ภายหลัง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต, พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริต และ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีลักษณะเด่น คือ เป็นศาลชั้นต้นที่ใช้ระบบไต่สวนพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่จำกัดสิทธิการฟ้องคดีของประชาชนในฐานะผู้เสียหายหรือถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีแค่ 2 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้นกับศาลชั้นอุทธรณ์ หากคู่ความประสงค์จะยื่นฎีกา ต้องส่งคำร้องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยก่อน หากศาลฎีกาไม่รับฎีกา ให้ถือว่าคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์เป็นที่สุด
ผลการดำเนินงานในช่วงปี 2560 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2560) มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบที่รับโอนมาจากศาลอื่นๆ และคดีที่รับมาใหม่ รวมทั้งสิ้น 1,182 คดี ประกอบด้วย
1. คดีแพ่ง ซึ่งเป็นคดีที่รับใหม่ทั้งหมด 4 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ หรือ “คดีค้าง” โดยนับตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องถึงเดือนธันวาคม 2560 มีคดีค้างการพิจารณาไม่เกิน 3 เดือน 1 คดี, คดีค้างเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน 1 คดี และ คดีค้างเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี 2 คดี ทั้งหมด 4 คดี ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
2. คดีอาญา ที่รับโอนมาจากศาลอื่นและเป็นคดีรับใหม่ รวมทั้งสิ้น 1,178 คดี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาแล้ว 762 คดี คิดเป็นสัดส่วน 64.69% ของคดีอาญาที่รับพิจารณาทั้งหมด คงเหลือคดีค้างการพิจารณา 416 คดี
ที่น่าสนใจ คือ ในจำนวนคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาทั้งหมด 762 คดี นับตั้งแต่เริ่มรับพิจารณาคดีจนถึงศาลอ่านคำพิพากษา ใช้เวลา 1-3 เดือน มีจำนวน 265 คดี คิดเป็นสัดส่วน 34.78% ของคดีอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาทั้งหมด ถัดมาเป็นคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จที่ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน มีจำนวน 170 คดี คิดเป็นสัดส่วน 22.31%, ใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี มี 151 คดี คิดเป็นสัดส่วน 19.82%,ใช้เวลา 3-6 เดือน มี 147 คดี คิดเป็นสัดส่วน 19.29% และ ใช้เวลา 1-2 ปี มี 24 คดี คิดเป็นสัดส่วน 3.14%
สรุป ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ใช้เวลาในการพิจารณาคดีจนถึงมีคำพิพากษาแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 757 คดี คิดเป็นสัดส่วน 99.34% ของคดีอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาทั้งหมด ในจำนวนนี้มีคดีที่ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จำนวน 242 คดี และยื่นคำร้องขอฎีกาอีก 39 คดี
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 33 คดี ยกเลิกไกล่เกลี่ย 8 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8 คดี ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 14 คดี และอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 3 คดี ไต่สวนมูลฟ้อง 131 คดี ขอผัดฟ้อง 5 คดี และฝากขัง 30 คดี โดยศาลอาญาคดีทุจริตมีคำสั่งให้ออกหมายจับไป 58 คดี ไม่อนุญาต 1 คดี จับได้ 2 คดี ยังไม่รายงาน 56 คดี มีคำสั่งออกหมายค้น 35 คดี ค้นได้ 22 คดี ค้นไม่ได้ 5 คดี ยังไม่รายงาน 8 คดี
จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด 701 คำร้อง ศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 583 คำร้อง ไม่อนุญาต 118 คำร้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี 2 คำร้อง ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้สั่งจำคุกไปแล้วทั้งสิ้น 119 คน โดยสั่งจำคุกไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 71 คน, จำคุก 3-6 เดือน จำนวน 34 คน และจำคุกเกิน 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 14 คน
ส่วนคดีอาญาที่ค้างการพิจารณา 416 คดี ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณา ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี มีจำนวน 116 คดี คิดเป็นสัดส่วน 27.88% ของคดีที่ค้างการพิจารณาทั้งหมด ถัดมาอยู่ในช่วงระยะเวลา 1-3 เดือน มีจำนวน 101 คดี คิดเป็นสัดส่วน 24.28%, อยู่ในช่วง 3-6 เดือน มีจำนวน 97 คดี คิดเป็นสัดส่วน 23.32%, ไม่เกิน 1 เดือน มีจำนวน 60 คดี คิดเป็นสัดส่วน 14.42% และอยู่ในช่วง 1-2 ปี มีจำนวน 39 คดี คิดเป็นสัดส่วน 9.38%, อยู่ในช่วง 2-4 ปี มีจำนวน 3 คดี คิดเป็นสัดส่วน 0.72%
1 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งสิ้น 2,727 ราย สำหรับเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานของรัฐที่ถูกฟ้องมากที่สุด 5 อันดับแรกมีดังนี้
-
อันดับที่ 1 สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำนวน 402 คน คิดเป็นสัดส่วน 14.74% ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด
อันดับที่ 2 สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 368 คน คิดเป็นสัดส่วน 13.49% ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด
อันดับที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 351 คน คิดเป็นสัดส่วน 12.87% ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด
อันดับที่ 4 กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 348 คน คิดเป็นสัดส่วน 12.76 ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด
อันดับที่ 5 องค์การบริหารส่วนเทศบาล จำนวน 195 คน คิดเป็นสัดส่วน 7.15% ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด
โดย “ข้อหา” หรือ “ฐานความผิด” ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
-
อันดับที่ 1 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ตามมาตรา 157 จำนวน 757 ข้อหา คิดเป็นสัดส่วน 58.46% ของจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด
อันดับที่ 2 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์ ตามมาตรา 147 จำนวน 82 ข้อหา คิดเป็นสัดส่วน 6.33%
อันดับที่ 3 ข้อหา เป็นเจ้าพนักงานใช้ตำแหน่งโดยทุจริต ตามมาตรา 151 จำนวน 69 ข้อหา คิดเป็นสัดส่วน 5.33%
อันดับที่ 4 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ตามาตรา 162 จำนวน 68 ข้อหา คิดเป็นสัดส่วน 5.25%
อันดับที่ 5 ข้อหาเป็นความผิดเกี่ยวกับบุคคลเรียกรับหรือให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ หรือการใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจ หรือข่มขืนใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใด จำนวน 35 ข้อหา คิดเป็นสัดส่วน 2.70% ของจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด
อ่าน ผลงาน 1 ปีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่นี่