ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (1): ป.ป.ช. ชงศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกเงินสินบน-รางวัลกรมศุลฯ ชี้ประโยชน์ทับซ้อน ขัดหลักกฏหมาย

กรมศุลกากร (1): ป.ป.ช. ชงศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกเงินสินบน-รางวัลกรมศุลฯ ชี้ประโยชน์ทับซ้อน ขัดหลักกฏหมาย

30 สิงหาคม 2012


ป.ป.ช.จับมือ JFCCT ร่วมถกปัญหาเงินสินบนและรางวัลกรมศุลกากร
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จับมือ “JFCCT” จัดสัมมนา “ข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลกรมศุลกากร

ทุกๆ ครั้งที่มีการจัดลำดับว่าหน่วยงานใดที่มีการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด ชื่อของกรมศุลกากรมักจะติดอยู่ในลำดับต้นๆ และไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแสออกไปไล่จับบริษัท ห้างร้านเคราะห์ร้าย ทั้งที่มีเจตนา และไม่มีเจตนากระทำความผิด มาจ่ายค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมภาษีส่วนที่ชำระไม่ครบ โดยมีระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับในอัตราที่สูงถึง 55% ของค่าปรับ เป็นแรงจูงใจ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแส รับเงินสินบนและรางวัลไปกว่า 10,000 ล้านบาท ถึงแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ปรับปรุงบทลงโทษ โดยแยกฐานความผิดกรณีที่ไม่มีเจตนาออกจากความผิดฐานเลี่ยงภาษี ซึ่งมีโทษปรับ 4 เท่า จำคุก 10 ปี หรือ ทั้งจำและปรับ รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสินบนและรางวัลใหม่ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยได้เงินรางวัล 25% ของค่าปรับ ลดลงเหลือ 15% และจ่ายสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี ส่วนผู้แจ้งเบาะแส หรือ “สายสืบ” ยังได้รับเงินสินบน 30% เหมือนเดิม แต่จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคดี

แต่ทว่า เวลาผ่านมา 2 ปี กระบวนการแก้ไขกฎหมายศุลกากรวันนี้ยังไปไม่ถึงไหน ทุกอย่างเหมือนเดิม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ (Joint Foreign Chamber of Commerce in Thailand : JFCCT) จัดสัมมนา “ข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร” โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนหอการค้าต่างประเทศ 30 ประเทศ ที่เสนอแนะต่อรัฐบาล

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนช่วง 3 ปีก่อน คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไปหามาตรการป้องการการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบน และรางวัลของกรมศุลกากร เนื่องจากกฎหมายศุลกากรมีความซับซ้อน จึงไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาศึกษา จากนั้นก็นำผลการศึกษาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลฯ ถึง 3 ครั้ง

สรุปว่า ควรยกเลิกระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับของกรมศุลกากร เพราะไปขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) จึงนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.

“ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น กล่าวคือ กรณีอธิบดีกรมศุลฯ เป็นผู้ออกระเบียบการจัดสรรเงินสินบนและรางวัลให้กับตนเอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบและปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษี ถือว่าขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ควรให้แรงจูงใจมากเกินไป ซึ่งอาจจะมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในลักษณะที่จะทำให้ตัวเองได้รับประโยชน์” นายภักดีกล่าว

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.
นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.

นายภักดีกล่าวต่อไปอีกว่า ในเดือนกรกฎาคม 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ 2 ด้าน คือ

1. ขอให้ผู้ตรวจการรัฐสภาทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีกฎหมายกรมศุลกากรมอบอำนาจให้อธิบดีกรมศุลฯ เป็นผู้จัดสรรเงินรางวัลให้กับตนเองและเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

กรณีเจ้าหน้าที่จับเองได้เงินรางวัล 30% หากมีคนมาชี้เบาะแสจ่ายต้องจ่ายเงินค่าสินบนให้สายสืบอีก 25% รวมแล้ว 55% ตรงนี้อาจจะเป็นแรงจูงใจให้มีการสร้างหลักฐานเท็จว่ามีคนมาให้เบาะแส หรือ”สายเทียม” เพื่อให้ได้รับส่วนแบ่งมากยิ่งขึ้นไปอีก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรให้ยกเลิกระบบการจ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับไปเลย

“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วมีผลประโยชน์ขัดแย้งจริง จะมีผลทำให้ระบบการจ่ายเงินสินบน-รางวัลจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ กฎหมายศุลกากรก็จะไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขกฎหมายศุลกากรใหม่” นายภักดีกล่าว

2. ในระหว่างที่ผู้ตรวจการรัฐสภากำลังทำเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คงต้องใช้เวลา ป.ป.ช. ได้ทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มีการปรับลดสัดส่วนเงินสินบนและรางวัลลง จากอัตรา 55% เหลือ 15% ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด รวมทั้งกำหนดเพดานในการจ่ายสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี มาตรการนี้กรมศุลกากรสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะอยู่ในขอบเขตอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากร

นอกจากนี้ยังแนะนำให้กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ส่งตัวแทนเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ คณะกรรมการจัดสรรเงินสินบนรางวัล ไม่ควรปล่อยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากรโดยลำพัง

นี่คือมาตรการชั่วคราวที่ ป.ป.ช. เสนอรัฐบาล