ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร

เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร

19 พฤษภาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สี จิ้นผิง กล่าวเปิดงาน Belt and Road Forum ที่มาภาพ : livemint.com

ในการประชุมสุดยอด The Belt and Road Forum for International Cooperation เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม ที่ปักกิ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวเปิดการประชุมที่มีผู้นำจาก 29 ประเทศเข้าร่วม ว่า โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) มีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต “เมื่อ 2 พันกว่าปีมาแล้ว บรรพบุรุษของเราเดินทางข้ามทุ่งหญ้าและทะเลทรายเพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เรียกว่า เส้นทางสายไหม บรรพบุรุษของเราเดินเรือในทะเลที่ปั่นป่วนเพื่อสร้างเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงตะวันออกกับตะวันตก เรียกว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล”

เส้นทางสายไหมโบราณ

เมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้ว จาง เชียน (Zhang Qian) ทูตของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น นำคณะเดินทางไปยังดินแดนแถบเอเชียกลาง การเดินทางของจาง เชียน ทำให้เกิดเครือข่ายเส้นทางการค้า เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” ที่เชื่อมโยงจีนกับดินแดนที่ปัจจุบันประกอบด้วย คาซักสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีสถาน เตอร์กเมนิสถาน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งปากีสถาน

คลื่นลูกที่ 1 ของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนเอเชียกลาง ที่เป็นจุดศูนย์กลางของการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตก การติดต่อทางการค้าทำให้เกิดความมั่งคั่งติดตามมา รวมทั้งความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและศาสนา จีนส่งออกสินค้าพวกผ้าไหม เครื่องเทศ และหยก และนำเข้าสินค้าพวกทอง โลหะมีค่า งาช้าง และเครื่องแก้ว ชื่อของเส้นทางการค้าจึงมาจากผ้าไหมที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและส่งออกสำคัญของจีน ทุกวันนี้ จาง เชียน กลายเป็นวีรบุรุษของจีน เพราะเป็นคนแรกที่บุกเบิก และเปิดประเทศจีนกับการค้าโลก

ในศตวรรษที่ 13 และ 14 พวกมองโกลขยายอาณาจักรเข้ามาแถบเอเชียกลาง ทำให้การค้าตามเส้นทางสายไหมหยุดชะงักลงไป ในปี ค.ศ. 1405 เจิ้ง เหอ (Zheng He) ผู้บัญชาการทหารเรืองจีนในสมัยราชวงศ์หมิง นำกองเรือหลายร้อยลำและลูกเรือ 27,000 คน ออกเดินทางสำรวจทางทะเล จากจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาตะวันออก และคาบสมุทรอาหรับ การเดินเรือของเจิ้ง เหอ แล่นไปตามแนวเส้นทางทะเล ที่เคยเป็นเส้นทางการค้าระหว่างคาบสมุทรอาหรับกับจีน นับจากศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปก็เปลี่ยนมาอาศัยเส้นทางทะเลแทน

เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21

ที่ผ่านมา คนทั่วโลกไม่ค่อยสนใจโครงการ One Belt, One Road (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ที่ริเริ่มโดยจีน เพราะโครงการเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ความคืบหน้าจึงมีไม่มาก แต่การประชุมสุดยอด OBOR เมื่อ 14-15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจกับโครงการนี้ เพราะอยากจะรู้ว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำที่ส่งเสริมการค้าโลกโดยชักจูงผู้นำประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมประชุมได้มากน้อยเพียงไร ในยามที่สหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ หันไปยึดนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”

ประการที่ 2 โครงการ OBOR ดำเนินไปแล้ว 3 ปีกว่าหลังจากที่จีนประกาศเปิดตัวโครงการครั้งแรก การประชุมระดับสุดยอดของผู้นำประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เพียงแค่การประเมินเป้าหมายเหตุผลของโครงการ OBOR แต่ยังรวมถึงการประเมินความสำเร็จและผลกระทบของโครงการต่อประเทศที่เกี่ยวข้อง เพราะ OBOR เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มาก โครงการมาร์แชลของสหรัฐฯ คิดมูลค่าในปัจจุบัน 130 พันล้านดอลลาร์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีขนาดแค่ 1 ใน 11 ของ OBOR เท่านั้น

รพไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวแรก จากเมืองท่า Yiwu ไปลอนดอน มกราคม 2017 ที่มาภาพ : https://uk.news.yahoo.com/first-chinese-freight-train-arrives-205543814.html

ในเดือนกันยายน 2013 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในช่วงไปเยือนคาซักสถาน แถลงเปิดตัวครั้งแรกถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ เชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางในเดือนตุลาคม ต่อมา เมื่อไปเยือนอินโดนีเซีย สี จิ้นผิง กล่าวเปิดตัวโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ตลอดเส้นทางบกและเส้นทางทะเล จะมีการลงทุนปรับปรุงท่าเรือ และสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้นมา

โครงการเครือข่ายเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่าง เช่น การริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) โครงการเส้นทางบกมีชื่อเป็นทางการว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt: SREB) ส่วนเส้นทางมหาสมุทร เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) เมื่อสี จิ้นผิง เองกล่าวถึงโครงการนี้โดยรวมจะใช้คำในภาษาจีนว่า “yi dia yi lu” ที่หมายถึง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

เครือข่ายโครงสร้างคมนาคม เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ที่มาภาพ : merics.org

โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วยเฉลียงทางบก 6 เส้นทาง และเส้นทางทะเล 1 เส้นทาง เส้นทางเฉลียงทางบกประกอบด้วย (1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนถึงตะวันตกรัสเซีย (2) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก (3) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี (4) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์ (5) เส้นทาง จีน-ปากีสถาน (6) เส้นทางจีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย ส่วนเส้นทางทะเล เริ่มจากเมืองชายฝั่งของจีน ผ่านสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 จะใช้เงินลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เกี่ยวข้องกับ 60 ประเทศ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออกและเหนือ ส่งผลต่อ 65% ของประชากรโลก มีผลกระทบต่อ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน 4 ของการค้าโลก จีนกล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเฉลียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน มูลค่า 62 พันล้านดอลลาร์ ที่ประกอบด้วยการสร้างถนน เส้นทางรถไฟ และโรงไฟฟ้า โครงการท่าเรือศรีลังกา 1.1 พันล้านดอลลาร์ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขมร เป็นต้น

เป้าหมายของจีน

เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 เป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของโลก ที่จะมีส่วนช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และการค้าโลก การริเริ่มโครงการนี้ จีนมีเป้าหมายทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ประการแรก เศรษฐกิจจีนต้องการแรงกระตุ้นใหม่ๆ ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงต่ำกว่า 8% การเติบโตที่ต่ำลงอีกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตต่างๆ ของประเทศก็ล้นเกิน จีนจึงต้องการเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โครงการ OBOR จึงช่วยระบายกำลังการผลิตของจีน

ประการที่ 2 เส้นทางสายไหมจะช่วยสนับสนุนความต้องการด้านพลังงานของจีน เช่น โครงการท่อก๊าซในเอเชียกลาง โครงการท่าเรือน้ำลึกในเอเชียใต้ และประการที่ 3 คือ เป้าหมายของจีนด้านภูมิรัฐศาสตร์ จีนต้องการอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจ มาสร้างเสถียรภาพในเอเชียกลาง ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความแปรปรวนทางการเมือง แม้จีนจะปฏิเสธว่า OBOR ไม่ใช่ “โครงการมาร์แชล” ของจีน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในบรรดาประเทศตามเฉลียงเส้นทางสายไหม เป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

การดำเนินโครงการ OBOR รวมทั้งการจัดตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank- AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) แสดงให้เห็นว่า จีนพร้อมที่จะมีบทบาทเต็มที่ในระดับโลกและภูมิภาค หลายสิบปีที่ผ่านมา จีนมีบทบาทเป็นประเทศผู้ตาม นโยบายต่างประเทศจีนคือ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างสันติ โดยเลี่ยงไม่ทำตัวเป็นข่าวโด่งดัง จีนจึงเป็นประเทศสมาชิกชุมชนเศรษฐกิจโลกที่ไม่แสดงบทบาทนำ

การประชุมสุดยอด Belt and Road Forum, 14-15 พฤษภาคม ปักกิ่ง ที่มาภาพ : reuters.com

เมื่อจีนโกอินเตอร์

ที่ผ่านมา จีนมีฐานะเป็นประเทศที่เป็นฝ่ายรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โครงการ OBOR แสดงให้เห็นว่า จีนกำลังเปลี่ยนฐานะที่จะกลายเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ในต่างประเทศ นอกจากจะเห็นทิศทางการลงทุนโครงสร้างด้านการขนส่งของจีนในประเทศต่างๆ แล้ว ยังจะเห็นการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามเฉลียงเส้นทางสายไหมอีกด้วย

พิมพ์เขียวของเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 เริ่มจากพรมแดนซินเกียง ทางตะวันตกของจีน ผ่านคาซักสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ข้ามอิหร่านและตุรกี ที่ตุรกีเส้นทางจะเปลี่ยนทิศขึ้นไปทางเหนือไปยังมอสโคว์ แล้วต่อไปยัง ดุสเบิร์ก (Duisburg) รอตเทอร์ดาม และไปบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เมืองเวนิส เส้นทางทะเลเริ่มจากเมืองท่าจีนตอนใต้ มุ่งสู่กัวลาลัมเปอร์ กัลกัตตา โคลอมโบ ไนโรบี ทะเลแดง คลองสุเอซ กรีซ และเวนิส

ในระดับพื้นฐานสุด โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ทำให้จีนได้ประโยชน์จากความสามารถของจีนในด้านเงินทุน ระบบโลจิสติกส์ และบุคลากร โครงการก่อสร้างที่มีขอบข่ายระดับโลกแบบนี้ การลงทุนต่างประเทศของบริษัทจีนจะถูกยกระดับให้สูงขึ้น โครงการปรับปรุงท่าเรือกวนตัน (Kuantan) ตะวันออก มาเลเซีย คือตัวอย่างการได้ประโยชน์ของจีนจากการปรับปรุงท่าเรือตามเส้นทางสายไหมทางทะเล นอกจากปรับปรุงเป็นท่าเรือน้ำลึก ยังมีการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม Malaysia-China-Kuantan Industrial Park (MCKIP) ที่ร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาลมาเลเซียกับบริษัทจีน Guangxi Beibu International Port Group นิคมนี้อยู่ห่างท่าเรือกวนตัน 5 กิโลเมตร

แต่โครงการ OBOR ก็ประสบกับปัญหาความเสี่ยงที่มาจากความซับซ้อนทางการเมืองของประเทศตามโครงการเส้นทางสายไหม จากระดับการพัฒนาของประเทศไม่เท่ากัน และการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ในพม่า คนท้องถิ่นต่อต้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีน เช่น การสร้างเขื่อน Myitson ทางภาคเหนือของพม่า หรือรัฐบาลพม่าเลือกบริษัท CPG ของสิงคโปร์ ให้มาดำเนินงานท่าเรือน้ำลึก Kyaukphyu และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ติดท่าเรือ

ในกรณีของลาว New York Times รายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ระยะทาง 260 ไมล์ ใช้เงินลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ วิศวกรและคนงานจีนต้องเจาะอุโมงค์และสร้างสะพานนับร้อยๆ แห่ง ทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการนี้ นำเข้ามาจากจีนทั้งหมด ช่วงการก่อสร้างในขั้นเต็มรูปแบบอาจต้องใช้คนงานจีน 1 แสนคน โครงการนี้ใช้เงินลงทุนเทียบได้กับ 50% ของเศรษฐกิจลาว ที่ปีหนึ่งมีมูลค่าแค่ 12 พันล้านดอลลาร์ จีนกับลาวเจรจาตกลงกันได้ โดยลาวมีสัดส่วนลงทุน 800 ล้านดอลลาร์ในโครงการนี้ และกู้เงินจากธนาคารเอ็กซิมแบงก์ของจีน

โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 สะท้อนให้เห็นว่า การมีบทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโลกกลายเป็นนโยบายหนึ่งในการยกระดับและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจีน ที่จะเห็นชัดเจนก็คือ จากการอาศัยเงินทุนของจีน ประเทศต่างๆ ตามเส้นทาง OBOR คงจะใช้สินค้าผลิตจากจีน เช่น รถไฟความเร็วสูง อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า และอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ ปัญหาอยู่ที่ว่า ประเทศเหล่านี้เต็มใจจะดูดซับกำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ล้นเกินของจีนหรือไม่

เอกสารประกอบ
Understanding China’s Belt and Road Initiative. Lowy Institute for International Policy, 22 March 2017
Huiyao Wang and Lu Miao. China Goes Global, Palgrave Macmillan, 2016.