ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องของธงชาติ

เรื่องของธงชาติ

6 ตุลาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ข่าวเรื่องวันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นวันครบรอบ100 ปีของธงชาติทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าเราเพิ่งมีธงชาติอายุเพียง 100 ปีหรือ ลองมาดูประวัติธงชาติไทยโดยย่อ ความสำคัญของ ธงชาติและเรื่องราวของธงกัน

ธงชาติไทยผืนแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือ ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ธงชาติผืนแรกเป็นธงผ้าสีแดงล้วน

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ใช้ธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น สำหรับเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ ธงสีแดงล้วน และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกมาสามเชือก จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือ ธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลาง

ถัดมาในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ. 2398 จึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้นำเอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง และยกเลิกการใช้ธงสีแดงล้วน

มาถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทยโดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา

ในปี 2470 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เปลี่ยนธงชาติไทยอีกครั้งเนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้าย ๆ กับ ธงชาติของประเทศอื่น ๆ โดยให้เป็นธงพื้นริ้วขาวแดง แต่ก็ได้เพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปด้วยอีกสีหนึ่ง เพราะสีน้ำเงินถือเป็นสีประจำพระองค์ ธงในปี 2470 นี้ ก็คือธงไตรรงค์ (ไตร = สาม; รงค์ = สี) ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ธงไตรรงค์ในปัจจุบันเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ ทั้งสองข้างเป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการไว้ว่า “…..สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจนขึ้นดังนี้ “สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน) สีขาวหมายถึงศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ) สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งความหมายนี้ใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน…..”(ข้อมูลจากkapook.com)

ธงชาติเกี่ยวกับกฎหมายเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นและออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 (ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์อีกจนได้ธงไตรรงค์ในสมัยรัชการที่ 7 ในที่สุด) และในวันที่ 28 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทยโดยให้ ปี 2560 เป็นปีแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ นี่คือที่มาที่ไปของการครบ 100 ปีของธงชาติไทย

สิ่งที่มีลักษณะคล้ายธงชาติมีมาแต่โบราณกาลโดยเฉพาะในการรบตั้งแต่สมัยโรมันเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว โดยเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ ซึ่งมีนัยยะของความเป็นพวกและเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่น่าเชื่อว่าธงผ้าผืนเดียวสามารถรวมจิตใจผู้คนให้เกิดความจงรักภักดี ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนความรักสามัคคีได้เช่นนี้ในทุกอารยธรรมไม่ว่าอินเดีย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป อาฟริกา ไทย ฯลฯ

อย่างไรก็ดีธงชาติในความหมายของการเป็นตัวแทนชาติในทุกวันนี้เพิ่งเริ่มใช้กันเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง แต่เก่าก่อนธงนั้นใช้กันในแทบทุกโอกาส เราเห็นธงประจำองค์พระมหากษัตริย์ ธงประจำตัวผู้นำ ธงประจำกองทัพ ธงของหมู่ลูกเสือ ธงกฐิน (รูปจระเข้) ธงประกาศเพศของลูกคนใหม่ (ญี่ปุ่น)ธงรถแข่ง ธงประจำทีมกีฬา ธงประจำทูต ธงเตือนว่าเป็นคนพิการ ธงเตือนภัย ธงโบกรถไฟ ธงระบุความสูง ธงโจรสลัด ธงฉลองเทศกาล (ตุงของทางเหนือ) ธงกาชาด (สลับสีกับธงชาติสวิสเซอร์แลนด์) ธงศาสนา ธงพรรคการเมือง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับการจัดการอารมณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะป็นการปลุกเร้าจิตใจให้เกิดความรัก ความฮึกเหิม ความมุ่งมั่นร่วมกัน การสร้างศรัทธา และความเลื่อมใส การประกาศความยิ่งใหญ่ การเรียกร้องความสนใจ การขู่ขวัญ ฯลฯ

การเคารพและเข้าใจความหมายของธงชาติไทยไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการรู้ความหมาย การยืนเคารพธงชาติเพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสรภาพ การเป็นหนึ่งเดียวกัน ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าอยู่อย่างคงที่ (static) แต่ควรจะมีพลวัตร (dynamic) กล่าวคือทำให้เกิดชีวิตชีวา ไม่เป็นเพียงผ้าผืนเดียว การมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังธงชาติสามารถปลุกเร้าคนไทยให้รักและภูมิใจในชาติ และสำนึกถึงความเสียสละของบรรพบุรุษไทยจำนวนมากมายที่ได้เสียชีวิตเพื่อให้เราได้มีโอกาสยืนเคารพธงชาติของเราเองในวันนี้อย่างภาคภูมิ

ตัวอย่างหนึ่งของการมีพลวัตรของธงชาติที่สื่อตะวันตกเล่าขานกันมาก็คือการพยายามดันเสาเพื่อให้ธงสหรัฐอเมริกาโบกสบัดเหนือแผ่นดินในการรบที่เกาะอิโวจิมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ศึกอิโวจิมาในช่วงต้นปี 1945 ทหารอเมริกันต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่ต่อสู้อย่างดุเดือดอยู่ 5 อาทิตย์เพื่อมิให้ฝ่ายอเมริกันยกพลขึ้นบกอันจะเป็นสะพานทอดไปสู่การโจมตีเกาะใหญ่ของญี่ปุ่นได้ ทหารอเมริกันตายไปประมาณ 7,000 คน ฝ่ายญี่ปุ่นประมาณ 18,000 คน ภาพถ่ายที่ทหารอเมริกันหลายคนช่วยกันดันเสาที่มีธงสหรัฐอยู่ปลายยอดขึ้นเหนือเกาะอิโวจิมาปรากฏต่อชาวโลกจนดูแล้วขนลุก เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความมุ่งมั่น ความรักชาติ ชัยชนะผ่านสัญลักษณ์ตัวแทน คือธงได้เป็นอย่างดี

ในประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวเช่นว่านี้กับธงมีอยู่อย่างแน่นอนเพียงแต่ต้องการการศึกษาค้นคว้าหาเรื่องราว มาขยายความต่อให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนได้รับทราบและเกิดความรู้สึกขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการมีธงชาติ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 3 ต.ค. 2560