ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. ฟัน 63 คดีกลโกงออกเอกสารสิทธิไม่ชอบ ที่ดินรัฐถูกบุกรุกกว่าล้านไร่ ชง ครม.ใช้ยาแรง “จำกัดสิทธิถือครองที่ดิน-ยกเลิก ส.ค. 1-เข้มออกโฉนดพื้นที่ทองคำ”

ป.ป.ช. ฟัน 63 คดีกลโกงออกเอกสารสิทธิไม่ชอบ ที่ดินรัฐถูกบุกรุกกว่าล้านไร่ ชง ครม.ใช้ยาแรง “จำกัดสิทธิถือครองที่ดิน-ยกเลิก ส.ค. 1-เข้มออกโฉนดพื้นที่ทองคำ”

19 พฤษภาคม 2018


16 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ชอบไปแล้ว 63 คดี ไม่รับรวมเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. อีก 51 คดี โดยทั้งหมดมาจากพฤติกรรมการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กรมที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมการปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้รัฐได้รับความเสียหายมหาศาล

จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบของ ป.ป.ช. เพื่อศึกษา รวบรวม ข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ทั้งจากข้อเท็จจริง ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อกฎหมาย และคำพิพากษาของศาล และเป็นที่มาของผลการศึกษาเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ”

ผลการศึกษาดังกล่าว ระบุถึงพฤติการณ์ความผิดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็น “ตัวการ” และ “มือไม้” สำคัญในการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบหลากหลายรูปแบบ เช่น การเรียกรับเงินเพื่อออกเอกสารสิทธิ, การออกเอกสารสิทธิโดยสวมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น, การออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่สาธารณะ หรือที่ของบุคคลอื่น

การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ เช่น พื้นที่ภูเขา หรือ ที่ลาดชัน, การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ บังคับข่มขืนใจหรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้นำไปออกเอกสารสิทธิ, ออกโฉนดในที่ดินสาธารณประโยชน์แล้วนำไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว, นำโฉนดที่ดินที่อยู่ระหว่างรอแจกให้ราษฎรไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้อื่นโดยมิชอบ

นอกจากนี้ยังพบว่า เฉพาะในพื้นที่ติดทะเลทางภาคใต้ที่ที่ดินมีราคาสูงนั้น ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันกับการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิหลายคดี ทั้งการทุจริตการออก น.ส. 3 ก. 7 ฉบับในพื้นที่ ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมิชอบ, การร่วมกันออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 5264-5266 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตามโครงการ “เดอะพีค” (The Peak) โดยมิชอบ, ออก น.ส. 3 ก. ในที่ที่ไม่ได้ครองครองทำประโยชน์โดยนำ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาสวมออกในที่ภูเขา, ปลอมเอกสารโฉนดที่ดิน และออกหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินตามโฉนดที่ดินใน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

เปิดกรุที่ดินหน่วยงานรัฐ

320.7 ล้านไร่ คือพื้นที่ของประเทศไทย ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 คือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ 127 ล้านไร่ ที่เหลือร้อยละ 60 คือ ที่ดินของรัฐที่ประกอบไปด้วย ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินเขตปฏิรูป พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์คุ้มครอง และที่สาธารณะประโยชน์ แต่ในจำนวนดังกล่าว มีที่ดินถูกบุกรุกจำนวนมาก โดยหน่วยงานรัฐได้ส่งสถานการณ์การถูกบุกรุกที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบ พบว่า

กระทรวงมหาดไทย

ข้อมูลที่รวบรวมโดยส่วนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายใน สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุ มีที่สาธารณประโยชน์และที่รกร้างว่างเปล่าถูกบุกรุก จำนวน 11,953 แปลง เนื้อที่ 698,349 ไร่ ผู้บุกรุกกว่า 54,700 ราย

กรมส่งกำลังบำรุงทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

มีที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมกว่า 70,782 ไร่ ถูกบุกรุกในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย ต.ท่าเสา ไทรโยค กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ จำนวน 6,125 ไร่, ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่ดินประเภทป่าสงวนแห่งชาติ ถูกบุกรุกกว่า 988 ไร่, ต.ตากตก อ.บ้านตาก จ.ตาก ที่สาธารณประโยชน์ 260 ไร่, ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ดินประเภทป่าสงวนแห่งชาติ 61 ไร่, ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ราชพัสดุ จำนวน 2 ไร่, ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ดินประเภทป่าสงวนแห่งชาติ 8 ไร่, ต.ตาเบา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ 240 ไร่, และ ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา จ.นครนายก ที่ราชพัสดุ 400 ไร่

กรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ

ที่ดินที่อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ จำนวน 273,709 ไร่ แบ่งเป็น

ฐานทัพเรือกรุงเทพ มีที่ดินในความปกครอง 18 จังหวัด รวม 16,225 ไร่ ถูกบุกรุก 5,651 ไร่ ในพื้นที่ ต.โยทะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และ ต.บางสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ถูกบุกรุกรวม 5,334 ไร่, พื้นที่ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถูกบุกรุก 315 ไร่, พื้นที่บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (ซอยแบริ่ง) ถ.สุขุมวิท ต.สำโรงเหนือ อ.สมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ถูกบุกรุกเนื้อที่กว่า 1 ไร่

ฐานทัพเรือสัตหีบ มีที่ดินที่อยู่ในความปกครอง จำนวน 4 จังหวัด 244 แปลง ถูกบุกรุก 21 แปลง เช่น ใน จ.ชลบุรี มีที่ดินถูกบุกรุก 12 แปลง เช่น ที่ดินถนนเข้าท่าเรือทุ่งโปรง บ้านเตาถ่าน ต.สัตหีบ เนื้อที่ 1-1-66 ไร่, ที่ดินถนนเข้าท่าเรือทุ่งโปรง บ้านเตาถ่าน ต.สัตหีบ เนื้อที่ 7-3-24 ไร่, ที่ดินถนนเข้าท่าเรือทุ่งโปรง บ้านเตาถ่าน ต.สัตหีบ เนื้อที่ 11-2-33.5 ไร่ และที่ดินศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือบางพระ ต.บางพระ

จ.ระยอง ถูกบุกรุก 1 แปลง ที่ดินสนามยิงปืน บ้านเพ ต.เพ, จ.จันทบุรี มีปัญหาการบุกรุก 3 แปลง ประกอบด้วย ที่ดินสนามยิงปืนใหญ่ บ้านพังงอน บ้านไก่ดัก และบ้านทับไทร ต.โป่งน้ำร้อน ที่ดินสนามยิงปืนบ้านจันทเขลม บ้านคลองชัน ต.จันทเขลม และที่ดินเกาะจิกนอก ต.บางชัน

จ.ตราด มีปัญหาการบุกรุก 4 แปลง ประกอบด้วย ที่ดินสวนหลวง บ้านด่านเก่า ต.เกาะช้าง, ที่ดินที่ตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะช้าง ต.เกาะช้าง, ที่ดินบ้านคลองสน บ้านหาดทรายขาว ต.เกาะช้าง และที่ดินอ่าวคอเขาขาด ต.เกาะช้าง พื้นที่บริเวณคาบเกี่ยว จ.ชลบุรีและ จ.ระยอง มีปัญหาการบุกรุก จำนวน 1 แปลง คือ ที่ดินที่ตั้งกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 11 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและ รักษาฝัง ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ทัพเรือภาคที่ 2 มีที่ดินในความปกครอง 6 จังหวัด จำนวน 52 แปลง เนื้อที่รวม 8,896 ไร่ พบการบุกรุก 6 แปลง รวมเนื้อที่ ประมาณ 39 ไร่ ได้แก่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช 4 แปลง เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ของสำนักงานที่ดิน, พื้นที่บริเวณเขาหัวแดง ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา พบบุกรุก 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ อยู่ระหว่างการส่งคืนกรมธนารักษ์

ทัพเรือภาคที่ 3 การบุกรุกที่ดินในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ที่ยังเป็นปัญหาและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. ที่ดินที่ตั้งกระโจมไฟเกาะพยาม จ.ระนอง จำนวน 120 ไร่ โดยปัจจุบันกองทัพเรือได้แจ้งให้ กรมอุทกศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานใช้ประโยชน์ที่ดินดำเนินการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ที่ดินเกาะพยามใหม่ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข

2. ที่ดินเขาหน้ายักษ์ จ.พังงา เนื้อที่ 14-0-17.10 ไร่ ซึ่งกองทัพเรือภาคที่ 3 ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน ให้กับราษฎรในพื้นที่เขาหน้ายักษ์ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

3. ที่ดินที่ตั้งสถานีเรดาร์พื้นน้ำหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่งที่ 491 (เกาะหลีเป๊ะ) จ.สตูล เนื้อที่ 40-0-06 ไร่ ผลการตรวจมีการบุกรุก 4 ราย การดำเนินคดีกับผู้บุกรุก โดยศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว ทั้ง 4 ราย ไม่มีเจตนาบุกรุก แต่มิได้หมายความว่ามีสิทธิในที่ดินและอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินกับได้มีข้อตกลงกับราษฎรว่าจะไม่มีการบุกรุกหรือดำเนินการใดๆ

และ 4. ที่ดินที่ตั้งสถานีเรือละงู ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 อ.ละงู จ.สตูล อยู่ระหว่างการดำเนินการขอคืนพื้นที่ พื้นที่เกาะปินติ ที่มีการปลูกสร้างโรงเรือนในการทำยางพาราแผ่น

กรมธนารักษ์

การบุกรุกที่ราชพัสดุในปัจจุบัน จากข้อมูลการสำรวจผู้บุกรุกที่ราชพัสดุที่มีอยู่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2546 มีจำนวนผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ แยกเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ มีผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ จำนวน 122,558 ราย เนื้อที่ประมาณ 499,614 ไร่ โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการรับรองสิทธิการครอบครองโดยการจัดให้เช่าภายใต้โครงการ “รัฐเอื้อราษฎร์” เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2558 ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ได้รับรองสิทธิโดยการจัดให้เช่าแล้ว จำนวน 91,163 ราย เนื้อที่ประมาณ 259,147 ไร่

และ 2. กรณีโต้แย้งกรรมสิทธิ์ มีผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ จำนวน 124,593 ราย เนื้อที่ ประมาณ 1,131,251 ไร่ แก้ปัญหาด้วยการพิสูจน์สิทธิการครอบครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ได้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ โดยเชื่อว่าทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ จำนวน 3,386 ราย เนื้อที่ประมาณ 20,450 ไร่

กรมป่าไม้

ข้อมูลสถิติพื้นที่ป่าไม้มีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าจากร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 171 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้คงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 31.57 ของประเทศ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาที่ดินของรัฐตามกฎหมายในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล จำนวน 2,869,489.15 ไร่ แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ กว่า 1,000,000 ไร่ เป็นพื้นที่บุกรุกในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประมาณ 240,000 ไร่ โดยมีจำนวนคดีทั้งสิ้น 1,855 คดี แบ่งเป็นคดีตัดไม้ทำลายป่า 345 คดี และคดีบุกรุกพื้นที่จำนวน 1,502 คดี

การรถไฟแห่งประเทศไทย

ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีจำนวน 249,748.25 ไร่ โดยพบการบุกรุก 2 ประเภท คือ ผู้บุกรุกแบบชุมชนแออัด 3,846 ราย และผู้บุกรุกทั่วไป 17,397 ราย

ขณะที่หลายหน่วยงาน เช่น กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก, กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมเจ้าท่า ไม่ได้แจ้งข้อมูลมายัง ป.ป.ช. ตามคำร้องขอแต่อย่างใด

ชง ครม. จำกัดสิทธิถือครองที่ดิน-ยกเลิก ส.ค. 1

จากปมปัญหาเหล่านี้ทำให้ คณะอนุกรรมการฯ ของ ป.ป.ช. จึงจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ รวมทั้งเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อเสนอแนะมี 5 ด้านดังนี้

ด้านผู้มีอิทธิพลและผู้มีอำนาจแฝง

1. รัฐบาลต้องมีการใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้มีการจำกัดสิทธิของบุคคลในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา 34 ถึง มาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 มาบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งไม่มีผลกระทบกับบุคคลที่ถือครองที่ดินในปัจจุบัน

2. ให้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้ที่ใช้อิทธิพลในการออกเอกสารสิทธิ มีการลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย

3. ในพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งที่ดินมีราคาสูง เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงราย หรือจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน กรมที่ดินควรมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างเข้มงวด เป็นพิเศษ เพื่อให้การออกเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นไปโดยถูกต้อง

ด้านกฎหมาย

1. ให้ยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) โดยให้มีการแก้ไข มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้ผู้ที่มีหลักฐาน แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่อยู่ในการครอบครอง และที่กรมที่ดินยังมิได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินมายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อกรมที่ดินภายในระยะเวลา 180 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ตามหลักฐานแบบแจ้ง การครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้ได้ต่อเมื่อศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้นั้นได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ

ทั้งนี้ หากไม่นำหลักฐานแบบแจ้ง การครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่อยู่ในการครอบครองมายื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์ นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มาขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และให้ถือว่าเป็นการยกเลิกแบบแจ้ง การครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มาทำการพิสูจน์สิทธิเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว

2. เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ ในที่ดินโดยมิชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ ตามมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบโดยเคร่งครัด ถ้าไม่ปฏิบัติ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมีความผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

ด้านนโยบายและการบริหารราชการ

1. รัฐบาลควรกำหนดนโยบายการดำเนินการในเรื่องการออกเอกสารสิทธิที่ดินและการแก้ไข ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ชัดเจน โดยกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติที่แต่ละรัฐบาลเมื่อเข้ามาบริหาร ประเทศต้องดำเนินการตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ได้กำหนดไว้แล้ว

2. ให้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสารบบการบริหารงานที่ดินบนฐานข้อมูลเดียว และเผยแพร่ บนระบบอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศ (เว็บไซต์) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ได้แก่ กระบวนการออก เอกสารสิทธิในที่ดิน ข้อมูลเอกสารสิทธิในที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลการตรวจสอบการเพิกถอนแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลที่ดินของรัฐทุกประเภท แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น

3. ให้แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวล กฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยเพิ่มผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรับผิดชอบแนวเขตที่ดินของรัฐ เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จในการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลลงบนเว็บไซต์ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานดังกล่าวรับรองความถูกต้องของการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่มีผู้แทนของหน่วยงานนั้น เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน

4. ให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะล และชายฝั่งร่วมกันจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าไม้ เพื่อให้การปฏิบัติงาน ดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

1. ควรมีการเปิดเผยและเผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศทุกชั้นปีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไปยังสาธารณะ ยกเว้นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการลดภาระหน้าที่ในปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินลง

2. ควรมีการส่งเสริมให้มีการสร้างทัศนคติและปลูกจิตสำนึกให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากการทุจริต ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องสร้างระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านการทุจริต โดยปรับฐานความคิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม

3. ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดให้มีศูนย์ข้อมูลการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก

การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ

1. ให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐตามกฎหมายเร่งจัดทำแนวเขตที่ดิน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นปัจจุบัน โดยให้กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จที่แน่นอน

2. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ ทุกประเภทจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน พร้อมทั้งดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กรมที่ดินประสานงาน ดูแล เร่งรัด ควบคุม และติดตาม การดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ แต่ถ้าความปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดได้ต้องมีสภาพบังคับให้รายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยทันที ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานไปยังสาธารณะเป็นประจำทุกปี

3. ให้ปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ระดับจังหวัด ให้สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งโอนภารกิจ อำนาจ หน้าที่ สำนักแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา การบุกรุกที่ดินของรัฐได้อย่างแท้จริง

4. ให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐต้องรายงานผลการปฏิบัติงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นประจำทุกปีประกอบด้วย ความคืบหน้าในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และหากที่ดินของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหน่วยงานลดลง ต้องดำเนินการชี้แจง พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางป้องกันเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาโดยทันที พร้อมทั้งต้องรายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวไปยังสาธารณะเป็นประจำทุกปี

เปิด ม.34 กฎหมายที่ดินเก่า จำกัดสิทธิถือครองที่ดิน

หนึ่งในข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบของ ป.ป.ช. ที่เป็นเสมือน “ยาแรง” ในการจำกัดสิทธิการถือครองที่ดินของบุคคล ซึ่งนอกเหนือไปจากเป้าประสงค์ในการแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ และการบุกรุกที่ดินของรัฐแล้ว ยังเป็นการ “ลดการสะสม” ที่ดินของบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน คือ การให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 อย่างเคร่งครัด

ตามบทบัญญัติที่ระบุว่า “บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้าง ว่างเปล่าเกินกำหนดเวลา ดังนี้ 1. ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปีติดต่อกัน และ 2. ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกิน 5 ปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า โดยเมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐ

พร้อมทั้งให้นำบทบัญญัติในมาตรา 34 ถึง มาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 มาบังคับใช้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ไม่ให้มีผลกระทบกับบุคคลที่ถือครองที่ดินในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การถือครองที่ดินหลังการยกเลิกการใช้บทบัญญัติมาตราเหล่านี้ทำให้การถือครองที่ดินของบุคคลเป็นไปอย่าง “เสรี” โดย “นายทุน” จะเน้นการสะสมเพื่อเก็งกำไร หรือจับจองที่ดินเพื่อหวังประโยชน์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

สำหรับบทบัญญัติในมาตรา 34 บัญญัติว่า บุคคลจะมีสิทธิในที่ดินได้ ดังต่อไปนี้

    (1) ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่เกิน 50 ไร่
    (2) ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่
    (3) ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม ไม่เกิน 5 ไร่
    (4) ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ไม่เกิน 5 ไร่

มาตรา 35 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเขตที่ดินเช่นว่านี้ บุคคลจะได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือเพื่อการอุตสาหกรรมมิได้

มาตรา 36 การกำหนดสิทธิในที่ดินตามมาตรา 34 มิให้กระทบกระเทือนแก่ผู้มีสิทธิในที่ดินอยู่แล้วก่อนวันที่ ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และแก่ที่ดินดังต่อไปนี้ด้วย (1) ที่ดินของทบวงการเมือง องค์การของรัฐและสหกรณ์ (2) ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และวัดวาอาราม

มาตรา 37 ภายใต้บังคับมาตรา 39 และมาตรา 43 ถึงมาตรา 48 บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หรือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยแล้วแต่กรณี มีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนตามสิทธิที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 เป็นอันหมดสิทธิที่จะได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินอีกไม่ว่าในท้องที่ใด เว้นแต่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในที่ดินเดิมไปแล้ว ก็ให้มีสิทธิในที่ดินใหม่ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสิทธิในที่ดินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ทั้งนี้ ไม่ว่าการได้มานั้นจะเป็นโดยการซื้อขาย ให้ อายุความ หรือโดยวิธีอื่นได้ นอกจากกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา 729 หรือ 1308 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีรับมรดก

มาตรา 38 บุคคลใดมีที่ดินเกินกว่าสิทธิตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ต้อง (1) แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ว่าตนมีสิทธิในที่ดินประเภทใด เท่าใด ภายใน ระยะเวลาที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา การแจ้งให้ปฎิบัติตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (2) แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในขณะที่ทำนิติกรรม ในกรณีที่ข้อเท็จจริงแห่งสิทธิในที่ดินได้เปลี่ยนแปลงไป

มาตรา 39 ภายใต้บังคับมาตรา 36 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยบทบัญญัติมาตรา 729 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อประมวลกฎหมายนี้ได้ใช้บังคับแล้ว และที่ดินที่ได้มานั้นเมื่อรวมกับที่ดินที่บุคคลนั้นมีอยู่เดิมเกินจำนวนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 ให้จำหน่ายที่ดินส่วนที่เกินนั้นภายใน 7 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินนั้น ถ้าบุคคลนั้นไม่สามารถจำหน่ายที่ดินส่วนที่เกินนั้นได้ ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินส่วนที่เกิน นั้นแก่บุคคลอื่นได้

แม้จะเป็น “ยาแรง” แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ถูกชงเพื่อให้ ครม. นำไปพิจารณาเท่านั้น!!!