ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > วิเคราะห์เปรียบเทียบ พ.ร.บ.แร่ 2560 มีอะไรใหม่?

วิเคราะห์เปรียบเทียบ พ.ร.บ.แร่ 2560 มีอะไรใหม่?

30 พฤศจิกายน 2018


สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่ประกาศใช้มาเป็นเวลานาน ทำให้การบริหารจัดการแร่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การกำกับดูแลไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของเหมืองแต่ละขนาด ขั้นตอนการขออนุญาตมีมากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดความล่าช้า การจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรแร่กลับคืนสู่ท้องถิ่น ชุมชน การดูแลผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ยังมีน้อยเกินไป การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่อยู่ในระดับต่ำไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศเป็นไปอย่างมีระบบ และมีความคล่องตัว ทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบาย การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการแร่ การกำกับดูแล และการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม

กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายและกำกับดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับแร่ ได้มีการเสนอต่อรัฐบาลให้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายว่าด้วยแร่ ประกอบด้วย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 โดยนำหลักการของกฎหมายทั้งสองฉบับมาไว้ในฉบับเดียวกัน

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มีทั้งหมด 16 หมวด 189 มาตรา พร้อมบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมแนบท้ายพระราชบัญญัติแร่ ประเด็นที่สำคัญต่อกฎหมาย ซึ่งแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 สรุปได้ดังนี้

    1. การกำหนดให้มีนโยบายบริหารจัดการแร่ โดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนในพื้นที่ที่ทำเหมืองหรือพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ทุกๆ 5 ปี โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ และนำแผนแม่บทฯ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้นให้นำแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน (ยกเว้นข้อมูลที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ) ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ไม่ได้บัญญัติประเด็นนี้เอาไว้

    2. รับฟังความเห็น และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ที่ทำเหมืองได้มีส่วนร่วม ยกตัวอย่าง การขอประทานบัตรทุกประเภท ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ กำหนดว่าต้องปิดประกาศในเขตพื้นที่ที่ยื่นขอประทานบัตรอย่างเปิดเผย เช่น ที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านไม่น้อยกว่า 30 วัน และยังกำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรด้วย หากที่ทำประชาพิจารณ์มีความเห็นขัดแย้งจนไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้ขอประชามติจากประชาชนในพื้นที่

    ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับเดิม กำหนดให้ปิดประกาศแค่ 20 วัน ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ กฎหมายแร่ฉบับเดิมกำหนดให้ทำประชาคมหมู่บ้าน โดยขอความร่วมมือผู้ใหญ่บ้านจัดประชุมลูกบ้าน และผู้ประกอบการ เพื่อนำความคิดเห็น หรือมติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณา โดย กพร. จะนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร ในขณะที่การรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายใหม่ นอกจากจะมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการ และชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแล้ว จะได้มีการเชิญผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    สำหรับกรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินนั้น กฎหมายแร่ทั้งฉบับเก่าและใหม่ กำหนดให้ผู้ขอประทานบัตรต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ “EHIA” ด้วย

    3. กระจายอำนาจการพิจารณาอนุญาตออกอาชญาบัตร ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ แยกอำนาจในการพิจารณาอนุมัติออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

      3.1 อาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรสำรวจแร่ กำหนดให้นายกเทศมนตรี หรือนายก อบต. เป็นผู้อนุมัติ ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับเดิมระบุว่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต

      3.2 อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ กฎหมายแร่ฉบับใหม่ กำหนดให้อธิบดี กพร. เป็นผู้อนุมัติ ส่วนกฎหมายแร่ฉบับเดิมให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตฯ) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.อุตฯ เป็นผู้อนุมัติ

      3.3 อาชญาบัตรพิเศษ กฎหมายแร่ฉบับใหม่ กำหนดให้อธิบดี กพร. เป็นผู้อนุมัติ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่ก่อน ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับเดิมระบุว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

    4. อำนาจในการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ (ประทานบัตร) กฎหมายแร่ฉบับเดิมไม่ได้แยกประเภทการประกอบกิจการเหมืองแร่เอาไว้อย่างชัดเจน การอนุมัติหรืออนุญาตออกประทานบัตร เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

    ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้จำแนกประเภทของการทำเหมืองให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

      ประเภทที่ 1 เหมืองแร่ขนาดเล็ก พื้นที่ไม่เกิน 100 ไร่ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่จังหวัด เป็นผู้อนุมัติ

      ประเภทที่ 2 เหมืองแร่ขนาดกลาง พื้นที่ไม่เกิน 625 ไร่ อธิบดี กพร. โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่ เป็นผู้อนุมัติ

      ประเภทที่ 3 การทำเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อธิบดี กพร. โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่ เป็นผู้อนุมัติ

    5. การจัดตั้งคณะกรรมการแร่และคณะกรรมการแร่จังหวัด กฎหมายแร่ฉบับเดิม กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแร่ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานฯ ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการแร่ ต่ออายุ โอน เพิกถอน อาชญาบัตร-ประทานบัตร เพียงชุดเดียว กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทั้งประเทศ ส่วนกฎหมายแร่ฉบับใหม่ แยกอำนาจการบริหารจัดการแร่ตามประเภทของการทำเหมืองแร่ โดยแบ่งออกมาเป็น 2 ชุด โดยชุดแรก คณะกรรมการแร่ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานฯ ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรแร่ พิจารณาต่ออายุ โอน เพิกถอน และออกอาชญาบัตร-ประทานบัตรเหมือนเดิม

    แต่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ 2 ประเด็น คือ ให้อำนาจคณะกรรมการแร่ กำหนดเงื่อนไขการทำเหมืองแร่ประเภทที่ 2 และ 3 และพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทั้ง 2 ประเภทได้ด้วย ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับเดิม ให้อำนาจคณะกรรมการแร่ กำหนดเงื่อนไขการทำเหมืองแร่ได้เฉพาะการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ส่วนการทำเหมืองแร่ประเภทอื่นๆ และการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กฎหมายแร่ฉบับเดิมไม่ได้บัญญัติเอาไว้

    ชุดที่ 2 คณะกรรมการแร่จังหวัด เป็นส่วนที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ เป็นประธานฯ คณะกรรมการชุดนี้ ทำหน้าที่อนุมัติ ต่ออายุ โอน เพิกถอน กำหนดเงื่อนไขการออกประทานบัตรประเภทที่ 1, ให้คำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารจัดการแร่, พิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเภทที่ 1 และปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.แร่ หรือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมาย ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับเดิมไม่ได้บัญญัติไว้

    6. การจัดเก็บรายได้-จัดสรรผลประโยชน์ให้ท้องถิ่น เดิม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้ผู้ขออาชญาบัตรพิเศษ และผู้ขอประทานบัตร เป็นผู้เสนอผลประโยชน์พิเศษให้กับรัฐ แต่ไม่ได้กำหนดให้ กพร. ต้องจัดสรรเงินดังกล่าวให้กับ อปท. รายได้ในส่วนนี้ทั้งหมดจึงต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน ยกเว้นค่าภาคหลวงแร่ ต้องจัดสรรเงินรายได้ให้ อปท. ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

    ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ขออาชญาบัตรพิเศษ และผู้ขอประทานบัตร เป็นผู้เสนอผลประโยชน์พิเศษให้กับรัฐ และจ่ายค่าภาคหลวงแร่ตามอัตราที่กำหนด โดยให้ กพร. ต้องจัดสรรเงินรายได้ทั้ง 2 ส่วนไปให้กับ อปท. ตามสัดส่วนที่กำหนดในกฎหมายสำหรับค่าภาคหลวงแร่ก็ยังคงจัดสรรให้กับ อปท. ตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

    7. การเยียวยาผลกระทบจากการทำเหมือง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ไม่ได้บัญญัติประเด็นนี้เอาไว้ แต่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ถือประทานบัตร ต้องจัดทำแผนฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมระหว่างทำเหมือง หรือหลังปิดเหมือง และที่สำคัญ ได้กำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรต้องวางหลักประกัน เป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการพื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง หรือเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

    นอกจากนี้ยังกำหนดให้ อธิบดี กพร. หรือ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ท้องที่ มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแร่ หรือ คณะกรรมการแร่จังหวัด ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีข้อร้องเรียนการทำเหมืองส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังกำหนดให้ศาลมีอำนาจ สั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองด้วย

    8. กำหนดความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายฉบับเดิมไม่ได้บัญญัติความรับผิดทางแพ่งเอาไว้ ที่ผ่านมาการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ต้องอาศัยอำนาจกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 จึงมีการปรับปรุงเพิ่มเติม โดยกำหนดให้รัฐมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย 2-3 เท่าของมูลค่าแร่ที่ผู้ทำเหมืองเอาแร่ไปจากพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร รวมถึงในเขตห้ามทำเหมือง

    9. การประกอบธุรกิจแร่ กฎหมายแร่ฉบับเดิม กำหนดเรื่องการประกอบธุรกิจแร่ ต้องขอใบอนุญาตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การซื้อขาย ครอบครอง เก็บ และขนแร่ ส่วน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น หากเป็นชนิดแร่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ประกาศให้เป็นแร่ควบคุม หากมีการชำระค่าภาคหลวงเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจแร่ใดๆ

    10. การพัฒนาและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กฎหมายแร่ฉบับเดิมให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการลดหย่อน ยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือเงินบำรุงพิเศษ ตามคำแนะนำของคณะกรรมแร่ 2 กรณี คือ กรณีผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ

    ประเด็นสุดท้าย เพิ่มบทลงโทษ ตามกฎหมายฉบับเดิมกำหนดโทษอาญาเอาไว้ต่ำมาก ดังนั้น ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ จึงมีการเพิ่มโทษทางอาญาและโทษปรับให้สูงถึง 30 เท่าของกฎหมายเดิม รวมถึงการกำหนดให้ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าปรับรายวันไปจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ 2560 เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม และคำนึงเรื่องสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ กพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการบริหารทรัพยากรแร่ของประเทศ การกำกับดูแล กำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต กระจายอำนาจการบริหาร และจัดสรรผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนในพื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่ด้วย

อ่าน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เพิ่มเติม