ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลสะเทือนกรณีอื้อฉาว Cambridge Analytica กับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของโซเชียลมีเดีย

ผลสะเทือนกรณีอื้อฉาว Cambridge Analytica กับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของโซเชียลมีเดีย

24 มีนาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สำนักงาน Cambridge Analytica ที่ลอนดอน ที่มาภาพ : arstechnica.com

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ยังไม่มีโซเชียลมีเดียชื่อ Facebook แต่ทุกวันนี้ Facebook ก้าวจากบริษัทสตาร์ทอัปเล็กๆ จนกลายเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก และต่อภูมิศาสตร์การเมืองของโลก ในปี 2004 มีคนลงทะเบียนใช้งาน 1 ล้านคน ทุกวันนี้ มีคนใช้งาน 2.2 พันล้านคน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO Facebook ที่มีภาพลักษณ์เป็นคนที่สวมกางเกงยีนกับเสื้อยึดคอกลม กลายเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยอันดับ 5 ของโลก

แต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ New York Times และ The Observer ของอังกฤษ รายงานข่าวว่า ข้อมูลของผู้ใช้บริการ Facebook จำนวน 50 ล้านคน ถูกบริษัทที่ปรึกษาการเมืองชื่อ Cambridge Analytica นำมาสร้างซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมการไปลงคะแนนเสียงของบรรดาคนเหล่านี้ Cambridge Analytica ทำงานร่วมกับคณะรณรงค์หาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ และกลุ่มรณรงค์ Brexit ที่ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป

ทันทีที่มีข่าวเผยแพร่ออกไปว่า ข้อมูลผู้ใช้ Facebook จำนวน 50 ล้านคน ถูกนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้รับการยินยอม ทำให้มูลค่าหุ้นของ Facebook หายไป 50 พันล้านดอลลาร์ วันอังคารที่ 20 มีนาคม 2561 ราคาหุ้น Facebook ตกมาอยู่ที่ 168 ดอลลาร์ หายไป 10% ที่ผ่านๆ มา ก็เคยมีเรื่องราวที่สร้างความวิตกแก่นักลงทุน ในเดือนกุมภาพันธ์ นาย Robert Mueller อัยการพิเศษ คณะสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า Facebook ถูกแทรกซึมโดยบัญชีปลอมจากรัสเซีย เพื่อสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์

การละเมิดข้อมูลส่วนตัวครั้งใหญ่สุด

แต่ข่าวกรณีอื้อฉาว Cambridge Analytica ถือเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนตัวครั้งใหญ่สุดที่เกิดขึ้นกับบริษัทโซเชียลมีเดีย เรื่องราวเปิดเผยขึ้นมาเมื่อนาย Christopher Wylie นักวิเคราะห์ข้อมูลของ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ The Observer ว่า ข้อมูลของผู้ใช้งาน Facebook หลายล้านคน ถูกนำไปประมวลผล (harvest) เพื่อเอาไปใช้เป็นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อผลการเลือกตั้ง หนังสือพิมพ์ The Guardian ก็รายงานว่า Facebook รู้เรื่องการละเมิดข้อมูลนี้มา 2 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ

Christopher Wylie กล่าวกับ The Observer ว่า “เราใช้ประโยชน์ Facebook โดยการประมวลผลข้อมูลส่วนตัวของคนหลายล้านคน สร้างโมเดลเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลของคนเหล่านี้ และก็พุ่งเป้ากลับไปที่พวกเขา การดำเนินการทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สร้างบริษัท Cambridge Analytica ขึ้นมา” ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook ถูก Cambridge Analytica นำมาสร้างเป็นข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อที่จะสามารถทำโฆษณาทางการเมือง ที่มีการออกแบบเฉพาะเป็นรายบุคคล

The Guardian รายงานว่า การเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook อาศัยแอปพลิเคชันบุคลิกภาพชื่อ thisisyourdigitallife ที่สร้างขึ้นมาโดยนาย Aleksandr Kogan นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่ทำงานให้กับบริษัท Global Science Research (GSR) ที่ต่อมาได้ถ่ายโอนข้อมูลนี้ให้กับ Cambridge Analytica

นาย Alexander Nix CEO ของ Cambridge Analytica ก็เคยอวดอ้างกับลูกค้าชาวศรีลังกาที่ต้องการใช้บริการของ Cambridge Analytica ว่า ได้ใช้วิธีการสร้างข่าวปลอมเพื่อเบี่ยงเบนการไปลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของ Cambridge Analytica ก็เปิดเผยเองว่า Cambridge Analytica เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการรณรงค์โฆษณาที่ใช้คำว่า “เอาชนะฮิลลารีขี้โกง” (crooked Hillary)

กรณีนี้ทำให้นักการเมืองหลายประเทศได้แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ ในสหราชอาณาจักร สมาชิกคณะกรรมาธิการสื่อดิจิทัลและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มาให้การ ในสหรัฐฯ หน่วยงานผู้บริโภค The Federal Trade Commission ได้เริ่มการสอบสวนว่า Facebook ละเมิดข้อตกลงความเป็นส่วนตัวหรือไม่ อัยการของรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และแมสซาชูเซตส์ ก็ประกาศจะสอบสวนเรื่องนี้

ส่วนท่าทีของ Facebook หลังจากกรณีนี้ถูกเปิดเผยในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ทาง Facebook ได้ระงับบัญชีของ Christopher Wylie คนที่เปิดเผยเรื่องนี้ และคนอื่นๆ ที่ทำงานให้กับบริษัท SCL และ Cambridge Analytica ในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม Facebook แถลงว่าได้จ้างบริษัทสืบสวนดิจิทัลชื่อ Stroz Friedberg ให้เข้ามาตรวจสอบทุกด้านเกี่ยวกับ Cambridge Analytica ส่วนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เขารู้สึกเสียใจต่อ “การละเมิดความไว้วางใจ เรามีความรับผิดชอบที่จะปกป้องข้อมูลของคุณ หากเราทำไม่ได้ เราก็ไม่สมควรที่จะให้บริการกับคุณ”

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2018/03/21/politics/zuckerberg-cnn-interview-analysis/index.html

อัจฉริยะที่เลวร้าย

นาย Richard Wolffe นักเขียนคอลัมน์ของ The Guardian กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อย่างไร ในเมื่อเขาแพ้คะแนนเสียงที่นับจากคนไปเลือกตั้ง (Popular Vote) ใน 3 รัฐ คือ มิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลวาเนีย ทรัมป์ได้คะแนนเสียงจากคนที่หันเหมาลงคะแนนให้เขา 40,000 คะแนน ทำให้ทรัมป์มีชัยชนะจากการนับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี

คะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งที่หันเหโดยเทคะแนนเสียงให้ทรัมป์อาจจะมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญคือการที่ Facebook ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองโดยการปล่อยข่าวเท็จไปสู่กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมาย Cambridge Analytica เองกล่าวว่า กลยุทธ์การหาเสียงของทรัมป์อาศัยข้อมูลของบริษัทนี้ รวมทั้งการใช้คำว่า “ฮิลลารีขี้โกง” คำพูดที่ทุกวันนี้ ทรัมป์ยังนำมาใช้ กรณีอื้อฉาวนี้แสดงว่า Cambridge Analytica เปลี่ยนเครือข่ายของโซเชียลมีเดีย จากเครือข่ายการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่เป็นมิตรสหายกัน ให้กลายเป็นเส้นทางสายไหมสู่ตลาดมืดของพวกค้าอาวุธและพวกค้ายาเสพติด

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

กรณี Cambridge Analytica ทำให้เกิดความกังวลทั่วไปในเรื่องที่ว่า บริษัทโซเชียลมีเดียทั้งหลายปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างไร และการประมวลข้อมูลผู้ใช้งานโชเชียลมีเดีย สามารถเบี่ยงเบนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งได้อย่างไร รวมทั้งอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่จะมีต่อผลของการเลือกตั้ง Cambridge Analytica เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เลือกตั้งของทรัมป์ การลงประชามติ Brexit การเลือกตั้งในอินเดีย และไนจีเรีย

นาย Sinan Aral ของสถาบัน MIT กล่าวว่า เรากำลังมาถึงจุดที่จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโซเชียลมีเดีย คนทั่วไปเริ่มตระหนักว่าโซเชียลมีเดียไม่เพียงแค่เป็นแหล่งบันเทิงเท่านั้น แต่สามารถส่งผลสะเทือนต่อสังคม ผู้บริโภคเองรู้หรือเข้าใจน้อยมากว่า ข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร การโฆษณาออนไลน์ในปัจจุบัน มีความซับซ้อนช่ำชองมาก คนทำโฆษณาสามารถบอกได้ว่า ที่ผ่านมาเราซื้ออะไรไปบ้าง และเรากำลังมองหาอะไรที่จะซื้ออยู่

กรณี Cambridge Analytica แสดงให้เห็นว่า คนทำโฆษณาสามารถกำหนดได้ว่าเราแต่ละคนจะซื้ออะไร โดยที่เราเองไม่รู้ตัว การโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ รวมทั้งการตลาดโดยใช้ข้อความที่ออกแบบเฉพาะต่อกลุ่มเป้าหมาย แต่กรณี Cambridge Analytica ที่อื้อฉาวแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมออนไลน์ของคนเรา สามารถสะท้อนสิ่งที่เป็นบุคลิกภาพ จุดอ่อน และความวิตกกังวล ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเรา ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนคนเรา โน้มน้าวให้กระทำในสิ่งที่ขัดต่อประโยชน์ของเรา จุดนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องมีนโยบายออกมากำกับควบคุม

Sinan Aral กล่าวสรุปว่า กรณี Cambridge Analytica แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ ทำให้ Facebook ประสบปัญหา “วิกฤติความโปร่งใส” ในด้านหนึ่ง Facebook ถูกกดดันให้เปิดเผยมากขึ้นว่า การโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายของ Facebook มีขั้นตอนการทำงานหรืออัลกอริทึมอย่างไร ในเวลาเดียวกัน Facebook ก็ถูกกดดันมากขึ้นในเรื่องรักษาความปลอดภัยจากการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการวิจัย Facebook คงต้องหาทางออกระหว่าง 2 อย่างนี้

เอกสารประกอบ
Revealed: 50 million Facebook profiles harvested for Cambridge Analytica in major data breach. Theguardian.com, 17 March 2018.
Why the Cambridge Analytica Scandal Is a Watershed Moment for Social Media. Knowledge.wharton.upenn.edu