ThaiPublica > เกาะกระแส > “สำนึกใหม่…สังคมไทย” (ตอนจบ): “วรากรณ์ สามโกเศศ” กับชีวิตที่มีความหมายและการมองโลกออกไปข้างนอก

“สำนึกใหม่…สังคมไทย” (ตอนจบ): “วรากรณ์ สามโกเศศ” กับชีวิตที่มีความหมายและการมองโลกออกไปข้างนอก

10 เมษายน 2018


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มาภาพ: มูลนิธิหัวใจอาสา

ต่อจากตอนที่3

องค์ปาฐกคนที่ 4 ที่ขึ้นกล่าวงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 5 หัวข้อ “สำนึกใหม่…สังคมไทย” คือ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งประเด็นที่ ดร.วรากรณ์นำมากล่าวบนเวทีคือเรื่อง “ชีวิตที่มีความหมาย” โดยกล่าวเริ่มต้นถึงอาจารย์ไพบูลย์ว่า ถ้าท่านยังอยู่วันนี้ ท่านจะมีอายุ 77 ปี ท่านจากเราไป 6 ปีแล้ว แต่ตอนท่านมีชีวิตอยู่ ท่านได้ทำสิ่งต่างๆ ครบถ้วนตามที่ท่านคาดหวังไว้

อาจารย์ไพบูลย์ผู้จุดประกายการทำความดี

“สิ่งที่ผมพบจากท่านอาจารย์ไพบูลย์คือ ท่านเป็นคนที่แปลกไม่เหมือนใคร ท่านเป็นคนอยุธยา คนบ้านเดียวกับพี่หมื่นในบุพเพสันนิวาส ท่านเรียนจบจากวอร์ตัน แต่ไม่เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ คิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และท่านเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสูง ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ท่านจะไม่คิดแบบเดิมๆ ”

ตัวอย่างที่ท่านทำไว้มีมากมาย หลายคนที่ทำงานกับท่านจะรู้ดี ตอนที่ท่านเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ก็ริเริ่มอะไรที่แตกต่างไว้มากมาย ครูที่ได้กู้ยืมเงินกันทุกวันนี้ก็เพราะท่านอาจารย์ไพบูลย์ ก่อนหน้านั้นผมพยายามจะผลักดัน แต่ทำไม่สำเร็จ แต่เมื่อท่านอาจารย์ไพบูลย์เข้ามาแล้ว ก็สามารถที่จะช่วยทำให้คลี่คลายได้

หรือเรื่องการริเริ่มของคนยากจน ทำมูลนิธิพัฒนาชนบท และทำงานต่างๆ อีกมากมาย ท่านมีความปรารถนาดีต่อมนุษยชาติและต่อสังคมไทย แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ริเริ่มสำคัญคือเรื่องสภาพัฒนาชุมชน และเรื่องการจดทะเบียนชุมชนทั้งหลาย พูดง่ายๆ ก็คือต้องการให้คนในสังคมได้มีปากมีเสียง โดยเฉพาะคนยากไร้ในที่ต่างๆ เรื่องนี้เป็นบทบาทของท่านที่ชัดเจนมาก

“ผมมีความรู้สึกว่าความดีเป็นสิ่งที่ติดต่อกัน คนดีๆ คนเดียวสามารถสร้างคนดีได้อีกมากมาย ผมคิดว่าท่านอาจารย์ป๋วยเป็นหัวใจสำคัญเริ่มต้น ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ไพบูลย์ได้มองเห็นอาจารย์ป๋วยเป็นต้นแบบของการทำความดี และที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ผมเคยเป็นอาจารย์อยู่ 25 ปี มีประเพณีการทำกิจกรรมของนักศึกษา โดยที่เราไม่แทรกแซง ปล่อยให้นักศึกษาได้มีความคิดริเริ่ม”

เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน ผมได้ฟังเรื่องราวของลูกศิษย์ผมหลายคน ก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก คือเมื่อตอนน้ำท่วมปี 2554 มีนักศึกษารุ่นเดียวกันประมาณ 30 คน ที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วเป็นลูกศิษย์ผมโดยตรง 5-6 คน ทุกคนเป็นนักธุรกิจ มีฐานะดี แต่เขาหยุดงานทำอาหารไปแจกคนน้ำท่วมในพื้นที่ไกลๆ ที่ไม่มีใครเข้าไป

พวกเขานำอาหารไปแจกในพื้นที่ที่ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำติดต่อกันสองเดือนตลอดเวลาที่น้ำท่วม ทุกคนเอาเงินลงขันกัน ทำเป็นจิตอาสาเหมือนสมัยที่เป็นนักศึกษาทำกิจกรรมด้วยกัน ผมคิดว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ได้จุดประกายเรื่องของการทำความดีความงามให้พวกเรา

ชีวิตผ่านมาเพียงครั้งเดียว ทำอย่างไรให้มีความหมาย

เรื่องที่สอง สิ่งที่ผมขอเสนอเรื่องสำนึกใหม่ คือ “ชีวิตที่มีความหมาย” กลอนบทหนึ่งที่ดังมากเมื่อ 300 ปีที่แล้ว รู้จักกันดีในโลกตะวันตก ชื่อว่า I shall pass but once จะผ่านไปเพียงครั้งเดียว โดยหม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ท่านได้แปลไว้ดังนี้

ฉันจะผ่านโลกนี้แต่เพียงหน
อันกุศลใดใดที่ทำได้
หรือเมตตาซึ่งอาจให้มนุษย์ใด
ขอให้ฉันทำหรือให้แต่โดยพลัน
อย่าให้ฉันละเลยเพิกเฉยเสีย
หรือผัดผ่อนอ่อนเพลียไม่แข็งขัน
เพราะตัวฉันต่อไปไม่มีวัน
จรจรัลทางนี้อีกทีเลย

“เพราะตัวฉันต่อไปไม่มีวัน จรจรัลทางนี้อีกทีเลย” ทุกคนมีชีวิตเดียว ผ่านมาเพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นกุศลหรือเมตตาใดที่ทำให้มนุษย์ใดก็จงทำ

“ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ผมได้ยินมานานว่าชีวิตคนเราเหมือนรถไฟ บางคนขึ้นขบวนรถไฟมาเร็วแล้วก็จากไปเร็ว บางคนทำตัวน่ารักบนรถไฟ ทำให้คนบนรถไฟมีความสุข บางคนก็ไม่ทำอะไรแล้วยังทำความสกปรกใส่รถไฟ บางคนขึ้นมานานแต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรบนรถไฟเลย บางคนมาอยู่สั้นๆ แต่ทำประโยชน์ไว้มากมาย”

ผมว่าชีวิตของคนเราก็เหมือนรถไฟ ผมบอกนักศึกษาเมื่อหลายสิบปีว่า ทุกคนมีชีวิตเดียว อายุ 18 ครั้งเดียว 19 ครั้งเดียว 20 ครั้งเดียว จะไม่หวนมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อชีวิตเป็นอย่างนี้ สิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือทำอย่างไรให้ชีวิตมันมีความหมาย

ความหมายในที่นี้ก็คือว่า เกิดมาทั้งชีวิตมันต้องทำให้มีผลกระทบกับคนอื่น ทำชีวิตคนอื่นให้ดีเมื่อตอนที่เราเกิดมา ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีความหมายเลยน่าเสียดายมาก แล้วจากไปโดยไม่ทิ้งอะไรไว้ อย่างนั้นก็ยิ่งไร้ความหมาย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าชีวิตที่มีความหมายนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

Outward Mindset

แล้วชีวิตที่มีความหมาย ก็ไปโยงกับวิธีการมองโลกเช่นเดียวกัน วิธีการมองโลกอันหนึ่งที่ผมเคยพูดในงานเปิดตัวหนังสือท่านอาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ชื่อ Sparks from the Spirit ว่าการมองโลกอันหนึ่งที่สำคัญคือ “การมองโลกออกไปข้างนอก” ที่เรียกว่า outward mindset คิดว่าตัวเองนั้นมีผลกระทบต่อใครบ้าง เพราะการมองโลกอย่างนี้จะทำให้เราคำนึงถึงคนที่อยู่รอบข้างด้วย

เหมือนที่องค์ปาฐกทั้งหลายได้พูดมา ไม่ว่าจะเป็นพระคุณเจ้าหรือเอด้า ว่าถ้าเรามองแต่ตัวเองนั้นมันเล็กเกินไป เหมือนที่ท่านทะไลลามะได้พูดว่า คนเรานั้นต้องมองสิ่งที่สูงใหญ่กว่าตัวเราเอง ถ้าเรามองแต่ชีวิตตัวเอง เราก็คงมองอยู่แค่นี้ แต่ถ้าเรามองสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ คือมองคนอื่น มองผลกระทบที่มีต่อคนอื่น ก็จะมีชีวิตที่มีความสุข

ศรัทธาในความดี ความงาม ความจริง

ถามว่าท่านจะมีชีวิตที่มีความหมาย เกิดมาแล้วมีประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งผมพูดบ่อยๆ ว่าถ้าจะมีชีวิตที่มีความหมาย มันมีสองลักษณะ คือ

1. ต้องเป็นคนที่ศรัทธาใน “ความดี ความงาม และความจริง”

ความจริงนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ท่านลองคิดดูว่าถ้าเราไม่มีความจริงแล้ว ความจริงใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ความซื่อสัตย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เราจะอยู่บนความลวง หลอกล่อ โกหกคนอื่น เกิดการทำความดีต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะความจริงที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เป็นความจริงอย่างใหญ่หลวง ถ้าเราไม่บูชาในความจริง เราอาจจะหลอกลวงตัวเองได้ หลอกลวงคนอื่นได้

ส่วนเรื่องความงามนั้นคือ ความงามในมนุษยชาติ ความงามของธรรมชาติ ชื่นชมในสิ่งแวดล้อม ความงามในความดีของคนอื่น ความงามในความกล้าหาญที่ควรทำ ความงามในความเสียสละที่ทำให้คนอื่น ส่วนความดีก็คือคุณธรรมและศีลธรรมทั้งหลาย

ดังนั้น คนเราถ้ามีศรัทธาในความดี ความงาม ความจริง ผมเชื่อว่า 3 สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของชีวิตที่มีความหมาย การจะมีชีวิตที่มีความหมายได้ ถ้าไม่เชื่อใน 3 สิ่งนี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่

ชีวิตมีความหมายขับเคลื่อนได้ “อุดมการณ์ ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่น”

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มาภาพ: มูลนิธิหัวใจอาสา

ถามว่าคนลักษณะของบุคคลที่ว่ามานั้น จะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ผมก็คิดว่าอย่างน้อยน่าจะมี 3 ลักษณะด้วยกัน

    1. ชีวิตคนเราจะมีความหมายได้มันต้องขับเคลื่อนด้วย “อุมดมการณ์” ถ้าอยู่ไปวันๆ ไม่มีอุดมการณ์ คงขับเคลื่อนไม่ได้ ความมุ่งมั่นที่จะทำความดีให้คนอื่น ทำให้คนอื่นเกิดประโยชน์สุข ไม่เป็นภาระคนอื่น นั่นก็เป็นอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนคน ทำให้มีชีวิตมีความหมายได้

    2. “ความรับผิดชอบ” ซึ่งผมคิดว่ามี 2 ทาง คือ ไม่ใช่รับผิดชอบเฉพาะสิ่งที่ตัวเองทำ แต่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ไม่ได้ทำด้วย เพราะความรับผิดชอบนั้นมันเป็นถนน 2 ทาง บางครั้งเราควรจะทำแต่ไม่ได้ทำ เราควรรับผิดชอบด้วย รับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่องานที่ตัวเองทำ

    3. “ความมุ่งมั่น” ถ้าคนไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีความมุ่งมั่น ชีวิตที่มีความหมายก็คงจะเดินไปแบบเฉื่อยๆ และที่สำคัญ เมื่อชีวิตมันสั้น ถ้าไม่มีแพสชั่น มันก็คงจะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นมันต้องมีทั้งอุดมการณ์ มีความรับผิดชอบ และมีความมุ่งมั่น

2.การสร้าง “คาแรคเตอร์” เป็นหน้าที่ของทุกคน

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากเสนอให้พิจารณาก็คือ สิ่งที่จะทำให้เกิดความคิดในชีวิตมีความหมายได้ มันต้องมาจาก “คาแรคเตอร์” (character) ฝรั่งเขาบอกว่าคาแรคเตอร์มันคือ destiny บุคลิกหรืออุปนิสัยก็คือชะตากรรมนั่นเอง คาแรคเตอร์ยังหมายความถึงเรื่องสภาพจิตใจ เรื่องศีลธรรม และยังรวมถึงความสามารถต่อสู้กับสิ่งที่ผันผวน ความสามารถต่อสู้กับสิ่งที่เย้ายวน ต่อสู้กับสิ่งสำคัญในใจตัวเองและคนอื่น

คำถามที่สำคัญก็คือว่า เราจะสร้างคาแรคเตอร์เหล่านี้ขึ้นมาในคนไทยได้อย่างไร หรือในตัวเราเองได้อย่างไร เพราะว่าสังคมนั้นไม่ได้มีเพียงตัวเราที่รับผิดชอบ มันจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อพวกเราเองคิดว่าเราต้องทำด้วย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างนั้นการแก้ไขก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าเรามีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆ ด้วย อย่างนี้โลกก็แก้ไขได้

อย่างเช่น outward mindset คนทั้งหลายเกิดปัญหาขึ้นมา แต่เราก็มีส่วนในการสร้างปัญหานั้นด้วย เพราะฉะนั้นจะแก้ไขปัญหานั้น ก็ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ทิ้งของสกปรก ไม่เคารพกฎจราจร มีคอร์รัปชัน ถามว่าตัวท่านเองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหรือเปล่า ท่านขับรถถูกกฎจราจรมั้ย ไปติดสินบนใครหรือเปล่า ถ้าคิดว่าเป็นปัญหาคนอื่น ก็แก้ไขไม่ได้

อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้เคยพูดไว้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าท่านจะรอคอย มันไม่มา เพราะมันไม่มี การเปลี่ยนแปลงมันต้องเริ่มที่ตัวท่าน นั่นแหละคือการเปลี่ยนแปลงแรกที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคาแรคเตอร์เป็นเรื่องสำคัญมาก

นอกจากนั้น คนที่มีคาแรคเตอร์จะต้องมีคุณลักษณะของคุณธรรมที่อยู่ในจิตใจด้วย มีความสามารถต่อสู้กับสิ่งที่เป็นอุปสรรค ไม่ท้อทอย และที่สำคัญก็คือต้องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต (honesty) ไม่ทำผิดกฎหมาย

แต่สิ่งที่เหนือว่าความซื่อสัตย์ก็คือ “ความสัตย์ซื่อ” (integrity) ความสัตย์ซื่อนั้นคือความซื่อสัตย์บวกกับความมั่นคงต่อหลักการที่เป็นศีลธรรมที่อยู่ในใจตัวเอง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า integrity เป็นลักษณะของคาแรคเตอร์ที่สำคัญมาก เพราะไม่ได้เพียงแค่ซื่อสัตย์อย่างเดียว แต่ยังซื่อสัตย์ต่อหลักการหรือคุณธรรม ศีลธรรมที่ตัวเองเชื่อถือยึดมั่นด้วย

ความซื่อสัตย์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว แต่ integrity นั้นมันยิ่งใหญ่กว่าเพราะต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ กับสิ่งที่เป็นคุณธรรมด้วย ซึ่งผมคิดว่าบุคคลตัวอย่างที่เรายึดถืออ้างอิงได้ ท่านมีคาแรคเตอร์แน่นอน ถ้าไม่มีคาแรคเตอร์ ก็ไม่สามารถจะต่อสู้กับชีวิตที่เป็นอุปสรรคได้

ผมจึงอยากให้กำลังใจท่านนายกเทศมนตรีขอนแก่นนะครับ ท่านกำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์ คือผ่าด่านแนวคิดที่ทุกอย่างต้องอยู่ส่วนกลาง เพราะในที่สุดคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ท้องถิ่นจะต้องริเริ่มเป็นเจ้าของและทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าขอนแก่นทำสำเร็จจะมีที่อื่นตามมาอีกมากมาย

สุดท้ายที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือ ในทัศนะสำนึกใหม่…สังคมไทยนั้น การมีชีวิตที่มีความหมาย ถ้าเราสามารถทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่าตัวเองเกิดมามีชีวิตเดียวสั้นๆ และต้องรีบทำอะไรสักอย่าง ทิ้งปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะมันไม่มาอีกครั้ง อาจจะทำให้สังคมไทยนั้นมีจุดเปลี่ยน มีการมาร่วมทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น มีคนอย่างเอด้ามากๆ มีกลุ่มอย่างที่เอด้าทำมากขึ้นในสังคมไทยในทุกแห่งหน