมาก แล้วเราก็ไม่รู้ จับต้นสายปลายเหตุไม่ได้ว่าอะไรจริงไม่จริง จุดนี้เองที่ทำให้ศักยภาพ ทักษะของนักข่าวยิ่งเป็นที่ต้องการ ทักษะในการแยกแยะ เรียบเรียง คัดกรอง และนำเสนอ เรื่องราว คือจับเอาข้อมูลต่างๆ ที่ปนกันไม่รู้ว่าเป็นข่าวจริงข่าวลวงทางอินเตอร์เน็ต มาปะติดปะต่อ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น แต่ที่ผ่านมายังเห็นน้อย เพราะนักข่าวหลายท่านสนุกสนานไปกับการพูดคุย สนทนากับคน เลยพยายามทำให้เร็ว และอินเตอร์เน็ตก็ช่วยทุ่นเวลามหาศาลในการทำข่าว หลายเรื่องที่เกิดขึ้นถ้าอ่านจากไทม์ไลน์ อ่านจากทวิตเตอร์ ก็แทบจะรู้ในเวลาจริง การมีกระบวนการเหล่านี้ช่วยในเรื่องต้นทุนเยอะมาก ที่ผ่านมาเริ่มเห็นและหวังว่าจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกประเด็นก็คือ ถ้าดูภาระของสื่อไทยในวันนี้ ปัญหาใหญ่คือ ถ้าเราอ่านข่าวหรือดูทีวี เราได้รับรู้แค่ไหนว่าสังคมไทยมีปัญหาอะไร เราได้รับรู้เล็งเห็นวิธีการหรือทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาปัจจุบันไม่ใช่แค่เยอะ แต่มันซับซ้อน ความจริงก็มีหลายชั้น เราอาจจะพูดว่าน้ำทะเลสูงขึ้นเท่านั้นเท่านี้ ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง การเอาข้อมูลเหล่านี้มาปะติดปะต่อแล้วบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาวะโลกร้อนก็เป็นความจริงที่ต้องใช้การคำนวนวิเคราะห์อย่างหนึ่ง การจะบอกว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้าง มันก็ต้องอาศัยทักษะต่างๆ ในการปะติดปะต่อข้อมูล เลยเป็นประเด็นที่คิดว่าอยากจะเห็น

อย่างในเรื่องที่เป็นประเด็น เช่น คอรัปชั่น เราได้เห็นระดับปัญหาในสื่อไหม และเท่าที่เห็นทำไมเราถึงมี คิดว่าเป็นสองประเด็นที่อยากให้ใช้โลกของการพูดคุยในอินเตอร์เน็ต ซึ่งโลกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานข่าว และช่วยเพิ่มคุณภาพในการทำงานได้

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เวลาคุยประเด็นแบบนี้ก็อยากจะรู้ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เวลาเชิญหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เวลาเชิญสมาคมธนาคารไทยมาออกรายการโทรทัศน์ ทุกคนก็จะบอกเหมือนกัน 2 เรื่องว่า 1.การศึกษาของประเทศนี้มีปัญหา 2.สื่อมวลชนไทยมีปัญหา และภาคของตัวเองไม่เคยมีปัญหาใดๆ เลย ตกลงไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน หมายความว่าใครต้องขยับก่อน เวลาถามภาคธุรกิจก็บอกว่าสื่อ เวลาถามสื่อก็บอว่าภาครัฐ ถามรัฐก็บอกเอกชน ถามเอกชนก็โยนกลับมาสื่อ โยนกันไปมา หาที่ยุติไม่ได้

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด(มหาชน)
บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด(มหาชน)
บรรยง พงษ์พานิช

จริงๆ ปัญหามันเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ไม่มีประโยชน์ที่จะหาว่าต้นตอเกิดมาจากส่วนไหน แต่อย่างไรก็ดีสื่อมีบทบาทในเรื่องของการศึกษา ในเรื่องของตัวผม ผมยกให้เลยว่าสื่อสอนผมมากกว่าอาจารย์อีก หลังจากที่เราเรียนหนังสือจากอาจารย์มันเป็นแค่โครงสร้างพื้นฐาน ให้แค่ความรู้พื้นฐาน หลังจากนั้นเราก็เรียนต่อจากสื่อ สื่อจะมีอิทธิพลในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก คุณภาพของสื่อไทยโดยรวมช่วยในเรื่องของการศึกษาได้ระดับหนึ่ง และบางทีก็อาจทำให้หลงทางด้วยซ้ำ คุณบัณฑิตได้เข้าไปยกตัวอย่างสื่อต่างประเทศที่มีอุดมการณ์ที่ดี แต่ก็มีตัวอย่างเช่นเรื่องนิวส์คอร์ป ที่เอาเรื่องการพานิชย์มาทำให้สื่อเปลี่ยนรูปแบบไป

ผมขอย้อนมาพูดถึงเรื่องคอรัปชั่น และบทบาทของสื่อในเรื่องคอรัปชั่น ผมคิดว่าสื่อมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ภารกิจเกี่ยวกับคอรัปชั่นเป็นไปมากแค่ไหนเพียงไร เรื่องของการต่อต้านคอรัปชั่นคนก็รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นเรื่องวัฒนธรรมฝังราก เป็นไปไม่ได้

ผมเชื่อว่าทัศนคติของสังคม เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าเราจะต่อสู้กับคอรัปชั่น ซึ่งผมก็ยืนยันว่ามันเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่เราเจอในประเทศไทยเวลานี้ ถ้าเราจะต่อสู้ขั้นตอนที่หนึ่งเลย ก็คือเราต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคมให้ได้ อย่างการไปทำแบบสอบถามที่ถามว่ารับได้ไหมถ้าคอรัปชั่นสร้างความเจริญ ผมยืนยันเลยว่าไม่มีคอรัปชั่นประเภทไหนที่สร้างความเจริญได้ในระยะยาว ในระยะสั้นอาจเป็นไปได้ เพราะคอรัปชั่นทำให้เกิดการลงทุน ทำให้เกิดการบริโภค แต่การลงทุนและบริโภคเช่นนั้น ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในระยะยาว เรื่องแบบนี้การจะสู้กับคอรัปชั่นต้องทำให้สังคมเห็นภัยต่างๆอย่างชัดเจน การปลูกจิตสำนึกอาจไม่เพียงพอ

ถ้าเราประมาณคร่าวๆ วงเงินภาครัฐที่จัดซื้อจัดจ้างในการลงทุน มีประมาณ 2 ล้านๆ บาท ประมาณ 20% ของ GDP ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็รู้ว่าการคอรัปชั่นได้ระบาดไปอย่างกว้างขวาง ถ้าเรามองกลับมันก็จะ เกี่ยวข้องกับคน 2 ล้านคนเป็นอย่างน้อยทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะฉะนั้นหลายๆ หน่วยงาน หลายๆธุรกิจจะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น ไม่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเลย และยังมาเก็บค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

การคอรัปชั่นในปัจจุบันก็สามารถเผื่อแผ่ลงไปให้คนได้ประโยชน์ในระยะสั้นกว้างขวางมาก เช่นการซื้อเสียงก็คือส่วนทอนของคอรัปชั่น หลักเกณฑ์ของคอรัปชั่นก็คือได้กระจุก เสียกระจาย เทคนิคที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจก็คือไปแจกกระจุกบ้าง ใช้อิทธิพล เอางบประมาณมาลง สร้างความเจริญให้พื้นที่ ซึ่งของพวกนี้ทำให้เกิดผู้ที่ได้รับอามิสซึ่งก็คือประชาชนที่ไร้เดียงสา ไปปลื้มกับอามิสระยะสั้น โดยในระยะยาวมันก็จะส่งผลกระทบกลับมาหาตัวเอง นี่เป็นตัวอย่าง ซึ่งการคอรัปชั่นมันมีข้อเสียหายเยอะมาก ทำให้ประเทศไม่สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมก็มีเพียงแต่สื่อเท่านั้นที่ทำได้ ทำหน้าที่สื่อให้ประชาชนรู้ถึงโทษภัยของการคอรัปชั่น ถ้าสาธารณะชนไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงการไปต่อสู้ก็ไม่มีทางประสบผลสำเร็จ

เรื่องที่สอง สื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบในเชิงลึก การรายงานข่าว การติดตามข่าว กรณีของไทยพับลิก้าก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะติดตามข่าวในเชิงลึก นั่นก็เป็นภารกิจที่จะช่วยให้มีการติดตามดูแล สอดส่อง ไม่ให้ทรัพยากรของสาธารณะถูกปล้นชิงมากไปกว่านี้ ซึ่งสื่อเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด

และหลักง่ายๆในการสื่อ ผมขอใช้หลักของพระพุทธองค์ คือ กาลามสูตร คือเวลาเราได้ข่าวสารก่อนจะถ่ายทอดต่อ ขอให้เอามาพิจารณา เอามาประมวล แล้วมาคิดว่าการจะถ่ายทอดต่อเป็นกุศลหรือไม่กุศล เป็นประโยชน์หรือเป็นแค่เครื่องมือของเขา

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ผลวิจัยที่ถามว่าถ้ามีคอรัปชั่นแล้วเจริญรับได้ไหม ก็คงต้องรับได้ เพราะมันมีคอรัปชั่นอีกประเภทที่คอรัปชั่นแล้วไม่เจริญ คือมันมีคนที่คอรัปชั่นแล้วไม่ทำงาน กับคนที่คอรัปชั่นแล้วยังทำงานบ้าง คนก็จำเป็นต้องยอมรับคอรัปชั่นที่ทำงานบ้าง จึงต้องถามคุณบรรยงต่อว่า ไม่คอรัปชั่นแล้วทำงานได้ ประเทศชาติเจริญ มันมีอยู่จริงหรือ ?

บรรยง พงษ์พานิช

มี ที่ไม่คอรัปชั่นแล้วเจริญ ดูจากทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ดูจากดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น ที่ประเทศไทยได้ 3 กว่า จะเห็นว่าดรรชนีนี้กับอัตราการเจริญทาง เศรษฐกิจไปด้วยกัน ประเทศไหนที่ดรรชนีสูง จะมีความเจริญมากกว่า ซึ่งอันนี้ก็ยืนยันว่าคอรัปชั่นมันบั่นทอน และที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยติดอยูที่ middle income trap แล้วก็พยายามหาสาเหตุแล้วก็พบว่า คอรัปชั่นมีส่วน และประเทศที่จะก้าวพ้นไปได้ระดับของดรรชนีคอรัปชั่นล้วนเกิน 5 ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ เมื่อก่อนเขาก็พอๆ กับเรา ไต้หวัน ฮ่องกง

ผมขอย้ำอีกทีว่าไม่มีคอรัปชั่นประเภทไหนที่ทำให้ประเทศเจริญ ยกเว้นบางกรณีในระยะสั้นที่ดูเหมือนดีขึ้น แต่ไม่ได้เจริญขึ้นจากคอรัปชั่น เป็นการเอาทรัพยากรจากในอนาคตมาใช้ ถ้าใช้เยอะมันก็ดูเหมือนเจริญ

ภาคเอกชนเมื่อจะลงทุนต้องมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ความได้เปรียบมาได้จากสองทาง ทางที่หนึ่งปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเอง ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล วิธีที่สองไปซื้อหาความได้เปรียบ ไปกีดกันให้คนอื่นออกไป ไม่ต้องมาแข่งขัน ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ถ้ามีการคอรัปชั่น เอกชนก็สามารถซื้อหาความได้เปรียบ เขาก็ลงทุน การลงทุนในระยะสั้นส่งผลดีแน่นอน การลงทุนประเภทนั้นก็จะเป็นภาระ กำไรส่วนเกินทุกบาทที่เขาได้เอามาจากผู้บริโภค เอามาจากประชาชน จากศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ผมจึงยืนยันว่าการไม่คอรัปชั่นประเทศเจริญแน่นอน

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ขออนุญาตกลับมาที่อาจารย์บัณฑิต ซึ่งยกตัวอย่างกรณีการปฏิวัติ ถามจริงๆ เถอะครับถ้าฝ่ายมือที่มองไม่เห็นทั้งหลายไม่ขยับก่อนว่าจะเลือกข้างไหน ไม่ส่งสัญญาณลงมา แล้วสื่อมวลชนจะกล้าหรือครับ ?

จากซ้ายไปขวา ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา ,บัณฑิต นิจถาวร  กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี),บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
จากซ้ายไปขวา ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา ,บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี),บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
บัณฑิต นิจถาวร

เรื่องสัญญาณ เรื่องการทำงานเป็นข้อจำกัดในแนวคิดของสื่อ สื่อมวลชนในสังคมเราที่ความเข้าใจเรื่องต่างๆ มีน้อย สื่อมวลชนมีอิทธิพลสูงมากในการชี้นำความเชื่อของประชาชน แค่พาดหัวข่าวคนอ่านหัวข่าวก็เชื่อแล้ว ยังไม่ได้อ่านเนื้อเลย ผมจะบอกว่าสื่อเป็นวิชาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะคนทั้งประเทศจะเชื่อ อยู่ที่คุณพาดหัวข่าว อยู่ที่คุณเขียน

ขณะนี้ความท้าทายในการทำข่าวมีมาก จนพื้นที่ในการทำข่าวที่หลายๆ คนอยากทำเริ่มมีน้อยลง นำไปสู่การปรับตัว ส่วนคำแนะนำที่อยากบอกสื่อ เรื่องคอรัปชั่น คนไทยไม่พอใจเรื่องการคอรัปชั่นมาก การเกิดขึ้นขององค์กรต่างๆ ก็มีเพื่อแสดงตัว ทำให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลง เป็นหน้าที่ของทุกๆคน แต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถ้าเราต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ปัญหาต่างๆจะลดลงไป

ในเรื่องคอรัปชั่น ก็มีการดูแลได้หลายแนวทาง ในด้านเศรษฐกิจ สาเหตุที่เกิดการคอรัปชั่นมีอยู่ 4 เรื่อง 1.ไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแข่งขันอะไรก็เกิดขึ้นได้ 2.ไม่มีการทำตามตัวบทกฎหมาย ไม่มี rule of law 3.ไม่มีความโปร่งใสในการทำธุรกรรม 4.ขาดธรรมาภิบาลในภาคเอกชน ซึ่งเป็นหัวใจของการคอรัปชั่น

ถ้าผมเป็นสื่อแล้วเห็นการประมูลไม่โปร่งใส เห็นว่าไม่มีการแข่งขัน ไม่มีธรรมาภิบาล อันนี้เป็นประเด็นที่เราจะเจาะได้เลย เพราะมันนำไปสู่การคอรัปชั่น พื้นที่ที่สื่อจะทำเรื่องคอรัปชั่นจึงมีมาก นอกเหนือจากการไปปรับทัศนคติ

ผมก็เชื่ออย่างคุณบรรยงว่า ถ้าสื่อขาดบทบาทชี้นำในเรื่องนี้ ขาดการตาม การสร้างความผูกขาดการรายงาน ต่อไปเวลาทำอะไรก็ไม่มีคนรู้ เลยอยากขอร้องสื่อว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องร่วมมือกันโดยตอนนี้เรามีผู้กล้าออกตัว ทำเรื่องนี้โดยความสมัครใจมากมาย มันเป็นความรู้สึกร่วมทางสังคมและจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับการออกตัวของสื่อ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ขอต้อนรับคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงด้วยคำถามรวบยอด เพื่อให้ตอบทีเดียวทุกข้อสงสัยว่า จริงหรือไม่ที่บทบาทของสื่อเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขยับเขยื้อนเรื่องการคอรัปชั่น และที่ผ่านมาสื่อไปทำอะไรกันอยู่ ทำไมทำไม่ได้ตามนั้น ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับสื่อมวลชนที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวน และพยายามทำหน้าตรวจสอบการคอรัปชั่น เกิดอะไรขึ้นกับคุณประสงค์ ในยุคก่อนที่จะมีดอทคอม

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

เวลาไปเวทีไหนทุกคนจะฝากความหวังที่สื่อ ถ้าสื่อพยายามทำ แต่สังคมส่วนอื่นไม่ขยับ จะกระตุ้นได้จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาผมตามมาหลายเรื่อง และเรื่องที่ผมทำมาตลอดในช่วง 10 ปีคือเรื่องหุ้นตระกูลชินวัตร เรื่องภาษี เป็นเรื่องที่ถนัดที่สุด เพราะเรารู้ว่าจะเอาข้อมูลตรงไหน มาขยาย มาตามต่อ

ในแง่ของตลาด เมื่อพูดถึงในเรื่องของตระกูลชินวัตรมันขายได้ แต่ก็จะมีคอมเมนต์เข้ามาว่า ทักษิณจะชั่ว จะเลว ไม่สนใจ ยังไงก็จะเลือก แล้วถ้าสื่อพูดเรื่องทักษิณทำไมไม่พูดเรื่ององคมนตรีบ้าง ทำไมอภิสิทธิ์หนีทหารไม่พูดบ้าง พอพูดแบบนี้มันก็เข้าเรื่องความถนัด พอมาพูดเรื่องอภิสิทธิ์บ้างก็เห็นว่าอภิสิทธิ์มีคนพูดเยอะแล้ว ทำไมเราไม่มาพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่พูด นั่นคือเหตุผลที่อธิบายออกมา คนจะยอมรับหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสื่อ ผมคิดว่ามันมีหลายเรื่อง เราจะเห็นเวลาเราทำเรื่องอะไร คนที่ควรขยับคือใคร อย่างเราทำเรื่องธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ คนที่ควรขยับคือธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ที่ไม่ขยับเพราะมีผู้บริหารแบงค์ชาติมีผลประโยชน์ผูกพันกับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จนกระทั่งสื่อเป็นแรงกดดันในการขยับ แต่ต้องใช้เวลา 3 เดือน ผมเสนอข่าวนี้ในมติชนติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ทุกวัน และขยับน้อยมาก ทีละนิด จนกระทั่งฝ่ายค้านไปอภิปรายในสภา แบงค์ชาติจึงขยับเข้าไปควบคุม ถามว่าสื่อจะต้องใช้พลังขนาดไหน ถ้าสังคมอื่นไม่ขยับ มันจะฝากความหวังไว้กับใครไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันขยับ

ประเด็นที่ผมถนัดเรื่องหุ้นตระกูลชินวัตร ตระกูลชินวัตรทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีคนมาร่วมขบวนการ หุ้นชินวัตรทำให้เสียหายเรื่องภาษี แต่ก็ยังเก็บภาษีไม่ได้สักบาท มันร่วมขบวนการกันหมด เมื่อเก็บไม่ได้แล้วถามว่ายุติไหม ถามว่าต้องเสียไหม ต้องเสีย เพียงแต่ว่าเลยเวลา 5 ปีถึงจะเก็บได้ มาถึงศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องไปเมื่อเร็วๆนี้ ศาลอุทธรณ์บอกไม่ต้องเสีย แต่ผมว่าต้องเสีย แต่มาบอกว่าเก็บไม่ได้ เนื่องจากหมดอายุ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ รวม 546 ล้าน ถามว่ากระทรวงการคลังทำอะไร ได้มีการตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนในทางละเมิดไหม ทางอาญาติดอยู่ ศาลยกฟ้องขั้นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยคุณกรณ์ก็ไม่ขยับ สมัยนี้คุณธีรชัยก็ไม่ขยับ แล้วจะทำยังไง นี่ก็แฉไปหมดแล้ว ต้องเดินถนนไหม ว่าเอา 546 ล้านคืนมา เพราะฉะนั้นเวลาเรียกร้องก็อย่าเรียกร้องให้คนอื่น เรียกร้องให้ตัวเอง ทุกคนต้องทำหน้าที่ตัวเอง

ผมเห็นด้วยที่ว่าพื้นที่ในการนำเสนอข่าวของประเทศนี้ลดลงเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งพิมพ์อยู่ในขาลง คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงเพราะมีอะไรมารบกวน เป็นขาลงในแง่ระบบ เมืองไทยยังมีผลกระทบน้อยเนื่องจากการกระจายตัวทางอินเตอร์เนตมีไม่ถึง 30% แต่ประเทศอื่นที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงถึง 50% 80% และ 90% มันจะกระเทือนรุนแรงมาก ถ้าถึงขนาดนั้นสื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องดิ้นรน ต้องยอมทุกอย่าง ถ้าเขาเอาค่าโฆษณาฟาดหัว 10 ล้าน 20 ล้าน คุณก็ง่อยแล้ว แตะต้องไม่ได้ และนักการเมืองก็ฉลาด หรือบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทก่อสร้าง ใครบอกว่าบริษัทก่อสร้างไม่จ่ายใต้โต๊ะเลยใน IOD ที่รณรงค์ให้มีธรรมภิบาล ผมไม่คิดว่าจะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างสักบริษัทเดียวที่เป็นภาคี

ครั้งหนึ่งตอนเกิดเสื้อเหลืองยึดสนามบิน พวกหอการค้าก็ตื่น เชิญพวกผมมาถาม คุยกันว่าทำอย่างไรดี นักการเมืองคอรัปชั่น จับกุมนักการเมืองทำอย่างไรดี ผมเลยกระซิบบอกคุณพิมลพรรณว่า พี่ๆ ช่วยเสนอหน่อยเถอะ พวกที่นั่งเนี่ยตัวปลอมหมดเลย ถ้าเอาเจ้าสัวใหญ่ของประเทศ 10 รายมาจับมือขึ้นเวที แล้วประกาศว่า ต่อไปนี้จะไม่จ่ายใต้โต๊ะ ถ้าบริจาคจะบริจาคบนโต๊ะ เท่านั้นเองวงแตกหนีหมด

ถ้าตราบใดบรรดาเจ้าสัวยังคงจ่ายใต้โต๊ะอยู่ การคอรัปชั่นก็ยังคงมีอยู่ มันปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ในเมื่อรัฐไม่ยอมเรียก เอกชนกลัวไม่ได้งานก็มาจับมือกัน ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง

อันที่สอง ผมเรียกร้องมาหลายหน การจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าจะเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ ผมถามว่าสัญญา GT200 ไม้ล้างป่าช้า คมชัดลึกทำได้ดีมาก แต่สิ่งที่คมชัดลึกไม่ได้ทำคือขอดูสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง GT 200 เพราะนักข่าวสายทหารคงไม่กล้าไปขอดู กรมบัญชีกลางที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่ใหญ่ที่สุด เพราะคุณต้องไปเบิกเงินที่กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางควรมีซอฟต์แวร์ ให้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท สามารถเข้าไปตรวจดูได้ ว่าใครเข้าไปประมูลกี่ครั้ง ได้งานไปแล้วกี่หมื่นล้าน โรงงานยาสูบซึ่งมีบริษัทกระดาษเข้าไปประมูล ผมเคยเป็นนักข่าวประชาชาติไปขอข้อมูล เจ้าหน้าที่ขยำหนังสือทิ้งไม่สนใจเลย ถ้าเอาข้อมูลพวกนี้มาเปิดมาวางบนโต๊ะ จะได้ประโยชน์มาก การที่มีคดีไม่ว่าจะเป็นพลตรีสนั่น คุณทักษิณ ทั้งรัฐมนตรีที่หลุดจากตำแหน่ง ก็เพราะว่ามันมีการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง เป็นฐานที่จะไปตรวจสอบนักการเมือง ตอนแรกนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจก็เลยโดน นักการเมืองถ่ายข้อมูลไม่ทัน แต่ตอนนี้ยากแล้วเพราะนักการเมืองถ่ายข้อมูลทันแล้ว จากนอมินีคนใช้ ไปเป็นนอมินีกองทุนต่างประเทศ ตรงนี้จะตรวจยังไง

บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง เมื่อตอนที่เกิดวิกฤติ ปรากฎว่าเขาจ่ายเชคไปสองพันกว่าล้าน อ้างว่าจ่ายซับคอนแทคที่หนึ่ง ซับคอนแทคที่สอง แต่ซับคอนแทคที่สองนี่เอาเช็คที่ออกไปขายลด ให้กับพนักงาน 13 คน สมมติว่า 100 บาท ก็ขาย 80 บาท พนักงานก็จะได้กำไรร้อยละ 20 สรรพากรก็ไปตรวจเจอ พนักงาน รับซื้อเชคถึง 2,000 ล้าน ภายใน 5 ปี แล้วตัวเลขที่สรรพากรเจอคือ พนักงานที่นี่มีเงินเดือนเพียงหมื่นสองหมื่นเท่านั้นเอง แต่มีเงิน 2,000 ล้านมาซื้อเชค พอสรรพาการเจอพนักงานพวกนี้มีรายได้ร้อยละ 20 จากการซื้อลดเชค พนักงานโดนเก็บภาษี แต่ประเด็นไม่ใช่พนักงานเอาเงินที่ไหนมาซื้อเชค ผมเก็บข้อมูลเอาไว้ เอาไปส่งให้ ก.ล.ต. เขาก็บอกว่าเนื่องจากคดีมันผ่านมานานแล้วก็ขอยุติเรื่อง ถ้าคุณเป็นบริษัทก่อสร้างจะทำอย่างไร ก็ต้องหาวิธีเอาเงินพวกนี้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ผ่องถ่ายเงินไปทางบัญชีด้วยกระบวนการพวกนี้ สองพันล้านตอนนี้คดีหมดอายุความ ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงเช็คงวดสุดท้าย นี่ 9 ปีแล้ว ยังไม่หมดอีกปีเดียวแต่ ก.ล.ต. ยุติเรื่องนี้แล้ว

ผมคิดว่ากระบวนการตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ การอาศัยสื่ออย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ นอกจาก ก.ล.ต. ก็ยังมี ป.ป.ช. ซึ่งมีหลายคดีดองอยู่เป็น 10 ปี กระบวนการสอบสวนก็ไม่เปิดเผย คดีที่ค้างในศาลฎีกาเป็นสิบปีขึ้นไปมีเป็นสิบๆ คดี ร้อยๆ คดีด้วยซ้ำ คู่ความรอจนตายไปแล้วก็มี เราไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่าคดีไปถึงไหน อย่างไร เราต้องสร้างระบบให้เปิดเผยแบบอัตโนมัติ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ตกลงสื่อต้องขยับอย่างไร และภาคธุรกิจต้องขยับอย่างไร ภาครัฐ ขบวนการตรวจสอบต้องขยับอย่างไร ?

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรมเดินทางมาถึงพอดี ขอส่งเวทีให้คุณหญิงต่อครับ

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ธนาคารไทยพาณย์ จำกัด (มหาชน)
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ธนาคารไทยพาณย์ จำกัด (มหาชน)

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม

ทำอย่างไรถึงจะให้กลไกของบ้านเมืองเราเดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่มีเรื่องของการเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ซึ่งก็คือการคอรัปชั่น หัวข้อของเสวนาวงนี้เป็นเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส เรื่องแบบนี้จะไม่จบไปจากแผ่นดิน อย่างน้อยที่สุดความโปร่งใส สื่อน่าจะมีบทบาทสองสามอย่าง หนึ่งก็คือเรื่องของการรายงานสิ่งที่ควรจะต้องรายงานให้ครบถ้วน ให้มีความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย สองสื่อน่าจะต้องมีหน้าที่ ที่มากกว่ารายงาน ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่สร้างสรรค์ ต้องละเว้นการกล่าวหาลอยๆ ที่ไม่มีเหตุไม่มีผล หรือการที่จะถือข้าง เป็นกระบอกเสียงของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การทำหน้าที่ของสื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเป็นไปได้หรือที่เราจะเห็นสื่อที่รายงานเรื่องที่เป็นสิ่งดีๆ เพราะอาจจะไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ของตนได้ คนเราก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร ชอบฟังข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เนื้อหาของข่าวจึงมักจะเป็นข่าวร้ายให้ตื่นเต้น วิพากย์วิจารณ์ได้มากว่าจะเป็นเรื่องดี ที่จะสามารถนำมาเป็นตัวอย่าง มาเรียนรู้ได้ บทบาทหน้าที่ของสื่อคงจะต้องจัดลำดับด้วยว่าถึงแม้คนทั่วไปชอบข่าวไม่ดี แต่ข่าวที่ดีทั้งหลายก็ควรจะหาพื้นที่ให้ ให้เป็นแนวทางให้คนคิดดีทำดี

ในเมื่อสื่อต้องเป็นธุรกิจ ต้องแข่งขัน จะทำอย่างไรให้สมบูรณ์แบบทั้งให้ข้อมูล ให้ข้อคิดและสร้างสรรค์ แบบนี้จะขายได้ไหม ถ้าทำให้มันแปลกไป ขณะนี้เริ่มมีหนังสือบางประเภทที่ทำตัวป็นสีขาว มากกว่าสีดำ หรือเทา ก็ดูทำได้ดี สิ่งเหล่านี้เราต้องอุ้มชูต้องส่งเสริม

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

แล้วสื่ออย่าเดียวเพียงพอไหม ภาคธุรกิจ หรือองค์กร อื่นๆที่มีปฏิสัมพันธ์ในสังคม จะต้องขยับอย่างไรนอกจากสื่อขยับแล้ว ?

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม

สื่อเป็นผู้ผลักดันทางความคิดที่แพร่หลายมากที่สุด แต่สังคมเราต้องประกอบไปด้วยองค์กรอีกหลายด้านด้วยกัน จุดที่เป็นจุดร่วมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร ภาคธุรกิจ จริงๆแล้วจุดเริ่มต้นคือจิตสำนึก ถ้าจิตสำนึกดี มีความเป็นธรรม ก็จะดีมาก สื่อจะทำให้สิ่งเหล่านี้ไปสู่คนหมู่มาก สังคมต้องต่างฝ่ายทำหน้าที่ของตัว เป็นหน้าที่ ที่ไปตามธรรมนองคลองธรรม และมีส่วนทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นด้วย เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่สื่อ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ภาระมาตกกับสื่อ โครงสร้างทางธุรกิจ ที่ยอดขายก็ตกลงเรื่อยๆ รายได้มาอยู่กับโฆษณาเยอะ โดยเฉพาะโฆษณาจากภาครัฐ ก็เลยมีการแทรกแซงค่อนข้างสูง ในสถานการณ์ที่สื่อเจอวิกฤติทั้งทางด้านธุรกิจ และวิกฤติทางด้านจริยธรรม สื่อจะเอาตัวรอดอย่างไร ?

สฤณี อาชวานันทกุล

เรื่องนี้เป็นคำถามทางธุรกิจ ธุรกิจที่น่าสนใจน่าจับตามองคือธุรกิจที่สร้างตัวองใหม่ได้ ถ้าเราเชื่อในระบบทุนนิยม ระบบตลาด ที่ว่าคนที่อยู่รอดในระยะยาวคือคนมองเห็นปัญหาของโมเดล เห็นความเสี่ยง เห็นปัญหาที่มันไม่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ทางออกก็มีอยู่ทางเดียวคือต้องหาโมเดลใหม่ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในนักข่าวอาชีพหลายๆท่าน ที่มีเจตนารมณ์ที่ดี มีศักยภาพในการทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัดทางธุรกิจ ข้อจำกัดที่พื้นที่จะแคบลงเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เขาทำเก่งได้อย่างเชียวชาญก็คือข่าวเชิงลึก ต้องหาโมเดลใหม่ ซึ่งการถือกำเนิดของไทยพับลิก้าก็เป็นตัวอย่างของโมเดล เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีความหวังและพยายามทำให้ดีที่สุด

ในเรื่องของหน้าที่หลายท่านพูด เราก็รู้อยู่แล้วว่าหน้าที่สื่อคืออะไร อยากจะให้มองว่าเวลาเราพูดคำว่าหน้าที่มันเหมือนเป็นขั้นต่ำ พื้นฐานที่ต้องทำอยู่แล้ว ตอนนี้สังคมมีปัญหาเยอะ และเห็นด้วยว่าเป็นปัญหาที่พวกเราทุกคนมีส่วนร่วม ดังนั้นถ้าเราทำแต่หน้าที่อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องทำสิ่งที่มันเป็นเชิงรุกกว่านั้น เช่นถ้าเป็นนักข่าวอาชีพจะลองทำดูว่าทำโมเดลอย่างที่เราทำได้ไหม เป็นทางเลือกหนึ่ง ถ้าเป็นภาคธุรกิจ สิ่งที่ธุรกิจทำได้โดยตรง และเกี่ยวกับสื่อก็คือ ธุรกิจจะประกาศ ทำปฏิญญาระหว่างกันว่า จะเคารพในการทำหน้าที่ของสื่อ ถ้าจะลงโฆษณาก็ลง แต่จะไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกองบรรณาธิการ ตอนนี้ปัญหาเรื่องหน้าที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่ว่าเราฟ้องว่าหลายคนไม่ทำหน้าที่ แต่เป็นปัญหาว่าหลายคนลืมไปแล้วว่าหน้าที่คืออะไร ทั้งสื่อและหลายๆอาชีพ

สื่อมีแหล่งรายได้จากหลายแหล่งก็ถูกต้องแล้ว เพื่อความอยู่รอด แต่ในการทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงนี้ภาคธุรกิจต้องมีความเคารพในการทำหน้าที่ของภาคส่วนอื่น ถ้าเกิดมันเกิดตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ และเป็นประโยชน์ในการทำงานของสื่อที่จะตรวจสอบคอรัปชั่น

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม

สิ่งที่คุณสฤณีพูด คิดว่าอาจจะพอมีประสบการณ์บ้าง ธุรกิจโดยทั่วไปก็ต้องพึ่งสื่อ วิธีการที่จะเลือกสื่อก็จะดูว่าใครสามารถแพร่กระจายข่าวไปสู่กลุ่มเป้าหมายของเราได้ดีที่สุด ส่วนใหญ่เราจะหยุดว่าสื่อที่เราใช้ต้องมีความสามารถที่จะไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการได้ และที่บอกว่าขออย่าไปยุ่งกับกองบรรณาธิการได้ไหม คิดว่าได้ หากกองบรรณาธิการไม่ไปยุ่งกับเรา ซึ่งในกรณีนี้ต้องแยกบทบาทกัน อะไรที่ควรชี้แจงก็ควรชี้แจงอะไรที่ไม่เป็นเรื่องอาฆาตพยาบาทส่วนตัว ถ้ามีการขอโทษและอธิบายสิ่งที่ถูกต้องให้ก็เพียงพอ ในฐานะลูกค้าของสื่อ แต่จะต้องมีข้อยกเว้นเล็กน้อยในบางส่วนที่กระทบกับธุรกิจและต้องชี้แจง

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

แสดงว่ามีใครไปแกล้งคุณหญิง มีตัวอย่างอะไรบ้าง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ?

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม

มีกรณีที่ต้องเข้าไปยุ่งด้วยตัวเอง เป็นกรณีที่เป็นการเขียนการ์ตูนล้อ ที่เป็นลักษณะ เป็นการท้าทายเกียรติยศ ซึ่งในกรณีนี้ต้องไปเอะอะมะเทิ่งว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น อันนั้นเป็นเรื่องที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของการทำงานโดยหน้าที่ เป็นเรื่องของสถาบันองค์กรที่เราต้องไปปกป้องสถาบัน และถ้าองค์กรนั้นๆ มีจรรยาบรรณขององค์กรที่ชัดเจนมาก ให้ความสำคัญกับครรลองคลองธรรม เราก็สามารถพูดเต็มปากว่าอะไรเป็นอะไร

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เริ่มเห็นความยากของการทำหน้าที่สื่อ และการไม่ทำหน้าที่สื่อ ทีนี้ภาคธุรกิจและภาคอื่นๆในสังคมจะมีบทบาทอย่างไร ที่จะทำให้สื่อทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ทำหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังและข้อเรียกร้องของทุกคน ?

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนาสื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนาสื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย

บรรยง พงษ์พานิช

ที่จริงมันก็มีทั้งสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ ภาคเอกชนต้องสำนึกดีว่าจริยธรรมของสื่อ ธรรมาภิบาลของสื่อ การที่ไปโฆษณาจะต้องไม่หวังผลในด้านอื่นๆ อย่างช่วงที่เปิดตัวไทยพับลิก้าก็มีโอกาสให้เอกชนไปโฆษณา ผมก็มั่นใจว่าไทยพับลิก้าจะต้องมีเงื่อนไขชัดเจนเรื่องโฆษณา ถ้าอย่างนั้นเวบไซต์นี้ก็อย่าทำ การสนับสนุนโฆษณาจะต้องไม่มีสิทธิใดๆ หรือแม้แต่ฝากข่าวด้วยซ้ำไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องสำนึกในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตน

สิ่งที่สื่อจะต้องปรับตัวแน่ๆ คือการลดต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ผมยกตัวอย่างที่ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องมีผู้สื่อข่าวยื่นไมค์ทุกสำนัก ยี่สิบคนสัมภาษณ์คนเดียวซึ่งมันไม่จำเป็น อันที่สองสัมภาษณ์บ่อย ผมเคยถามสื่อหนึ่งว่า มีนักข่าวประจำตัวนายกฯกี่คน เขาบอกว่ามีหกคน ต้องเฝ้าที่บ้าน เฝ้าทุกจุด อย่างวอชิงตันโพสต์ เขามีนักข่าวประจำตัวประธานาธิบดีเพียงเศษหนึ่งส่วนห้าคน เพราะอาทิตย์หนึ่งพูดครั้งเดียว และเขาบอกล่วงหน้า ไม่มีการไปเผลอพูดที่ไหนโดยไม่แจ้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมที่จะไปลดต้นทุนของสื่อจำนวนมหาศาล และในภาคสื่อเองก็ข่าวเหมือนกันหมด มันเลยไม่ได้เป็นเรื่องแย่งชิงกันแล้ว จะได้เอาทรัพยากรไปทำเรื่องที่มีคุณภาพ

เรื่องที่สอง ภาคเอกชนที่พยายามหาความร่วมมือ ปัจจุบันเรามีสมาชิกในแนวร่วมเอกชนต่อต้านคอรัปชั่นอยู่ 52 บริษัท ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 900 บริษัท ทำไมถึงไม่มาร่วม ข้อดีของแนวร่วมนี้คือปาหี่ไม่ได้ มาลงชื่อเฉยๆ ไม่ได้ ต้องผ่านการตรวจสอบ ปฏิบัติจริง ในฐานะที่อยู่ภาคเอกชนจะเห็นว่ามีอุปสรรค มีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ควรจะมีด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีการคอรัปชั่นกิจการบริษัทเกิดขึ้นไม่ได้ หลายบริษัทอาจไม่ชอบแต่ก็อยู่ในวัฒนธรรมที่หนีไม่ได้แล้ว อย่างรับเหมาก่อสร้างถ้าเซ็นสัญญาแล้วปฏิบัติจริง สงสัยแบงค์คงเรียกเงินคืน นี่คือข้อเท็จจริง

มันมีส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่ผมเป็นกรรมการ ผมก็เข้าไปบอกให้มาร่วม เราเข้าร่วมได้ง่ายเพราะเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ regulator ที่ค่อนข้างดี แต่บางบริษัทเข้าไม่ได้ เช่นบริษัทโรงแรมที่มีแผนจะก่อสร้างปีละสี่แห่ง ถ้ามาร่วมสี่ปีจะสร้างได้หนึ่งแห่ง มันมีคอรัปชั่นประเภทซื้อความสะดวก มันมีคอรัปชั่นที่เลวร้ายที่สุดคือการซื้อความได้เปรียบซึ่งมันฝังลึก ในห้าร้อยบริษัทของตลาดหลักทรัพย์ มีจำนวนมากปฎิบัติไม่ได้ทั้งที่อยากปฏิบัติ คุณลองไปขอของผ่านระเบียบวิธีของศุลกากรแบบซื่อสัตย์สุจริต ต้องชาติหนึ่งกว่าที่ของจะออกมา มันเกิดความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกที่ไม่ดี แต่เป็นเรื่องถูกขู่กรรโชก

บัณฑิต นิจถาวร

อยากให้กำลังใจว่าเรากำลังเจอปัญหาที่ใหญ่ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่ขาขึ้นและขาลง จริงๆแล้วถ้าการแก้ไขมีไม่ต่อเนื่องและไม่นานพอ เราคงจะไม่ประสบความสำเร็จ เรากำลังเจอกับคอรัปชั่นที่เป็นอาชญากรรม มีการจัดตั้งเครือข่าย มีระบบที่วางไว้ วิธีที่แก้ไขก็ต้องเอาระบบใหม่ มาวางทับระบบเก่า อำนาจเดียวที่เรามีก็คืออำนาจทางกฎหมาย อย่าไปท้อใจ สื่อก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทำให้การทำงานต่างๆมีกฎเกณฑ์ เหมือนเป็นการโยนทรายเข้าไปในเครื่องจักร ให้มันติดขัด ให้มันทำยากยิ่งขึ้น และก็หวังว่าสื่อจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทัศนคติ 15 ปีข้างหน้า 10 ปีข้างหน้า ตัวเลข 60% อาจจะปลี่ยน แต่ถ้าเราปล่อยผ่านตัวเลขมันขึ้นแน่นอน

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ศาลไทยบอกว่าโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในการจัดเก็บภาษี เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น ถ้าศาลฎีกาไม่แก้ก็ยุ่ง ดูโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นเมื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตราที่ 37 เป็นแค่ตัวเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี วิธีคิดแบบนี้อันตราย ถ้าศาลฎีกาไม่มาแก้ตรงนี้และเป็นมาตรฐานต่อไปก็จะยุ่ง

ประเด็นที่สองเรื่องโมเดลธุรกิจ เรื่องพื้นที่การข่าว อาชีพที่อยากทำหน้าที่ของตัวเองลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุปัจจัยเรื่องทุนเป็นหลักและอาจมีปัจจัยทางการเมืองแทรกอยู่บ้างแต่ก็แทรกแบบผสมปนเป ผมคิดว่าโมเดลธุรกิจของสื่อเล็กๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไทยพับลิก้า สำนักข่าวอิศรา TCIJ เป็นกลุ่มเล็กๆที่เป็นพันธมิตรกัน เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน ยอดรวมที่มาดูก็มากกว่าสื่อเวบไซต์หลัก พันธมิตรกันก็มีการใช้รูปแบบง่ายๆ ใช้ news feed ที่เชื่อมโยงกัน

ธุรกิจที่ลงโฆษณากับสื่อกระแสหลักสิ้นเปลืองมาก สรยุทธ์ พูดทีนึง นาทีละสามแสน เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็ห้าแสน ถ้าเกิดธุรกิจเห็นว่าสื่ออิสระมีความสำคัญ และอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณ การสนับสุนให้เวบไซต์เหล่านี้เกิดขึ้นเยอะๆ ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ การสนับสนุนสื่อพวกนี้ก็จะกลายเป็นตัวคานกับสื่อหลัก

สฤณี อาชวานันทกุล

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำสื่อออนไลน์ก็คือ โดยธรรมชาติที่เป็นเครือข่าย พอเป็นเครือข่ายแล้วคนก็สามารถวิ่งจากเวบไซต์หนึ่งไปอีกเวบไซต์หนึ่ง แทบไม่มีต้นทุนทางเทคโนโลยี แค่คลิกเข้าไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกนึกคิด หรือจุดยืนของคนทำก็จะเปิดกว้าง อยากให้คนเอาข่าวไปใช้เยอะๆ ภายใต้เงื่อนไขที่เรากำหนด เครือข่ายที่เราคุยกันก็คุยกันว่าการแลกข่าวก็ทำได้ อีกหน่อยอาจมีการพยายามทำฐานข้อมูลบางอย่างร่วมกัน และเปิดให้คนนอกเข้ามาใช้ และการขอข้อมูลออนไลน์จะทำให้สื่อทำงานง่ายขึ้นมาก ถ้ามีข้อมูล อะไรก็แล้วแต่ของหน่วยงานรัฐ แล้วเอาขึ้นเวบไซต์ให้ได้มากที่สุด ท่านอาจจะไม่คิดว่าสำคัญ พอถึงจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นขึ้นมา มันอาจจะมีประโยชน์มหาศาลในการสืบสวน ก็หวังว่าไทยพับลิก้าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่เราอาจจะยั่งยืนหรือไม่ก็ได้ เป็นเรื่องของอนาคต แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงให้เห็นว่าทำแบบนี้ก็ได้ เป็นโมเดลใหม่ๆ และก็จะมีโมเดลที่หลากหลายกว่านี้ ที่จะปรับตัว ในการทำข่าวก็ไม่จำเป็นต้องคิดในหมวกขององค์กรสื่อขนาดใหญ่ต่อไป มีโมเดลมากมายที่นักข่าวก็คิดได้