ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยติดทอป 30 โลกประเทศที่สะดวกต่อการประกอบธุรกิจ – ปฏิรูปกฎระเบียบสูงสุดเป็นอันดับ 2 – กพร. ตั้งเป้าลดระยะเวลาดำเนินการลง 50%

ไทยติดทอป 30 โลกประเทศที่สะดวกต่อการประกอบธุรกิจ – ปฏิรูปกฎระเบียบสูงสุดเป็นอันดับ 2 – กพร. ตั้งเป้าลดระยะเวลาดำเนินการลง 50%

1 พฤศจิกายน 2018


การประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลจากทีมวิจัยของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรับฟังการประกาศผลการจัดอันดับความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย ชั้น 30 อาคารสยามพิวรรธน์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ร่วมกับธนาคารโลก จัดประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (teleconference) จากทีมวิจัยของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับฟังการประกาศผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2019) โดยมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร., จอร์เจียร์ วาเลน รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมแถลงผลการวิจัย Doing Business 2019

เอกสารข่าวธนาคารโลกเผยแพร่เช้าวันนี้ระบุว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นทำงานเพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการประกอบธุรกิจด้วยการปฏิรูปกฎระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมอีกสี่ด้าน มีผลต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

  • เปิดรายงาน Doing Business 2019 ธนาคารโลก – ไทยอันดับหล่นมาที่ 27- การขอใช้ไฟ-การชำระภาษีอันดับดีขึ้น

    ปฏิรูปกฎระเบียบสูงสุดอันดับ 2

    การที่ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎระเบียบตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างประเทศไทยกับแนวปฏิบัติที่ดีเลิศของโลก ทำให้คะแนนจาก Doing Business ปีนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการก้าวสู่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของโลกด้วยคะแนน 78.45 เพิ่มจากปีที่แล้วที่ได้คะแนน 77.39

    “ประเทศไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนไทยได้มีงานที่ดีขึ้น และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ธนาคารโลกจะยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการนำแนวปฏิบัติที่ดีเลิศมาปรับใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศไทยยังคงสามารถพัฒนาต่อไปอีกได้” มารา วาร์วิก ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าว

    ในปีนี้ ประเทศไทยได้ทำการปฏิรูปด้านกฎระเบียบสูงสุดเป็นอันดับสอง นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ Doing Business เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จทั้งสี่ด้าน ได้แก่

      1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลดลงเนื่องจากการนำอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจแบบอัตราคงที่มาใช้
      2) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับลดขั้นตอนการดำเนินการขอเชื่อมไฟฟ้า และการเพิ่มความโปร่งใสในการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมไฟฟ้า
      3) ด้านการชำระภาษี มีการปรับปรุงระบบการคำนวณและยื่นแบบภาษีรายได้นิติบุคคลทางระบบออนไลน์
      และ 4) ด้านการค้าระหว่างประเทศ มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-matching system) มาใช้ในการควบคุมตู้สินค้า ซึ่งส่งผลต่อการลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าข้ามแดน

    Doing Business 2019 พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำการปฏิรูปกฎระเบียบมากเป็นประวัติการณ์ตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ทำการปฏิรูปด้านการขอใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดโดยได้รับคะแนนถึง 98.57 คะแนน ใกล้เคียงกับแนวปฏิบัติที่ดีเลิศของโลก นอกจากนี้ รายงานยังพบว่าตัวชี้วัดด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลายเป็นประเด็นที่ท้าทายประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยได้คะแนนในด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลายเพิ่มขึ้นจาก 75.64 ในปีที่ผ่านมาเป็น 76.64 ในปีนี้

    ประเทศไทยมีการปฏิรูปในหลายด้านแต่อันดับปีนี้อยู่ที่ 27 จาก 26 ในปีก่อน เนื่องจากมีหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงความสะดวกของการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศเช่นเดียวกัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินธุรกิจในไทยยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

    สำหรับอันดับด้านการได้รับสินเชื่อของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่อันดับ 44 นั้น การประเมินเน้นไปที่แนวปฏิบัติ โดยพบว่าในด้านหลักประกันสินเชื่อยังจำกัดอยู่ที่บางประเภทของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ไม่ได้ครอบคลุมถึงเจ้าหนี้ประเภทอื่น

    จอร์เจียร์ วาเลน กล่าวว่า ความสะดวกในการประกอบธุรกิจของไทยในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการปฏิรูปต่อเนื่อง รวมทั้งความริเริ่มของประเทศไทยในด้านนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในด้านระบบงานภาครัฐ ระบบการชำระเงิน ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงได้รับการตอบสนองจากผู้มีส่วนได้เสีย เพราะกระบวนการที่มีความรวดเร็ว ความสะดวก จะทำให้ประเทศคงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้

    การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความคืบหน้าและยกระดับให้ใกล้เคียงกับแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยมของระดับสากล จะช่วยส่งเสริมด้านกฎระเบียบสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

    “รายงาน Doing Business เป็นหนึ่งในหลายเครื่องมือในการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงความยั่งยืน และรายงานเป็นการช่วยให้มีการถกเถียงหารือเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเราหวังว่าจะมีการดำเนินการต่อเนื่อง”

    ไทยอยู่ในกลุ่มทอป 30 ของโลก

    นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ปี 2019 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก โดยอยู่ในอันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก แต่ได้ EASE OF DOING BUSINESS SCORE (EODB) รวมทุกด้าน 78.45 เป็นผลจากการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใช้ไฟฟ้า การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ

    “หน่วยงานที่หลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการปรับปรุงบริการของหน่วยงานต่างๆ ยังคงเร่งผลักดันการดำเนินการต่อไปเพื่อให้บริการภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง” นายปกรณ์กล่าว

    ค่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นส่งสัญญาณที่ดีในการปฏิรูปการบริการภาครัฐว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปและนโยบายของรัฐบาลในการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในปี 2018 ประเทศไทยได้มีปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างก้าวกระโดดจนอันดับขยับขึ้นถึง 20 อันดับ

    การปฏิรูปการบริการภาครัฐที่สำคัญที่ทำให้การประกอบธุรกิจในประเทศไทยง่ายขึ้นมี 4 ด้าน คือ ด้านเริ่มต้นธุรกิจ ได้ปรับปรุงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทจำกัดใหม่เป็นแบบอัตราคงที่ (flat rate) ในอัตราเดียว คือ 5,500 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียค่าธรรมเนียมถูกลง ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ที่ปรับกระบวนการในการเสนอและพิจารณาค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ให้สามารถเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงอัตราค่า Ft แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการชำระเงิน ส่งผลให้ค่าดัชนีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลสูงขึ้น

    ด้านการชำระภาษี ลดระยะเวลาที่ใช้ในการยื่นภาษีนิติบุคคลลง จาก 156 ชั่วโมง เหลือ 123 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาโปรแกรม spreadsheet สำหรับช่วยคำนวณรายการรายจ่ายทางภาษีสำหรับนิติบุคคล ที่ยื่น ภ.ง.ด. 50 ทั่วประเทศ ให้ง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น

    ด้านการค้าระหว่างประเทศเปิดให้บริการระบบการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (national single window: NSW) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสารการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการส่งออกสินค้าผ่านแดนในภาพรวม

    ยึด พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาดำเนินการลง 50%

    การดำเนินต่อไปเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาระบบดิจิทัลภาครัฐที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (digital transformation) และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบบริการภาครัฐตลอดห่วงโซ่อุปทาน (fully implementation) พัฒนาระบบให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ใช้ง่ายขึ้น ใช้เอกสารน้อยลงมีความเสถียร และมั่นคงปลอดภัย พร้อมทั้งมีกฎระเบียบที่ส่งเสริมการใช้ มีความน่าเชื่อถือ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านช่องทางดังกล่าวถูกลงกว่าการดำเนินการในช่องทางปกติ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายและกระบวนงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด การบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่างพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

    นายปกรณ์กล่าวว่า หลักการประเมินความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลกมีด้วยกัน 4 ด้าน คือ ด้านกระบวนการดำเนินการ ด้านระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ ด้านค่าใช้จ่าย และด้านกฎระเบียบ ซึ่งมีผลต่อความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ

    ในปีนี้ธนาคารโลกได้เปลี่ยนจากการให้คะแนนแบบ distance to frontier: DTF หรือคะแนนเป้าหมาย มาเป็นคะแนนความยากง่าย ซึ่งสะท้อนการจัดอันดับที่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ประเทศที่ได้คะแนนที่ดีที่สุดและประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดก็จะรู้ว่าควรจะปรับตรงจุดไหน

    นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. (ขวา) จอรเจียร์ วาเลน รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (ซ้าย)

    “อันดับประเทศไทยปีนี้ได้อันดับ 27 จาก 190 ประเทศ แต่ไม่ได้แสดงถึงผลที่ตรงอย่างเดียว สิ่งที่ ก.พ.ร. และรัฐบาลอยากให้พิจารณาโดยรายละเอียดถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้น ปีนี้เราได้คะแนน EODB สูงขึ้นเป็น 78.45 คะแนน และมี 4 ด้านที่คะแนนสูงขึ้น คือ การเริ่มประกอบธุรกิจ ที่ใช้ค่าธรรมเนียมแบบคงที่จากที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สามารถทำให้ภาคธุรกิจคำนวณต้นทุนการเริ่มต้นธุรกิจและระยะเวลาของการเริ่มต้นได้ง่ายและชัดเจนขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญคือการลดต้นทุน”

    ส่วนเรื่องที่สองคือ การขอใช้ไฟฟ้าที่มีอันดับดีที่สุดของประเทศไทย ที่กระโดดมาอยู่ที่อันดับ 6 จากอันดับ 13 แต่ที่สำคัญกว่าอันดับคือระยะเวลาในการขอใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เริ่มต้นประกอบธุรกิจได้มาก เป็นประโยชน์ที่สำคัญมากกว่า

    ทางด้านการชำระภาษีไทยก็ได้อันดับที่ดีขึ้น เพราะระยะเวลาในการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะการยื่นภาษีแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการจัดการด้านเอกสารให้ครบถ้วนถึงยื่นชำระภาษีได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงให้ลดระยะเวลาลงได้ ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศได้มีการนำระบบหักบัญชีอัตโนมัติเข้ามาใช้ ทำให้ลดระยะเวลาการส่งออกและนำเข้าไปพอสมควร

    แม้ประเทศไทยได้คะแนนใน 4 ด้านนี้สูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าด้านที่เหลือประเทศไทยทำได้แย่ลง โดยด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายได้อันดับต้นของอาเซียนและเป็นอันดับ 24 ของโลก โดยเฉพาะในแนวปฏิบัติกรอบความเข้มแข็งของกฎหมายที่ได้คะแนน 12.5 จากคะแนน 16 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง เพราะฉะนั้น ในปีนี้จะพยายามปรับปรุงการวิเคราะห์ความยากง่ายให้เป็นผลมากขึ้น

    งานที่จะดำเนินการต่อไปคือการทำโครงการพื้นฐาน จะนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ตามที่รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเดินหน้าสู่ความยั่งยืนและชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ปีนี้ได้ดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายการจัดทำแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาที่เป็นจุดสำคัญในการประเมินความยากง่ายของการประกอบธุรกิจได้มาก โดยเฉพาะเอกสารที่ราชการเป็นผู้ออก นอกจากนั้นแล้ว ในขั้นตอนการดำเนินการ ได้กำหนดตัวชี้วัดเป็นระยะเวลาขั้นตอนในการขออนุมัติขออนุญาตที่มีคุณภาพไว้คงเดิม แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้เบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน

    นายปกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระยะเวลา และต้นทุน ซึ่งปรากฏในกฎกระทรวงต่างๆ โดยจะทำให้ลดระยะเวลาลง ลดขั้นตอนลง ให้เหมาะสมกับบริบทการประกอบธุรกิจของประชาชนมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการเดินหน้าเข้าสู่ความยั่งยืนและชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

    “เมื่อพิจารณาคะแนนในแต่ละด้าน จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะลดกระบวนการด้านใดและต้นทุนอะไรลงได้บ้าง เป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด เราไม่ได้สนใจอันดับ แต่สนใจในเนื้อหาว่าเราได้พัฒนามากขึ้นแค่ไหน”

    “ระยะเวลาของกระบวนการเกี่ยวข้องกับต้นทุน เพราะหากใช้ระยะเวลานานต้นทุนของธุรกิจจะเพิ่มขึ้น เอกชนเมื่อต้องการเริ่มธุรกิจหรือลงทุนต้องการรู้ต้นทุนที่แน่นอน เพื่อที่จะสามารถคำนวณได้ เพราะฉะนั้น เวลาในการอนุญาตเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยปริยาย และยิ่งระยะเวลายาวยิ่งสร้างความไม่มั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้น เราจึงพยายามนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ เพราะหากค่าใช้จ่ายชัดเจนแน่นอน และหากเราสามารถกำหนดระยะเวลาได้ เอกชนจะคำนวณต้นทุนการประกอบธุรกิจได้ง่าย”

    ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่งทั่วประเทศที่มีการรับเงิน-จ่ายเงิน ณ หน่วยงาน ต้องใช้วิธีการรับ-จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบได้ว่ามีต้นทุนอื่นแฝงอยู่หรือไม่

    ส่วนการชำระภาษี กรมสรรพากรได้ใช้ระบบเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่กำลังจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น เช่น โครงการ e-donation รวมทั้งกำลังหารือกับกรมสรรพากรเรื่องรายได้ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อมูลชัดเจน มีความโปร่งใส น่าจะมีผลในปีภาษีหน้า

    นายปกรณ์กล่าวว่า ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และกระบวนการ เป็นเรื่องที่ ก.พ.ร. ให้ความสำคัญและจะพยายามลดลงต่อเนื่อง ปีนี้กำหนดตัวชี้วัดของ ก.พ.ร. ของทุกหน่วยราชการ ซึ่งมีพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ทำให้กระบวนการทำงานของภาครัฐเดิมที่ไม่เคยมีการเปิดเผย ก็นำมาเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่า การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาเท่าไร และใช้เอกสารอะไรบ้าง ต้นทุนเท่าไร ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

    “สิ่งที่เราทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 ต่อไปเราจะยึดระยะเวลาตามคู่มือลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลสะท้อนกลับมาที่ต้นทุนและระยะเวลา โดยไม่ต้องบอกว่าจะลดลงด้วยวิธีไหน แต่โดยธรรมชาติจะต้องการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เราจะมีแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อเชื่อมโยงด้วยกันได้ก็จะทำได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

    “ส่วนด้านกฎหมายกฎระเบียบ สิ่งที่จะพยายามคือ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ความท้าทายของการทำงานในระบบราชการขณะนี้คือ disruptive technology อย่างที่สองคือ สังคมสูงวัย อย่างที่สามคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change อย่างที่สี่คือ การเมืองระหว่างประเทศ หรือ geopolitics สิ่งที่ ก.พ.ร. กำลังเสนอรัฐบาลด้านกฎระเบียบให้ดำเนินการต่อ คือ ด้านการทำให้ความยั่งยืนและชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนเกิดขึ้นก่อน นั่นคือการลดระยะเวลาในการทำงาน ลดขั้นตอน ลดอะไรต่างๆ ลง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น” นายปกรณ์กล่าวและว่า กฎหมายที่ต้องเร่งออกเลยคือ กฎหมายหลักประกันธุรกิจที่ต้องปรับปรุงใหม่ที่จะทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น กฎหมายอื่นจะได้มีการจัดลำดับความสำคัญตามกันไปอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลได้เร่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า อาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญตามรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็กังวลบ้างว่าจะมีผลต่อคะแนน EODB ในปีหน้า

    นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี (ขวาสุด)

    แก้ไขปัญหาล้มละลายอันดับ 1 อาเซียน

    นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า กรมบังคับคดีได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ซึ่งรายงานของธนาคารโลกพบว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากที่สุด แต่ประเทศไทยได้คะแนนการแก้ปัญหาการล้มละลาย 76.64 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 75.64 คะแนนในปีก่อน ได้อันดับ 24 เพิ่มขึ้น 2 อันดับ และได้อันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และเป็นที่ 4 ของเอเชีย คะแนนที่เพิ่มมาจากอัตราการรวบรวมทรัพย์คืนให้เจ้าหนี้ซึ่งได้ 69.80 คะแนนสูงขึ้นจากปีก่อน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน

    กรมบังคับคดีตระหนักถึงความสำคัญของความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมได้กำชับให้การทำงานของกรมบังคับคดีมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่กรมบังคับคดีดำเนินการมาตลอดคือ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และปรับปรุงกฎหมาย

    “กรมบังคับคดีมีความดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญระดับโลก คือ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ แม้ว่าเป็นความท้าทายแต่กรมบังคับคดีมีความพยายาม เป็นโอกาสที่ได้ปรับปรุงกระบวนการและเป็นโอกาสสำคัญที่สุดที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการทางแพ่ง ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว”

    ธนาคารโลกระบุว่าตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลายเป็นความท้าทายระดับโลก แต่กรมบังคับคดีไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความท้าทาย เนื่องจากเห็นความจำเป็นอย่างแท้จริง ใน 4 ปีก่อนไทยมีคะแนนด้านนี้ต่ำที่สุด จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้ดีขึ้น และกรมบังคับคดีไม่ได้ทำพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานอื่น ภาคเอกชน และกรมบังคับคดียังทำต่อเนื่อง

    “สิ่งที่อยู่ในการดำเนินการที่จะทำต่อเนื่อง จะมีการประชุมกับภาคเอกชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนธันวาคม ในปีหน้ามีกฎหมายที่จะดำเนินการต่อเนื่อง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับการล้มละลายระหว่างประเทศ ที่ได้จัดทำมาในปี 2560 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน นี้ส่วนกฎหมายที่ 2 เป็นเรื่องการปฏิรูปจริงๆ คือ การปรับปรุงโครงสร้าง เปลี่ยนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากภาครัฐไปเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ซึ่งในโลกนี้เห็นได้จากญี่ปุ่นที่เป็นอันดับหนึ่งด้านแก้ไขปัญหาล้มละลายที่ได้ 93 คะแนน ปัจจัยหนึ่งแห่งความสำเร็จของญี่ปุ่นคือ การทำงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้กรมบังคับคดีได้ส่งให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้ว”

    สิ่งที่จะทำต่อมาคือนำคดีล้มละลายเข้าไปอยู่บนระบบดิจิทัล กรมบังคับคดีสามารถเรียกดูคดีล้มละลายได้หมดในต้นปี 2562 และเรื่องสุดท้ายคือการพิสูจน์บัญชีล้มละลาย สืบสวนสอบสวน และด้านที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    ด้านการได้รับสินเชื่อ ธนาคารโลกไม่ได้มองเฉพาะการได้รับสินเชื่อจากธนาคารอย่างเดียว แต่มองไปถึงการได้รับสินเชื่อทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังพูดถึงกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดู โดยได้มีการยกร่างขึ้นใหม่มีคณะทำงานจาก 3-4 ฝ่าย คือกรมบังคับคดี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีธนาคารโลก สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมประชุมด้วย ต้องมองการเข้าถึงและได้รับบริการการเงินอย่างเท่าเทียม รวมไปถึงการขายฝากของธุรกิจปลีกย่อยด้วย ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการปรับปรุงในปีหน้า