ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจโลก – เศรษฐกิจไทย…เมื่อผันผวนเกินคาดเดา Scenario Analysis อาจไม่ตอบโจทย์

เศรษฐกิจโลก – เศรษฐกิจไทย…เมื่อผันผวนเกินคาดเดา Scenario Analysis อาจไม่ตอบโจทย์

21 มกราคม 2017


เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการ (Symposium) ประจำปี 2560 ครั้งที่ 39 เรื่อง "เส้นทางเศรษฐกิจไทย บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก"
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการ (Symposium) ประจำปี 2560 ครั้งที่ 39 เรื่อง “เส้นทางเศรษฐกิจไทย บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก”

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการ (Symposium) ประจำปี 2560 ครั้งที่ 39 หัวข้อ “เส้นทางเศรษฐกิจไทย บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก” โดยภายในงานได้จัดเสวนา “เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน?” มีวิทยากร รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.),ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ

ชี้ โลก “รอและดู” ดึงฟื้นตัวช้า

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในมิติของขนาดว่า ปัจจุบันขนาดความผันผวนรุนแรงมากขึ้นอย่างมากและอาจจะเรียกว่าเป็น “ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด” เนื่องจากเป็นความผันผวนบนความไม่แน่นอนที่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก่อน สิ่งที่ตามมาจากความกังวลคือโลกอยู่ในภาวะ “รอและดู” หรือ Wait and See และส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอกว่าที่ควรจะเป็นได้และจะยังคงอึมครึมต่อไป เนื่องจากทุกคนจะชะลอดูสถานการณ์ก่อน

“วันนี้ถามว่าขนาดของความผันผวนไปถึงขั้นไหน ลองดูนิตยสารอย่าง Economist หรือ นิตยสาร Foreign Affairs กล่าวไปถึงว่าโลกอาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ต้องย้ำประเด็นว่ามุมมองความเชื่อมั่นที่ว่ามีคนมองแบบนั้นไม่ใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้น เป็นความกังวลถึงความผันผวนของโลกที่สูงมาก”

ตัวแปรสุดท้ายที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงกลายเป็น “นโยบายภาครัฐ” ที่ต้องอัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจ ซึ่งในระยะสั้นสามารถเข้าใจได้ แต่คำถามสำคัญคือ ในขณะที่โลกยังคงผันผวนเพิ่มขึ้น อึมครึม และชะลอตัว นโยบายภาครัฐจะสามารถอัดฉีดต่อไปอย่างไรไม่ให้มีปัญหาในระยะยาวได้

“ฟังจากสุนทรพจน์ของรองนายกรัฐมนตรีสัปดาห์ที่แล้ว เข้าใจว่าเป็นความปรารถนาดีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดิน ให้มีอารมณ์การใช้จ่าย แต่วันนี้สถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น การกระตุ้นให้ใช้จ่ายแบบนั้นคงทำได้ ถ้าเราเชื่อว่าโลกจะฟื้นตัวเร็วขึ้น รู้ว่าโบนัสจะออกอีก 6 เดือนข้างหน้า วันนี้ซื้อเครื่องซักผ้าสักเครื่อง หรือตู้เย็นใหม่ หรือถอยรถใหม่มาใช้ ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าโบนัสเลื่อนออกไปสักปีครึ่ง อันนี้จะเป็นปัญหาที่ตามมา เนื่องจากกระสุนของเรามีจำกัดที่จะยิงในระยะยาว เราต้องมองระยะยาวออกไป”

รศ. ดร.อาชนันแนะว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ ได้แก่ 1) กระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุน เนื่องจากการออมของประเทศไทยเปลี่ยนจากเดิมที่ออมจากครัวเรือนมาเป็นการออมในภาคธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางนำเงินออมของเอกชนให้ออกมาลงทุน โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน ต้องชัดเจนว่าอะไรที่รัฐควรลงทุน อะไรที่เอกชนควรลงทุน 2) ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign wealth fund) เพื่อรองรับการใช้จ่ายในระยะยาว และ 3) ความชัดเจนเชิงนโยบายของรัฐที่จะสนับสนุนให้เอกชนเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การตั้งกองทุนต้องเรียนว่าปกติไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำแบบนี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมันไม่แน่ เพื่อให้เรามีรายได้ในอนาคตที่แน่นอนขึ้น การตั้งตรงนี้ก็อาจจะมีหลายรูปแบบ เป็นระยะสั้นชั่วคราวก็ได้ เป็น shortcut ดึงเงินออมออกมา ส่วนให้ปลอดการเมืองอาจจะทำยาก นั่นคือเหตุผลที่อยากจะเน้น เราจำเป็นต้องศึกษาอย่างจริงจัง อย่าทำแบบเดิมที่เวลาต้องทำขึ้นมาก็เป็นศาลาคนเศร้า เอาข้าราชการเกษียณอายุเป็นผู้บริหาร ตรงนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่ ก็ศึกษาเสียตั้งแต่วันนี้ว่าถ้าเราจำเป็นต้องทำจริงๆ ต้องทำอะไร รายละเอียดคืออะไร จะใช้เงินสำรอง จะใช้พันธบัตรหรืออะไรทำ เหมือนเรื่อง TPP เราต้องศึกษาแล้วว่าถ้ามีข้อเสนอแบบนี้มา รัฐจะเอาอย่างไร ไม่ใช่พอมาแล้วตั้งคณะกรรมการศึกษากันใหม่”

แนะทางออกเดียว เอกชนต้องลงทุน

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โจทย์ความผันผวน ธปท. ไม่ได้มองว่าจะหนักเท่ากับ รศ. ดร.อาชนัน มองว่าโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ 3.2% ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับหลายสำนัก อาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งถือว่าทำหน้าที่ได้ดีในโลกที่เศรษฐกิชะลอตัวและผันผวน โดยควรเน้นการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น ขณะที่ภาคส่งออก กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในโลกที่มีความผันผวนของเศรษฐกิจสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง อังกฤษออกจากอียู การทำคิวอี การลดดอกเบี้ยจนถึง 0% ฯลฯ รวมไปถึงปรากฏการณ์แบบ “หงส์ดำ” คือเหตุการณ์ที่ความน่าจะเป็น ที่เกิดต่ำมาก และไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิด แต่กลับเกิดขึ้น อย่างวิกฤติการเงินโลกในปี 2551

ดังนั้น แนวทางที่แนะนำสำหรับการรับมือความผันผวนดังกล่าว ได้แก่ 1) มองบวกและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่แย่ หรือ Hope for the best, Prepare for the worst 2) การวิเคราะห์สถานการณ์ หรือ Scenario Analysis และ 3) น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน

“เศรษฐกิจพอเพียง น้อยเกินไปก็ไม่ดี อย่างการลงทุนของเอกชน ตอนนี้มีปัญหาว่าลงทุนน้อยเกินไป ติดลบต่อเนื่อง แล้วถ้าไม่กลับมา เศรษฐกิจไทยอย่าไปหวังนะว่าจะเติบโต 4% 5% แค่ 3% ก็ดีแล้วไม่ 2% ก็บุญแล้ว” ดร.ดอนกล่าว

(จากขวามาซ้าย)ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด,ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย,รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
(จากขวามาซ้าย)ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด,ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย,รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์

เมื่อโลกผันผวนเกินคาดเดา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า “โจทย์วันนี้ที่ได้มาคือเศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ก็อยากจะขอตอกย้ำจากผู้ร่วมเสวนาทั้งสองท่านตั้งแต่แรกว่าโลกผันผวนมากขึ้น ถ้าเกิดเราดูปีที่แล้วเป็นตัวอย่าง จะบอกว่าเป็นปีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทำนายเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกผิดหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น Brexit ไม่ว่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ หรือการลงประชามติในอิตาลี

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครรู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์หรือ Scenarios จะเป็นอย่างไร ก็ควรจะเตรียมการและหวังผลว่าพอร์ตการลงทุนหรือภาคเศรษฐกิจ ผลกระทบของเหตุการณ์ต่างๆ นี้เป็นอย่างไรได้ แต่จะบอกว่าปีที่แล้วเป็นปีหนึ่งที่ถ้าใครทำ Scenario Analysis แล้ว ก็คงทำผิดหมดเลย เพราะทายเหตุการณ์ผิดแล้วยังทายผลของเหตุการณ์ผิดอีก ถ้าจำกันได้ทุกคนบอกว่า Brexit ไม่เกิดแน่ พอ Brexit ออกมา ทุกคนบอกว่าถ้า Brexit มาหุ้นตกเละ ตกอยู่ 3 วัน แล้วจุดนั้นก็เป็นจุดต่ำสุดของหุ้น หลังจากนั้นก็ขึ้นมาตลอด

หรือตอนเลือกตั้งสหรัฐฯเรื่องทรัมป์ ใครจำได้โพลทุกโพลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์กไทมส์ โพลทางการเมือง ทุกคนทายว่าฮิลารี คลินตัน มาแน่นอน ผมก็ตามนิวยอร์กไทมส์ตั้งแต่เช้า โอกาสที่ฮิลารีชนะมี 85% เปิดหีบลงคะแนนไปเรื่อยๆ จาก 85% เหลือ 0% ภายใน 2 ชั่วโมง แล้วทุกคนบอกว่า ถ้าทรัมป์มาหุ้นตกเละแน่ ถ้าใครนั่งดูตลาดหุ้นวันนั้นจะบอกดาวโจนส์ ฟิวเจอร์ ติดลบ 600 จุด ทุกคนบอกนี่เป็น worst case scenario ของปีนี้จะต้องขายทิ้งกันทั้งโลก ปรากฎว่าพอตลาดสหรัฐฯ เปิด ดาวโจนส์บวกไป 400 คือถ้าเกิดผมทำ scenario ทิ้งไว้ นอกจากจะขาดทุนแล้วยังผิดอีกต่างหาก

เพราะฉะนั้น จะบอกว่าโลกมันผันผวน นอกจากในเรื่องของเหตุการณ์เดายากแล้ว เรายังไปทำนายผลของเหตุการณ์ยากไปกว่าเดิมอีก เพราะฉะนั้น Scenario Analysis อาจจะไม่ตอบโจทย์ เชื่อว่าการกระจายความเสี่ยงอาจจะมีผลเยอะกว่า ชี้ให้เห็นอีกประเด็นว่าโลกนี้มันผันผวนมากขึ้น

ประเด็นที่อยากพูดถึงก็คือปีนี้ประเด็นอะไรที่มีความผันผวนบ้าง เรียกได้ว่าปี 2560 ยังเป็นปีของการผันผวนเหมือนกัน เป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนในหลายๆ เรื่อง หลายคนพูดถึงลุงทรัมป์ ป้าเมย์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ไปแล้ว ต้องบอกว่ามีความไม่แน่นอนจริงๆ เพราะนโยบายที่เขากำลังจะทำก็ยังไม่รู้เลยว่า เขาคิดว่าเขารู้หรือไม่ว่าเขาทำอะไรอยู่

“พอถามนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า มันไม่เห็นสมเหตุสมผลเลย ถ้าใครฟังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เมื่อ 3 วันก่อนที่ออก World Economic Outlook ปรับ GDP ของสหรัฐอเมริกาขึ้น เขาบอกว่านโยบายของทรัมป์มาลดภาษี การเติบโตดีขึ้นแน่ แต่นักข่าวไปถาม Maurice Obstfeld ที่เป็น Economic Counseller และ Director of Research ที่ IMF ว่าทำไมไม่ใส่ผลกระทบด้านลบจากนโยบายกีดกัน หรือ Protectionism บ้าง เขาบอกว่า เพระเขาไม่คิดว่ามันจะเป็น Self-Interest ของใครที่จะทำเลย สุดท้ายแล้วมันน่าจะตระหนักว่าไม่ฉลาดเลยที่จะทำ เพราะฉะนั้นเขาไม่ใส่ไว้ใน Base Case แต่ยอมรับว่าถ้ามีการทำขึ้นมาจริงๆ มันจะเป็นความเสี่ยงด้านลบ หรือ Downside Risk แล้วผลจะกระจายตัว Disruptive มากๆ”

นั่นคือจริงๆ แล้ว คนรู้อยู่แล้วว่าวันนี้มันไม่สมเหตุสมผลที่จะทำ เพราะฉะนั้นคนยังไม่กล้าทำนายผลของมันเลย แม้กระทั่ง IMF เอง เรื่องนี้อาจจะคล้ายๆ กับว่าทำไมผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ทุกคนไม่มีใครเชื่อว่าทรัมป์จะมา แต่สุดท้ายก็มาแล้ว ทุกวันนี้คนก็ต้องนั่งทายว่าผลของมันจะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่สองที่น่าจะเห็นปี 2560 เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เราอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ปีนี้อาจจะเป็นปีที่แนวโน้มเปลี่ยนไปก็ได้ แต่ประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ถ้าใครจำได้ช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed บอกจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง ปีที่แล้วขึ้นดอกเบี้ยไปแค่ครั้งเดียว ปีนี้บอกจะขอขึ้น 3 ครั้ง ปลายปีมาดูกันอีกทีว่าจะได้ขึ้นหรือเปล่า แต่ว่าตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมา เราก็เห็นอัตราดอกเบี้ยธนบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐฯ ขึ้นไปประมาณ 70-80 bases point ในเวลา 2 อาทิตย์ แปลว่า ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอย่างเดียว ทำให้ภาพของความผันผวนในแง่ของสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างเดียวของเศรษฐกิจคืออัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ทั้งที่นโยบายยังไม่มา วันนั้น ใครเป็นรัฐมนตรีก็ยังไม่รู้

แล้วประเทศไทยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลย เรายังกระตุ้นเศรษฐกิจ มีช็อปช่วยชาติ อะไรกันอยู่เลย อัตราดอกเบี้ยเด้งขึ้นตามเขาไปด้วย ฝนที่ตกทางโน้นหนาวถึงคนทางนี้จริงๆ ทำให้สิ่งที่เราอาจไม่คิดว่าเป็นความเสี่ยงของเรา อยู่ดีๆ ก็เป็นความเสี่ยง อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ไปเจอที่จุดต่ำสุด คนกังวลเรื่องเงินฝืด วันนี้อยู่ดีๆ คนไทยก็ต้องมากังวลเรื่องเงินเฟ้อตามเขาไปด้วยภายใน 2-3 อาทิตย์

ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความผันผวน อัตราดอกเบี้ยวันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ ถ้าเกิดย้อนกลับไปสถานการณ์อาจจะใกล้เคียงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ต่ำ ทุกอย่างกำลังจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ภาวะแบบนี้ก็อาจจะไม่ได้ยังยืน สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าเราเห็นอัตราดอกเบี้ยแบบนี้ ถ้ามันกลับเข้าสู่ภาวะปกติความเสี่ยงที่มันจะเป็นขาขึ้น ก็อาจจะมากกว่าความเสี่ยงที่จะเป็นขาลง

แต่เราก็พูดอย่างนี้มา 2 ปีแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนคือคนคุ้นชินกับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลงมาตลอดทาง แทบจะบอกว่าในชีวิตของนักลงทุนส่วนใหญ่หรือคนส่วนใหญ่จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแบบขึ้นยาวๆ หน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าใครจำได้ สมมติช่วงปี 2540 เราเห็นดอกเบี้ยอยู่สัก 15% ช่วงนั้นคนไม่ต้องทำอะไร เอาเงินฝากธนาคารก็พอที่จะมีกินมีใช้ในระดับหนึ่ง มาวันนี้แม้กระทั่งฝากดอกเบี้ย 10 ปีให้กับรัฐบาลวันนี้ก็แทบจะไม่ได้อะไร เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุนด้วยเหมือนกัน

ความไม่แน่นอนอีกอันหนึ่งก็คือ ทิศทางของนโยบายของแต่ละประเทศ วันนี้เส้นผลตอบแทน หรือ yeild curve ระหว่างสหรัฐฯ ไทย ญี่ปุ่น ยุโรป จะเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังอยากจะทำให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ เพราแนวทางของเขาคือตอนนี้ไม่ได้เหยียบเบรก แค่ถอนเท้าจากคันเร่งเท่านั้นเอง แต่คนก็เริ่มจะตระหนกกัน

อีกด้านหนึ่งเรามีประเทศที่ยังคงเก็บอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ยังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลกันเรื่อยๆ ภาวะที่เราจะเห็นในอนาคตก็คือ ภาวะที่มีการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงิน แม้ว่าอาจจะพ้นผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อสัก 3 ปีก่อน เราเห็นทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ทำคิวอี วันนี้เราเห็นสหรัฐหยุดทำคิวอีไปแล้ว เริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ย ยุโรปลดการทำคิวอี เมื่อปลายปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบายไปแล้ว ภาพที่เราเคยเห็นการกระตุ้นมากๆ หลายคนก็ยอมรับว่าเข้าสู่จุดอิ่มตัวของการกระตุ้นไปแล้ว ภาพที่เรากำลังจะเจอในปีนี้ ปีหน้า และอีกหลายปีถัดๆ ไป คืออีกภาพหนึ่งที่ไม่มีคนมาช่วยกระตุ้นแบบหนักๆ แบบเดิมๆ แล้ว เพราะฉะนั้นภาพจะเป็นยังไรก็ต้องรอดู

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องของการเมืองที่หลายคนพูด ไม่ว่าจะ Brexit การเลือกตั้งในเยอรมนี ในฝรั่งเศส สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะออกมาเป็นอย่างไร อันนี้ก็อาจจะเป็นภาพรวมๆ ที่เห็นภาพความผันผวนที่อยู่ข้างนอก

Potential Growth ลดลงตลอด 20 ปี

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่ากลับมาที่ประเทศไทย ถ้าฟังสัมมนาตั้งแต่เช้า เราพูดถึงความผันผวน หลายๆ คนพูดถึงว่า”ค่ากลาง”เป็นอย่างไร หลายคนพูดถึง demand side เสียงส่วนใหญ่ว่า เรามีความผันผวนฝั่ง demand side ค่อนข้างเยอะ เลยขออนุญาตพูดถึงฝั่ง supply side สักนิดหนึ่ง

สิ่งแรกที่อยากจะให้ดูคือเส้นแนวโน้มการเติบโตจีดีพีของไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2536 อันนี้ก็อาจจะเห็นว่าภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงหลักๆ ตั้งแต่ปี 2536-2540 ซึ่งเป็นช่วงที่โชติช่วงชัชวาล ช่วงที่เรามีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างเยอะ เราสร้างสนามกอล์ฟ เราทำอะไรกัน เศรษฐกิจถูกผลักดันด้วยการบริโภค และการลงทุน เรายืมการออมของชาวบ้านมาใช้เพื่อการลงทุนในประเทศ หลังจากนั้นเราก็เกิดวิกฤติปี 2540 จีดีพีตกไป เกิดการเปลี่ยนโหมดของเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจที่เน้นอุปสงค์ภายในประเทศมาเป็นเศรษฐกิจที่เป็นเครื่องจักรโดยการส่งออก สัดส่วนของการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 70% ในเวลาไม่กี่ปี ส่งออกช่วงนั้นโตปีละ 15-20% ทุกปี

ถ้าเราดูในช่วงแรก ปี 2536-2539 เศรษฐกิจไทยโตปีละ 7% โดยเฉลี่ย ถ้า ดร.ดอนทำงานสมัยนั้นก็ทำประมาณการณ์ง่าย ใส่ไปเลย 7-8% ได้ตลอด พอมาช่วงที่ 2 เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มองย้อนหลังกลับไปจะอยู่ประมาณ 5% เศรษฐกิจช่วงนั้นเรายิ่งทำงานง่ายกว่าเดิมอีก แทบจะไม่พลาดเลย 5% ทุกปี หลังจากนั้นเราก็เจอวิกฤติปี 2551 จีดีพีติดลบไปอีกนิดหนึ่ง พอมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนิดหนึ่ง เจอน้ำท่วมปี 2554 มีรถคันแรก ปรับเงินเดือนขั้นต่ำ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เศรษฐกิจขึ้นเกินเส้นแนวโน้มไปนิดหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยเจอปีปกติอีกเลย เจอทั้งกีฬาสีและอะไรต่างๆ นานา

แต่ที่อยากให้ดูก็คือว่าเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เคยโต 7% โดยเฉลี่ย กลายมาเป็น 5% โดยเฉลี่ย แล้วเหลือตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ย้อนหลังกลับไปคือประมาณ 3% โดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้นวันนี้ก็อาจจะไม่แปลกใจว่าทำไมค่ากลางที่เราคุยกัน อย่างที่คุณดอนบอกว่า 3% ก็ดีใจกันแทบแย่แล้ว ถ้าเราดูภาพนี้แสดงว่ามันมีอะไรที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยสักอย่างหนึ่ง ซึ่งอันนี้อาจจะสำคัญมากกว่าความผันผวนในระยะสั้นที่เรากำลังจะบอกว่า ปีหน้ากระตุ้นเพิ่มอีกหน่อยเราจะได้ 4% เพิ่มอีกนิดหนึ่งจะได้ 5% แล้วสิ่งที่มันน่ากลัวอีกนิดก็คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของประเทศไทย มองว่าเราจะโต 5% แต่ถ้าดูรูปนี้แล้วมันก็อาจจะเหนื่อยขึ้น และแผน 20 ปีก็อาจจะบอกว่าโต 5% เพราะฉะนั้นต้องกลับมาตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เคยโต 7% เหลือ 5% เหลือ 3%

thaipublica_3151

กังวลสังคมผู้สูงวัย กระทบศักยภาพเศรษฐกิจโดยตรง

ประเด็นหนึ่ง ถ้าเกิดเรามองภาพ ใครทำ Growth Accounting ก็จะรู้ว่ากรอบแนวคิดอันหนึ่งที่ใช้คือมองว่าเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจเป็นเหมือนโรงงานโรงหนึ่ง ซึ่งใส่ปัจจัยการผลิตไปแค่ 2 อย่าง ก็คือแรงงานกับทุน ถามว่าเครื่องจักรนี้ดีขนาดไหน คือสิ่งที่เราเรียกว่า productivity ดีขนาดไหน นั้นคือวิธีที่จะเพิ่ม growth ของเศรษฐกิจถ้ามองจากฝั่ง supply side ไม่ต้องคิดอะไรมาก คือถ้าเราใส่ปัจจัยการผลิตเพิ่มเข้าไป 2 เท่า ถ้าเครื่องจักรทำงานเหมือนเดิมและทำได้ดีเหมือนเดิมผลผลิตมันก็ควรน่าจะเพิ่ม 2 เท่าได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเรามองย้อนกลับไปในช่วงอดีตที่ผ่านมาจะมีการศึกษาจาก IMF ที่เขาตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า potential growth ของเมืองไทยคืออะไร พูดง่ายๆ ว่าเราใส่แรงงานเพิ่ม เราใส่คนเพิ่มแล้วมันมี productivity เพิ่มจากเครื่องจักรเยอะแค่ไหน

สังเกตว่าปี 2546-2550 ที่เราโตประมาณ 5% ประมาณ 1% มาจากการลงทุนคือทุนที่ใส่เพิ่มเข้าไป อีก 1% มาจากแรงงาน ส่วน productivity ที่เพิ่มขึ้นประมาณสัก 2.5% รวมกันทำให้เราโตโดยเฉลี่ยประมาณ 5% แต่สิ่งที่เขาประมาณการณ์ต่อไปคือเขามองว่า ถ้าเราดูในปัจจุบัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสถานการณ์เมืองไทย ความท้าทายที่ผมมองว่าในระยะยาวและน่ากลัวที่สุด เป็นระเบิดเวลาที่รอกำลังจะเกิดขึ้นก็คือ ภาวะโครงสร้างของประชากร หลายคนใช้คำว่า aging society หรือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมันจริงนะครับว่ามันคือสังคมผู้สูงอายุ แต่ผมว่ามิติที่มันหายไป มันคือมิติของกำลังแรงงานที่กำลังลดลง ผมว่ามันน่ากลัวกว่า aging population อีก แต่ว่าเราเพิ่มจำนวนได้ไม่ง่าย ก็สามารถมีวิธีเพิ่มจำนวนได้ แต่สิ่งที่จะพูดก็คือว่าในอดีตถ้าเราดูภาพส่วนที่เป็นสีเขียวเนี่ย คือส่วนที่เป็น working age population ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดีที่สุดของโครงสร้างประชากรไทย ประชากรเราเพิ่มมาตลอด ทำให้เศรษฐกิจเราสามารถโต 7% ได้ 5% ได้

แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากจุดนี้ไปอีกต่อไปคือ working age population ของประเทศไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือประชากรจะต้องลดลงแน่ๆ เพราะเขาบอกว่าถ้าจะมีการประมาณการณ์อะไรที่แม่นที่สุด สิ่งนั้นก็คือการประมาณการณ์ของประชากร เพราะว่าคน 30 ปีในวันนี้ อีก 10 ปีก็ต้องอายุ 40 แน่นอน ถ้าสามารถทายอัตราการตาย อัตราการเกิดได้ถูก ก็พอจะเดาได้ว่าจำนวนประชากรจะเป็นเท่าไร ดังนั้น ถ้าเกิดเราสมมติว่าจะเป็นแบบนี้ working age population ลดลงแน่นอน เครื่องจักรเครื่องนี้กำลังจะมีปัจจัยการผลิตลดลงในแง่ของปริมาณแรงงานที่ใส่เข้าไป ไม่เท่านั้นคุณภาพของแรงงานก็อย่างที่เราทราบกันก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น แรงงานกำลังจะลดลงในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

หวังเพิ่มผลิตภาพ ชดเชยกำลังแรงงาน

ความหวังที่เหลืออยู่อันเดียวที่สำคัญจริงๆ ก็คือการลงทุนและเป็นการลงทุนภาคเอกชนด้วยที่จะต้องอัปเกรดเครื่องจักรทั้งหมด ทำให้แรงงานหรือไม่ว่าอะไรที่เราใส่เข้าไปมันสามารถที่จะเอาผลผลิตออกมาได้เยอะขึ้น นี่อาจจะเป็นทางรอดทางหนึ่งของเรา นี่คือมุมความท้าทายและมองไปไกลๆ คือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่ผมบอกว่ากำลังเกิดขึ้นในตอนนี้

ประเด็นที่พูดถึง aging เราคุยถึงแนวโน้มของเราแล้ว แต่ในระดับโลกการที่สังคมเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประเทศหลายประเทศที่เคยเจอภาวะนี้ก่อนเราหลายประเทศ ถ้าเราดูอายุเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ประมาณ 36-37 ปี ถ้าดู สีส้มๆ สีแดงๆ คืออายุเฉลี่ยที่เกิน 30 สีแดงประมาณสัก 40 ประเด็นที่อยากให้ดูคืออายุเยอะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าสังเกตดูประเทศต่างๆ ในโลกที่เป็นสีส้มสีแดงทุกประเทศรวยหมดแล้ว มีแค่จีนกับไทยที่แก่ก่อนรวย นั้นคือเรายังคงต้องการ growth อยู่ ถ้าไปมองยุโรป มองญี่ปุ่น เขาโต 1% หรือไม่โตเลยเขาก็ยังอยู่ได้ เพราะประชากรลดลง แค่ขอให้สร้าง GDP เท่าเดิม GDP ต่อหัวมันเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนคนที่มาหารลดลง แต่ว่าเขาอาจจะอยู่ในสถานะที่ดึงคนจนออกมาจากสังคมได้พอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่จะต้องโตเร็วๆ ก็จะน้อยลง

แต่เมืองไทยเรายังอยู่ในสถานะของการเป็น emerging market ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องโตอยู่ เพื่อสร้างโอกาสที่จะดึงคนจนออกจากสังคมขึ้นมาให้ได้เยอะที่สุด อันนี้เราพูดกันในเรื่องทำไมคนเริ่มจะมอง anti-globalization มันก็เป็นประเด็นในเรื่องของ distribution ถึงแม้เราจะมองว่า distribution เราแย่ขนาดไหน ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดโต distribution มันจะแย่ไปอีก เพราะคนรวยมีโอกาสมากกว่าจะดึงทรัพยากรไปได้มากกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น 1) ความจำเป็นที่จะต้องโตมันยังมีอยู่ 2) ทรัพยากรที่จะดูแลคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุอาจจะยังไม่เพียงพอ สวัสดิการของรัฐ เรามีไม่พอแน่ๆ กองทุนทั้งหลายที่เราพูดถึงกัน ไม่ว่าจะประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสุขภาพข้าราชการ ทุกอันเจ๊งแน่นอนในรอบ 30 ปี ถ้ายังไม่เปลี่ยนโครงสร้าง ทั้งรายรับและรายจ่าย เพราะฉะนั้น มันเป็นระเบิดเวลาที่กำลังจะลงมาหาเราในหลายเรื่อง นี่ถ้าไม่รวมถึงประเด็นที่พูดไปแล้วอย่าง working age population เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

ต้องดึงเอกชนลงทุน เพิ่มผลิตภาพ

คำถามคือ แล้วเราจะดึงดูดการลงทุนได้หรือไม่ ถ้าเราฟังดูรัฐบาล ฟังดูคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ทุกคนเห็นภาพตรงกันอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่าต้องเพิ่ม productivity แต่ว่าเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 เรารู้ว่าต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำไปสูง แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถทำเองได้ เราต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาในระหว่างที่เราไม่สามารถที่จะผลิตองค์ความรู้ ไม่สามารถที่จะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีไปได้

แต่ถ้าดูภาพ working age population ของไทย เรารู้อยู่แล้วจะลดลง และถ้าเปรียบเทียบกับปี 2011 จนถึง 2099 เราเป็น 4 ประเทศในเอเชียที่ประชากรกำลังลดลง แล้วลดลงในอัตราที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คนที่ลงพร้อมเราก็จะมี ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ซึ่งอาจจะไม่ค่อยต้องห่วงสักเท่าไร จีนอาจจะต้องห่วงในอนาคต แต่ระหว่างนี้เราไปดูคนอื่น ฟิลิปปินส์ ประชากรยังไม่พีคจนกระทั่งปี 2085 อินโดนีเซียไม่พีคจนกระทั่ง 2058 อินเดียปี 2050 แล้วเวลาคนพูดว่าอาเซียนเป็น young and vibrant population dynamic economy เขาพูดถึง ASEAN except Thailand เราไม่เกี่ยวกับเขาเลย เราแก่สุดในภูมิภาค แม้กระทั่งสิงคโปร์ยังเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

ถามว่าแล้วเราต้องทำอย่างไร ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนลงทุนมากขึ้น ถ้าเราไม่สามารถลงทุนด้วยตัวเองได้ ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา หนังสือที่หลายคนควรอ่านคือ Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty ของ Daron Acemoglu และ James Robinson การจะสร้างสถาบันแบบไหนที่จะสนับสนุนให้เอกชนลงทุนได้อย่างมั่นใจ และเอกชนจะลงทุนได้ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำมันจะยังอยู่ มันไม่ได้ถูกดึงไปง่ายๆ เพราะฉะนั้นการสร้างเรื่องของ นิติรัฐ นิติธรรม มีความสำคัญ ทำอย่างไรให้ปัญหาคอร์รัปชันหายไป ทำอย่างไรให้รัฐมีขนาดเล็กลง การปฏิรูปที่ต้องทำที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปภาครัฐ เรารู้แล้วว่าจาก supply side ว่าวัตถุดิบหรือทรัพยากรของเรากำลังมีน้อยลงเรื่อยๆ การทำทุกอย่างของเราจะต้องทำให้เห็นผลว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุด

การที่เราไปเพิ่มขนาดของรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันอันตรายเพราะเป็นการแย่งทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วออกจากประชาชนไป แล้วการรั่วไหลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอร์รัปชัน เรื่องของอะไรต่างๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะฉะนั้นเรื่องของการปฏิรูปภาครัฐ คอร์รัปชัน การปฏิรูปเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอะไรต่างๆ นานา ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ทุกคนพูดในหลายเวที ไปเวทีไหนก็พูดแบบนี้ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไร อย่างเช่นเราบอกว่าเราจะดึงให้คนมาลงทุน information technology ในประเทศเรา เราก็มี พ.ร.บ.คอมฯ แล้วใครจะมา

ขอทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า ทุกคนรู้หมดแล้วว่าทุกคนต้องทำอะไร เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูก 2 วันก่อนปลัดกระทรวงการคลังบอกว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุนสักที ทั้งที่ลดแลกแจกแถมสิทธิประโยชน์ภาษีให้ตั้งเยอะ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีทำให้เรารู้แล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องมาตรการภาษีอย่างเดียว และราคาไม่ใช่อย่างเดียวที่เอกชนรออยู่ แต่ว่ามันเป็นเรื่องอื่น แต่เป็นอะไร ถ้าไม่รับรู้ก็ต้องพยายามที่จะเรียนรู้ต่อไป