ThaiPublica > เกาะกระแส > สำนึกใหม่…สังคมไทย (ตอนที่2) “เอด้า จิรไพศาลกุล” สำนึกแห่งการเปลี่ยนแปลงต้อง “ตระหนัก – ลงมือทำ”

สำนึกใหม่…สังคมไทย (ตอนที่2) “เอด้า จิรไพศาลกุล” สำนึกแห่งการเปลี่ยนแปลงต้อง “ตระหนัก – ลงมือทำ”

4 เมษายน 2018


นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN)

ต่อจากตอนที่1

งานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 5 หัวข้อ “สำนึกใหม่…สังคมไทย” ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมเสวนาคนที่ 2 ที่ขึ้นกล่าวคือ นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN)

เธอเล่าว่าได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์ไพบูลย์ในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่พยายามจะผลักดันเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ซึ่งประสบการณ์สั้นๆ ครั้งนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สร้างคุณค่าให้เธอตัดสินใจทำงานเพื่อสังคม

คนรุ่นใหม่ตระหนักเรื่องความเป็นไปในสังคมมากขึ้น

เอด้ากล่าวในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ว่า หลังจากที่ได้โจทย์ให้มาพูดเรื่องสำนึกใหม่ ไม่มั่นใจว่าสำนึกเก่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วสำนึกใหม่จะไปทางไหน แต่เมื่อมาคิดดูแล้วมันอาจจะเป็นแค่สำนึกเดียวก็ได้ คือสำนึกที่ทำให้คนทุกคนเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งการจะสร้างพลเมืองที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะมีอยู่ 3 เรื่องหลัก

1. จะทำอย่างไรให้คนคนหนึ่งหรือบุคคลในสังคมมี “ความตระหนัก” ถึงความเป็นไปหรือมีความใส่ใจในเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัวมากกว่าเรื่องตัวเอง 2. เมื่อมีความตระหนักแล้ว คนคนนั้นหรือคนในสังคมเลือกที่จะเริ่มทำอะไรสักอย่าง นั่นคือ “การลงมือปฏิบัติ” และ 3. ทำยังไงให้คนมี “แนวคิด” และมี “ความเชื่อ” ที่จะสานต่อสิ่งที่ตัวเองเริ่มทำจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริงๆ

ในประเด็นแรก เรื่องความตระหนัก ตนทำงานกับคนรุ่นใหม่มาเป็นเวลา 10 ปี เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความตระหนักในเรื่องความเป็นไปของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีเทคโนโลยี การที่เรามีโทรศัพท์มือถือ มีข้อมูลข่าวสาร มีอินเทอร์เน็ต ทำให้เราเห็นและตระหนักเรื่องต่างๆ มากขึ้นไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เช่น เราตระหนักปัญหาเรื่องหมอกควันทางภาคเหนือมากขึ้น
ความตระหนักที่มากขึ้นของคนรุ่นใหม่ ทำให้เราเห็นความไม่ยุติธรรมในสังคมหลายอย่าง และทนไม่ได้กับความเสแสร้งในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่ว่ามีผู้ใหญ่พูดว่าฉันเป็นคนดี ฉันจะต่อสู้กับคอร์รัปชัน แต่การกระทำไปอีกทางหนึ่ง แล้วเราจะเชื่อสิ่งนั้น แต่คนรุ่นใหม่ตามติดและไม่ชอบความเสแสร้งพวกนี้ เพราะการมีเทคโนโลยีทำให้เราสามารถตรวจสอบเรื่องต่างๆ ได้

นอกจากนั้น ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ชอบท่องเที่ยวกันมาก แล้วการท่องเที่ยวนี้เองที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ยังมีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในประเทศจำนวนมาก ทำให้เรารักและหวงแหนในหลายเรื่อง เช่น เรื่องทรัพยากรป่าไม้ เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ค่อนข้างจะตระหนักมาก เพราะเราชอบเดินป่า และเราก็อยากให้ป่ามีมากขึ้น

เปลี่ยนความตระหนักมาเป็น “การลงมือทำ”

ในส่วนที่สอง เมื่อตระหนักแล้วจะทำยังไงให้คนเปลี่ยนความตระหนักนั้นมาเป็นการลงมือทำ ซึ่งค่อนข้างมีความยาก เพราะว่าจริงๆ แล้วในบริบทสังคมไทย เราค่อนข้างรักสบาย และระบบการศึกษาก็ทำให้หลายๆ อย่างต้องมีคนคอยป้อนให้เราก่อนที่จะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้น การเริ่มต้นไม่ได้อยู่ในจริตหรือธรรมชาติของเรา เลยมานึกย้อนว่าตอนที่ตัวเองเริ่มตระหนักและเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างมันเกิดขึ้นตอนไหน

ตนเป็นเด็กที่โตมาในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตระหนักถึงความเป็นไปของสังคมนอกจากตัวของเราเอง เพราะตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนหลายท่านต้องตกงาน พอตกงานชีวิตก็มีปัญหา เมื่อฟังจากที่เพื่อนๆ เล่าหรือได้เห็น ก็ทำให้เริ่มตระหนักว่าเรานึกถึงแต่ตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะประเทศของเราไม่ได้มีภาวะมั่นคง ไม่ได้มีเศรษฐกิจดี เหมือนอย่างที่ผ่านมา

ในจังหวะเดียวกัน ตัวเองค่อนข้างโชคดี ตอนนั้นสอบได้ทุนไปเรียนต่อมัธยมที่สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ท่ามกลางวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนกัน การเรียนที่สิงคโปร์ทำให้เปลี่ยนความตระหนักมาเป็นการลงมือทำ เพราะได้ไปอยู่ในโรงเรียนที่เชื่อเรื่อง “การแบ่งปัน” ในโรงเรียนจะรู้สึกได้ถึงความโอบอ้อมอารีอยู่ในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นจากคุณครูมาสู่นักเรียน หรือจากนักเรียนด้วยกัน

หนึ่งในกิจกรรมที่โรงเรียนสนับสนุนให้เด็กๆ ทำคือ “กิจกรรมจิตอาสา” ในทุกๆ เทอม ตัวเองจะได้ไปบ้านพักคนชรา หรือไปยืนถือกระปุกขอบริจาคเงิน การทำกิจกรรมเหล่านี้ทุกเทอมทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้นหลายเรื่อง เพราะเราได้คุยกับคนจริงๆ เช่น การไปบ้านพักคนชรา ได้คุยกับคนแก่ที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ได้เข้าใจว่าเขาเจอกับปัญหาอะไร อะไรทำให้เขามีความสุขหรือไม่มีความสุข

ขณะเดียวกัน การที่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 15 ปี รู้สึกได้ถึงพลังของตัวเอง ว่าการที่เราได้เริ่มทำอะไรสักอย่างมันสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยกับคนคนหนึ่งหรือในสเกลที่ใหญ่กว่านั้น และรู้สึกว่าอยากจะทำเรื่องแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วตอนที่ได้ทุนไป ซึ่งเป็นทุนที่ให้นักเรียนในอาเซียนทุกประเทศ ทำให้มีโอกาสคุยกับเพื่อนๆ ที่มาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในอาเซียนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันในการอยากพัฒนาประเทศตัวเอง เชื่อว่าการที่คนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมาคุยกันมันยิ่งทำให้แต่ละคนมีพลังอยากจะทำเรื่องแบบนี้มากขึ้น

หลังจากเรียบจบที่สิงคโปร์แล้ว ก็กลับมาเรียนปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่มีผู้ใหญ่ อาจารย์ และนิสิตในคณะ มีส่วนเอื้ออย่างมากให้คนได้เริ่มลงมือทำ เพราะเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน และอยากทำอะไรที่ต่อยอดร่วมกัน

ปัจจัยทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงนำมาสู่กิจกรรมที่ตัวเองเริ่มทำในชื่อกลุ่ม TYPN หลังจากเรียนจบ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีเสื้อเหลือง ซึ่งสำหรับเด็กที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคม ถึงอยากจะทำนั่นทำนี่ แต่อย่างหนึ่งที่ไม่คุ้นเลยคือการเดินขบวน อาจจะไม่ชินและไม่ถูกจริต ก็เลยไม่ไปเดินขบวน เพราะไม่รู้ว่ามันจะทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่ว่าก็อยากจะทำอะไรเพื่อสังคม

เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่อยากจะทำอะไรให้สังคม ตั้งเป็นกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำงานในอาชีพที่หลากหลายที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมด้วยกัน ซึ่งช่วงแรกเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ชุมชน มีกิจกรรมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ออกไปสัมผัสกับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ตั้งแต่การเข้าไปสอนหนังสือให้กับเด็กๆ หรือกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ซึ่งทำให้เราเห็นปัญหาและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

แล้วในช่วงเริ่มต้น เราใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มในการชวนคนมาร่วมกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนไทยที่มีโอกาสได้เรียนต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสทางการศึกษาที่ทำให้เราได้มาเจอกัน เพราะฉะนั้น กิจกรรมที่เราทำจะเน้นเรื่องการศึกษา เรื่องเยาวชน และเรื่องโรงเรียน

กิจกรรมถัดมาที่เราเริ่มทำ คือการนำไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเข้ามาทำ อย่างเช่นเรื่อง social entrepreneurship “การประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม” ซึ่งจริงๆ แล้วเมืองไทยมีเรื่องนี้มานานมากแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ถูกเรียกด้วยศัพท์สมัยใหม่ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ เราก็นำไอเดียพวกนี้เข้ามาผลักดันทำกิจกรรมด้วยกัน

หรือไอเดียเรื่อง “การลงทุนเพื่อสังคม” เราก็ตั้งเป็นชุมชน เริ่มพูดคุยกันเรื่องแบบนี้ เริ่มทดลองทำอะไรเกี่ยวกับการให้และลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้เห็นว่ามันมีไอเดียใหม่ๆ มีกระบวนการ หรือกลไกใหม่ๆ ที่จะมาแก้ไขสังคม ซึ่งถูกจริตคนรุ่นใหม่มากกว่า

ไปจนถึงการทำงานร่วมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพราะตอนนั้นเรามีสมาชิกหลายคนที่ยังเรียนอยู่ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ในต่างประเทศ ก็มีการคุยระหว่างเพื่อนๆ ต่างประเทศ รวมทั้งพามาช่วยงานในเมืองไทยตามภาคชนบท องค์กรเอ็นจีโอ หรือในธุรกิจเพื่อสังคมที่กลุ่มของเราสนับสนุนอยู่

รวมถึงกิจกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมอื่นๆ ซึ่งทำกับหลายองค์กร เช่น โครงการ “เทใจ” ปัจจุบันเป็นงานประจำที่ตัวเองทำอยู่ เป็นการสร้างชุมชนเรื่องการ “ให้อย่างมีกลยุทธ์” ให้โดยการบริจาคที่รู้ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ยังไง ไปจนถึงการทำเรื่องการศึกษา

ดังนั้น กลุ่ม TYPN มีความเชื่อเหมือนกันว่า ที่เรามีโอกาสทุกวันนี้ เพราะเราได้รับโอกาสการศึกษาที่ดี และเราเชื่อว่าความหลงรักในประเทศไม่มีวันดีขึ้นได้ถ้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็ใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อสังคม หรือการให้อย่างมีกลยุทธ์ ให้ความรู้กับสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการให้โอกาสทางการศึกษา

ชุมชนของ “ผู้นำรุ่นใหม่”

ที่เล่ามาทั้งหมดต้องการจะสื่อว่า สิ่งที่เราได้จากการเริ่มต้นทำกิจกรรมนี้ คือการสร้าง caring leader community “ชุมชนของผู้นำรุ่นใหม่” ที่อยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม แต่มีความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงในสังคมบางเรื่องด้วยกัน ซึ่งการสร้างชุมชนที่มีความเชื่อคล้ายกัน มันเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในกลุ่มเดียวกัน

อย่างตัวเองย้ายจากภาครัฐ มาอยู่ภาคการศึกษาเป็นอาจารย์ จนปัจจุบันมาอยู่ภาคประชาสังคม ซึ่งปกติแต่ละภาคส่วนในเมืองไทย ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันค่อนข้างมีน้อย แต่เมื่อทุกคนได้รู้จักกัน ผ่านชุมชนที่มีเป้าหมายคล้ายๆ กัน มันเชื่อใจกันและกันในฐานะคนคนหนึ่งหรือพลเมืองคนหนึ่งที่มีความอยากเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกัน

ดังนั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการที่มีชุมชนแบบนี้ ทำให้เราได้เริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง แปลงความตระหนักเพื่อสังคมมาเป็นการลงมือทำ ซึ่งการเริ่มลงมือทำกิจกรรมร่วมกันของคนหลายๆ ส่วนทำให้เราเข้าใจกันและกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีชุมชนที่เป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่จริงๆ

และสิ่งที่สำคัญมากคือ ทุกกิจกรรมเราทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น กิจกรรมการศึกษา เราก็ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ กิจกรรมเรื่องให้เราก็ทำกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และอีกหลายๆ มูลนิธิ ซึ่งทำให้คนที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชนเห็นเลยว่า การที่เราจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงสักเรื่องหนึ่งในสังคมไทย เราทำคนเดียวไม่ได้ ต่อให้เราเก่งแค่ไหน รวยแค่ไหน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่ได้ร่วมมือกับคนที่มาจากภาคส่วนที่ต่างจากเรา

นอกจากนี้ เรายังคิดว่าจะสร้างสังคมหรือ ecosystem ยังไง ที่จะผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่กว่าเรา ที่มีไอเดีย มีความตระหนัก แล้วอยากจะเริ่มลงมือทำ อยากจะสานต่อไอเดียนี้ได้ ซึ่ง TYPN อาจจะเป็นตัวอย่างของชุมชนที่ทำให้คนได้มาเริ่มลงมือทำด้วยกัน

สร้างสำนึกแห่งการเปลี่ยนแปลงจากผู้ใหญ่ต้นแบบ

ในส่วนสุดท้ายที่ตนเองเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนสังคมไทยได้จริงๆ คือจะทำยังยังไงให้พลเมืองที่มีสำนึกมีแนวคิด แนวปฏิบัติ และความเชื่อที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว ซึ่งตอนที่ทำงานกับอาจารย์ไพบูลย์เมื่อปี 2553 มีชุดคุณค่าหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ นั่นคือ 1. การเปลี่ยนแปลงสังคมหรือการปฏิรูป ไม่ใช่เรื่องที่ใช้เวลาข้ามคืนหรือแค่ 1-2 ปี ที่จะทำให้สำเร็จได้

การที่เราจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในสเกลที่ใหญ่มันต้องใช้เวลานานมาก แล้วคนรุ่นใหม่หรือรุ่นตนลงไปเป็นรุ่นที่อินมากในเรื่องสังคม แต่เราก็เป็นรุ่นที่เชื่อว่าโมบายแอปฯ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เราเป็นเด็กใจร้อน มีความสนใจค่อนข้างสั้น เพราะฉะนั้นมองว่าการสร้างแนวคิด แนวปฏิบัติหรือความเชื่อที่เข้มแข็งโดยเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างอุปนิสัย ในไอเดียที่เราคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วเราสามารถสานต่อได้จนจบจริงๆ

ตอนที่ตัวเองมีโอกาสได้ทำงานกับอาจารย์ไพบูลย์ ตอนนั้นยังอายุน้อยมาก ไฟแรง แล้วก็เป็นแบบเด็กที่เล่าให้ฟัง คือ เป็นเด็กความสนใจสั้น อยากทำอะไรให้เสร็จเร็ว รู้สึกว่าทำไมเรื่องนี้ทำไม่ได้สักที การที่ทำงานกับอาจารย์ไพบูลย์ ซึ่งมาทราบทีหลังว่าท่านป่วย แต่อาจารย์ก็ยังเข้มแข็ง มาประชุมทุกครั้ง และเป็นผู้ใหญ่ที่ใจกว้าง ที่จะรับฟังเด็ก แล้วให้คำแนะนำ เป็นตัวอย่างที่สำคัญมาก ทำให้ยึดเป็นหลักปฏิบัติในการทำงานเรื่องพวกนี้

แล้วเวลาทำงานกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ชอบพูดว่า ผมอายุเยอะแล้ว ขอฝากความหวังไว้กับเด็กๆ อย่างพวกคุณ ซึ่งตอนฟังสมัยเด็กๆ รู้สึกดีใจมาก รู้สึกว่าตัวเองตัวใหญ่ เพราะว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ตอนหลังเริ่มรู้สึกว่าอย่าเพิ่งทิ้งหนูไปได้มั้ย เพราะไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานในการทำงาน ความเชื่อ หรืออุปนิสัย หรือคุณค่าต่างๆ ที่ได้มาอยู่ในตัวเอด้า หรือคนรุ่นใหม่ มันเกิดจากการปลูกฝังจากรุ่นผู้ใหญ่

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่จะวางมือตอนนี้ แล้วส่งต่อให้รุ่นเรา มันอาจจะยังยังไม่ถึงเวลา เพราะหลายท่านยังมีบทบาทสำคัญมากในการที่ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ และมันเป็นตัวอย่างที่คนรุ่นเอด้าเห็นแล้วนำไปปฏิบัติต่อ หรือแม้แต่เรื่องในครอบครัว สิ่งที่พ่อแม่ทำก็มีผลมากกับการสร้างคุณค่าของลูก

ยกตัวอย่างเรื่องน้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา อายุ 23 ปี ที่เปิดโปงเรื่องโกงเงินคนจน ซึ่งเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะทำแบบน้องแบม คือเห็นว่ามีความไม่โปร่งใสก็จะต้องมีการรายงาน แต่ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รายงานต่อหากโดนอาจารย์ในโรงเรียนต่อว่า เพราะอาจรู้สึกว่าเป็นราคาที่สูงมากในการตามต่อเรื่องนี้ แต่การที่น้องแบมเลือกที่จะทำต่อ เลือกที่จะกัดไม่ปล่อย เป็นเพราะสิ่งที่พ่อแม่ปลูกฝังให้เขา

นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่อาจจะเป็นคุณค่าที่ยังไม่เข้มแข็งมากในตัวคนรุ่นใหม่ เราจะมีอุปนิสัยยังไง มีความเชื่อยังไง หรือความคิดยังไงที่จะติดตามสิ่งที่ตัวเองทำต่อไปจนจบแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ซึ่งเชื่อว่าบทบาทตรงนี้เป็นสิ่งที่รุ่นผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนรุ่นกลางอย่างตัวเองต้องทำให้เป็นตัวอย่าง แล้วแสดงให้เห็นเพื่อสร้างคุณค่า สร้างสำนึกให้คนรุ่นใหม่เห็น ในการจะมาทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม

สำนึกใหม่ เริ่มต้นจากตัวเราเอง

ดังนั้น เชื่อว่าอาจจะไม่ได้มีสำนึกเก่าหรือสำนึกใหม่ แต่มีแค่สำนึกที่คนคนหนึ่งจะมีได้ ในการที่จะไม่นิ่งเฉยและไม่ดูดายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมันเกิดจากความตระหนัก ซึ่งมีค่อนข้างมากแล้วในตัวคนรุ่นใหม่ จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่จะแปลงความตระหนักนั้นยังไงให้มาสู่การเริ่มลงมือทำ และมีอุปนิสัย มีอีคิว มีความคิด และมีความเชื่อที่มากพอและเข้มแข็งพอที่จะสานต่อให้การเริ่มลงมือทำนั้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้จริงๆ

จึงอยากให้ทุกคนร่วมมือกันและตระหนักว่าการกระทำของเราทุกๆ อย่างมีผลกับคนรอบข้างเรา และถ้าเราอยากจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ สร้างสำนึกใหม่ให้กับสังคม เราต้องเริ่มจากตัวเราเอง และนำมาสู่การสร้างสำนึกร่วมเพื่อสร้างสังคมไทยใหม่ให้ดีกว่าที่เราอยู่ทุกวันนี้