ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดเส้นทางเงินพันล้าน “อุทยานราชภักดิ์” พบ ทบ. โชว์รายการใช้จ่ายไม่ถึงครึ่ง – มีชื่อผู้บริจาค 468 ล้านบาท

เปิดเส้นทางเงินพันล้าน “อุทยานราชภักดิ์” พบ ทบ. โชว์รายการใช้จ่ายไม่ถึงครึ่ง – มีชื่อผู้บริจาค 468 ล้านบาท

26 พฤศจิกายน 2015


รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับคำถามจากสังคมเรื่องการจัดการความไม่โปร่งใสในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/190815-j1.html
รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับคำถามจากสังคมเรื่องการจัดการความไม่โปร่งใสในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/190815-j1.html

คำชี้แจงของ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต่อโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ไม่เพียงไม่ทำให้ข้อสงสัยหมดไป ยังทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ ตามมามากมาย ทั้ง

  • เหตุใดถึงไม่เปิดเผยยอดเงินบริจาค ทั้งที่ให้ผ่านกองทุนสวัสดิการกองทัพบกและผ่านมูลนิธิราชภักดิ์ และเงินที่ใช้จ่ายไปแล้วทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใด
  • ตลอด 7 วันในการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มี พล.อ. วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล เป็นประธาน ได้ตรวจสอบปัญหาการทุจริตด้วยหรือไม่ ถ้าตรวจสอบ แล้วเหตุใด ผบ.ทบ. ถึงโยนให้ไปถามเรื่องหัวคิวหล่อพระบรมรูป จาก พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. เอง อยู่อีก
  • จริงหรือที่เมื่อกองทัพบก (ทบ.) ตรวจสอบโครงการภายในกันเองแล้ว องค์กรอิสระอื่นอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะไม่มีสิทธิเข้ามาตรวจสอบ

รัฐบาลเองก็เหมือนจะรับรู้ว่าคำชี้แจงของ ผบ.ทบ. ไม่สามารถเคลียร์ข้อเคลือบแคลงต่อการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ให้หมดไป พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเตรียมที่จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกชุด

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พยายามรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “ตัวเงิน” ทั้งยอดเงินบริจาคและการใช้จ่าย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกตรวจสอบ จนเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในปัจจุบัน ก่อนพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ได้ครบถ้วน เพราะไม่เพียงข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างกระจัดกระจาย บางข้อมูลยังไม่มีการเปิดเผย หรือบางข้อมูลที่เคยมีการเปิดเผยก็อันตรธานไปเป็นที่เรียบร้อย

กำเนิด “อุทยานราชภักดิ์”

อุทยานราชภักดิ์ เป็นโครงการที่ผลักดันโดย พล.อ. อุดมเดช สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. สร้างขึ้นบนที่ดินของ ทบ. ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก บริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บนเนื้อที่ 222 ไร่เศษ มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. พระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ 2. ลานอเนกประสงค์ และ 3. อาคารพิพิธภัณฑ์

– ระยะเวลาในก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 7 พระองค์และลานอเนกประสงค์ ใช้เวลา 10 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 – สิงหาคม 2558 ช่วงที่ 2 ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นไป

– เดิมมีชื่อว่า “อุทยานประวัติศาสตร์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” ได้รับการเปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 27 มีนาคม 2558 หลังจาก พล.อ. อุดมเดช ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบว่าจะมีการจัดสร้าง โดยหากมีความจำเป็นอาจจะของบประมาณจากที่ประชุม ครม.

– ชื่อ “อุทยานราชภักดิ์” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 ก่อนที่ พล.อ. อุดมเดช จะจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้อย่างยิ่งใหญ่ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)

– พล.อ. อุดมเดช เป็นผู้เปิดเผยว่า โครงการนี้น่าจะใช้เงินราว 700-800 ล้านบาท ก่อนจะบอกในเวลาต่อมาว่าอาจต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีก 200-300 ล้านบาท โดยสรุปคือโครงการนี้น่าจะใช้เงินราว 1,000 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ. ธีรชัย ก็ยอมรับว่าตัวเลขอยู่ที่ประมาณนี้

– เงินบริจาคทั้งหมดในช่วงแรกจะเป็นการรับตรงเข้าสู่ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ธนาคารทหารไทย สาขา บก.ทบ. บัญชีกระแสรายวัน หมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ก่อนที่ต่อมา ทบ. จะลงนามใน MOU ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีก 5 แห่ง และร้านสะดวกซื้อในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ให้เป็นอีกช่องทางในการรับบริจาค

มูลนิธิราชภักดิ์ จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 โดยมี พล.อ. อุดมเดช เป็นประธาน

– เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2558 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานราชภักดิ์

พล.อ. อุดมเดช ให้เหตุผลถึงการจัดสร้างอุทยานแห่งนี้ ไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวที่ บก.ทบ. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ว่า (ดูคลิปด้านบน ระหว่างนาทีที่ 04.55 – นาทีที่ 06.30) วัตถุประสงค์ของการสร้างอุทยานราชภักดิ์มีหลักๆ อยู่ 3 ประการ

  1. เป็นวัตถุประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ในทุกยุคทุกสมัย ให้ทุกคนได้ระลึกถึงคุณงามความดีและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
  2. สถานที่แห่งนี้ เราจะใช้ประกอบพิธีการไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการของ ทบ. เอง หรือส่วนราชการอื่น หรือภาคเอกชนเองก็ตาม เพราะมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร
  3. เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจะสามารถเรียนรู้ได้จากห้องพระราชประวัติ ที่จะร้อยเรียงความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นสยามประเทศ

(คลิปเดิม ระหว่างนาทีที่ 01.36 – นาทีที่ 03.23) “พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศชาติของเรา แต่ละพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพ มีพระปรีชาสามารถ ไม่ว่าจะเรื่องของการนำทัพในการรบ หรือในยามสงบก็ตาม พระมหากษัตริย์ของเราในทุกยุคทุกสมัยนั้นได้เสียสละความสุขส่วนพระองค์ และดูแลประชาราษฎร์มาอย่างดีที่สุด จนพวกเราทุกคนได้มาอยู่บนผืนแผ่นดินที่มีความเจริญและสงบจนถึงทุกวันนี้ … ทบ. ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของเราในทุกยุคทุกสมัย จึงได้คิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะก่อสร้างสถานที่ที่เป็นที่ระลึกของปวงชนชาวไทยต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ จึงได้กำหนดให้มีการก่อสร้างเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้น”

เส้นทางการเงินอุทยานราชภักดิ์1แก้

เงินมาจากไหน

ผู้เกี่ยวข้องในกองทัพและบุคคลสำคัญในรัฐบาลต่างยืนยันตรงกันว่า เงินที่ใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็น “เงินบริจาค” ไม่ใช่งบประมาณของภาครัฐ หรือ “เงินหลวง” แต่จากข่าวที่ปรากฏ ก็พบว่า การเบิกจ่ายเงินบางส่วนในโครงการนี้ยังทำโดยหน่วยงานภายใต้ ทบ. เช่น กรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) กรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) เป็นต้น

จากการตรวจสอบข้อมูลที่มีการเปิดเผยทั้งผ่านเว็บไซต์ของ ทบ. และหน่วยงานใต้สังกัด, เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และข้อมูลเปิดเผยจากแหล่งอื่นๆ อาทิ จากสื่อมวลชน พบว่า ยอดบริจาคให้กับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่สามารถตรวจสอบได้มี อย่างน้อย 468 ล้านบาท

โดยจะอนุมานว่าการบริจาคเงินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 กันยายน 2558 (วันจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิราชภักดิ์” อย่างเป็นทางการ) จะถูกส่งเข้าบัญชีของ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ทั้งหมด แบ่งเป็น

1. ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ ทบ. และหน่วยงานใต้สังกัด กว่า 292 ล้านบาท

1.1 ภาพการรับบริจาคของ พล.อ. อุดมเดช จากบริษัทเอกชน ในงานแถลงเปิดตัวการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ที่ บก.ทบ.

  • บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 100 ล้าน
  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ 80 ล้าน
  • บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 44.5 ล้าน
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 30 ล้าน
  • (ชื่อไม่ชัดเจน) 25 ล้าน
  • บริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง (ชื่อไม่ชัดเจน) … ล้านบาท
  • บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 11.8 ล้านบาท

1.2 ข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของ ทบ. และหน่วยงานใต้สังกัด

  • การไฟฟ้านครหลวง 1 ล้านบาท

2. ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 มีรายชื่อผู้บริจาครวม 1,288 ราย รวมเป็นเงิน กว่า 55 ล้านบาท

3. จากการระดมทุนผ่านงาน “ราชภักดิ์ Bike and Concert แทนคุณแผ่นดิน” กว่า 80 ล้านบาท

4. ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะหน้าข่าวประชาสัมพันธ์ กว่า 41 ล้านบาท

  • บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 30 ล้านบาท
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 5 ล้านบาท
  • สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่องเจ็ด 2 ล้านบาท
  • เงินจาการจัดงานการกุศลของผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2.2 ล้านบาท
  • บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 1 ล้านบาท
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3 แสนบาท
  • บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2 แสนบาท
  • บริษัท โพลีพลัส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 1 แสนบาท
  • บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 1 แสนบาท
  • การไฟฟ้านครหลวง 1 แสนบาท

ขณะที่เงินบริจาคที่ให้ผ่านมูลนิธิราชภักดิ์ ยังไม่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ แม้ พล.อ. ธีรชัย จะปฏิเสธให้ข้อมูลเรื่องยอดเงินบริจาคทั้งหมด แต่ได้บอกว่า ยังมีเงินบริจาคที่อยู่ในกองทุนสวัสดิการ ทบ. เหลืออยู่ราว 33 ล้านบาท ส่วนมูลนิธิราชภักดิ์ เหลืออยู่ราว 100-120 ล้านบาท

(ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงข้อมูลใหม่ ที่ค้นพบโดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งระบุว่า มีการใช้ “งบกลาง” กว่า 63 ล้านบาท ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งค้านกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งในรัฐบาลและ ทบ. พยายามอ้างมาตลอดว่าใช้แค่ “เงินบริจาค”)

ชการช่างบริจาค100ล้าน
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเอกชนที่บริจาคเงินเพื่อใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์สูงสุด เป็นเงิน 100 ล้านบาท ที่มาภาพ: http://www.rta.mi.th/rtaweb/activity/page58/140/index.html (ปัจจุบัน ลิงก์นี้ไม่สามารถเข้าดูได้แล้ว)

การใช้จ่ายกับความโปร่งใส

จากการเปิดเผยของ พล.อ. อุดมเดช ยอดเงินที่จะใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์จะอยู่ที่ราว 800-1,000 ล้านบาท แต่ถึงปัจจุบัน ข้อมูลเรื่องการใช้จ่ายเงินบริจาคเพื่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่มีการเปิดเผยอย่างละเอียดมีเพียงค่าใช้จ่ายในการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ซึ่ง พล.อ. ธีรชัย เปิดเผยว่า อยู่ที่องค์ละ 41-45 ล้านบาท หรือมียอดรวมระหว่าง 287-315 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.)

รายการใช้จ่ายอื่นๆ แม้ผู้เกี่ยวข้องจะระบุว่า “ยินดีเปิดเผย…พร้อมรับการตรวจสอบ” แต่ก็ไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบในเว็บไซต์ของ ทบ. และหน่วยงานใต้สังกัด ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 กำหนดให้ต้องเปิดเผยรายการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดรวมถึงการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซต์) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบดูได้ รวมถึงได้เดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ ทบ. ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารสำนักงานเลขานุการกองทัพบก (สลก.ทบ.) เพื่อขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามตรวจสอบโดยใช้ 2 วิธีการดังกล่าว ก็ยังพบโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เพียง 5 โครงการ รวมทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยกรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) ประกอบด้วย

  • งานปูหินลานสักการะ บันได และลานชั้นบนรอบแท่นพระบรมรูป วงเงิน 34.9 ล้านบาท
  • งานสร้างรั้วบริเวณภายในและภายนอกอุทยานราชภักดิ์ (2 โครงการ) รวมวงเงิน 20.2 ล้านบาท
  • งานติดตั้งหินอ่อนรอบแท่นพระบรมรูป วงเงิน 11.9 ล้านบาท
  • งานสร้างป้ายทางเข้าและอาคารรักษาความปลอดภัย วงเงิน 7.2 ล้านบาท

เมื่อรวมวงเงินการใช้จ่ายทั้ง 2 รายการ ตั้งแต่การหล่อพระบรมรูปฯ (ซึ่งตามาข่าวระบุว่า ดำเนินการโดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก) การปูลานหิน การสร้างรั้ว การติดตั้งหินอ่อน มาจนถึงการสร้างป้ายทางเข้าและอาคาร รปภ. พบว่ายังมียอดรวมแค่ กว่า 361.2-389.2 ล้านบาท เท่านั้น ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่ พล.อ. อุดมเดช ระบุว่าจะใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด แสดงว่ายังมีการใช้จ่ายบางรายการที่ “ยังตรวจสอบไม่พบ” ผู้สื่อข่าวจึงใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ยื่นขอข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ ทบ. ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการดำเนินการ

การรับเงินบริจาคและใช้จ่ายเงินเพื่อจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เกิดข้อสงสัยมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณาจากข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน ข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากทีมสืบสวนสอบสวน (ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ขยายผลมาจากการสืบสวนสอบสวนคดีที่กล่าวหาว่า นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอดูหยอง กับพวก แอบอ้างเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 โดยมีข้อสงสัย เช่น

  • โต๊ะจีนรับบริจาคในกิจกรรม “ราชภักดิ์ Bike and Concert แทนคุณแผ่นดิน” มีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท
  • ต้นปาล์มที่นำมาปลูกบริเวณอุทยานราชภักดิ์มีราคาสูงเกินจริงถึงต้นละ 1 แสนบาท ทั้งที่ได้รับบริจาคมาฟรีจากสวนนงนุช (กรณีนี้ พล.อ. ธีรชัย ชี้แจงแล้ว)
  • ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์บางรายถูกออกหมายจับ โดยศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับ พล.ต. สุชาติ พรมใหม่ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. ซึ่งเคยเป็นกรรมการอำนวยการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ พ.อ. คชาชาต บุญดี อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 คนสนิทกับ พล.ต. สุชาติ ในข้อหากระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 (สื่อมวลชนสายทหารระบุว่า ทั้ง พล.ต. สุชาติและ พ.อ. คชาชาต มีความใกล้ชิดกับ พล.อ. อุดมเดช) ขณะที่เว็บไซต์หนังสือไทยรัฐรายงานว่า ทีมสอบสวนของ สตช. อยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องการจัดทำเสื้อที่ระลึกในงาน “ราชภักดิ์ Bike and Concert แทนคุณแผ่นดิน” ที่ พ.อ. คชาชาต เป็นผู้รับผิดชอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่
จากซ้ายไปขวา พ.อ คชาชาต บุญดี และ พล.ต. สุชาติ พรมใหม่ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1002453916479733&set=a.440635312661599.102230.100001454030105&type=3&theater
(จากซ้ายไปขวา) พ.อ คชาชาต บุญดี อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 และ พล.ต. สุชาติ พรมใหม่ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 2 นายทหารซึ่งสื่อมวลชนสายทหารระบุว่ามีความใกล้ชิดกับ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1002453916479733&set=a.440635312661599.102230.100001454030105&type=3&theater

แต่กรณีที่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจังมากคือกรณีการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ไทยที่ทีมสืบสวนสอบสวนของ สตช. อ้างว่า มีการหักหัวคิวเกิดขึ้น โดยตัวละครสำคัญที่ทีมสืบสวนสอบสวนของ สตช. กำลังตรวจสอบ คือ เซียนพระ ชื่อเล่นอักษรย่อ “อ.อ่าง” มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

1. พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง หล่อโดย บริษัท ช.ประติมากรรม อินดัสตรี จำกัด ตั้งอยู่ที่ 30/3 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.เมือง จ.นครปฐม วงเงิน 43 ล้านบาท เซียนพระหักหัวคิว 10%

2. พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร หล่อโดย บริษัท เอเชีย ไฟน์อาร์ท จำกัด เลขที่ 59/1 ต.บ้านม้า อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงินยังไม่แน่ชัด ไม่มีการหักหัวคิว

3. สมเด็จพระนารายณ์ หล่อโดยบริษัท ร็อคคลา ไฟน์ อาร์ท จำกัด เลขที่ 143 หมู่ 12 ต.ท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เซียนพระหักหัวคิว 10%

4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน หล่อโดย หจก.ประติมาไฟน์อาร์ท เลขที่ 89 หมู่ที่ 12 กม.58 ถนนกาญจนาภิเษก ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี วงเงิน 44 ล้านบาท เซียนพระหักหัวคิว 10%

5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หล่อโดย บริษัท พุทธปฏิมา พรหมรังสี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 52/25 ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา กทม. วงเงิน 43 ล้านบาท เซียนพระหัวคิว 4.7 ล้านบาท

6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อโดย บริษัท เอเชีย ไฟน์อาร์ท จำกัด เลขที่ 59/1 ต.บ้านม้า อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงินยังไม่แน่ชัด ไม่มีการหักหัวคิว

7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อโดย บริษัท โผนประติมากรรมสากล จำกัด วงเงิน 42 ล้านบาท หักหัวคิว 8 ล้านบาท

โดย พล.อ. อุดมเดช ได้ชี้แจงถึงกระแสข่าวเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้มีส่วนความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะตนคิดว่าทุกวงการก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่พอเราทราบว่าน่าจะมีเราก็เข้าไปดำเนินการ โรงหล่อต่างๆ ก็มีความเข้าใจ คนที่สอดแทรกมาก็เป็นการแอบอ้าง แต่ทุกอย่างยุติลงด้วยดี สิ่งที่โรงหล่อต่างๆ อาจจะถูกหลอก โรงหล่อต่างๆ เองก็ไม่อยากให้เกิดอะไรเสียหาย เขาจึงมีการบริจาคโดยสมัครใจส่วนหนึ่ง อีกบางส่วนโรงหล่อก็นำไปใช้ในการทำองค์พระให้สมบูรณ์ ทุกอย่างจบเสร็จด้วยความเรียบร้อย สะอาด บริสุทธิ์ทุกขั้นตอน”

ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า มูลค่าหัวคิวที่เซียนพระหักไปจากการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ไทย รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท แต่ผู้เกี่ยวข้องได้เรียกเซียนพระมาพูดคุยที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ก่อนที่เซียนพระจะยอมคืนเงินค่าหัวคิวโดยบริจาคเข้ามูลนิธิราชภักดิ์ และได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เซียนพระรายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังอาศัยอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ถึงกระแสข่าวความไม่โปร่งใสในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้เรื่องเงียบที่สุด

ทั้งหมดทั้งปวง คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้