ThaiPublica > คอลัมน์ > “อาสาสมัคร” บุคคลแห่งปี 2554 ปรากฎการณ์ในไทยกับแนวโน้มใหม่ในโลก

“อาสาสมัคร” บุคคลแห่งปี 2554 ปรากฎการณ์ในไทยกับแนวโน้มใหม่ในโลก

2 มกราคม 2012


วรัญญา ศรีเสวก

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าและก้าวสู่ปีใหม่ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาสื่อกระแสหลัก ต้องสรุปเหตุการณ์สำคัญในรอบปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมไปถึงคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

ปีนี้ถือเป็นปีที่พิเศษและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ เมื่อสื่อหลายสำนักต่างพร้อมใจกันยกย่องให้ บรรดาเหล่าอาสาสมัคร ที่สละเรี่ยวแรง เวลา และกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม กลายเป็นบุคคลแห่งปี 2554

ไมผิดนักหากจะกล่าวได้ว่า งานอาสาสมัคร แนวคิดที่เคยมีความพยายามผลักดันจากภาคีที่เกี่ยวข้องมายาวนานพอๆกับการเกิดขึ้นกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในประเทศไทย กำลังก้าวขึ้นมากลายเป็น “กระแส” ในสังคมไทยวันนี้โดยเฉพาะกับกลุ่ม “คนรุ่นใหม่”

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานอาสาสมัคร ดร.เด็บบี้ ฮาสกี้ ลีเวนทอล จาก Center for Social Impact กล่าวในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่เปิดเผยเมื่อคราวการประชุม อาสาสมัครโลก ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า “แนวโน้มที่ทำให้งานอาสาสมัครกลายเป็นเรื่องที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนรุ่นใหมเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงหลักที่เกิดขึ้นในโลก อย่างโซเชียล มีเดีย ที่ทรงพลังและสร้างอิทธิพลให้งานอาสาสมัครกลายเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับคนในกลุ่ม Gen Y ทั่วโลก”

กระแส “จิตอาสา”ในหมู่ Gen Y

คำตอบของ ดร.เด็บบี้ น่าจะพอเป็นคำตอบให้กับการเกิดขึ้นของกระแสอาสาสมัครที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ในประเทศไทย โดยเฉพาะ “จิตอาสา”ที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ อาทิ กลุ่มไทยฟลัด ด็อกเตอร์มีฟลัด รู้สู้ฟลัด อาสาฝ่าน้ำท่วมฯลฯ ที่ได้ร่วมกันจัดทำระบบฐานข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปพลังจิตอาสาของนักศึกษาในหลายสถาบันที่ร่วมกันให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย

สำหรับในประเทศไทย การเกิดขึ้นของการขับเคลื่อนที่จะทำให้ “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” นั้นกลายเป็นวาระสำคัญของชาติ มีมายาวนาน โดยเริ่มปรากฎตัวเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ครั้งหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 มีการก่อตั้งเครือข่ายที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ อาทิ เครือข่ายจิตอาสา

วรรคทองที่ถูกหยิบยกมาใช้ขยายความคำว่า “จิตอาสา” มากที่สุดวรรคหนึ่งมาจาก “พระไพศาล วิสาโล” พระนักวิชาการ นักคิด นักเขียนที่ทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ที่กล่าวไว้ว่า “จิตอาสาคือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคมหรือความทุกข์ยากของผู้คน และปราถนาเข้าไปช่วยไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น” “จิตอาสา” ในคำกล่าวของ “พระไพศาล” ยังหมายถึง การพัฒนาจิตวิญญาณ ลดละตัวตน ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งด้วย

ก้าวกระโดดของอาสาสมัคร

ในหลายประเทศที่พยายามขับเคลื่อนเรื่อง “อาสาสมัคร” เป็นเพราะเชื่อว่านอกจากงานอาสาสมัครจะช่วยให้ผู้คนที่มาเป็นอาสาฯ ได้พัฒนาตัวเองแล้ว ในเวลาเดียวกันยังสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทั้งเศรษฐกิจและสังคม ผลวิจัยของ Volunteering in America องค์กรที่ส่งเสริมอาสาสมัครในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าในปีที่ผ่านมา กว่า 8.1 พันล้านชั่วโมงที่อาสาสมัครจากทั่วประเทศกว่า 62.8 ล้านคนที่ลงแรง สละเวลามาทำงานอาสาสมัครให้กับโรงเรียน ชุมชนและองค์กรสาธารณกุศลนั้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 173 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยหน่วยงานแห่งนี้เชื่อว่า ทุกๆวันที่เหล่าอาสาสมัครมาแบ่งปัน ความรู้ ความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาสังคมนั้นจะช่วยทำให้ประเทศนั้นแข็งแกร่งขึ้น

ไม่เฉพาะแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับ “อาสาสมัคร” ในระดับบุคคล ในงานวิจัยของ ดร.เด็บบี้ ยังระบุด้วยว่า การเติบโตที่รวดเร็วที่สุดของ อาสาสมัครพนักงาน (Employee Volunteer) โดยการสนับสนุนยังถือเป็นแนวโน้มสำคัญ

แนวคิดจากประเทศฝั่งตะวันตกเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า win-win-win ของทั้งองค์กรธุรกิจ พนักงานและเอ็นจีโอ ในบทความ “Volunteering – A Great Way to Learn Real Executive Leadership” ที่ตีพิมพ์ในนิตสารฟอร์บส์ ระบุว่า ในการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับผู้บริหาร ในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการสร้างผลงานที่ดีอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารต้องมองให้ไกลไปกว่าแค่การให้ผลตอบแทนที่ดีกับพนักงาน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงพออีกแล้วสำหรับคนรุ่นใหม่ ผู้บริหารต้องมองอะไรให้ไกลเพื่อที่จะให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองมากกว่านั้น

บริษัทในฝันกับงานจิตอาสา

Salesforce.com บริษัทด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งที่ติดอันดับ 1 ใน 20 บริษัทที่มีคนอยากทำงานด้วยมากที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดี โดยได้ริเริ่มโครงการอาสาสมัครในบริษัท “the 1 per – cent solution” โดยตั้งใจที่จะให้เวลาทำงาน 1 % ของเวลาในการทำงานทั้งหมดของพนักงานในการช่วยเหลือสังคม ในวิธีการดำเนินโครงการนอกจากที่จะมีความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับพนักงานที่ต้องการใช้เวลาไปทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมและสามารถประชุมหารือกับผู้บริหารในการพัฒนางานอาสาสมัครร่วมกัน

เพราะเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะแค่การให้ความหมายในการมีชีวิตอยู่ของพนักงาน ในเวลาเดียวกันการทำงานอาสาสมัครไม่ว่าจะเป็นโครงการใดโดยมีผู้บริหารเป็นผู้ช่วยในการให้คำปรึกษานั้น ยังจะเป็นการเตรียมการพนักงานในการพัฒนาทักษะในการเป็นผู้นำ เพื่อการเป็นผู้บริหารในอนาคต ในเวลาเดียวกันในช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการในที่ทำงาน ซึ่งมีโอกาสจะช่วยให้พัฒนาทีมในการทำงาน

ก้าวข้ามข้อจำกัด จิตอาสาในธุรกิจไทย

ในประเทศไทยเรื่องนี้ถูกบรรจุอยู่ในส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR )ในองค์กรธุรกิจจำนวนมาก และมีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงในวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทยยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะแรงจูงใจและแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ทั้งแนวคิดในการขับเคลื่อนที่ไม่ชัดเจน การริเริ่มจากอิทธิพลของธุรกิจด้วยกันซึ่งเป็นแรงกดดันให้องค์กรต้องทำ หลายองค์กรจึงมีปัญหาในเรื่องการบังคับให้พนักงานมาทำงานอาสาสมัคร ตลอดจนปัญหาในเรื่องทรัพยากรในการสนับสนุนที่มีไม่เพียงพอ ฯลฯ

ในงานวิจัยด้านอาสาสมัครชี้ให้เห็น ข้อควรระวังเรื่องนี้ในการขับเคลื่อน “จิตอาสาภายในองค์กรธุรกิจ” โดยระบุไว้ว่า สิ่งสำคัญ 3 เรื่องที่องค์กรธุรกิจพึงระวังคือ ต้องให้แน่ใจว่า 1.อาสาสมัครที่มาร่วมช่วยเหลือสังคมนั้นมาด้วยความเต็มใจ โดยองค์กรต้องสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วม ไม่กดดัน และพยายามทำให้ประสบการณ์อาสาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ 2.การเข้าถึงโอกาสในการทำงานอาสาฯ โดยบรรจุเรื่องงานอาสาไว้เป็นหนึ่งในงานที่ต้องทำ และสามารถให้ไปทำงานอาสาฯได้ในเวลาทำงาน 3.เพิ่มศักยภาพและความสามาถในการทำงานอาสาฯ โดยสนับสนุนความรู้และการฝึกอบรม ตลอดจนจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม ทั้งงบประมาณ ความรู้โดยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ

อนาคตที่ท้าทาย

ในแวดวงอาสาสมัครทั่วโลกยังเชื่อว่าการพัฒนา อาสาสมัครในองค์กรธุรกิจอย่างถูกต้อง จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและสร้างประสิทธผลให้งานอาสาฯก้าวไปสู่การสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดเส้นแบ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนงานอาสาฯ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานอาสาฯโดยผนวกให้อยู่ในชีวิตประจำวันและการทำงาน

แม้ว่า งานอาสาสมัคร จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพียงประการเดียวในการเป็นองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่อย่างน้อยการเข้าใจและมีแนวปฏิบัติเรื่องนี้อย่างจริงจัง ย่อมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม

และหวังว่าบุคคลแห่งปีที่สื่อมวลชนพร้อมใจกันยกย่องให้กับผู้มีจิตอาสาทุกคนและองค์กรธุรกิจจิตอาสาทุกองค์กร จะไม่ใช่เป็นแค่คำยกย่องเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติ

เพราะในสังคมนี้ยังมีปัญหาอีกมากที่รอให้แก้ไข และลำพังเพียงภาครัฐมิอาจเยียวยา!!