ThaiPublica > เกาะกระแส > สำนึกใหม่…สังคมไทย(ตอนที่1) : “พระไพศาล วิสาโล” กับการก้าวข้ามสำนึกที่คับแคบ มองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเรา

สำนึกใหม่…สังคมไทย(ตอนที่1) : “พระไพศาล วิสาโล” กับการก้าวข้ามสำนึกที่คับแคบ มองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเรา

1 เมษายน 2018


พระไพศาล วิสาโล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 มูลนิธิหัวใจอาสาและภาคีเครือข่ายสมาชิก จัดงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “สำนึกใหม่…สังคมไทย” ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีองค์ปาฐกประกอบด้วย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ, นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN), นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น, และ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เผชิญกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงมากมาย สิ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยอย่างมหาศาล นั่นคือเหตุการณ์โลกาภิวัตน์ ที่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิต ในด้านหนึ่งก็นำความสุขสบายมาให้ผู้คนอย่างมากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็ก่อให้เกิดปรากฎการณ์หลายอย่างที่น่าเป็นห่วง

กระแสความละโมบ – โกรธเกลียด ไหลบ่าท่วมสังคมไทย

มีกระแสความเปลี่ยนแปลงอยู่สองเรื่องใหญ่ ที่อาตมาคิดว่าจะนำมากล่าวในที่นี้ นั่นคือ “การไหล่บ่าของวัฒนธรรมแบบวัตถุนิยม” ซึ่งทำให้เกิดความหลงใหลยึดติดในวัตถุ เป็นกระแสที่ไหลบ่าท่วมท้นสังคมไทย ที่อาตมาอยากจะใช้คำว่า “กระแสของความละโมบ” นั้นก็คือการเอาวัตถุเงินทองเป็นตัวตั้ง ทุกคนเอาความมั่งคั่งเป็นจุดหมายของชีวิต แล้วก็ถือเอาความเจริญเติบโตทางด้านเม็ดเงินเป็นจุดหมายของประเทศ

กระแสดังกล่าวก่อให้เกิดวามเปลี่ยนแปลงมากมายหลายประการ ซึ่งในด้านหนึ่งก็นำความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมาให้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย เกิดการคอร์รัปชัน อาชญากรรม การทำลายสิ่งแวดล้อม ชุมชนแตกแยก เพราะแย่งผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน รวมตลอดถึงความอ่อนแอในครอบครัว เพราะพ่อแม่มัวแต่ทำมาหาเงิน ไม่มีเวลาให้กับลูก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมาอีกหลายด้าน เช่น วัยรุ่นติดยา เกเร หรืออาจจะท้องในวัยเรียน เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันและได้พูดกันอยู่เนืองๆ

ปรากฎการณ์อีกประการหนึ่ง คือการไหล่บ่าท่วมท้นของ “กระแสแห่งความโกรธเกลียด” การแบ่งแยกทางสังคม อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความหลากหลายในทางวิถีชีวิต แต่ยังรวมถึงการแตกตัวทางสังคม เกิดกลุ่มก้อนต่างๆมากมาย ซึ่งเกิดความรู้สึกเหินห่างจนกระทั่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โดยอาศัยความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ก็นำไปสู่ความรุนแรงและการกระทบกระทั่งกัน จนถึงขั้นมีการใช้กำลังอาวุธ นี่คือสองกระแสใหญ่ๆ ที่ไหล่บ่าท้วมท้นสังคมไทย อันเป็นผลสืบเนื่องของกระแสโลกาภิวัตน์

สร้างสำนึกใหม่ “ความสุข” ทำดี จิตอาสา ไม่ใช่การเสพ-การมี

ในการที่เราจะเผชิญกับกระแสแห่งความละโมบ อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญคือ “การสร้างสำนึกใหม่” เกี่ยวกับ “ความสุข” กระแสความละโมบเกิดขึ้นได้เพราะว่าผู้คนมีความเข้าใจว่าความสุขนั้นเกิดจากการมี การเสพ การครอบครอง มีมากเสพมากเท่าไหร่ ก็สุขมากเท่านั้น

ทัศนคติดังกล่าวสะท้อนจากคำพูดของตัวละครในหนังเรื่องหนึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็คือ greed is good ความโลบเป็นของดี นั่นเป็นเพราะมีพื้นฐานมาจากความคิดว่าความสุขเกิดจากการมี การได้ การครอบครองวัตถุ แต่ที่จริงแล้วความสุขมีหลายประเภท นอกจากความสุขที่เกิดจากการมี การเสพแล้ว ยังมี “ความสุขที่เกิดจากการกระทำ” เช่น การทำดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น

การช่วยเหลือผู้อื่น การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อผู้ทุกข์ยาก เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก

แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะชักชวนให้ผู้คนได้เข้าถึงกันมากๆ เพราะว่าจะช่วยทำให้คนมีความสุขได้ง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุ ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่หาความสุขไม่ได้

เมื่อเร็วๆนี้ อาตมาได้ดูคลิปวิดีโอเรื่องหนึ่งซึ่งน่าประทับใจมาก เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งมีฐานะร่ำรวย หน้าตาสะสวย แต่สีหน้าเศร้าหมอง เธอได้ไปหาจิตแพทย์บอกว่าชีวิตเธอไม่มีความสุข รู้สึกว่าจิตใจ ชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า เธอเคยคิดฆ่าตัวตาย

คุณหมอแทนที่จะให้ยา กลับแนะนำให้เธอฟังเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง สนใจจะฟังมั๊ย เธอตอบว่าสนใจ คุณหมอเลยเรียกแม่บ้านคนหนึ่งซึ่งมีอายุแล้ว กำลังทำความสะอาด ให้มาช่วยเล่าเรื่องราวของให้ฟังหน่อยว่าพบความสุขได้อย่างไร

หญิงแม่บ้านผู้นั้นเลยเล่าว่า เมื่อหลายเดือนก่อนเธอสูญเสียสามีจากโรคมาลาเรีย สามเดือนต่อมาลูกชายคนเดียวของเธอก็เสียชีวิตเพราะถูกรถชน ชีวิตเธอแตกสลายไม่เหลือใคร เธอกินไม่ได้นอนไม่หลับและคิดถึงการฆ่าตัวตาย ในช่วงนั้นเธอจำไม่ได้ว่ายิ้มครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

แต่วันหนึ่งขณะที่เธอเดินกลับบ้านตอนเย็น มีลูกแมวตัวเล็กๆเดินตามเธอมาจนถึงหน้าบ้าน เธอสงสารลูกแมว เลยนำเข้ามาในบ้านเพราะข้างนอกอากาศหนาวมาก แล้วก็หานมให้ลูกแมวกิน ลูกแมวกินนมจนหมดจาน แล้วลูกแมวก็มานัวเนียอยู่ข้างเท้าเธอ เธออดยิ้มไม่ได้

สักพักหนึ่งเธอเอะใจว่าการที่ฉันช่วยแมว ทำให้ฉันยิ้มได้ มันเป็นยิ้มครั้งแรกของเธอในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ถ้าการที่ช่วยแมวทำให้เธอยิ้มได้ การที่เธอทำอะไรดีๆกับเพื่อนมนุษย์หรือผู้คน ก็น่าจะทำให้เธอมีความสุข วันรุ่งขึ้นเธอก็เลยทำขนมปังไปให้เพื่อนบ้านที่กำลังป่วย เพื่อนบ้านยิ้มมีความสุข เธอก็มีความสุข นับแต่นั้นทุกวันเธอตั้งใจจะไปทำดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่เธอจะช่วยได้

นับแต่นั้นมาเธอก็กินได้นอนหลับ เธอพูดว่าไม่มีใครจะกินได้และนอนหลับดีเหมือนกับเธอ เธอมีความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และพบว่าความสุขนั้นเกิดจากการที่เรามอบให้กับผู้อื่น ผู้หญิงคนที่มาพบจิตแพทย์นั้นเมื่อได้ฟังก็ตระหนักว่า จริงอยู่ที่เธอมีเงินที่จะซื้อทุกอย่างได้ แต่ขณะเดียวกันเธอก็สูญเสียสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้

เรื่องราวของแม่บ้านท่านนี้ชี้ให้ว่า การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่ประเสริฐและประณีตยิ่งกว่าความสุขจากการเสพการมี ซึ่งอาจจะให้ความพึงพอใจเพียงแค่ชั่วคราว แต่ก็จางคลายได้เร็วและอาจจะตามมาด้วยความทุกข์

มีคนหลายคนที่พบความสุขจากการที่ได้ทำดี มีน้ำใจเพื่อช่วยผู้อื่น เพื่อนของอาตมาคนหนึ่งเธอเป็นมะเร็งตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ ก็รักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ รวมทั้งการคุมอาหาร จนกระทั่งมะเร็งปอดได้หายไป แต่เจ็ดปีต่อมาเธอก็เป็นอีกและเป็นหนักกว่าเดิม หมอบอกว่าเธอจะอยู่ได้ไม่เกินสองปี

เธอท้อแท้ เธอหมดหวัง จนกระทั่งมีกัลยาณมิตรชวนให้เธอลองไปเป็น “จิตอาสา” เพื่อช่วยเด็กที่ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งเด็กที่อยู่ในระยะสุดท้าย หลังจากที่เธอไปเป็นจิตอาสาช่วยเด็กเหล่านี้ไม่นาน เธอมีความสุข และในเวลาไม่นาน ก้อนมะเร็งก็หายไปจากปอดของเธอ ปัจจุบันมะเร็งหายไปจากร่างกายเธอมาสิบปีแล้ว และเธอพบว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เธอมีความสุขใจ และความสุขใจก็คงมีส่วนช่วยทำให้ความสุขทางกายหรือความปกติทางกายได้กลับคืนมา

ถ้าหากคนในสังคมไทยได้ตระหนักว่าความสุขที่ประเสริฐกว่าการมีการเสพ มันมีอยู่และเข้าถึงได้ง่าย นั้นคือ “การช่วยเหลือผู้อื่น” คนในสังคมไทยจะมีความสุขกันมากขึ้นและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า คนที่เป็นจิตอาสาจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้น้อยกว่าคนทั่วไป นั่นก็คือว่าคนที่มีความสุขกว่า มีแนวโน้มมากกว่าที่จะช่วยคนอื่น

นอกจากสุขจากการช่วยผู้อื่นแล้ว ความสุขยังเกิดจาก “ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ราบรื่น” รวมทั้งความสุขจากการทำใจ เช่นการฝึกสมาธิ สถาบันการทำวิจัยระดับโลกแกลลัพ โพล (Gallup Poll) ได้ระบุว่าปัจจัยแห่งความสุข 5 ประการ ได้แก่

    1.ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ราบรื่น
    2.การมีส่วนร่วมในชุมชน
    3.การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต
    4.การมีสุขภาพกายที่ดี
    5.มีฐานะการเงินที่ดี

เงินเป็นส่วนหนึ่งของความสุข แต่ว่าในบรรดาปัจจัย 5 ประการ 3 ประการแรกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมและการมีส่วนร่วมในชุมชน ซึ่งเกิดจากการมีจุดหมายในชีวิตว่าชีวิตที่ดีงามคืออะไร ปัจจุบันเดนมาร์กครองอันดับชาติที่มีความสุขสูงสุดในยุโรปต่อเนื่องในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา และติดอันดับชาติที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เขาพบว่าคนเดนมาร์กกว่าร้อยละ 40 เป็นจิตอาสาในกลุ่มหรือองค์กรประชาสังคม กว่าร้อยละ 90 เป็นสมาชิกชมรมหรือสมาคมนานาชนิด การที่คนเดนมาร์กติดอันดับสูงสุดของคนที่มีความสุข ปัจจัยสำคัญก็คือการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ราบรื่นและการมีส่วนร่วมในชุมชนที่คึกคัก

ปัจจุบันเมืองไทยมีผู้คนมาเป็นจิตอาสากันมากขึ้น มีองค์กรมากมายผุดขึ้นมาเพื่อชวนคนมาทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ แต่เราควรจะมีจิตอาสากันให้มากกว่านี้และมีองค์กรที่จะรองรับคนที่อยากจะมาเป็นจิตอาสา

หากว่าผู้คนมีความสุขจากการทำดีและการทำใจ จิตก็จะเป็นอิสระจากวัตถุได้ง่าย ไม่พึ่งพาจนตกเป็นทาสของมัน แม้มีเงินน้อยก็ไม่อิจฉาคนที่ร่ำรวยเพราะมีความสุขอยู่แล้ว ไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งเย้ายวนทางวัตถุ แม้จะมีโอกาสคอร์รัปชันก็ไม่ทำ เพราะพบว่ามีความสุขอยู่แล้วจากภายใน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความสุขจากภายนอก จากการเสพ

สำนึกแห่งความสุขอันได้แก่การตระหนักว่าความสุขเกิดจากการทำดี มีน้ำใจ และการทำใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยในการเผชิญกับกระแสแห่งความละโมบ ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ท่านใช้คำว่า กิน กาม เกียรติ

ผนวก “พวกเขา” ให้เป็น “พวกเรา”

มนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัวก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันเราทุกคนก็มีคุณธรรม ที่ทำให้เราพร้อมที่จะเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือยอมทุกข์ให้ผู้อื่นมีความสุข เช่น ยอมสละภัยเพื่อช่วยชีวิตคนแปลกหน้า ยอมเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยคนที่กำลังประสบภัยพิบัติ ยอมเหนื่อยยากเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม

ทั้งนี้เพราะคนเราทุกคนมีเมตตากรุณา ซึ่งเกิดจากความรู้สึกร่วม ทำให้รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เพราะผู้อื่นในเบื้องต้นนั้นหมายถึงคนอื่นที่เป็นพวกเดียวกับเรา เช่น เป็นครอบครัวของเรา เครือญาติของเรา ชุมชนของเรา หรือเผ่าพันธ์ของเรา

สิ่งที่ยากก็คือ คนอื่นที่เป็นคนละพวกกับเรา ไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นพวกเขา เริ่มต้นตั้งแต่เป็นคนละโรงเรียนจบคนละโรงเรียน คนละสถาบัน คนละจังหวัด หรือคนละประเทศ พัฒนาการของมนุษย์ที่ผ่านมาก็คือความสามารถในการ “ผนวกรวมพวกเขาให้กลายเป็นพวกเรา”

การมีใจที่มองเห็นกลุ่มคนที่หลากหลายว่าเป็นพวกเดียวกับเรา เช่น คนละโรงเรียนก็จริง แต่ก็เป็นคนจังหวัดเดียวกัน คนละจังหวัดก็จริงแต่เป็นคนภาคเดียวกัน คนละภาคก็จริงแต่เป็นคนชาติเดียวกัน นี่เป็นความสำเร็จของชาตินิยมที่สามารถผนวกคนจังหวัดต่างๆ ซึ่งอาจจะมีสำนึกของความเป็นคนสุพรรณบุรี คนกาญจบุรีที่เข้มแข็ง หลอมรวมให้กลายเป็นพวกเดียวกันก็คือคนไทยด้วยกัน

เห็นความเหมือนให้มากกว่าความต่าง

อย่างไรก็ตามสำนึกเช่นนี้ก็ยังมีปัญหา เพราะว่ามันนำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนในชาติที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งคนในชาติเดียวกันก็อาจจะมีความเป็นปฏิปักษ์เพราะความรู้สึกที่คับแคบ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ความขัดแย้งระหว่างชาติ เกิดจาก “สำนึกที่คับแคบ” มองคนที่ต่างว่าเป็นพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา เราจำเป็นต้องมีสำนึกที่กว้าง มองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเรา แม้จะมีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อุดมการณ์ที่แตกต่างกันก็ตาม

จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถจะเห็นความเหมือนมากกว่าความต่าง เห็นสิ่งที่ใหญ่กว่าที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน เช่น เห็นว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย เป็นพม่า เป็นโรฮิงญา เป็นพุทธ เป็นมุสลิม

ถึงที่สุดแล้วเราเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเป็นสิ่งดังกล่าว เราเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเป็นคนไทย ก่อนที่จะเป็นพม่า เราเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเป็นพุทธ ก่อนที่จะเป็นอิสลาม เราเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเป็นเหลืองหรือแดง

นอกจากเป็นมนุษย์เหมือนกันแล้ว เรายังมีบรรพบุรุษร่วมกันด้วย การค้นคว้าทางด้านยีนส์หรือพันธุกรรม ตลอดจนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ทั้งโลก มันทำให้เราพบความจริงที่น่าสนใจหลายประการ เคยมีการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับพันธุรกรรมหรือยีนส์ เขาได้ข้อสรุปว่าชาวยุโรปทุกคนในวันนี้ มีบรรพบุรุษคนเดียวกันเมื่อ 600 ปีที่แล้ว พูดอีกอย่างคือสามารถสืบสาวไปถึงคนๆเดียวที่เป็นบรรพบุรุษร่วมเมื่อ 600 ปีที่แล้ว

ยิ่งกว่านั้นเขาพบว่าไม่ว่าชาติใด ภาษาใด เมื่อสืบสาวบรรพบุรุษแล้วก็จะพบว่ามีบรรพบุรุษคนเดียวกันซึ่งมีชีวิตเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษร่วมกันของเรา มีมาเมื่อไม่นานมานี้เอง

ในทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เรานั้นทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ และรวมไปถึงสัตว์ด้วย พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อนมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ทุกคนที่เรารู้จักในวันนี้ เคยเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง สามีภรรยา ในชาติใดชาติหนึ่ง ในวัฎสงสารอันไม่มีประมาณ นั้นก็คือความรู้สึกร่วมที่เรามีต่อกัน

นอกจากความเหมือนกันที่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีบรรพบุรุษเหมือนกัน หรือมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งแล้ว เราทุกคนยังอยู่ได้เพราะผู้อื่น ยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความผาสุกของเราแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลหรือน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งโลก

วิธีเชื่อมของเราผูกพันกับผู้อื่น ต้องพึ่งพาผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสุขของเรากับความสุขของผู้อื่นแยกจากกันไม่ได้ ถ้าเขาทุกข์ เราก็สุขได้ยาก ยิ่งถ้าเรารู้เท่าทันสำนึกว่าเชื้อชาติ ภาษา สถานภาพ เป็นสิ่งสมมุติ ถึงที่สุดแล้ว เราต่างมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

นี่คือสำนึกใหม่ที่จะช่วยพัดพากระแสแห่งความโกรธเกลียดที่กำลังไหลบ่าทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก กระแสความโกรธเกลียดนั้นเป็นกระแสที่มุ่งมองเห็นแต่ความต่างมากกว่าความเหมือน ต่างสีผิว ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างกระบวนการ ทั้งๆที่ความต่างนั้นเป็นส่วนเสี้ยวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเหมือน แต่มนุษย์เราโดยธรรมชาติมักจะมองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน

เพื่อนของอาตมาเป็นชาวอเมริกันแต่งงานกับชาวญี่ปุ่น มีลูกออกมาก็เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น เวลาเด็กคนนี้ไปเรียนหนังสือในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนและคนญี่ปุ่นก็จะบอกว่าเขาเป็นฝรั่ง แต่เวลากลับไปเยี่ยมปู่ที่อเมริกา คนที่นั่นก็บอกว่าเขาเป็นญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของคนเรามีแนวโน้มที่จะมองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน

ตราบใดที่มนุษย์เรายังมองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน เราจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ง่าย เพราะมนุษย์เราไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ 100% แต่การที่มนุษย์มีความแตกต่างแค่ส่วนเสี้ยว มีความเหมือนกันมากกว่า 90% ถ้าหากว่าเรามองเห็นแต่ความต่าง เราก็จะเห็นผู้อื่นเป็นคนละพวกกับเรา และจะนำมาสู่ความเหินห่างและความเป็นปฏิปักษ์กันในที่สุด

เราจำเป็นต้องมีมุมมองหรือทัศนคติที่ช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้เราเห็นซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนมนุษย์มากกว่าเป็นคนที่แตกต่างกัน จำเป็นจะต้องมีความใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างทางความคิด โดยตระหนักว่าแม้จะคิดต่างกัน แต่ก็มีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง

ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดในความคิด ไม่ด่วนสรุปว่าความเห็นของตนเท่านั้นที่ถูก ข้อมูลของตนเท่านั้นที่จริง เพราะเหตุว่าแม้ความเห็นของเราจะถูกก็จริง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความเห็นของผู้อื่นจะผิดไปด้วย ในทางพระพุทธศาสนามีคำว่า “สัจจานุรักษ์” เป็นเครื่องเตือนใจว่าแม้ความเห็นของเราจะถูก ข้อมูลของเราจะจริงแต่ก็อย่าไปด่วนสรุปว่าความเห็นของผู้อื่นที่ต่างจากเรานั้นผิด ข้อมูลของเขาที่ต่างจากเรานั้นไม่ถูกต้อง

ไม่ยึดติดความดี – ความถูกต้อง ไม่มองคนอื่นเป็นศัตรู

ที่สำคัญคืออย่าไปยึดติดในความดีของเรา เพราะถ้าเรายึดติดในความดีของเรา เราก็จะมองคนอื่นไม่เหมือนเรา ว่าเป็นคนที่ผิด เป็นคนที่ไม่ถูกต้อง ทุกวันนี้เรายึดติดในความคิดในความดีของเรามากเกินไป เราจึงมองคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ที่คิดต่างกับเราว่าเป็นศัตรู

หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก เจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต ซึ่งมรณภาพไปแล้ว ท่านกล่าวว่าความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้าเรายึดติดไว้ มันก็ผิด เพราะไม่มีอะไรที่จะยึดติดถือมั่นได้ และถ้าหากว่าเรายึดติด เราก็สามารถจะทำร้ายผู้อื่นในนามของความถูกต้องของเราได้
ที่สำคัญคือเราไม่ควรมองว่าผู้อื่นเป็นศัตรู ศัตรูของมนุษย์ไม่ใช่คน แต่คือความโกรธ ความเกลียด ความหลง เมื่อใดก็ตามที่เรามีความโกรธหรือถูกความโกรธเข้าครอบงำใจ ให้ระลึกว่าความเป็นมนุษย์ของเรากำลั่งถูกบั่นทอน ถ้าเราตระหนักตรงนี้ เราจะไม่ยอมให้ความโกรธความเกลียดมาครองใจ เมื่อเผชิญหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดต่างจากเรา

ยิ่งเราเห็นเขาไม่มีความเป็นมนุษย์ เราเองนั้นแหละอาจจะหมดความเป็นมนุษย์ทันทีที่เรามีความโกรธเกลียด ถ้าเราตระหนักเช่นนี้ เราก็จะระมัดระวังไม่ให้ความโกรธความเกลียดมาครองใจ

และนี่คือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยทำให้เราเผชิญกับกระแสแห่งความโกรธเกลียด สังคมไทยควรมีภูมิคุ้มกันด้วยจิตสำนึกดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถก้าวข้ามกระแสแห่งความโกรธเกลียด ไปให้พ้นจากความความรู้สึกโกรธเกลียด กลัว ซึ่งกำลังไหลบ่าและครอบงำสังคมไทยในปัจจุบัน