ThaiPublica > คอลัมน์ > จากการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ดถึงเรือนจำอาบู กราอิบ ลูซิเฟอร์เอฟเฟกต์ของ ดร.ซิมบาร์โด กับคำถามสำคัญเรื่องถังกับแอปเปิล (ตอนที่ 2)

จากการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ดถึงเรือนจำอาบู กราอิบ ลูซิเฟอร์เอฟเฟกต์ของ ดร.ซิมบาร์โด กับคำถามสำคัญเรื่องถังกับแอปเปิล (ตอนที่ 2)

30 พฤษภาคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

อาบู กราอิบ (Abu Ghraib) เป็นชื่อของเรือนจำซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดด เมืองหลวงของประเทศอิรัก ไปทางตะวันตกเป็นระยะทาง 32 กิโลเมตร

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เรือนจำแห่งนี้เป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ใช้กักขังผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพื่อทำการทรมานและประหารต่อหน้าสาธารณชน

แต่แล้ว เมื่อการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน ล่มสลายไปด้วยการโจมตีทางทหารของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) หน้าที่เช่นนั้นของเรือนจำของอาบู กราอิบ ก็จบสิ้นลง ผู้ถูกคุมขังทั้งทางการเมืองและในคดีอาชญากรรมทั่วไปที่มีอยู่เดิมได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ชื่อของสถานที่ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น สถานที่กักขังกลางแห่งแบกแดด หรือ Baghdad Central Confinement Facility (BCCF) เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ได้ตีตัวออกห่างจากอดีตอันไม่พึงประสงค์ของมัน ทว่า แม้ชื่อเปลี่ยนไป แต่หัวใจของสถานที่นั้นกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก เนื่องจากเรือนจำอาบู กราอิบ ที่กลายเป็น BCCF ยังคงมีไว้เพื่อคุมขังผู้กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจเช่นเดิม ต่างกันก็เพียงคราวนี้อำนาจที่ว่านั้นเป็นของสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำการปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านกองทัพสหรัฐฯ นั้นจะถูกนำมาคุมขังไว้ที่นี่ รวมทั้งผู้ที่เป็นอาชญากรในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

28 เมษายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่ง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หน้าจอโทรทัศน์ที่กำลังถ่ายทอดรายการ 60 Minutes II ได้เผยแพร่ภาพถ่ายชุดหนึ่ง โดยที่ในภาพหนึ่งนั้น ชายกลุ่มหนึ่งในสภาพเปลือยกายนอนทับกันเป็นพีระมิดโดยมีทหารยืนฉีกยิ้มอยู่ที่นั่น ส่วนอีกภาพหนึ่ง ทหารหญิงจูงชายเปลือยกายคนหนึ่งด้วยสายคล้องคอสุนัขที่สวมคอของชายคนนั้นไว้ และในอีกภาพหนึ่ง ผู้ต้องขังนั่งอยู่มุมห้องด้วยท่าทางหวาดกลัวต่อสายตาของสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดซึ่งจ้องมาที่เขาอย่างมุ่งร้ายในระยะประชิด และนอกจากสามภาพดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีภาพอื่นๆ อีกจำนวนมาก และทุกภาพล้วนมีใจความหลักไปในลักษณะเดียวกัน นั่นคือการกระทำทารุณกรรมต่อมนุษย์ (หากอยากเห็นภาพเหล่านั้นด้วยตาตนเอง เชิญที่นี่ครับ)

ภาพเหล่านั้นมาจากเรือนจำอาบู กราอิบ และการกระทำทารุณกรรมทั้งทางกายและใจที่ปรากฏในภาพนั้นก็ไม่ใช่เหตุการณ์ในสมัยที่สถานที่แห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซน แต่อย่างใด ทว่า มันเกิดขึ้นในวันที่เรือนจำอาบู กราอิบ อยู่ภายใต้การดำเนินการของกองทัพสหรัฐอเมริกาแล้ว และที่อยู่ในภาพก็คือสิ่งที่ทหารของสหรัฐอเมริกากระทำต่อเหล่าผู้ที่ถูกคุมขังไว้ที่นั่น

สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาทำให้ ฟิลิป ซิมบาร์โด ตกตะลึงอยู่หน้าโทรทัศน์ของห้องพักในโรงแรม สำหรับซิมบาร์โดแล้ว การที่ทหารอเมริกันทำอะไรเช่นนั้นช่างเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะพวกเขาและเธอคือคนหนุ่มสาวที่ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปพาอิรักที่เพิ่งหลุดพ้นจากเงาอำนาจของซัดดัม ฮุสเซน ไปสู่แสงสว่างแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพมิใช่หรือ

คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพลของสหรัฐอเมริกาต่อเรื่องนี้นั้นเป็นไปในทางที่เราๆ ท่านๆ คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีเมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ภาพที่เห็นนั้นเป็นเพียงแอปเปิลเสีย (bad apple) บางผล (เทียบกับบ้านเราก็คงเป็นปลาเน่าบางตัว) เป็นเพียงพฤติกรรมของทหารแตกแถวบางราย มิได้เป็นการกระทำอันบรรลุได้ด้วยการกำกับการของระบบแต่อย่างใด

การอุปมาเรื่องแอปเปิลเสียนั้น เป็นการอธิบายการกระทำของมนุษย์คนหนึ่งว่าเป็นผลมาจากลักษณะเฉพาะตัวของมนุษย์คนนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าการทำทารุณของทหารอเมริกันในเรือนจำอาบู กราอิบ เป็นผลจากนิสัยที่ติดตัวมาของทหารแตกแถวรายนั้นๆ เท่านั้น หรือก็คือเป็นการบอกว่า ทหารเหล่านั้นเป็นคนไม่ดีมาแต่แรก

อุปมาดังกล่าวทำให้ซิมบาร์โดนึกย้อนไปถึงการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด (Stanford Prison Experiment หรือ SPE) ที่เขาจัดทำขึ้น เพราะหากว่ากันตามเกณฑ์การคัดคนเข้าสู่การทดลองของเขาในคราวนั้น ซิมบาร์โดสามารถบอกได้เลยว่าอาสาสมัครทุกคนที่เข้าสู่การทดลองล้วนแล้วแต่เป็นแอปเปิลดี หรืออย่างน้อยก็คือแอปเปิลธรรมดาที่ไม่ได้มีความผิดปรกติ และไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นแอปเปิลที่เน่าเสียแต่อย่างใด อาสาสมัครทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดาหรือกระทั่งคนดี และไม่มีใครมีแนวโน้มว่าจะชอบใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น

ทว่า เมื่อเข้าสู่การทดลองไปได้สักพัก อาสาสมัครในฝั่งที่ได้รับบทบาทผู้คุมจำลองก็เริ่มมีพฤติกรรมทารุณในหลายระดับแตกต่างกันไปในแต่ละคน พวกเขากลายเป็นแอปเปิลเสียที่รวมอยู่ในถังเดียวกัน

แม้ SPE จะเป็นเพียงเรือนจำจำลอง แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่กักขังจริงๆ อย่างอาบู กราอิบ แต่อย่างใด นั่นทำให้ซิมบาร์โดท้าทายความคิดเรื่องแอปเปิลเสียด้วยอุปมาในเชิงเดียวกันว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เน่าเสียอาจจะคือถัง (bad barrel) ที่เราเอาแอปเปิลใส่ลงไป หรือก็คือโครงสร้างของระบบที่มนุษย์คนหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ต่างหาก

และนั่นคือข้อเสนอหลักที่ซิมบาร์โดเสนอไว้ในหนังสือของเขา The Lucifer Effect: Understanding How Good People Turn Evil

หนังสือ The Lucifer Effect: Understanding How Good People Turn Evil (2007)
โดย ฟิลิป ซิมบาร์โด

การกระทำทารุณต่อผู้ต้องขังทั้งใน SPE และเรือนจำอาบู กราอิบ เป็นเหมือนโลกคู่ขนานในจักรวาลของซิมบาร์โด ในหนังสือของเขา ซิมบาร์โดบอกเล่าถึงการได้พบกับจ่าสิบตรี อิวาน เฟรเดอริก (Staff Sergeant Ivan Frederick) หรือชิป (Chip) โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ชิปเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำ ณ เรือนจำกลางบักกิงแฮม (Buckingham Correctional Center) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดิลล์วิน เทศมณฑลบักกิงแฮม รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทว่า ในเวลาต่อมา ชิปก็ถูกส่งไปรับหน้าที่เป็นผู้คุมกะดึกที่เรือนจำอาบู กราอิบ โดยไม่ได้รับการฝึกฝนในสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการรับมือกับเรือนจำที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันซับซ้อนสารพัดแห่งนั้นแต่อย่างใด

จ่าสิบตรี อิวาน เฟรเดอริก (Staff Sergeant Ivan Frederick) หรือชิป (Chip)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ NBC NEWS (https://goo.gl/MtA25A)

ทีแรกนั้น ชิปสามารถรับมือกับหน้าที่นี้ได้อย่างไม่มีปัญหา ทว่า ไม่นานหลังจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศถึงความสำเร็จในภารกิจโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ของอเมริกา การก่อการร้ายก็ปะทุขึ้น เรือนจำอาบู กราอิบ ตกเป็นเป้าถล่มยิงของปืนครกในยามค่ำคืน ทุกคนที่ประจำการที่นั่นต้องระวังว่าผู้ถูกกักขังจะลุกขึ้นมาทำร้ายผู้คุมเมื่อไหร่ ผู้คุมที่เป็นชาวอิรักหลายคนนั้นช่วยเหลือผู้ถูกกักขังให้หลบหนีด้วยการให้ข้อมูลเรื่องการรักษาความปลอดภัย แผนที่เรือนจำ เสื้อผ้า หรือกระทั่งอาวุธ

จำนวนผู้ถูกกักขังในเรือนจำอาบู กราอิบ นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการก่อการร้ายที่ภายนอกคุก ซึ่งนั่นหมายความว่าปัญหาต่างๆ ที่ชิปต้องเผชิญนั้นก็ทวีความหนักหนามากขึ้นตามไปด้วย ทว่า ในขณะที่ความซับซ้อนของงานและความอันตรายดูจะมากมายขึ้นเรื่อยๆ นั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีมาแต่แรกและไม่มีตลอดไปก็คือแนวทางในการดูแลผู้ถูกกักขัง สถานที่ และปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ชิปต้องทำงานตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงตีสี่ทุกวันเพื่อดูแลเรือนจำอาบู กราอิบ ที่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผู้มีอาการทางจิต โดยไม่มีทรัพยากรใดๆ เพียงพอ เขามักได้กินอาหารเพียงวันละมื้อ นอนในห้องขังขนาดหกคูณเก้าฟุตที่ไม่มีห้องน้ำและมีหนูวิ่งไปมารอบๆ ชิปบอกว่าที่นั่นเต็มไปด้วยขยะ ระบบประปาย่ำแย่ อุจจาระล้นทะลักขึ้นมาจากส้วมเคลื่อนที่ และในเรือนจำนั้นมีแม้กระทั่งชิ้นส่วนมนุษย์

ชิปพยายามแจ้งปัญหาเหล่านั้นกับใครก็ตามที่น่าจะมีอำนาจและได้เข้าไปยังเรือนจำอาบู กราอิบ แต่คำตอบที่เขาได้รับนั้นมักมีเพียงแค่การให้ทำในเรื่องที่ทำได้ ให้ทำงานให้ดี และงานของเขาก็คือ บดขยี้ผู้ถูกกักขังเหล่านี้จนกว่าพวกเขาจะพร้อมให้ข้อมูลหรือกระทั่งสารภาพในการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งนั่นเป็นคำสั่งที่คล้ายคลึงกันกับที่ผู้คุมจำลองของ SPE ได้รับ)

การไปประจำการที่เรือนจำอาบู กราอิบ ทำให้ชีวิตของชิปต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะในบรรดาภาพการทำทารุณกรรมมากมายจากเรือนจำอาบู กราอิบ หนึ่งในนั้นคือภาพของชิปที่นั่งอยู่บนหลังของผู้ถูกกักขังชาวอิรักที่ถูกจับมัดนอนคว่ำเปลือยกายอยู่กับพื้น นั่นทำให้ในที่สุดแล้วเขาต้องเปลี่ยนบทบาทจากชิป จากอิวาน เฟรเดอริก จากนายทหารผู้อุทิศตนเพื่อชาติ จากเจ้าหน้าที่เรือนจำผู้ทำงานได้ดี และจากสามีอันเป็นที่รัก มาเป็นผู้ต้องขังหมายเลข 789689 ทั้งจากกรณีการทำทารุณกรรมที่เรือนจำอาบู กราอิบ และความผิดทางวินัยในห้วงเวลาเดียวกันอีกหลากหลายข้อหา

ที่มาภาพ: เว็บไซต์วิกิพีเดีย (https://goo.gl/MznbC8)

ซิมบาร์โดได้พบกับชิปเพราะตนเองนั้นต้องไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้เขาในคดีการทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องขังชาวอิรักในเรือนจำอาบู กราอิบ ซิมบาร์โดในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญได้จัดให้ชิปได้รับการสัมภาษณ์และการทดสอบทางจิตวิทยาจากนักจิตวิทยาคลินิกของกองทัพ และผลออกมาว่าชิปนั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีความผิดปรกติทางจิตหรือเป็นผู้มีความสุขจากการได้กระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นแต่อย่างใด

สำหรับซิมบาร์โด ชิปไม่ต่างอะไรกับอาสาสมัครที่ได้รับบทบาทผู้คุมจำลองใน SPE ที่ในทีแรกนั้นพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาและไม่มีแนวโน้มใดๆ ว่าจะมีจิตใจไปในทางชื่นชอบการทำร้ายกายและใจของผู้อื่น แต่พอต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีโดยไม่ได้รับการฝึกฝนและการเตรียมรับมือไปอย่างเป็นระบบ และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่จุดมุ่งหมายสูงสุดของระบบทั้งใน SPE และเรือนจำอาบู กราอิบ นั้นเป็นสิ่งเดียวกันคือต้องทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง นั่นทำให้ในที่สุด ทั้งผู้คุมจำลองใน SPE และผู้คุมจริงๆ ในเรือนจำอาบู กราอิบ ก็กลายเป็นสิ่งที่หากใช้ชีวิตดังเดิมไปตามสภาพแวดล้อมปรกติแล้วพวกเขาจะไม่เป็น หรือกระทั่งไม่มีวันเป็น

สิ่งสำคัญจาก SPE และการศึกษาเรื่องสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจของชิป จ่าสิบตรี อิวาน เฟรเดอริก ในการปฏิบัติหน้าที่ ณ เรือนจำอาบู กราอิบ ก็คือความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า พลังสถานการณ์ (situational force) พลังอันแข็งแกร่งที่สามารถสลายเส้นแบ่งที่เราต่างเคยเชื่อว่าสามารถแยกความดีและความเลวในตัวมนุษย์คนหนึ่งออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด พลังอันหนักหน่วงที่สามารถกดเส้นแบ่งนั้นลงต่ำแล้วทำให้มนุษย์คนใดก็ตามสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างด้านดีและไม่ดีในตัวเอง พลังที่เผยความจริงว่าแท้แล้วเราทุกคนต่างเป็นสิ่งมีชีวิตสีเทา ไม่ได้แบ่งขาวแบ่งดำได้อย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด หากสถานการณ์เป็นใจ คนดีๆ ก็สามารถทำเรื่องร้ายๆ ได้อย่างที่ตัวเองในสถานการณ์ปรกติไม่อาจจินตนาการถึง พลังสถานการณ์ที่มากเพียงพอสามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากดอกเตอร์เจคิลล์ไปเป็นมิสเตอร์ไฮด์ได้ หรือเปรียบเทียบให้ใกล้เคียงกับบริบทในปัจจุบันนี้ก็คือเปลี่ยนจากดอกเตอร์บรูซ แบนเนอร์ ไปเป็นเดอะฮัลค์นั่นเอง

หนังสือ The Lucifer Effect: Understanding How Good People Turn Evil ได้ให้ความคิดสำคัญอันเกิดจากการทดลองและรวบรวมข้อมูลจนได้ผลลัพธ์ว่า ความดีเลวในตัวมนุษย์คนหนึ่งนั้นมิได้แยกขาดออกจากกันอย่างน้ำกับน้ำมัน มนุษย์เป็นส่วนผสมของความดีเลวที่ด้านใดด้านหนึ่งนั้นสามารถโดดเด่นออกมาได้หากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่มีผู้ใดเลวร้ายหรือดีงามโดยกำเนิด เราเริ่มต้นด้วยการเป็นคนเท่าๆ กัน สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดว่าสุดท้ายแล้วในสภาวะหนึ่งๆ นั้นเราจะกลายเป็นคนเช่นไร เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาพอๆ กับการตัดสินใจทำเรื่องที่มองอย่างไรก็ไม่สมเหตุสมผลหรือกระทั่งเป็นเรื่องโง่เง่าแต่เราก็ทำเพราะปัจจัยรอบข้างไม่มอบทางออกใดมากไปกว่าทางออกนั้น และนั่นหมายความว่า หากจะสร้างและรักษาความดีในตัวมนุษย์คนหนึ่งไว้ ลำพังฝึกฝนให้คนเรามีจิตใจที่แข็งแกร่งนั้นไม่เพียงพอ แต่เราต้องสร้างระบบนิเวศที่ทำให้การกระทำตนเป็นคนดีนั้นมีคุณค่าควรแก่ความพยายามด้วย

ในบทความที่มีชื่อว่า Zimbardo blames military brass for Abu Ghraib torture ซิมบาร์โดกล่าวตำหนิการลงโทษชิปว่าเป็นการพิพากษาที่ละเลยอิทธิพลที่พลังของระบบมีต่อปัจเจกบุคคลไป ชิปต้องโทษจำคุกแปดปี ถูกขังเดียวในเรือนจำที่คูเวต เขาถูกลดขั้น ถูกยึดเงินในกองทุนสำรองเพื่อการเกษียณที่สะสมมา 22 ปี ถูกภรรยาบอกเลิก ซิมบาร์โดเห็นว่าคำพิพากษาของศาลทหารในเรื่องนี้นั้นเป็นไปอย่างไม่สง่างามเอาเสียเลย

ฟิลิป ซิมบาร์โด
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ U Daily (https://goo.gl/1QZt42)

ในบทความดังกล่าว ซิมบาร์โดยังบอกด้วยว่า หากพลังของระบบ ซึ่งรวมถึงความยากจน การเหยียดเชื้อชาติ และเงื่อนไขทางทหารในเรือนจำอาบู กราอิบ ไม่ได้รับการตระหนักถึงและทำการแก้ไข ลำพังการจำคุกอย่างเดียวนั้นไม่มีวันที่จะกำจัดปัญหาเรื่องพฤติกรรมอันเลวร้ายไปได้ และมันจะมีแอปเปิลที่เน่าเสียอยู่ ณ ก้นถังเสมอ

ข้อเสนอเรื่องพลังของสถานการณ์/ระบบ และคำกล่าวนั้นของซิมบาร์โด น่าจะใช้การได้กับโลกอีกใบที่คู่ขนานกันไปกับ SPE รวมทั้งเรือนจำอาบู กราอิบ อยู่ที่นอกจักรวาลของเขา และโลกใบนั้นก็คือกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมทั้งทัศนคติที่คนไทยมีต่อความดีและความเลว

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า กฎหมายซึ่งคอยกำกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเรานั้นมีลักษณะของการใช้โทษอาญาอย่างล้นเกิน (overcriminalization) และนั่นทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเนื่องจากมีการนำผู้กระทำผิดหรือแม้เพียงผู้ต้องหาที่คดียังไม่สิ้นสุดเข้าสู่การคุมขังเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ขีดความสามารถของเรือนจำจะรองรับได้ และการที่ผู้ต้องขังอยู่ในสภาวะล้นเรือนจำย่อมนำมาซึ่งระบบนิเวศที่ไม่ดีในเรือนจำ ซึ่งนั่นหมายถึงกระบวนการทั้งปวงในการฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคมอย่างเต็มคนและหลุดพ้นไปจากวังวนของการกระทำผิดซ้ำนั้นย่อมเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากพิจารณาตามข้อเสนอเรื่องพลังสถานการณ์ของซิมบาร์โดแล้ว เรือนจำในสภาพดังกล่าวย่อมไม่ต่างอะไรจากถังที่ไม่ดีที่เมื่อเราเอาแอปเปิลที่เน่าเสียเพียงเล็กน้อยจากระบบอื่นใส่เข้าไปแล้วแอปเปิลผลนั้นก็จะเน่าเสียยิ่งกว่าเดิม และหากเป็นแอปเปิลที่เน่าหนักมาจากที่อื่นแล้ว เมื่อต้องไปเข้าไปอยู่ในถังที่มีลักษณะเช่นนี้ ก็คงยิ่งอยู่ในสภาพที่เน่าหนอนหนักหน่วงขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า ด้วยสภาพที่ทำให้กระบวนการฟื้นฟูไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเช่นนี้ ก็มีแต่จะทำให้ผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้นตกต่ำไปยิ่งกว่าเดิม กล่าวคือ หากพวกเขาเข้าไปพร้อมความเป็นความมนุษย์ที่แหว่งเว้า สิ่งที่พวกเขาจะพกพากลับมาอยู่ร่วมสังคมกับเราคือความเป็นมนุษย์ที่ขาดวิ่น

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงผู้ที่กระทำผิด สภาพการใช้โทษอาญาอย่างล้นเกินเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะอุดมการณ์หลักในสังคม ที่มักมองความดีความเลวว่าเป็นสิ่งที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด และมักมองว่าเป็นเรื่องของนิสัยหรือกระทั่งสันดานเฉพาะตน มากกว่าผลเฉพาะโอกาสอันเนื่องมาจากแรงปะทะของพลังสถานการณ์

ในโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสินในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2561 ณ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม (โครงการกำลังใจ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางจันทร์กระพ้อ ต่อสุวรรณ สินธวถาวร หรือ “ตอง” ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้ให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจถึงความพยายามในฐานะผู้พิพากษา ที่จะพิจารณาโทษโดยไม่ดูแค่การกระทำผิด แต่คำนึงไปถึงปัจจัยแวดล้อมอันอาจเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การกระทำผิดด้วย

นางจันทร์กระพ้อ ต่อสุวรรณ สินธวถาวร ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

ในมุมมองของท่านตองนั้น เธอเห็นว่าตนเองควรจะสื่อสารกับจำเลยในคดีให้มาก ที่เป็นเช่นนั้นไม่เพียงเพราะในฐานะผู้พิพากษาแล้วเธอคิดว่าตนกำลังงานทำให้กับประชาชนทุกคนแม้กระทั่งกับจำเลย แต่สำหรับท่านตองแล้ว จำเลยหลายๆ คนนั้นอยู่ในสภาพชีวิตที่ไม่พร้อมไปทุกด้าน การให้เวลาพูดคุยสอบถามเพื่อนค้นหาแรงจูงใจในการกระทำผิดนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาโทษอย่างได้สัดส่วนต่อมูลเหตุในการกระทำผิดแล้ว ยังทำให้จำเลยได้มีโอกาสได้ระบายถึงความคับข้องใจในชีวิตให้คนอื่นได้รับฟังอีกด้วย

ท่านตองเชื่อว่า การให้โอกาส ความเข้าใจ และความเห็นใจ นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเรากลับตัวเป็นคนดีได้จริงๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนคดีที่เข้ามาในแต่ละวันนั้นมีจำนวนมาก เหตุดังกล่าวทำให้การพูดคุยเชิงลึกกับจำเลยนั้นยากจะทั่วถึง และนอกจากนั้น การที่มีผู้คนนั่งอยู่เต็มพ้องพิจารณาคดี ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้จำเลยอาจรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมาได้ (ซึ่งตรงนี้น่าจะอนุมานได้ว่าการใช้โทษอาญาอย่างล้นเกินนั้นส่งผลกระทบต่อการทำความเข้าใจจำเลยให้ลึกกว่าเพียงแค่รับรู้เรื่องการกระทำผิด, ผู้เขียน)

กระนั้น ท่านตองบอกว่า ปัญหาเรื่องความไม่ทั่วถึงและไม่สะดวกใจจะพูดต่อหน้าคนอื่นนี้นั้นก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้วิธีสืบเสาะ คือให้เจ้าพนักงานมารับคดีไปหาความจริงเพิ่มเติม ซึ่งกรณีเช่นนี้นั้นต้องใช้ประสบการณ์ในการสังเกต เช่น เป็นคดีลักทรัพย์มูลค่าเล็กน้อยจนน่าสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร ซึ่งหากได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาแล้วรู้สึกว่ายังไม่พอก็สามารถเรียกจำเลยมาสอบถามเพิ่มเติมได้ด้วย ทว่า ท่านตองก็ยังบอกอีกด้วยว่า การจะเลือกใช้วิธีสืบเสาะนั้นก็ต้องรักษาสมดุลให้ดี เพราะในคดีที่เล็กมากนั้น ผู้พิพากษาสามารถตัดสินแล้วมีคำสั่งให้รอการลงโทษได้เลย แต่การสืบเสาะอาจทำให้จำเลยต้องถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดีต่อไปอีก แต่ถ้าเป็นคดีที่อย่างไรเสียโทษนั้นก็ต้องจำคุกแน่นอนอยู่แล้ว การสืบเสาะก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการนำมาใช้เพื่อวางโทษให้ได้สัดส่วนแก่การกระทำผิดให้มากที่สุด

ท่านตองกล่าวว่า สิ่งที่ตนทำนั้นไม่เชิงว่าเป็นการเห็นใจ แต่คือเป็นการพยายามทำความเข้าใจจำเลย การลงโทษคนทุกวันนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก และการที่คนคนหนึ่งกระทำผิดนั้นย่อมต้องมีต้นสายปลายเหตุ การทำความเข้าใจซึ่งต้นสายปลายเหตุนั้นจะทำให้สามารถวางโทษได้อย่างสนิทใจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงด้วยว่าการพยายามเข้าใจจำเลยนั้นจะเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ เพราะก็ต้องคำนึงถึงคนบริสุทธิ์ในสังคมด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุด ท่านตองยืนยันว่าการทำความเข้าใจและให้โอกาสผู้กระทำผิดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังอาญาในคดีร้ายแรงจริงๆ ที่ต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานนั้นมีอยู่เป็นเพียงส่วนน้อย ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคดีที่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับออกมาอยู่ร่วมสังคมกับเราทุกคนในที่สุด

ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางจังหวัดนราธิวาสสนุกสนานไปกับแสดงดนตรีของวงพัทลุง
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมกันสร้างถังที่ดี ที่จะไม่ทำให้แอปเปิลที่ตกลงไปต้องเน่าเสียไปก่อนกาลอันสมควร

และแท้จริงแล้ว หากกล่าวกันด้วยมิติของความดีเลว มนุษย์มิใช่ผลไม้ที่เมื่อเสียแล้วก็มีเพียงความเน่าสลายเป็นปลายทางแต่อย่างใด เราคือเซลล์อมตะที่ฟื้นฟูได้ตลอดชีวิตหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่างหาก