ThaiPublica > เกาะกระแส > “สำนึกใหม่…สังคมไทย”(ตอนที่ 3) สำนึกเมือง สำนึกคน “ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา” กรณีศึกษาขอนแก่นสมาร์ทซิตี้

“สำนึกใหม่…สังคมไทย”(ตอนที่ 3) สำนึกเมือง สำนึกคน “ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา” กรณีศึกษาขอนแก่นสมาร์ทซิตี้

9 เมษายน 2018


นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น ที่มาภาพ: มูลนิธิหัวใจอาสา

ต่อจากตอนที่2

งานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 5 หัวข้อ “สำนึกใหม่…สังคมไทย” ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมเสวนาคนที่3 ที่ขึ้นกล่าวคือ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น

สำนึกใหม่…สำนึกเมือง

นายธีระศักดิ์กล่าวว่า วันนี้มาพูดเรื่องสำนึกใหม่…สังคมไทย ซึ่งสำหรับขอนแก่นจะนำเรียนเรื่อง “สำนึกใหม่…สำนึกเมือง” อาจจะมีบางประการดูเหมือนจะเป็นกึ่งขอความช่วยเหลือ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นองค์กรที่มีความไม่โปร่งใส ทุจริตคอร์รัปชันสูง หลายๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็โดนปรามาสไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ หรือบางประการก็เกี่ยวข้องกับระเบียบที่ออกมาใหม่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขยันออกระเบียบมาก ซึ่งระเบียบส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อห้าม บางข้อมีข้อให้ แต่เป็นข้อให้ที่มีเงื่อนไขเป็นข้อห้าม ผมเคยหาข้อมูลระเบียบกฎหมายที่เป็นข้อห้ามมีนับแสนฉบับ ทุกวันนี้กฎหมายที่ยังใช้กับท้องถิ่นบางกฎหมาย เรียกว่ากฎเสนาบดี บางข้อที่ยังใช้อยู่เป็นประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ

วันนี้ประเทศไทยประกาศเป็นไทยแลนด์ 4.0 ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 กำกับ แต่การจะมุ่งหน้าไปโดยยังมีกฎหมายเก่าๆ ที่คอยเหนี่ยวรั้งเป็นข้อห้ามทำให้หลายเรื่องสวนทางกับความเป็นจริง แต่เทศบาลนครขอนแก่นรวมถึงภาคประชาชนเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ เราเชื่อว่าถ้าเกิดการกระจายอำนาจได้จริง ปัญหาหลายเรื่องคงไม่ต้องไปถึงรัฐบาล ไม่ต้องไปถึงนายกรัฐมนตรี

ยกตัวอย่างที่เทศบาลนครขอนแก่น เราพูดถึงบางปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่เกินตัวที่ท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งหน่วยงานในจังหวัดจะสามารถจัดการได้ เช่น ปัญหาการจัดการจราจร วันนี้ต้องยอมรับว่าถ้าไม่ใช่รัฐบาลตัดสินใจว่าจะทำรถไฟฟ้า 10 สาย ผมคิดว่ากรุงเทพฯ ก็คงจะเป็นอัมพาตไปอีกนานเท่านาน

แต่สำหรับขอนแก่นเอง เราก็พยายามดิ้นรน แล้วก็คิดแบบพอเพียงว่าเราไม่ใช่เมืองใหญ่ ถึงแม้จะเป็นหัวเมืองหลักทางภาคอีสาน แต่ก็ควรจะคิดแก้ปัญหาได้แล้ว โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วเราวางแผนและศึกษาแนวทางแก้ปัญหาจราจร โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเรื่องบีอาร์ที เป็นรถทัวร์ล้อยางนี่ล่ะครับ กั้นเลนพิเศษให้วิ่ง

มีสัญญาณไฟอัจฉริยะ เหมือนที่ กทม. ทำ และคิดว่าโครงการนี้น่าจะเหมาะสมกับขนาดเมืองของเรา ขณะเดียวกันก็เป็นการลงทุนที่ไม่สูง

แต่การเดินในวิถีเก่าๆ ในความคุ้นชินของพวกเรา นั่นก็คือคิดอะไรได้ ศึกษาอะไรเสร็จ ก็มุ่งตรงไปขอเงินรัฐบาล สมัยนั้นก็ทำแบบนี้ ไปขอเงินรัฐบาล ไปขอเงินเจ้ากระทรวง จัดกระบวนการเชิญรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมาดูพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ

พอท่านมาถึงท่านก็บอกเราว่า…ผมไม่ชอบ ใช้ดุลพินิจตัดสินใจ แล้วก็บอกเราในสมัยนั้นว่าถ้าเชียงใหม่ยังไม่เกิด ขอนแก่นอย่าไปหวัง คงเอ่ยชื่อท่านไม่ได้ แต่เราก็พยายามเดินต่อ โดยศึกษาเส้นทางนำร่องสายแรกที่ถนนมิตรภาพเชื่อมผ่าน 5 เทศบาล

หลังจากนั้นก็ไปพบรัฐมนตรีหลายกระทรวง จนกระทั่งมีผู้หลักผู้ใหญ่บอกว่าโครงการนี้ควรจะเป็นของกระทรวงคมนาคมทำ หรือจะผ่านกระทรวงมหาดไทย ทุกคนก็พากันงงว่าถ้าเป็นต่างจังหวัดแล้วไม่มีหน่วยงานไหนคิดจะทำให้ แล้วก็หาหน่วยงานเจ้าภาพที่ช่วยสนับสนุนไม่ได้ และมีการบอกว่าไม่มีนโยบายทำในต่างจังหวัด มันก็หมดปัญญา

เมื่อทุกอย่างมันตันไปหมด เราก็นำเรื่องนี้กลับไปหารือคนขอนแก่นทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการ หน่วยงานวิชาการ เราก็พูดถึงแนวทางต้นแบบที่เรามองเห็น ก็คือแบบ กทม. ที่ให้บริษัทกรุงเทพธนาคมทำบีทีเอส ก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนกัน แต่รูปแบบพิเศษกว่า เราคิดว่าเมื่อมีต้นแบบแบบนี้ ก็น่าจะทำได้

เราประสานกับภาคเอกชน ซึ่งเขาก็สนใจและไปศึกษาหาแนวทาง จนไปเห็นแนวทางในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าสามารถตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดได้ ซึ่ง 1 ใน 10 เรื่องที่สามารถทำได้คือเป็นระบบราง ก็เลยบอกว่าจากการทำระบบบีอาร์ทีมาเป็นระบบรางได้มั้ย เราก็ไปประสานผู้ใหญ่ ของบประมาณเปลี่ยนการศึกษาจากบีอาร์ทีเป็นรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งโชคดีที่ทาง สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) กระทรวงคมนาคม ก็อนุมัติงบประมาณให้ศึกษาเพื่อเปลี่ยนจากบีอาร์ทีเป็นรถไฟฟ้ารางเบา

ขณะเดียวกัน เมื่อภาคเอกชนรู้ปัญหาและข้อจำกัดแล้ว เขาก็เกิดคำที่ว่า “สำนึกใหม่…สำนึกเมือง” ทุกคนกลับมานั่งคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ หนทางมันจะไปไม่ได้ ได้เวลาหรือยังที่จะกลับมาคิดว่าจะต้องทำด้วยตัวของเราเอง เป็นความรู้สึกเหมือนระเบิดจากข้างในว่าพวกเราน่าจะทำเรื่องนี้ได้แล้ว

ต่อมาภาคเอกชนก็รวมตัวกัน 20 ราย เป็นลูกหลานคนขอนแก่น เป็นคนรุ่นใหม่ จบการศึกษา มีสำนึกรักท้องถิ่นสูง รวมตัวกันขอเงินพ่อแม่คนละ 10 ล้านบาท 20 หุ้นรวมกันก็ได้ 200 ล้านบาท จัดตั้ง “บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” (เคเคทีที) เพื่อเตรียมหาวิธีการแนวทางมาร่วมสนับสนุนกับเทศบาล

ส่วนเทศบาลนครขอนแก่นในสมัยอดีต เราก็พยายามดิ้นรนจัดตั้งบริษัทเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย พ.ร.บ.เทศบาล สามารถจัดตั้งได้โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ต้องถือหุ้นเกินกว่า 50% 2. ทำสาธารณูปการระบบขนส่งมวลชน 3. อนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังไม่เคยมีเทศบาลไหนทำ

เราก็ทำเรื่องขอจัดตั้งบริษัทเทศบาลนครขอนแก่น ทำส่งไปก็มีหนังสือตีกลับมาถาม 6-7 ข้อ เราก็ตอบไปทุกข้อ แล้วส่งกลับไปใหม่แต่ก็ตีกลับมาถามใหม่อีก 6-7 ข้อ สมัยนั้นจะทำบีอาร์ทีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ก็มีการส่งกลับมาบอกว่าถ้าจะทำควรจะมีทุนจดทะเบียน 1,300 ล้านบาท เราเลยบอกว่าถ้ามีทุนขนาดนั้นผมทำเองแล้วล่ะครับ ไม่ต้องขอไปขอมาแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายหนังสือขอจัดตั้งบริษัทก็ไปไม่ถึงรัฐมนตรี

แต่อย่างน้อยก็ยังดีมีผู้ใหญ่เมตตา โดยระบบราชการก็ให้เราไปคุยกับรัฐมนตรี ก็ต้องมีการวิ่งประสาน ซึ่งคนที่ช่วยประสานให้คือพลเอก ประจิน จั่นตอง สมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เราเรียนเรื่องนี้ให้ท่านทราบ ท่านก็บอกว่าขอปวารณาตัวเป็นที่ปรึกษาให้เรา ก็อาศัยสายสัมพันธ์ของท่าน ติดขัดอะไร จะไปพบใคร ท่านก็ช่วยเราในการประสาน

จนได้เข้าพบพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านมีเวลา 15 นาที เราก็นำเรียนความเป็นมาเป็นไป สุดท้ายท่านคุยกับเราชั่วโมงครึ่ง ถามทุกเรื่อง ทำยังไง เอาทุนที่ไหน ทำแล้วเกิดผลดีกับเมืองยังไง แตกต่างจากที่รัฐบาลทำให้กรุงเทพฯ ยังไง

“พอคุยกับท่านเสร็จ ท่านก็บอกว่า ถ้าทำสำเร็จก็คงจะเป็นต้นแบบประเทศไทย เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐบาลก็คือ สมมติ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) จะทำในกรุงเทพฯ ก็ใช้เงินรัฐบาล ทำเสร็จก็เป็นอันรู้กันว่ารายได้ค่าโดยสารแค่ 60% แต่ขาดทุนแน่ๆ 40% ซึ่งถ้าจะทำต้องมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (ทีโอดี) พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้มีรายได้เชิงพาณิชย์เข้ามาเสริม โครงการถึงจะไปรอด แต่วันนี้รัฐบาลก็ติดปัญหาเรื่องระเบียบ เรื่องกฎหมาย เยอะแยะ การจะพัฒนาที่ดินต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ ได้แต่ลงทุนทำระบบรถไฟฟ้าอย่างเดียว ต้องอุ้มต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระอีกยาวนาน”

พัฒนาคน พัฒนาเมือง แบบขอนแก่น

แต่ขอนแก่นมีรูปแบบของเรา เส้นทางที่เราศึกษาไว้ มีพื้นที่ใจกลางเมืองประมาณ 200 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่ให้กระทรวงเกษตรฯ ทำเป็นสถานีวิจัยข้าว การนำพื้นที่ใจกลางเมืองมาเป็นสถานีวิจัยข้าวไม่ได้แปลว่าไม่เหมาะสม แต่เราคิดว่าถ้านำมาพัฒนาทางด้านอื่น แล้วเสริมศักยภาพเมือง ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของเมือง

เราก็เสนอขอที่ดินแปลงนี้เพื่อขอเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ ก็อธิบายรายละเอียดอย่างนี้ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทราบ ท่านตั้งใจฟังและเห็นควรสนับสนุน ท่านก็เรียกฝ่ายกฎหมายกระทรวงมหาดไทยมาพิจารณาเทียบเคียงกับกฎหมายของ กทม. ว่าการจัดตั้งบริษัทของเทศบาลจะเป็นไปได้หรือไม่

เดิมทีเทศบาลนครขอนแก่นจะจัดตั้งแค่เทศบาลเดียว แต่เราก็ไปชวนอีก 4 เทศบาล ซึ่งเป็นเทศบาลในเส้นทางที่รถไฟจะผ่านว่ามาทำร่วมกัน ขออนุมัติสภาจัดตั้งบริษัทของพวกเรา ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกัน และจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (เคเคทีเอส) แล้วเราก็จดทะเบียนเป็นของพวกเรา 5 เทศบาล 100% ไม่ได้หุ้นกับเอกชน ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ไม่ได้ใช้เงินเทศบาล แต่ภาคเอกชนมาสนับสนุน จนสามารถจดทะเบียนได้ รอแค่การอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท

กระทั่งรัฐมนตรีมหาดไทยอนุมัติ สามารถจดทะเบียนได้เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อจะเป็นเจ้าของโครงการ แล้วเราก็เคยประกาศกับ สนข. ว่า องค์กรท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมทั้งหมด ขอร่วมเป็นเจ้าของโครงการ ก็รับทราบเรื่องนี้กันมาตลอด

สิ่งหนึ่งที่รอคอยก็คือผลการศึกษา ซึ่งใช้เวลาร่วม 2 ปี ก็เพิ่งจะผ่านรอบสุดท้ายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเห็นชอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นชอบผลการศึกษาต่างๆ แต่เมื่อเห็นชอบแล้ว กลับมีสิ่งที่เป็นปัญหาตามมาโดยที่พวกเราไม่เคยนึกมาก่อนก็คือ กระทรวงคมนาคมแจ้งให้เราทราบว่า โครงการของเราจะถูกดึงกลับไปให้กระทรวงคมนาคมทำเอง โดย รฟม.

เราก็งงว่า ท่านเจ้ากระทรวง ผู้อำนวยการต่างๆ ทุกท่านก็รับทราบ เพราะเราทำเรื่องนี้ด้วยกันมาโดยตลอด แต่จู่ๆ มาบอกว่าจะดึงกลับไปทำ ทั้งที่สมัยอดีตตอนที่เราอยากจะทำไม่มีใครอยากจะช่วยทำ แต่ถึงวันนี้ท่านประสงค์ดีอยากจะเอากลับไปทำ

อย่างไรก็ตาม วันที่เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน ก็นำเรื่องนี้เรียนให้ทราบว่า ขอนแก่นไม่ได้เพียงแค่ต้องการอยากจะได้ระบบขนส่งมวลชน แต่ขอนแก่นมีวิธีคิดที่ลึกกว่านั้น เราประสงค์อยากจะผลิตเอง ถ้าเป็นระบบโมโนเรลแบบที่กรุงเทพฯ ทำ ทั่วโลกก็มีอยู่ไม่กี่บริษัท การจะลงทุนก็แพงมาก

แต่ระบบรถไฟฟ้ารางเบาทั่วโลกมีนับร้อยบริษัท การลงทุนก็จะถูก ขนาดก็เล็กกว่า แล้วโนว์ฮาวมีขายทั่วโลก สิ่งที่เราประสานงานไว้ก็คือ เราจะซื้อโนว์ฮาว ซื้อเทคโนโลยีผลิตที่ขอนแก่น เราอยากเห็นเด็กอีสาน เด็กขอนแก่น มีงานทำ

แล้วเราก็ไปประสานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประสานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จัดทำหลักสูตรระบบรางให้เด็กอีสาน ให้เด็กขอนแก่น ได้เรียนระบบราง เราหวังว่าเมื่อโครงการเกิดขึ้น เด็กบ้านเราจะได้อยู่บ้านเรา ไม่ต้องไปอีอีซี ไม่ต้องไปภาคตะวันออก ไม่ต้องไปอยุธยา เด็กอีสานอยู่อีสานได้มั้ย เราอยากทำเรื่องนี้

แล้วถ้าทำเสร็จ จีดีพีมันเกิดขึ้นกับเมืองมากมายมหาศาล ขอนแก่นก็ได้ผลประโยชน์จากโครงการที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ซื้อมาตั้ง แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ มาเปิดประมูลแล้วก็สร้าง สร้างเสร็จทุกคนก็หายหมด พวกเราก็จะมีแค่ระบบระบบหนึ่ง แต่ไม่มีอะไรเป็นของคนขอนแก่น นี่คือวิธีคิดที่เราเรียนผู้หลักผู้ใหญ่ เราผลักดันในหลายเรื่อง แต่เขาบอกเราว่า รฟม. จะทำ

สุดท้ายเราก็พยายามนำเรียน แต่เขาก็สร้างเงื่อนไขว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องให้เราทำหนังสือจากเทศบาลไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือไปยังกระทรวงคมนาคม ไป สนผ. (สำนักนโยบายและแผน) ขอแผนแม่บทที่ศึกษาขอนแก่นกลับมาให้บริษัท 5 เทศบาลทำ เราก็พยายามหาโอกาสไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านก็เห็นชอบในหลักการ

ที่ผมพูดถึงผู้หลักผู้ใหญ่มากหน่อยก็เพราะเราเป็นองค์กรที่เล็กมาก แต่เรื่องที่ทำมันต้องปฏิสัมพันธ์กับอำนาจที่เหนือกว่านอกเหนือการควบคุมทั้งนั้นเลย โชคดีที่ผู้ใหญ่ให้เข้าพบ ซึ่งเราก็บอกว่าเวลาขอนแก่นเปิดประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้ง จะมีข้าราชการบำนาญเกษียณ มีคุณแม่คุณพ่อที่แก่เฒ่าหอบเงินมาคนละแสนสองแสน บอกว่าจะมารอซื้อหุ้น อยากเห็นมันเกิด อยากเห็นขอนแก่นเกิดโดยคนขอนแก่น แต่ก็ยังทำต่อไม่ได้ พอเรื่องราวเป็นอย่างนี้ ผู้ใหญ่ทราบ ผู้ใหญ่ก็เห็นชอบ ทำหนังสือไปยังกระทรวงคมนาคมขอแผนแม่บทฉบับนี้มาทำ

หลังจากนั้นก็มีการให้ข่าวว่าเดือนเมษายนนี้จะนำโครงการของเราเข้าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อเข้าวาระให้ รฟม. ทำอีก ฉะนั้นแปลว่าเรามีเวลาถึงเดือนเมษายน ต้องรีบทำหนังสือไปดักเอาไว้ ส่วนจะได้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยทุกสรรพกำลัง เพื่อจะบอกว่าเราเดินมาเส้นทางนี้ มันเป็นสำนึกใหม่ สำนึกเมืองของประเทศไทย ที่จะเป็นภาระกับรัฐบาลน้อยที่สุดกับโครงการในลักษณะนี้

ที่มาภาพ: มูลนิธิหัวใจอาสา

สำนึกเมืองจากความร่วมมือ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

กระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้มีอีก 14 เมือง ที่พากันจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้น โดยใช้ขอนแก่นเป็นต้นแบบโมเดล แล้วจะทำแบบนี้ แต่พอโดนวิธีคิดในกรอบเดิมๆ อะไรๆ ก็ไปเป็นภาระรัฐบาล รัฐบาลต้องเป็นคนทำให้ ก็ไม่มีแนวทางไหนเกิดขึ้นได้ แต่ 14 เมืองเขาพร้อมแล้ว เขาจดทะเบียนรอทำแบบนี้ ทุกคนอยากจะทำ เพราะในต่างจังหวัดมันเกิดสำนึกของเมือง ถ้าเป็นภาษาเก่าก็บอกว่าเมืองนิยม ภูมิภาคนิยม

แต่วันนี้สำนึกของเมืองมันเปลี่ยนไปเป็นความร่วมมือ การไม่แบ่งเขาไม่แบ่งเรา ทุกคนบรรลุถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมที่จะออกเงิน พร้อมที่จะลงแรง ใครมีอะไรออกได้ก็ช่วยกันออก เพื่อทำเรื่องนี้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้

อย่างไรก็ตาม ก็มีปัญหาบางประการเกิดขึ้นอีก ไม่เพียงแค่เรื่องโครงการ นั่นคือปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งเป็นของกระทรวงการคลัง และดูแลโดยกระทรวงเกษตร ซึ่งเข้าใจได้ว่าความรู้สึกในความเป็นเจ้าของท่านมีสูง แต่ ณ วันนี้ ในสาระที่คุยเรื่องการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังอยู่ในกรอบวิธีคิดแบบเดิม ไม่กล้าคิด ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็มีการเปิดการเจราจา

สุดท้ายก็บอกว่าให้เราหาที่ดินที่เหมาะสมประมาณ 500 ไร่ ที่มีความพร้อมทุกๆ ด้านเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งวิธีการของเราก็ไม่เหมือนบ้านเมืองไหน เอกชนกล้าซื้อให้ แล้วอุทิศให้เทศบาล แล้วเทศบาลก็เอาที่ดินแปลงนี้มอบให้กระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงการคลังเอาไปให้กระทรวงเกษตรฯใช้

คนขอนแก่นกล้าทำถึงขนาดนี้ เพราะอยากเห็นโครงการมันเกิดขึ้นในเมืองขอนแก่นในรูปแบบแบบนี้ ทุกเรื่องที่ทำระเบียบมันไม่มี แต่มันไปเกินกว่าระเบียบกฎหมายที่จะมี ภายใต้การถอนหายใจของท่านผู้ว่าฯ ขอนแก่น หรือใครต่อใครที่ทำเรื่องนี้เพราะทุกคนหาระเบียบไม่เจอ ไม่รู้จะทำยังไง แต่ทุกคนก็ไม่ขวางและให้การสนับสนุนกับรูปแบบที่รอคอยให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ ซึ่งล่าสุดเราได้พบรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ท่านก็เห็นชอบในหลักการ แต่คนที่ไม่เห็นชอบคืออธิบดีกรมการข้าว ก็ต้องรอรัฐมนตรีประสานให้ เพื่อที่จะเกิดขึ้นได้จริงในการใช้ที่ดิน

ถ้าท่านคิดว่าที่ดินแปลงนี้หลายพันล้าน เอามูลค่ามาเป็นตัวตั้งต้นเพื่อจะเป็นอุปสรรคในบางเรื่อง มันก็ไม่มีวันทะลวงได้ แต่ถ้าคิดว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นแล้วมันดีต่อเมือง มันก็น่าจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น สิ่งที่คืบหน้าที่ชัดเจนวันนี้คือทุกคนร่วมมือ 5 เทศบาลรวมตัวกันจัดตั้งบริษัท ภาคเอกชนรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทของเอกชน รถสองแถวแต่ก่อนที่เคยขัดขวางโครงการตอนที่คิดทำเรื่องบีอาร์ที แต่วันนี้ประธานรถสองแถวประกาศในที่ประชุมสภาเมืองว่าไม่ขวางและอยากจะช่วยสนับสนุน

ภาควิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ เยาวชน ทุกภาคส่วน ทุกคนพร้อมให้การสนับสนุน เพียงแต่มันเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น การจะเดินก้าวแต่ก้าว ระเบียบก็ไม่ได้ตราเอาไว้ รูปแบบก็ไม่มี คิดไปทำไป ตอนนี้ก็ต้องให้มีฝ่ายกฎหมายเข้ามาช่วย แล้วผู้ใหญ่ก็แนะนำให้เราไปพบใครต่อใครเต็มไปหมด เพื่อให้โครงการเดินได้

“ดังนั้น โครงการนี้มันก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมของเมือง เป็นสำนึกใหม่ สำนึกเมือง ทุกคนมีความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของ ซึ่งผมคิดว่าเมื่อรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ มันจะเกิดขึ้นได้จริงโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด การปฏิบัติเห็นชอบให้เกิดขึ้นจริงจะลดความเหลื่อมล้ำได้ เป็นการกระจายความเจริญที่ไม่ต้องพูดอะไรมาก แล้วมันจะเกิดขึ้นจริงในแต่ละเมือง”

โครงการของเราทางรัฐบาลก็เห็นชอบว่าควรจะต้องให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความเห็นต่างระหว่างกระทรวงต่อกระทรวง ดังนั้น ที่นำเรียนก็เพื่อเป็นการจุดประกาย มันมีฐานที่เราสั่งสมกันมา แต่โครงการระบบรถไฟรางเบาวันนี้ยังไม่สำเร็จ โอกาสสำเร็จจะบอกว่าสว่างก็สว่าง จะบอกว่ามืดมันก็มืด

แต่อย่างน้อยความสว่างก็คือขั้นตอนที่มันไม่เคยมีเลย มันไม่เคยเห็นผลอะไรเลย จนมาเริ่มเห็นผลทีละเรื่อง แต่ตอนสุดท้ายก่อนจะทะลุอุโมงค์ออกไปเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของอำนาจที่มากกว่าทั้งสิ้น ในการที่ผู้มีอำนาจจะเป็นคนบอกว่าได้หรือไม่ได้ ซึ่งเราก็ภาวนาว่าใครที่ช่วยเราได้ กรุณาช่วยเราด้วย

เพราะประชุมแต่ละครั้งมันเหนื่อย เหนื่อยก็เพราะว่าในระบบราชการแบบไทยก็คือ อะไรที่ไม่ใช่เรื่อง เรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้ ไม่อยากจะแตะ ไม่อยากจะจับ ไม่อยากจะให้มันผ่าน เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เคยทำ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทย

“ถ้าจะเกิดสำนึกใหม่ สำนึกเมือง และสำนึกคนได้ ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ ผมคิดว่าประเทศชาติไปไม่รอดถ้าทุกอย่างยังหวังพึ่งรัฐ จนหลายเมืองถอดใจไม่ค่อยอยากจะทำอะไร แต่สำหรับเราเองก็จะพยายามเดินหน้าต่อไปให้โครงการนี้ตั้งไข่ได้ เพื่อเป็นมิติใหม่ของท้องถิ่น มิติใหม่ของบ้านเมืองต่างจังหวัดในภูมิภาคได้”