ThaiPublica > คอลัมน์ > คุก: จุดเริ่มต้นแห่งความสูญเสียของสังคม?

คุก: จุดเริ่มต้นแห่งความสูญเสียของสังคม?

27 พฤศจิกายน 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ณ วันที่ 2 พ.ย. 2560 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั้งหมด 318,785 คน

จากจำนวนดังกล่าว หากคำนวณโดยใช้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท นั่นหมายความว่า เรากำลังเสียโอกาสในรูปเม็ดเงินที่จะมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนวันละ 95,635,500 บาท และหากผู้ต้องขังจำนวนนี้อยู่ในเรือนจำยาวถึงเดือน ก็เสียโอกาสไปวันเดือนละ 2,869,065,000 บาท  หรือหากอยู่ถึงปี ก็เสียโอกาสไปปีละ 34,906,957,500 บาท (วันละประมาณ 96 ล้าน เดือนละประมาณ 2,869 ล้านปีละประมาณ 34,900 ล้าน)

รายงานเรื่อง “หลังกำแพง: ส่องสภาพเรือนจําไทยภายหลังรัฐประหาร” ซึ่งจัดทำโดยสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เรามีจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษมากกว่า 1 ปีไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิตและรอการประหารชีวิตนั้นมีอยู่ถึง 218,031 คน เพราะฉะนั้น ที่แน่ๆ คืออย่างน้อยๆ ตัวเลขความสูญเสียดังกล่าวก็อยู่ที่ปีละ 23,874,394,500 บาท

และหากพิจารณาเพิ่มเติมว่า พ.ศ. 2560 กรมราชทัณฑ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวน 11,598,087,900 บาท นั่นหมายความว่า หากว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว เรากำลังใช้เงินหมื่นล้านเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักยภาพในการสูญเสียรายได้ที่คิดเป็นเงินจำนวนมากกว่ากันอย่างน้อยสองเท่า

นี่ยังไม่ต้องนับว่า เรายังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อพ้นจากสถานะผู้ต้องไปสู่ภายนอกแล้ว อดีตผู้ต้องขังจะสามารถกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตได้อย่างคนปรกติหรือไม่ โอกาสที่จะเกิดการสูญเสียเงินที่จะมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดังกล่าวก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

การติดคุกอันยาวนั้นย่อมส่งผลเสียต่อผู้ต้องขังอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเมื่ออยู่ในนั้นแล้วผู้ต้องขังจะถูกตัดขาดออกจากทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างปุถุชนคนทั่วไป ดังนั้น หากเราเห็นว่าการกระทำผิดนั้นทำให้ผู้กระทำผิดกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นคนอันยอมรับได้ คุกก็ควรเป็นที่ที่มีไว้ซ่อมแซมและเติมเต็มความเป็นคนที่ขาดหายไปให้กับคนเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่เอาไว้บดขยี้ความเป็นคนของพวกเขาให้แหลกสลายลงไปอีกจนกระทั่งไม่มีเหลือ เพราะหากเราทำเช่นนั้น สิ่งที่ได้กลับออกไปจากการกลายเป็นผู้ต้องขังย่อมไม่ใช่ผู้ที่สำนึกผิดจนกลับตัวกลับใจ แต่คือผู้ที่ชีวิตชำรุดในทุกๆ ด้าน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นจะไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่เพียงกับตัวผู้ต้องขังเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วก็คือผลกระทบที่สังคมทั้งหมดจะต้องได้รับด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ในด้านหนึ่งแล้วคุกอาจเป็นจุดจบทางความรู้สึกของทางฝั่งผู้เคราะห์ร้าย แต่หากเป็นเช่นนี้ต่อไป คุกย่อมกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสูญเสียของสังคมโดยรวมอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนมโนทัศน์ของการใช้เรือนจำจากการ “ลงโทษ” มาเป็นการ “ฟื้นฟู” จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

อาร์น ควาร์นวิก นีลเซน (Arne Kvernvik Nilsen) ผู้ปกครองแห่งคุกบาสเตย (Bastøy) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นคุกที่ได้ชื่อว่าหรูหราและมีความเป็นอยู่ดีที่สุดในโลกอย่างผิดต่อความเข้าใจที่คนทั่วไปมีต่อคุกอย่างกลับหัวกลับหางจนกลายเป็นที่สนใจของหลายๆ ประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ถึงทัศนคติที่ตัวเขามีต่อผู้ต้องขังไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“ในทางกฎหมายแล้ว การถูกส่งไปอยู่ในคุกนั้นเป็นคนละเรื่องกับการให้ไปอยู่ในคุกแย่ๆ เพื่อให้คุณทุกข์ทรมาน การลงโทษก็คือการที่คุณต้องสูญเสียอิสรภาพ ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้คนในตอนที่อยู่ในคุกเยี่ยงสัตว์ พวกเขาก็จะประพฤติตนอย่างสัตว์ แต่ที่นี่เราให้ความใส่ใจแก่คุณในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน”

และเขายังบอกอีกด้วยว่า

“คุณใช้กำลังเปลี่ยนแปลงผู้คนไม่ได้…สำหรับผู้เคราะห์ร้าย เมื่อผู้กระทำผิดอยู่ในคุก นั่นก็คือความยุติธรรม ผมไม่ได้โง่ แต่ผมยึดมั่นในความเป็นจริง เมื่ออยู่ที่นี่ ผมให้ความเคารพแก่ผู้ต้องขัง วิธีนี้จะสอนให้พวกเขารู้จักเคารพผู้อื่น แต่เราก็จับตาดูพวกเขาตลอดเวลา การที่พวกเขาพ้นโทษไปแล้วจะไม่ก่ออชาญากรรมขึ้นมาอีกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และนั่นคือความยุติธรรมต่อสังคม”

หรือจะเป็นคำพูดของ อาร์ ฮอยเดล (Are Hoidel) ผู้อำนวยการแห่งคุกฮัลด์อึน (Halden) อีกหนึ่งคุกหรูในนอร์เวย์ ที่บอกว่า 

“นักโทษทุกคนในคุกนอร์เวย์กำลังกลับสู่สังคม คุณอยากได้คนที่โมโหโกรธา หรือว่าคนที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วกลับไปกันล่ะ?”

แล้วคุณล่ะ อยากได้คนแบบไหนออกไปจากคุก?