ThaiPublica > เกาะกระแส > วิเคราะห์สหรัฐโยงเศรษฐกิจไทยแบบ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ไขปมร้อนที่ต้องจับตา – จุดอ่อนคนรอบกายทรัมป์ ใครเป็นใคร อะไรจะเกิดขึ้น

วิเคราะห์สหรัฐโยงเศรษฐกิจไทยแบบ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ไขปมร้อนที่ต้องจับตา – จุดอ่อนคนรอบกายทรัมป์ ใครเป็นใคร อะไรจะเกิดขึ้น

24 มีนาคม 2018


ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ผสานกำลังพัฒนาตลาดทุนไทย จัดสัมมนา “Journey to IPO” เพื่อให้ความรู้แก่บริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าจดทะเบียน ตลอดจนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสนใจเข้าจดทะเบียน โดยนำร่องที่ จังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงตลาดทุน นักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ ตลอดจนบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง

โดยช่วงบ่ายดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2561” ดังนี้

มองสหรัฐถึงเศรษฐกิจไทย

“วันนี้เดิมทีจะพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก แต่ว่าอย่างที่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสหรัฐอเมริกาที่ต้องคุยกันค่อนข้างยาว ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกต้องบอกว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองในแง่ดีมากว่าเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปีที่แล้วฟื้นตัวค่อนข้างจะกว้างขวางและทั่วถึง ใช้คำว่า synchronized ทำให้ตลาดหุ้นปีที่แล้ว หุ้นขึ้นประมาณ 10-25% ทั่วโลก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่บอกว่าปีนี้จะคล้ายๆ กับปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกดีมาก”

นอกจากนี้ยังมีการลดภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และถ้าใครติดตามข่าวจะรู้อีกว่าเขายังได้ปลดล็อกการกำหนดเพดานการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วยจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะทั้งลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่าย เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้ค่อนข้างดีเกินกว่าคาด เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่แย่เกินไป ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่แบบพวกเราภาพรวมดูดีขึ้นไป นั้นคือภาพที่เขามอง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าผิดคาดอย่างมาก อย่างเช่นที่คาดการณ์กันแพร่หลายตอนต้นปีว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า กลายเป็นว่าอ่อนค่า ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์แล้ว 4% แต่ที่สำคัญคือว่าปีนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยดีขนาดนั้นสำหรับเศรษฐกิจโลก อย่างสหรัฐอเมริกาตัวเลขที่เรียกว่า Retail Sales คือยอดขายค้าปลีกปรับลดลงติดต่อไปแล้ว 3 เดือนตั้งแต่ธันวาคม-กุมภาพันธ์

“แต่หลายคนยังมองในแง่บวกว่าตัวเลขจะแผ่วในไตรมาสแรกนี้เพราะปัจจัยชั่วคราว เช่น ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาอากาศหนาวผิดปกติ มีพายุหิมะ เครื่องบินต้องยกเลิกเที่ยวบินประมาณ 2,000 เที่ยวบิน อันนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการทำธุรกิจค้าขาย นอกจากนี้ กรมสรรพากรสหรัฐอเมริกาคืนภาษีประชาชนช้าอีก ของเรารู้ว่าอย่างไรก็คืนช้า แต่ของเขากลายเป็นว่าคืนช้ามาก เพราะว่ากฎหมายใหม่ออกมาทำให้ค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าไตรมาสแรกจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่คาดหวังว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปจะกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจเป็นแบบนี้”

การที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในภาพใหญ่ดูดีใช้ได้ ก็อย่างที่เราทราบว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง นอกจากขึ้นดอกเบี้ยแล้วยังปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจดีกว่าเดิม ปรับการคาดการณ์ว่างงานลดลง และที่สำคัญคือปรับการคาดการณ์ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเดิมในปีหน้าและปีต่อไป เรื่องนี้จะต้องขยายความเล็กน้อยว่ายุคที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินกำลังจะหมดลงไป ในอดีต 10 ปีที่แล้วตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องลดดอกเบี้ยเหลือ 0% เลย แล้วยังกดดอกเบี้ยระยะยาวลงไปต่ำด้วย พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี เคยลงไปถึง 1.5% เท่านั้น

“ผมเรียนว่าดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ราคาหุ้นสูง ทำให้ราคาสินทรัพย์โดยรวมสูงขึ้น เป็นธรรมชาติ เป็นเหตุผลเลย เพราะว่าสินทรัพย์เวลาคำนวณมูลค่าจะคำนวณจากว่าอนาคตจะสินทรัพย์จะสร้างรายได้เท่าไหร่ แล้วทอนกลับมาเป็นราคาปัจจุบันโดยหารด้วยดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยสูงราคาสินทรัพย์ก็ต้องต่ำ ถ้าดอกเบี้ยต่ำราคาสินทรัพย์ก็ต้องสูง ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นช่วงที่ราคาสินทรัพย์ปรับขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปและธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางแคนาดา เข้าไปถึงไปกดดอกเบี้ยระยะยาวด้วย ที่เรียกว่านโยบายคิวอี คือเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อกดดอกเบี้ยระยะยาวลงไป เพื่อช่วยอุ้มราคาสินทรัพย์”

ดร.ศุภวุฒฺกล่าวว่า“ยุคนี้กำลังหมดไป ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปล่อยให้สินทรัพย์ที่ถือในระยะยาวหมดอายุลงไปและมีการขายตราสารพวกนี้ออกมา ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวขึ้นไปด้วย พร้อมดอกเบี้ยระยะสั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินว่าปีนี้จะขึ้นไปอีก 2 ครั้งไปอยู่ที่ 2% จาก 1.5% ตอนนี้ ปีหน้าถ้าปรับตามการคาดการณ์อีก 3 ครั้งปีหน้าจะจบที่ 3% และปีต่อไปจะขึ้นอีกสักครั้งหรือ 2 ครั้ง ดอกเบี้ยอาจจะขึ้นไปได้ถึง 3.5% อันนี้เป็นสิ่งที่ถ้าเราดูเรื่องราคาหุ้น ถ้ามองในแง่ดีจะบอกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจดี ซึ่งเท่ากับเศรษฐกิจโลกดี ผลประกอบการก็จะดีไปด้วย ดังนั้น กรณีนี้ไม่เป็นไร ราคาหุ้นยังขึ้นได้”

ในหลักการนักวิเคราะห์ยังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง ทะนุถนอมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่อเนื่อง ต้องรอดูกัน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่นายเจอโรม โพเวลล์ ก็ดูท่าทางเท่าที่ผ่านมาที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวครั้งแรกก็ดูรู้เรื่องดี ส่งสัญญาณได้เหมาะสม ความเสี่ยงตรงนี้อาจจะไม่ได้มีมาก แต่ต้องระมัดระวังในยุคที่ดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นจะขึ้นร้อนแรงแบบยุคก่อนหน้านี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น

3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า พอมาดูเรื่องว่ามีความเสี่ยงอื่นหรือไม่ ต้องบอกว่าเร็วๆ ความเสี่ยงจะอยู่ที่การคาดการณ์กันว่าสหรัฐอเมริกาจะมีเงินเฟ้อมากหรือน้อย โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจโลกหรือประเทศมันจะเป็นวัฏจักร มีขึ้นมีลง ปกติจะขึ้นประมาณ 5-6 ปีและจะลง 1-2 ปี แล้วขึ้นใหม่ ครั้งล่าสุดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวออกมาจากวิกฤติจะครบ 10 ปีแล้ว เป็นการฟื้นตัวที่ยาวมาก ต้องระวังเอาไว้ว่ามีขึ้นต้องมีลง แต่ครั้งนี้การเป็นการฟื้นตัวที่กระท่อนกระแท่นมากก็อาจจะยืดอายุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปได้อีก แต่ถ้าถามการนึกคิดแบบเข้าข้างตัวเองแล้วก็ตาม ก็สงสัยว่าอีก 3 ปีหรือเร็วกว่านั้นมันต้องมีขาลง

ก็มาตอบคำถามว่าเวลาเศรษฐกิจมันขาลง มันลงด้วยสาเหตุอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่า 3 เหตุผลหลัก

1) ลงด้วยวิกฤติทางการเงิน อย่างที่ประเทศไทยตอน 2540 ไม่ต้องขยายความมาก เรากู้มากเกินไป เราใช้หนี้คืนไม่ได้ ของเราหลักๆ คือใช้หนี้ต่างประเทศคืนไม่ได้ ทุนสำรองหมดแต่หนี้ต่างประเทศเยอะมาก ค่าเงินต้องอ่อนค่าไป 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้ส่งออกเยอะๆ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะๆ มีเงินไปคืนหนี้เจ้าหนี้

2) ถ้าเผื่อราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นเยอะๆ ไม่ว่าจะปี 1973, 1976, 1979 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเพราะราคาน้ำมันกระแทกขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ตอนนี้โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่า OPEC กับรัสเซียจะพยายามลดการผลิต เพราะว่า 2 เหตุผล

  • อันแรกมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า Shale Oil ที่เขาขุดเจาะสกัดเอาน้ำมันจากหินที่มีอยู่เยอะแยะ สมัยก่อนทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำได้ มันมีผลอย่างรุนแรง เพราะว่าการทำตรงนี้ทำได้เร็ว นึกภาพสมัยก่อนเวลาจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจะต้องขุดเจาะหาหลุมใหญ่ๆ แล้วการจะขุดเจอต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นการตอบสนองของด้านอุปทานใช้เวลานาน แต่ Shale Oil ถ้าราคาน้ำมันขึ้น เจาะ 1 เดือนได้เลย ตอนนี้เรื่องของการตอบสนองความต้องการเรามี Shale Oil ตอบสนองได้รวดเร็วมาก แทบไม่มีทางที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นกระแทกแบบสมัยก่อน OPEC จะไม่มีอำนาจคุมราคาน้ำมัน
  • อันที่ 2 คือการมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น้ำมันส่วนใหญ่ไปใช้กับการขนส่งเติมรถ แต่ช่วงหลังสังเกตว่าทุกคันมีส่วนของการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น นักวิเคราะห์ก็ฟันธงไปในทำนองเดียวกันว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า รถส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้า และความต้องการใช้น้ำมันจะถึงจุดสูงสุดภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า สมมติว่าเป็นแบบนั้น มันไม่มีทางที่น้ำมันจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ท่านคอยดูว่าอีกหน่อยปั๊มน้ำมันจะเป็น Community Mall มากขึ้น ปตท. ที่เห็นว่าจะประมูลรถไฟความเร็วสูง เพราะว่าหวังจะเป็นคนทำพื้นที่ค้าขายปลีกแล้วจากที่ดินข้างรถไฟ แล้วสังเกตว่าปั๊ม ปตท. จะมีร้านเยอะขึ้น เรื่องตัวปั๊มจะลดลง

3) ธนาคารกลางทำพลาดเอง ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นบ่อยครั้งมากที่สุดที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ คือธนาคารกลางปล่อยปละละเลยให้เงินเฟ้อสูงเกินไป แล้วถ้าไปไล่ดอกเบี้ยตามทีหลังหนักๆ เศรษฐกิจจะฟุบ รับรองว่าขึ้นดอกเบี้ยแป๊บเดียวเศรษฐกิจไปแน่ๆ ที่ไหนก็ได้ ดังนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์จะติดตามว่าเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาอย่าขึ้นมาจนกระทั้งบอกว่าธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อ

“เท่าที่ผ่านมามันไม่เป็นแบบนั้น เงินเฟ้อขึ้นช้ามาก ที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงาน 4.1% เท่านั้น แต่เงินเฟ้อไม่มาแม้ว่าตลาดแรงงานจะตึงตัวมาก โชคดีที่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เรื่องออโตเมชั่น เรื่องหุ่นยนต์ เรื่องออนไลน์ต่างๆ ทำให้เงินเดือนไม่ขึ้น เป็นมนุษย์เงินเดือนก็โชคร้าย แต่โดยรวมเศรษฐกิจเงินเฟ้อแทบจะไม่มีเลย ที่เมืองไทยเช่นกันเทียบกับสมัยก่อนจากปีละ 5% เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ย 5% เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 8% ดั้งนั้นโลกค่อนข้างเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ และต้องดูต่อไปว่าธนาคารสหรัฐฯ จะดูแลได้หรือไม่”

สงครามการค้า สหรัฐ-จีน หวั่นกระเทือนทั้งห่วงโซ่การผลิต

ดร.ศุภวุฒิเล่าต่อว่า “สิ่งที่อยากจะพูดมากหน่อยคือเรื่องการทำสงครามการค้า เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อคืนนี้(22 มีนาคม 2561)ที่ทรัมป์ประกาศมาว่าสั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ไปคัดเอาบางสินค้าประมาณ 1,800 รายการ ของจีนที่ให้ขึ้นภาษีศุลกากร 25% เป็นมูลค่า 50,000-60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการตอบโต้ลงโทษจีนที่ไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นแล้วยังให้กระทรวงการคลังไปหามาตรการเพิ่มความเข้มงวดไม่ให้จีนไปขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ในการมาลงทุนซื้อกิจการหรือที่สหรัฐอเมริกาจะส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปที่จีน”

“นี่เป็นการประกาศสงครามการค้า เพราะจีนพูดมาก่อนหน้าแล้วว่าถ้าจะทำแบบนี้จีนจะต้องตอบโต้ และจีนก็ตอบโต้เลยว่าจะขึ้นภาษีสินค้ามูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสังเกตว่าจีนต้องตอบโต้เลย แต่ก็ตอบโต้ในระดับที่ไม่รุนแรงเท่าไหร่ คงพยายามจะหาทางประนีประนอมในระดับหนึ่ง แต่ต้องติดตามว่าจะเป็นอะไรที่ขยายความออกไปเยอะหรือไม่ ตลาดหุ้นเมื่อพฤหัส(22 มีนาคม 2561) หุ้นสหรัฐอเมริกาลงไป 3% หุ้นญี่ปุ่นลงไป 4% เกาหลีลงไป 2-3% ตลาดหุ้นค่อนข้างเป็นห่วงมากในการขยับครั้งนี้”

“ถามว่าทำไมเป็นห่วง เพราะว่าอันแรกเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มูลค่าจีดีพี 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอันดับแรก แล้วเศรษฐกิจจีนที่เป็นที่ 2 ของโลกอยู่ที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าบวกกันประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จีดีพีโลกมันแค่ 75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ก็ 40% ของจีดีพีโลกแล้ว ถ้า 40% ของจีดีพีโลกทะเลาะกัน อย่างไรคนอื่นก็ลำบาก รัสเซียคนนึกว่าใหญ่ แต่จีดีพีแค่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เล็กมาก ปูตินกับสีจิ้นผิงคนละระดับเลย 12 กับ 2 ต่างกันมาก ถ้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย หุ้นไม่ตกแน่”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวย้ำว่า “ที่สำคัญกว่านั้นปัจจุบันโลกไม่ได้ผลิตสินค้ากัน ประเทศ,2 ประเทศ แต่มันเป็นห่วงโซ่ของการผลิต ในเชิงว่าต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ชิ้นส่วนหลายอย่าง และก็ต้องส่งออกชิ้นส่วนไปผลิตต่ออีก ซึ่งข้อมูลว่าประเทศไหนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก 15 อันดับแรก ตามนี้ ไต้หวันมาที่ 1 รองลงมาเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย โปแลนด์ ไทย เวียดนาม รัสเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และอินเดีย เราเป็นที่ 6 แล้วในนี้เป็นเอเชีย 11 ประเทศ ดังนั้น ถ้ามีสงครามการค้ากันอย่างไรก็กระทบ เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลก”

ส่วนกระทบอย่างไร ยอมรับว่าไม่ทราบ เพราะเดี๋ยวมันจะมาเอง นึกถึงตอนที่น้ำท่วมในไทยปี 2554 แล้วเขาผลิตรถยนต์ไม่ได้ เพราะชิ้นส่วนมาจากเมืองไทย จะคล้ายๆ แบบนั้น อีกอันที่คำนวณกันคือห่วงโซ่การผลิตของจีน คือใครส่งสินค้าไปที่จีนและมีความสำคัญกับจีนลึกซึ้ง ก็จะมีไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย บราซิล แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฉะนั้นคนที่ผูกพันกับจีนก็รวมไทยด้วย เราเป็นที่ 6 ทั้งกับโลก ทั้งกับจีน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะประเมินภาพอย่างไร แต่พูดกันเร็วๆ กรณีของจีน ไทยส่งออกนั้น จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กับยางธรรมชาติ ยางคงไม่ได้รับผลกระทบ แต่อิเล็กทรอนิกส์ต้องดูกันว่าจะกระทบหรือไม่ เพราะสหรัฐอเมริการตอบโต้จีนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก็มักจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า

แต่ถ้ามองในแง่บวกว่าอันนี้เป็นสงครามการค้าแบบเทียมๆ หลอกๆ เพราะทำไปเศรษฐกิจพัง ถ้าทำไปแล้วเศรษฐกิจพัง เลือกตั้งปลายปีนี้จะมีปัญหา เพราะสหรัฐอเมริกาจะมีเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทุก 2 ปีสำหรับสภาล่าง ก็จะมี ส.ส. 435 คนไปเลือกกันใหม่ ซึ่งทรัมป์อยากจะให้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในสภาล่างอยู่ ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจดี ซึ่งถ้าดูพฤติกรรมของทรัมป์ที่ขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมก่อนหน้านี้ก็คล้ายๆ กัน คือประกาศออกมาแล้ว แต่ตอนหลังไปยกเว้นกับแคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย กำลังจะยกเว้นให้ยุโรปอีก เกาหลีใต้อีก ถ้าแบบนั้นมันก็เหลือแต่ไทย ที่ขนาดเล็กที่ไม่ได้ยกเว้น คนอื่นใหญ่ๆ 5 อันดับแรกยกเว้นหมดแล้ว เป็นต้น

“ทีนี้ ผมต้องบอกว่าต้องสงสัยว่ามันไม่ใช่หลอก ผมอาจจะผิดก็ได้ 3 เดือน 6 เดือนก็รู้ ว่าเอาจริงหรือไม่เอาจริง เหตุที่สงสัยว่าจะเอาจริงเพราะว่าทรัมป์เชื่อจริงๆ ว่าการขาดดุลการค้ามันไม่ดี แล้วสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าเยอะมาก สหรัฐอเมริกาซื้อสินค้าจากจีน 505,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สหรัฐอเมริกาขายสินค้าให้จีนแค่ 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขาดดุลการค้ากับจีน 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นึกภาพคุณซื้อสินค้าเขา 505 บาท แต่ขายได้ 130 บาท ขาดทุนกับเขา 375 บาท ทรัมป์คิดว่าเรียกจีนไปเคาะหัวได้สบายๆ เพราะว่าขาดดุลการค้าเยอะเหลือเกิน และทรัมป์ก็คิดว่าจีนคงต้องยอม”

วิเคราะห์จุดอ่อน ใครเป็นใครในทีมทรัมป์

ดร.ศุภวุฒิวิเคราะห์ต่อว่า “ถ้าไปตามข่าวว่าทรัมป์กำลังปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเอาคนที่มองภาพในแง่ที่มองการค้าเสรีว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่มองว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ดี ถูกไล่ออกไปหมดแล้ว Gary Cohn ที่เป็นปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจก็ถูกไล่ออกไป ที่ขึ้นมาแทนและกำลังเด่นคือ Peter Navarro ซึ่งใครอยากดูใน YouTube มีสารคดีชื่อ Death by China สหรัฐอเมริกาถูกจีนฆ่าได้อย่างไร เขาต่อต้านจีนสุดๆ เลย มี Wilbur Ross รัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งต้องการกีดดันการค้า มี Robert Lighthizer ผู้แทนการค้า ก็ไม่ต้องการพึ่งองค์การการค้าโลก ต้องการให้สหรัฐอเมริกาไปอัดจีน มันก็มีแต่ทีมที่จะกีดกันการค้า แล้วมีข่าวว่าไล่ออก Rex Tillerson รัฐมนตรีต่างประเทศไปแล้ว ซึ่งเคยเป็นซีอีโอของ Exxon ไปทำธุรกิจทั่วโลก แล้วคนมาแทนคือ Mike Pompeo เป็น ส.ส. ที่รู้เรื่องการทหารและเดิมที่เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองหรือซีไอเอ คนนี้ถูกให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็ต่อต้านจีน ต่อต้านอิหร่าน สนับสนุนไต้หวัน ล่าสุดเมื่อเช้า( 23 มีนาคม 2561) ทรัมป์ทวีตว่าปลดผู้อำนวยการ สภาความมั่นคงแห่งชาติของเขา H.R. McMaster แล้วตั้ง John Bolton ซึ่งหนักขึ้นไปอีก คนนี้บอกว่าให้ไปทิ้งระเบิดอิหร่าน ให้ไปทิ้งระเบิดเกาหลีเหนือ มีนักวิเคราะห์บอกว่าเขาชอบหาคำตอบด้วยการทิ้งระเบิด แล้วคนนี้กำลังจะเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์”

“ทรัมป์กำลังเอาคนรอบข้างของตัวเองเป็นคนที่เข้าใจว่าจะเป็นปรปักษ์กับหลายประเทศไปหมดเลย ผมคิดว่าอันนี้ค่อนข้างจะน่ากลัว ไม่ใช่แค่มิติการค้าอย่างเดียว แต่มิติความมั่นคงด้วย ถ้าสมมติว่าเป็นไปในทิศทางนี้ ผมคิดว่าที่เราคุยกันมาว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างกว้างขวางและทั่วถึงมันจะยากขึ้นและท้าทายมากขึ้นเลย ภาพที่มองก็เลยเป็นว่าตลาดจะค่อยๆ รู้ว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ก็ต้องระมัดระวังตรงนี้ มันจะสะท้อนให้เห็นจากอะไรบ้าง จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ดอกเบี้ยระยะยาวจะลดลง คนจะหันไปถือพันธบัตรดีกว่าไม่ถือหุ้น เมื่อคืนก็เห็นว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีลดลงไปแล้ว ต้องระวังสิ่งพวกนี้ด้วยในภาพข้างหน้า”

จากสหรัฐถึงไทย!!

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่าข้อดีคือสิ่งเหล่านี้จะกระทบไทยช้าหน่อย กว่าจะมีผลมาถึงไทยจะใช้เวลา 2-3 เดือน และเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะมาก ฉะนั้น ค่าเงินบาทจะค่อนข้างนิ่ง โอกาสเงินบาทจะอ่อนมีน้อย โอกาสจะแข็งค่ามีมาก แต่ไม่ได้กระทบประเทศไทยในเชิงให้เศรษฐกิจตกรวดเร็วขนาดนั้น แล้วตนคิดว่าถ้าติดตามข่าวสารจะเห็นความเสี่ยงมากก่อนเร็วมาก ปรับตัวทัน แต่ข้อเสียคือว่าการฟื้นตัวและขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะไปได้เชื่องช้ากว่าที่คิด เพราะปัจจัยต่างประเทศที่สนับสนุน สมมติว่าจากที่ทรัมป์ทำแบบนี้ต่อไป จะทำให้เกิดปัญหาได้จริงๆ

“ก็ต้องกลับมาประเด็นที่เกี่ยวข้องว่าถ้าถูกแรงสะท้อนกลับไปเช่นตลาดหุ้นตกลงไป เขาจะถอยไหม คำถามคือว่าสิ่งที่ทำทำไปเพื่ออะไร ถ้าทำไปเพื่อหาเสียงในประเทศเป็นไปได้ เพราะในสหรัฐอเมริกากระแสอยู่ที่การกีดกันการค้า ใครกีดกันได้มากก็ยิ่งได้เสียงมาก เพราะคนรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ที่ทรัมป์ชนะเป็นประธานาธิบดีได้ เพราะฐานเสียงของพรรคเดโมแครตหันมาลงให้ทรัมป์ พรรคเดโมแครตก็พยายามดึงฐานเสียงนี้คืน โดนจะเป็นการกีดทางการค้าเหมือนกัน เพื่อชนะการเลือกตั้งมันจะเป็นกระแสของการปิดตลาด ไม่ใช่กระแสของการเปิดตลาด”

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่าหากมองดูภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันพบว่ายังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น แม้ภาคส่งออกจะเติบโตได้ดีในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ส่งออกเดือนกุมภาพันธ์เป็นการโตแบบไส้ในกลวง เพราะการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานไม่ได้เติบโต สวนทางกับตัวเลขส่งออกที่เติบโต อ้างอิงจากรายงานภาวะสังคมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

“ดังนั้น สิ่งเหล่าจึงบ่งบอกว่าเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัว แม้ธนาคารแห่งประเทศประเทศไทย (ธปท.) จะกล่าวถึงตัวเลขที่กระจายขึ้นในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะหลัง แต่สุดท้ายแล้วปัจจุบันค่าจ้างของมนุษย์เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นและการจ้างงานก็ลดลง”

สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจไทย ยังต้องจับตาไปอีกในระยะข้างหน้าที่จะชี้นำเศรษฐกิจไทย ได้แก่

    1) โครงการ EEC ว่าจะสำเร็จหรือไม่
    2) การเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะประเด็นกรอบเวลาจัดทำงบประมาณที่ 2 ปีหลังหันมาตั้งงบกลางปี หากเงินไม่เพียงพอ เพื่อรักษาวินัยการคลัง และอาศัยระบบนิติบัญญัติปัจจุบันค่อนข้างผ่านง่ายกว่า หากเทียบจริงๆ แล้วในงบประมาณปี 2561 หากรวมงบกลางปีแล้วจะมากกว่างบประมาณปี 2562 เสียอีก ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2562 หากมีการเลือกตั้งและมีสภานิติบัญญัติ ซึ่งทำให้กระบวนการงบประมาณจะต้องเกิดการถกเถียงและใช้เวลามากขึ้น ประกอบกับงบประมาณปี 2562 ที่อาจจะไม่พอเนื่องจากตั้งไว้ต่ำเกินไป อาจจะนำไปสู่การขาดเงินของภาครัฐได้
    3) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันยังไม่มีใครเห็นรายละเอียดจริงๆ ซึ่งหวังว่าจะออกมาได้ทันกรอบเวลาเลือกตั้ง ขณะที่อีกมุมหากมองในแง่ดีก็คือประเทศจะมีแนวทางพัฒนาที่ชัดเจน แต่ในแง่เสียคือคำถามว่าการวางยุทธศาสตร์ที่นานถึง 20 ปี จะสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นปัจจุบันหรือไม่