ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงานพิเศษ GCNT ธุรกิจกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนประเด็นร้อนปี 2020

รายงานพิเศษ GCNT ธุรกิจกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนประเด็นร้อนปี 2020

29 ธันวาคม 2019


  • เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศ ” แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Right: NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562 – 2565) ซึ่งถือเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ฉบับแรกในเอเซีย ที่มุ่งแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการประกอบธุรกิจ
  • ในระดับโลกไม่เฉพาะอุตสาหกรรมประมง เท่านั้นที่เผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทว่าในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคที่รุนแรงขึ้น พร้อมๆไปกับแรงกดดันที่เกิดจากนักลงทุนทั่วโลกต่อประเด็น  Non- Financial Performance Indicator
  • รายงานพิเศษ  “ธุรกิจกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน” (Business & Human Right Impact) โดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) พาไปสำรวจสถานการณ์   “ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ทั่วโลกและคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจไทย

เมื่อไม่นานมานี้ World Economic Forum  ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ “ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” โดยบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม World Economic Forum  ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งตั้งคำถามชวนคิดว่า “ทำไมบริษัทที่ไม่ได้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งแกร่งจึงมีความเสี่ยง” บทความดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม World Economic Forum ระบุว่า ปัจจุบันแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนในโลกเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ โดยพบว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการบันทึกถึงการโจมตีประชาชนและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนวนเกือบ 1,400 ครั้ง

ทำไมเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงสำคัญสำหรับธุรกิจในเวลานี้

ในรายงานการศึกษาดัชนีสถานการณ์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในระดับโลก: กรณีศึกษาสถานการณ์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารของ Corporate Human Rights Benchmark (CHRB) ปี 2018   ยังระบุด้วยว่า คะแนนโดยภาพรวมของ 100 บริษัทที่ดีที่สุดของโลกอยู่ที่ 25.5% จาก 100% สะท้อนว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน

โดยธุรกิจที่มีความอ่อนไหวในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจในโลก ได้แก่ โกโก้ น้ำมันปาล์ม กาแฟ น้ำตาล กุ้ง จากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า มีแรงงาน 1.3 พันล้านคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้พร้อมกันนี้ยังพบว่า มีแรงงานบังคับอย่างผิดกฎหมายสามารถสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกจำนวน 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ 5% ของแรงงานในฟาร์มสหรัฐอเมริกายังมีการค้ามนุษย์

“ในโลกสมัยใหม่ ประเด็นสิทธิมนุษยชน และความคาดหวังต่อธุรกิจในเรื่องนี้แตกต่างออกไปนางสาวสฤณี อาชวานันกุล กรรมการผู้จัดการด้านวิจัย บริษัท ป่าสาละ จำกัด ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ จากสายตานักวิชาการอิสระผู้ติดตามประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการงานวิจัยเรื่อง “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชน” โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นางสาวสฤณี อธิบายเพิ่มเติมว่า ในระดับสากลความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ปรากฏชัดเจนเป็นครั้งแรกใน “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” (UN Guidine Principles on Business and Human Rights) หรือ “หลักการชี้แนะ UNGP” ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2554 โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เป็นผลมาจากแรงกดดันต่างๆ ต่อภาคเอกชนที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายซึ่งเริ่มจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเภทหลายระดับ  ขณะที่ในเวลานั้นกลไกนานาชาติที่มีอยู่ในเวลานั้นไม่เพียงพอต่อการจัดการการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญ 2 ประการในการมอง “สิทธิมนุษยชน” ภายใต้หลักการชี้แนะ UNGP ได้แก่ ประการแรก ความคาดหวังให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นมากกว่าการทำตามกฎหมาย โดยต้องครอบคลุมประเด็นเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ จากเดิมที่ธุรกิจส่วนใหญ่อาจจะมองว่าสิทธิมนุษยชนจะถูกครอบคลุมจากการทำตามกฎหมาย ประการที่ 2 ความคาดหวังให้ธุรกิจรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งหมดมากกว่าการแค่รับผิดชอบเฉพาะองค์กร และซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น

“ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และห่วงโซ่อุปทานในโลกสมัยใหม่ ต้องยอมรับว่า กระแสที่เคยเกิดขึ้นในโลกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายครั้งมันเกิดในกระบวนการผลิต มันเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเวลาต้นน้ำที่อยู่ไกลตัวมากๆจากธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยีและลอจิสติกส์ ทำให้บางทีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น คนละประเทศ เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐบาลอาจไม่ได้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอยู่ข้างหลัง”

แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) บรรยายบทเรียน Seafood Task Force ในเวทีสหประชาชาติ

ดร.เนติธร ประดิษฐสาร กรรมการและรองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) กล่าวว่า แนวโน้มการเรียกร้องให้ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนเป็นแรงกดดันที่มาจากทุกๆด้านโดยเฉพาะผู้บริโภค ซึ่งในวันนี้ถ้าขนม เสื้อผ้า สินค้าใดก็ตามที่มาจากการใช้แรงงานเด็ก ผู้บริโภคจะไม่ซื้อ ขณะเดียวกันแรงกดดันจากผู้ลงทุน ต่อประเด็นที่เป็น Non- Financial Performance Indicator หรือ Social Performance Indicator  ก็มีมากขึ้นด้วย ซึ่งประเด็นสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในนั้น

“ ถ้าเราดูจะเห็นสัญญาณพวกนี้ได้ชัดเจน คำถามของ Dow Jones Sustainability Index คือ ดัชนีหลักทรัพย์ที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท หรือ DJSI ก็มีคำถามที่ใช้ประเมินองค์กรเป็นคำถามทางสังคมมากขึ้น รวมไปถึงการปล่อยเงินกู้ของธนาคาร ที่ปัจจุบันไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้แล้ว เพราะจะกลายเป็นว่าในที่สุดธนาคารจะถูกฟ้องร้อง เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับ HSBC ที่ถูกฟ้องร้องกรณีปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ดร.เนติธรกล่าว

กรณีปัญหาแรงงานทาสในประเทศไทยเป็นอีกตัวอย่างของแรงกดดันที่มาจากผู้บริโภค เริ่มต้นราวปี 2554 เมื่อสื่อระดับโลกอย่าง เดอะการ์เดียน ระบุว่า มีปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทย ในเวลานั้นผู้บริโภคทั้ง ส่งจดหมาย ส่งอีเมล์ และทวิตข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ไปต่อว่า “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ในสหราชอาณาจักรว่า ทำไมยังขายสินค้าจากประเทศที่มีปัญหาแรงงานทาส ในเวลาต่อมาประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีประเทศที่ถูกจับตาจากสหรัฐอเมริกา และถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในฐานะประเทศที่มีความเสี่ยงในการทำประมง ผิดกฎหมายและไร้ความควบคุม (IUU)

“แม้บริษัทจะบอกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่บริษัททำทั้งหมด แต่ถึงจะเล็กน้อย แต่เรื่องนี้สร้างผลกระทบทางความรู้สึกกับคนจำนวนมาก” นางสาวสฤณีให้ความเห็น

เทรนด์โลกกับการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ

บริษัทข้ามชาติและนักลงทุนออกมาเรียกร้องให้คุ้มครองเสรีภาพของพลเมืองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมผ่านแถลงการณ์ร่วมที่สำคัญของ The Business Network on Civic Freedoms and Human Rights Defenders

ในปี 2561 มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มถึงความเคลื่อนไหวที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ขององค์กรธุรกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างการที่บริษัทข้ามชาติและนักลงทุน 8 รายใหญ่ อาทิ  แองโกลอเมริกัน อาดิดาส ยูนิลีเวอร์ เอบีเอ็นแอมโร เครือข่ายนักลงทุนที่คำนึงด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ออกมาเรียกร้องให้คุ้มครองเสรีภาพของพลเมืองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมผ่านแถลงการณ์ร่วมที่สำคัญของ The Business Network on Civic Freedoms and Human Rights Defenders

ขณะที่บรรดาแบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาชื่อดังอย่าง อาดิดาสและไนกี้ ยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชายกเลิกข้อหาทางการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อ Tola Moeun นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและสนับสนุนเสรีภาพในการรวมตัวกัน  นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน และพนักงาน Google กว่า 1,400 คน ที่เรียกร้องให้ Google ยกเลิกการเปิดตัวเสิร์ชเอ็นจินในประเทศจีนที่จะถูกเซ็นเซอร์ ที่รู้จักกันในชื่อ “Project Dragonfly” ซึ่งในทรรศนะพวกเขาแล้วนั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้งาน

ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจและการลดความเสี่ยงด้วยกระบวนการเชิงรุก

ในยุคที่โซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆสามารถเผยแพร่ความกังวลและข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาการดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็ว แบรนด์ชั้นนำและบริษัทขนาดใหญ่ในโลก เริ่มกันมาใช้กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ( HRDD) ภายใต้หลักการชี้แนะ UNGP  ที่ช่วยบริษัทสามารถออกแบบและปรับปรุงกลยุทธ์ด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทในลักษณะเชิงรุกมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น เนสเล่ท์ ที่ร่วมมือกับสถาบันสิทธิมนุษยชนเดนมาร์ก ประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ปฏิบัติการ 7 ประเทศ โคคา-โคลา จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนห่วงโซ่อุปทานในประเทศโคลอมเบีย และกัวเตมาลา รวมไปถึง แบรนด์ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อย่าง อาดิดาส แก็ป เอช แอนด์ เอ็ม ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีอย่าง ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค ยูนิลีเวอร์ และภาคการเงินการธนาคาร อย่าง UBS ING Bank ที่ต่างใช้สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์เชิงรุกในการรับมือกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผลสำรวจจาก 152 บริษัทในงานวิจัยเรื่อง Exploring Human Right Due Diligence ที่จัดทำโดย The British Institute of International and Comparative Law ( BIICL) เมื่อปี 2559  พบว่า กว่าครึ่งของบริษัทที่สำรวจทำการตรวจสอบรอบด้านด้านสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า เหตุผลสำคัญของบริษัทที่ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน คือ เพื่อลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของบริษัทจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถนำไปสู่ผลกระทบทางธุรกิจของบริษัทได้ เมื่อเปรียบเทียบในประเภทอุตสาหกรรมและประเทศเดียวกัน และพบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ 74% มาจากกระบวนการดำเนินงานของบริษัท และเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ 3   ทั้งนี้บริษัทที่มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มักเป็นบริษัทที่เคยมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยเรื่อง  การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence พบว่า ความท้าทายหลักของธุรกิจไทยในประเด็นสิทธิมนุษยชนมีความคล้ายกัน โดยสิ่งที่ยังเป็นประเด็นคือ การไม่สามารถมองภาพที่ชัดเจนหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะมีข้อมูลแต่กับซัพพลายเออร์คู่สัญญาเท่านั้น แต่ข้อค้นพบในงานวิจัยของเราพบว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 3 (Tier3) ซึ่งไม่ได้มีข้อผูกมัดโดยตรง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานจึงยังเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

“ถ้ามองในเชิงธุรกิจ การทำเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยในแง่ของการขายสินค้าได้ แต่มันกลายเป็นบรรทัดฐาน กลายเป็นจริยธรรมสากล ว่าบริษัทต้องทุ่มเทเรื่องนี้ หมายถึงว่า ถ้าทำได้ ไม่ได้แปลว่าจะขายของได้เยอะขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำไม่ได้จะถูกเขาต่อว่าและไม่ซื้อสินค้า เมื่อมันกลายเป็น บรรทัดฐานในการทำธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทที่ค้าขายกับต่างประเทศ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ และการปรับตัวได้เร็วกว่าก็จะมีโอกาสและข้อได้เปรียบมากกว่าบริษัทที่ปรับตัวได้ช้ากว่า” นางสาวสฤณีกล่าว

ที่มา:

  • https://thaipublica.org/2019/02/food-retails-social-sustainability-forum-future-supply-chains-human-right-04/
  • https://www.weforum.org/agenda/2019/01/5-ways-businesses-can-back-up-human-rights-defenders/
  • http://www.salforest.com/knowledge/human-rights-due-diligence-2
  • https://www.business-humanrights.org/sites/default/files/Statement_Public_v2.pdf 
  • ข้อมูลจากรายงานพิเศษเรื่อง Business and Human Right Impact ของนิตยสาร UNITE Issue 02 โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) เครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ลำดับที่ 70 ของ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขององค์การสหประชาชาติ  สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.globalcompact-th.com