ThaiPublica > เกาะกระแส > ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า จีน-ยุโรป กำเนิดเส้นทาง Land Bridge สาย “ยูเรเซีย”

ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า จีน-ยุโรป กำเนิดเส้นทาง Land Bridge สาย “ยูเรเซีย”

30 มีนาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อัสตานา (Astana) ของคาซัคสถาน เป็นแค่เมืองที่เป็นสถานีรถไฟแห่งหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ในปี 1995 ประธานาธิบดีคาซัคสถานประกาศย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตี (Almaty) มาที่อัสตานา บรรดานักการทูตต่างชาติรู้สึกไม่สบายใจ เพราะในฤดูหนาว อากาศในอัสตานาติดลบ 50 องศา แต่การสร้างเมืองหลวงใหม่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยเงินทุนจากน้ำมันดิบที่คาซัคสถานขุดจากทะเลแคสเปียน

ทุกวันนี้ อัสตานาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า ศูนย์การค้าสมัยใหม่ ส่วนสัญลักษณ์โดดเด่นของเมืองคือพระราชวัง 2 แห่ง ได้แก่ พระราชวังของประธานาธิบดี และอีกแห่งหนึ่งคือ พระราชวังปักกิ่ง ที่เป็นโรงแรมสูง 25 ชั้น ที่เจ้าของคือ China National Petroleum Corporation (CNPC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน โรงแรมนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลอำนาจที่มากขึ้นของจีนในเอเชียกลาง โดยจีนกลายเป็นประเทศผู้ค้าและนักลงทุนรายใหญ่สุดในคาซัคสถาน CNPC ควบคุมการผลิตน้ำมันถึง 1 ใน 4 ของคาซัคสถาน

เอเชียกลาง

เมื่อเดือนกันยายน 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศที่มหาวิทยาลัยนาซาร์บาเยฟ อัสตานา ว่า จีนจะเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจสายไหม” (Silk Road Economic Belt) ที่เชื่อมโยงจีนตะวันตก ข้ามเอเชียกลาง ไปสู่ยุโรป เป้าหมายของจีนไม่ได้มีแค่การสร้างเส้นทาง Land Bridge แห่งใหม่ เพื่อการส่งออกจากฐานการผลิตในพื้นที่ใจกลางของจีน และการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ แต่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับเอเชียกลางจะช่วยสร้างเขตการค้าขึ้นในภูมิภาคที่ล้าหลังของจีนโดยเฉพาะมณฑลซินเจียง

ในปี 1991 เมื่อประเทศในเอเชียกลางที่ประกอบด้วยคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน กลายเป็นประเทศเอกราช จีนให้ความสำคัญในเรื่องพรมแดนกับเอเชียกลาง เพราะเกี่ยวกับความมั่นคงของซินเจียง ปี 1996 จีนตั้งกลุ่ม Shanghai Five Forum ที่ประกอบด้วยจีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ต่อมากลุ่มนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Shanghai Cooperation Organization (SCO) การตั้งกลุ่ม SCO ขึ้นมาในภูมิภาคที่เรียกว่า “ยูเรเซีย” (Eurasia) แสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ต่อเอเชียกลาง

เอเชียกลางมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ยูเรเนียม จีนมองว่าความสงบมั่นคงของเอเชียกลางเป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุ่งเรืองของมณฑลซินเจียง ที่มีพรมแดนยาว 2,800 กิโลเมตรติดกับเอเชียกลาง จีนมีแผนที่จะทำให้อุรุมชิ เมืองหลวงของซินเจียง ให้กลายเป็น “ประตูสู่ยูเรเชีย” ที่เชื่อมโยงจีนกับยุโรปโดยผ่านเอเชียกลาง ทุกวันนี้ เมือง Khorgos อยู่ติดกับพรมแดนคาซัคสถาน กลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของจีนสู่เอเชียกลาง

เส้นทาง Land Bridge จีน-ยุโรป

เส้นทางรถไฟสาย จีน-ยุโรป ที่มาภาพ : https://www.csis.org/analysis/rise-china-europe-railways

บทความเรื่อง The Rise of China-Europe Railways ของ Center for Strategic & International Studies (CSIS) กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น การค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปอาศัยเส้นทางขนส่งทางทะเล แต่การขนส่งทางรถไฟระหว่างจีนกับยุโรปก็กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยังไม่มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบเดินรถประจำระหว่างจีนกับยุโรป แต่ปัจจุบันมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่เชื่อม 35 เมืองในจีน กับอีก 34 เมืองในยุโรป

การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างจีน-ยุโรปมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ และรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเล ครึ่งแรกของปี 2017 มูลค่าการขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ยุโรปเพิ่มขึ้น 144% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟจะเพิ่มเท่าตัว ในปี 2016 การขนส่งสินค้าทางเรือยังเป็นเส้นทางหลัก มีสัดส่วน 94% ของน้ำหนักสินค้า และ 64% ของมูลค่าสินค้า ส่วนการขนส่งทางเครื่องบิน มีสัดส่วน 13% ของมูลค่าสินค้า ตัวเลขนี้สะท้อนว่า การขนส่งทางเรือได้เปรียบด้านสินค้ามูลค่าต่ำ ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินได้เปรียบด้านสินค้ามูลค่าสูง

จีนเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันการขนส่งทางรถไฟระหว่างจีนกับยุโรป การขนส่งทางรถไฟเป็นส่วนสำคัญของโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หลายประเทศก็ยินดีเข้าร่วมโครงการนี้ ในปี 2012 มีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าข้ามทวีปเป็นครั้งแรก จากจีนไปเยอรมัน ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร ใช้เวลา 15 วัน โดยเร็วกว่าการขนส่งทางทะเล 30 วันในเดือนมกราคม 2017 เมื่อรถไฟบรรทุกสินค้าจากเมืองยิหวู (Yiwu) มาถึงลอนดอน หนังสือพิมพ์ The Telegraph กล่าวว่า “เป็นโฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าที่เก่าแก่นานนับศตวรรษ”

รพไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวแรก จากเมืองท่า Yiwu ไปลอนดอน มกราคม 2017 ที่มาภาพ : https://uk.news.yahoo.com/first-chinese-freight-train-arrives-205543814.html

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอดีตสินค้าจากจีนบางส่วน อาศัยการขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ที่มักประสบปัญหาความล่าช้าในการขนถ่ายสินค้า เมื่อมีการเปลี่ยนขบวนรถ ความล่าช้าดังกล่าวทำให้เกิดการสูญหายและการลักขโมยสินค้า ปัญหาเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าที่ต้องแช่แข็งในตู้เย็น

ก่อนหน้านี้ บริษัทต่างๆ ในจีนก็พยายามทดลองใช้บริการขนส่งทางรถไฟระหว่างจีน-ยุโรป ปี 2008 Foxconn ส่งสินค้าทางรถไฟจากเซินเจิ้นไปยุโรป ส่วน Hewlett Package ก็มองหาลู่ทาง ที่จะส่งสินค้าทางรถไฟจากเมืองฉงชิ่งไปเยอรมัน ผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์

ในปี 2011 มีการตั้งกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasia Economic Union) ทำให้คาซัคสถาน รัสเซีย และเบลารุส รวมตัวเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากจีนไปยุโรป ประสบความสำเร็จมากขึ้น ในปี 2012 เริ่มมีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจากจีนไปยุโรป ที่เปิดให้บริการสัปดาห์ละ 1 เที่ยว การบริการเป็นแบบ “รถไฟเช่าเหมา” เช่น บริษัท Hewlett Package เช่าทั้งขบวน

ปัจจุบัน รถไฟบรรทุกสินค้าระหว่างจีน-ยุโรปมีทั้งหมด 3 เส้นทาง คือ เส้นทางสายเหนือ จากจีนไปเชื่อมกับทางเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย เส้นทางสายตอนกลาง จากจีนผ่านคาซัคสถาน และอีกเส้นทางหนึ่ง ที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า จะสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ในอนาคต คือเส้นทางสายใต้ จากจีนผ่านเอเชียกลาง อิหร่าน จอร์เจีย และตุรกี

รายงานของ CSIS กล่าวว่า ความถี่ของรถไฟบรรทุกสินค้าก็เพิ่มมากขึ้น เมื่อปีที่แล้ว คาดกันว่ามีรถไฟบรรทุกสินค้าจากจีนไปยุโรปทั้งหมด 1,470 เที่ยว และจากยุโรปมาจีน 730 เที่ยว สินค้าที่บรรทุกก็หลากหลายมากขึ้น ในระยะแรกๆ สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟ ได้แก่ คอมพิวเตอร์แลปทอป โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนรถยนต์ และสินค้ามูลค่าสูงอื่นๆ สินค้าเหล่านี้ล้วนผลิตในโรงงานที่อยู่ทางตอนกลางของจีน แม้ค่าขนส่งทางรถไฟจะสูงกว่าการขนส่งทางเรือ แต่ชดเชยด้วยต้นทุนการสต็อกสินค้าที่ลดลง

แต่การขนส่งสินค้าทางรถไฟก็สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งในด้านความรวดเร็วและต้นทุน ในปี 2006 หอการค้าอเมริกาได้ทำการเปรียบเทียบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ จากเซี่ยงไฮ้ไปฮัมบูร์ก เยอรมัน เส้นทางรถไฟใช้เวลา 36 วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลาแค่ 16 วัน นอกจากนี้ การขนส่งทางรถไฟก็ได้เปรียบมากขึ้น หากเป็นการขนส่งที่วัดจาก จุดเริ่มต้นไปถึงจุดปลายทาง ที่เรียกว่า origins and destinations เช่น การขนส่งจาก ฉงชิ่ง-มิวนิก เป็นต้น

ที่มาภาพ : slideshare.net

ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า ได้ประโยชน์จากการเติบโตการค้าระหว่างจีนกับยุโรป ที่ปี 2016 มีมูลค่า 570 พันล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของจีน โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารคมนาคม เยอรมันเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีนในบรรดาประเทศสมาชิกอียู หลายจุดในเยอรมันกลายเป็นศูนย์กลางขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า จีน-ยุโรป

แต่การเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มีปัญหาท้าทายจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน กลุ่มอียูขาดดุลการค้ากับจีนปีหนึ่ง 190 พันล้านดอลลาร์ การขาดดุลการค้านี้สะท้อนออกมาที่ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า จีน-ยุโรป 60-70% ของสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟ มีทิศทางไปตะวันตก ส่วนสินค้าที่มุ่งตะวันออก มีสัดส่วน 30-40% ของสินค้าบรรทุก ทำให้รถไฟ จีน-ยุโรป ขากลับมาตะวันออก ส่วนหนึ่งบรรจุตู้คอนเทนเนอร์เปล่า

แม้รัฐบาลจีนจะให้การอุดหนุนขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า จีน-ยุโรป เหมือนกับประเทศในยุโรปให้การอุดหนุนระบบขนส่งทางรถไฟ แต่การขนส่งทางเรือก็ยังได้เปรียบ เพราะมีต้นทุน 1 ใน 3 ของการขนส่งทางรถไฟ แต่ก็มีบริษัทบางส่วนที่ยินดีจ่ายค่าขนส่งทางรถไฟที่แพงขึ้น เพื่อแลกกับระยะเวลาการขนส่งที่ลดลง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะบริษัทที่ย้ายการผลิตจากชายฝั่งทะเล ไปยังพื้นที่ใจกลางของจีน

แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า การขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างจีน-ยุโรป จะยังคงเป็นการขนส่งหลัก เพราะการขนส่งทางรถไฟ แม้จะได้เปรียบด้านเวลาการขนส่งสินค้า แต่ก็ไม่สามารถมีขอบข่ายการดำเนินงานที่ใหญ่โต

เอกสารประกอบ
The Rise of China-Europe Railways, Jonathan E. Hillman, Center for Strategic & International Studies, March 6, 2018.